ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>ประเภทของผ้าป่า/การทอดผ้าป่า


ประเภทของผ้าป่า       

      การทอดผ้าป่ามีอยู่อย่างเดียวคือ การนำผ้าไปทิ้งไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนิยมทำในรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไป จึงมีชื่อเรียกเป็น ๓ อย่าง คือ
(๑) ผ้าป่าหางกฐิน หรือ  ผ้าป่าแถมกฐิน 
(๒) ผ้าป่าโยงกฐิน
(๓) ผ้าป่าสามัคคี

     (๑) ผ้าป่าหางกฐิน ได้แก่ ผ้าป่าที่เจ้าภาพจัดให้มีขึ้นต่อจากการทอดกฐิน คือเมื่อทำพิธีทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ให้มีการทอดผ้าป่าด้วยเลย จึงเรียกว่าผ้าป่าหางกฐิน หรือผ้าป่าแถมกฐิน

    (๒) ผ้าป่าโยง ได้แก่ ผ้าป่าที่จัดทำรวมๆ กันหลายกอง นำบรรทุกเรือแห่ไปทอดตามวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่นํ้า จึงเรียกว่าผ้าป่าโยง จะมีเจ้าภาพเดียวหรือหลายเจ้าภาพก็ได้

    (๓) ผ้าป่าสามัคคี ได้แก่ ผ้าป่าที่มีการแจกฎีกาบอกบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ให้ร่วมกันทำบุญแล้วแต่ศรัทธา โดยจัดเป็นกองผ้าป่ามารวมกัน จะเป็นกี่กองก็ได้ เมื่อถึงวันทอดจะมีขบวนแห่ผ้าป่ามารวมกันที่วัดอย่างสนุกสนาน บางทีจุดประสงค์ก็เพื่อร่วมกันหาเงินสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และอื่นๆ ฯลฯ  

การจองผ้าป่า

      สำหรับการจองผ้าป่านั้น ให้ผู้เป็นเจ้าภาพไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาส ที่ต้องการจะนำผ้าป่ามาทอด เรียกว่า เป็นการจองผ้าป่า เมื่อกำหนดเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการตั้งองค์ผ้าป่า ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องมีก็คือ
    ๑. ผ้า
    ๒. กิ่งไม้สำหรับพาดผ้า
    ๓. ให้อุทิศถวายไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง

การตั้งองค์ผ้าป่า

      เจ้าภาพองค์ผ้าป่าจะจัดหาผ้าสำหรับพระภิกษุมาผืนหนึ่ง อาจเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ หรือทั้ง ๓ อย่าง แล้วแต่ศรัทธาเพราะไม่มีข้อกำหนด นำกิ่งไม้หนึ่งกิ่งไปปักไว้ในภาชนะขนาดพอสมควร เช่น โอ่ง กระถัง เป็นต้น เพื่อให้กิ่งไม้อยู่คงที่ไม่เอนไปเอนมา โดยจะใช้เป็นที่พาดผ้าป่า และใช้สำหรับนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าอาบนํ้าฝน สมุด ดินสอ อาหารแห้ง ฯลฯ ใส่ในภาชนะนั้น สำหรับเงินหรือปัจจัยปกตินิยมเสียบไว้กับต้นกล้วยเล็กๆ ในกองผ้าป่านั้น

วันงานทอดผ้าป่า

      ในสมัยโบราณ ไม่มีต้องจองผ้าป่า เมื่อเจ้าภาพนำองค์ผ้าไปถึงแล้ว ก็จุดประทัดหรือส่งสัญญาณด้วยวิธีหนึ่ง ให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า เป็นอันเสร็จพิธี หรือจะอยู่รอให้พระท่านมาชักผ้าป่าด้วยก็ได้
    แต่ในปัจจุบัน การทอดผ้าป่านับว่าเป็นงานค่อนข้างใหญ่ ต้องมีการจองผ้าป่าเพื่อแจ้งให้ทางวัด ทราบหมายกำหนดการ จะได้จัดเตรียมการต้อนรับ เมื่อถึงกำหนดก็จะมีการแห่แหนองค์ผ้าป่ามาด้วยขบวนเถิดเทิงกลองยาวหรือแตรวง เป็นที่ครึกครื้น สนุกสนาน ยิ่งถ้าเป็นผ้าป่าสามัคคีต่างเจ้าภาพ ต่างแห่มาพบกันที่วัด จนกลายเป็นมหกรรมย่อยๆ มีการละเล่นพื้นบ้าน หรือร่วมร้องรำทำเพลง ร่วมรำวง กันเป็นที่สนุกสนาน บางทีก่อนวันทอดก็จะให้มีมหรสพฉลองที่บ้านของเจ้าภาพ


คำสำคัญ (Tags): #ผ้าป่า
หมายเลขบันทึก: 510255เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท