ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>ลำดับการทอดผ้าป่าและอานิสงส์


ลำดับการทอดผ้าป่า        

        การทอดผ้าป่า เมื่อถึงวัดที่จะทอดแล้วก็จัดสถานที่ตั้งองค์ผ้าป่าและเครื่องบริวาร เช่น จัดตั้งไว้ข้างพระอุโบสถ เพื่อจะได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วย เมื่อจัดตั้งโดยนำผ้าป่าไปวางต่อหน้าภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ถ้าหากไม่มีพระภิกษุมาชักผ้าบังสุกุลในขณะนั้น ก็ไม่ต้องกล่าวคำถวาย แต่ถ้ามีพระสงฆ์รูปหนึ่งผู้ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์ ลุกขึ้นเดินถือตาลปัตรมาชักผ้าบังสุกุลที่องค์ผ้าป่า เจ้าภาพและผู้ร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน ก็กล่าวคำถวายผ้าป่าพร้อมๆ กันดังนี้

คำบาลีถวายผ้าป่า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น (๓ จบ) 

     ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับซึ่งผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

          เมื่อกล่าวคำถวายจบแล้ว พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์มาชักผ้าบังสุกุล และไวยาวัจกรของวัดจะมารับต้นผ้าป่าและเครื่องบริวารอื่นๆ ตลอดจนเงินหรือปัจจัยด้วย โดยพระสงฆ์รูปนั้นก็กล่าวคำปริกรรมว่า

“อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ”

แปลเป็นใจความได้ว่า

“ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกเป็นของข้าพเจ้า”

       ต่อจากนั้นพระสงฆ์จึงสวดอนุโมทนาในผลบุญ เจ้าภาพและผู้ร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน ต่างก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพพการี เป็นต้น ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดผ้าป่าเพียงนี้

      ข้อสำคัญในการทอดผ้าป่าคือ การทอดผ้าป่านั้นไม่เป็นการถวายแก่พระภิกษุที่เฉพาะเจาะจง ถ้านำไปถวายเฉพาะเจาะจงพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ก็ไม่เป็นการทอดผ้าป่า คือไม่ใช่ทอดผ้าป่าบังสุกุล

      สำหรับในกรณีที่ไม่มีพระภิกษุมาชักผ้าบังสุกุล เมื่อจัดตั้งองค์ผ้าป่าและบริวารในสถานที่เหมาะแล้ว ก็ให้สัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ทราบว่ามีผ้าป่ามาทอดที่วัด แล้วก็หลีกไป


อานิสงส์ของการทอดผ้าป่า

๑. เป็นการสงเคราะห์พระสงฆ์ให้สะดวกด้วยปัจจัยสี่ หรือสิ่งที่จำเป็นในการครองสมณเพศ มีจีวร หรือผ้านุ่งห่ม เป็นต้น
๒. เป็นการช่วยเหลือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อพระสงฆ์ได้รับความสะดวกตามสมควรก็จะได้เป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
๓. ได้ชื่อว่าเป็นการถวายทานแด่ท่านผู้ทรงศีล ซึ่งนับเป็นการบูชาท่านผู้ทรงศีล-บูชาท่านผู้ควรบูชา และเป็นทานที่มีคุณค่าสูง
๔. เป็นการอบรมจิตใจของผู้บริจาคให้มีการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คือ พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักทางจิตใจของประชาชนในชาติสืบไป
๕. เป็นการส่งเสริมความมีสามัคคีธรรมของหมู่คณะ
๖. เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีความมั่นคง เป็นปึกแผ่นสืบไป

คำสำคัญ (Tags): #ผลบุญ
หมายเลขบันทึก: 510256เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท