Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย : ทำไมต้องทำ ?


ผู้เขียนเห็นว่า ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานค้นคว้าแบบเอกสารนิยมควบคู่ไปกับการทำงานแบบประสบการณ์นิยม กล่าวคือ ก็เมื่อเราจะวิจัยสังคม เราก็จะต้องเข้าไป “สัมผัส” สังคมอีกด้วย การสัมผัสสังคมอาจทำโดยทั้งประสาทสัมผัสของผู้วิจัย และสติปัญญาของผู้วิจัย การวางโจทย์และวิธีวิจัยจากองค์ความรู้จากเอกสารนั้น มีความเสี่ยงมาก เพราะหากเอกสารนั้นให้ความเป็นจริงของสังคมอย่างไม่ครบถ้วนหรือผิดพลาด โจทย์และวิธีวิจัยก็อาจบกพร่องและผิดพลาดไปด้วย

        ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ เราเสนอ มสช. ขอทำกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสำรวจข้อเท็จจริงด้านความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย   

       ทำไมนักวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมต้องสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของสังคมและมนุษย์ ?

          คำตอบ ก็คือ การทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมนั้น หมายความโดยตัวว่า งานวิจัยมิได้ถูกแยกส่วนออกจากสังคม วัตถุแห่งการวิจัยย่อมจะมีความสัมพันธ์กับสังคม และโดยธรรมชาติของเรื่อง ที่มนุษย์และสังคมเป็นสัจธรรมที่มีความสัมพันธ์กันโดยข้อเท็จจริง ทั้งมนุษย์และสังคมจึงเป็นปฏิกิริยาต่อกัน สังคมจึงกำหนดมนุษย์ได้ และมนุษย์จึงกำหนดสังคมได้ สังคมที่ไม่มั่นคงย่อมส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงต่อมนุษย์ ในทางกลับกัน เมื่อมนุษย์มีความไม่มั่นคง ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์นั้นก็ย่อมจะส่งผลให้สังคมไม่มั่นคงเช่นกัน  ดังนั้น หากเราจะทำวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม เราก็จะต้องสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสังคมและมนุษย์ดังกล่าว เพื่อให้ได้ องค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง ของสังคมและมนุษย์ นักวิจัยก็จะต้องมีกิจกรรมเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของสังคมและมนุษย์ กล่าวได้อีกอย่างว่า กิจกรรมเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็น การวัดปรอทให้แก่สังคม ซึ่งผลของการทำกิจกรรม เราก็จะทราบว่า สังคมและมนุษย์นั้นมีสุขภาพดีไหม ? เป็นไข้ไหม ? ตัวร้อนไหม ?

        จำเป็นไหมที่กิจกรรมเพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงจะต้องทำในพื้นที่จริงของสังคม ?

           โดยหลักการ การสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของสังคม นั้น อาจทำได้ใน ๒ ระดับ กล่าวคือ (๑) นักวิจัยลงพื้นที่จริงในสังคมเพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์อันนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริงขึ้นเอง และ (๒) นักวิจัยแสวงหาองค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริงนี้จากงานวิจัยอื่นที่เข้าไปทำการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของสังคม ซึ่งจะเห็นว่า ในระดับแรก นักวิจัยจะสัมผัสความเป็นจริงของสังคมโดยตรงโดยตนเอง ในขณะที่ในระดับที่สองนั้น นักวิจัยจะสัมผัสความเป็นจริงของสังคมโดยผ่านการตีความของบุคคลอื่น  หากนักวิจัยจะทำกิจกรรมเพื่อสำรวจสถานการณ์ได้ทั้งสองระดับ คุณภาพของการตีความปรากฏการณ์สังคม (Interpretation of Social Events) ก็น่าจะรอบด้าน เนื่องจากนักวิจัยคนหนึ่งก็อาจจะไม่มีมุมมองที่หลากหลายในการทำความเข้าใจสังคม การศึกษาการตีความของผู้อื่นประกอบด้วย ก็จะสร้างความรอบด้านในการวิเคราะห์สถานการณ์จริง ในขณะที่การสัมผัสสังคมโดยผู้วิจัยเอง ก็น่าจะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์จริงเป็นไปได้อย่างถูกต้องและไม่ล้าสมัย

          ในช่วงหลังๆ ของการทำงานวิจัย ผู้เขียนจึงมักจะเริ่มต้นงานด้วยการสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงในสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุแห่งการศึกษาเสียก่อน แต่นักวิจัยบางท่านอาจให้ความสนใจกับการทำงานวิจัยแบบอิงเอกสารอย่างมาก ดังนั้น เมื่อจะต้องทำงานวิจัย ก็จะต้องเริ่มต้นจากการทบทวนเอกสารที่มีคนทำเกี่ยวข้องกับงานที่จะทำวิจัย (Litterature Review) ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ปฏิเสธที่จะทำงานในทิศทางนี้ ให้ความสำคัญอย่างมากเสียด้วยซ้ำไปในบางสถานการณ์

         ยิ่งในการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานค้นคว้าแบบเอกสารนิยมควบคู่ไปกับการทำงานแบบประสบการณ์นิยม กล่าวคือ ก็เมื่อเราจะวิจัยสังคม เราก็จะต้องเข้าไป สัมผัส สังคมอีกด้วย การสัมผัสสังคมอาจทำโดยทั้งประสาทสัมผัสของผู้วิจัย และสติปัญญาของผู้วิจัย การวางโจทย์และวิธีวิจัยจากองค์ความรู้จากเอกสารนั้น มีความเสี่ยงมาก เพราะหากเอกสารนั้นให้ความเป็นจริงของสังคมอย่างไม่ครบถ้วนหรือผิดพลาด โจทย์และวิธีวิจัยก็อาจบกพร่องและผิดพลาดไปด้วย การลงสัมผัสสังคมเพื่อกำหนดโจทย์และวิธีวิจัยก็อาจไม่ได้ความรอบด้านในปัญหาที่จะวิจัย แต่การสัมผัสของจริงนั้น จะทำให้ผู้วิจัยมั่นใจว่า อย่างน้อยงานวิจัยที่เราจะทำนี้ ก็สนองตอบต่อปัญหาสังคมที่เราสัมผัสตรงโดยประสบการณ์ของเราเอง

         อนึ่ง สิ่งที่ผู้วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมจะต้องตระหนักอย่างยิ่ง ก็คือ การไม่เชื่อในสิ่งที่บอกในตำรานั้น จนกว่าจะได้พิสูจน์ว่า สิ่งที่บอกในตำรานั้นยังสามารถใช้ได้จริง และเมื่อเราพบว่า วิธีวิทยาใดที่อาจใช้ในการทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่สำรวจได้ เราก็จะต้องใช้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิธีวิทยา (epistemological) นี้ต่อไปในการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจในสถานการณ์นั้นๆ และมองเห็นต่อไปถึง ผลกระทบ (impact)” ที่สถานการณ์นั้นมีต่อมนุษย์และสังคม อันเป็นองค์ความรู้ในระดับสารัตถะ (metaphysical) และระดับจริยธรรม (ethical)

         ด้วยแนวคิดด้านวิธีวิจัยดังกล่าวข้างต้น เราจึงเลือกทำมากกว่าการเข้าไปอ่านแนวคิดของคนอื่นในเอกสารที่ทำเสร็จแล้วเพื่อศึกษาสภาพสังคมที่งานนั้นตีความออกมา เรายังให้ความสำคัญในการเข้าค้นคว้าหา ความเป็นจริงของสังคม (Social Reality)” ด้วยตัวของเราเองอีกด้วย  

ที่มา : งานเขียนอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 51063เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ให้กำลังอาจารย์ครับ...เพื่อก้าวไปสู่การทำงานที่เข้าใจ

ความเป็นจริงของสังคม (Social Reality)”

 อาจารย์เปลี่ยนรูปแล้ว ดูไม่ซีเรียสเหมือนรูปเดิม ครับ

ขอบคุณคะคุณจตุพร เรื่องว่า เป็นคนคอเดียวกัน เข้าใจกันค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท