ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 61. มีสติอยู่กับการเรียน (1) บันทึกการเรียน


การเขียนบันทึกใช้เวลา ครูจึงต้องพยายามอย่างมาก ที่จะแสดงให้ นศ. เห็นประโยชน์ ครูต้องคิดคำถามอย่างประณีต และให้เห็นชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับวิชาที่เรียน และต้องอธิบายคุณค่าของการเขียนบันทึกให้ นศ. เข้าใจชัดเจน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 61. มีสติอยู่กับการเรียน  (1) บันทึกการเรียน

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๑นี้ ได้จาก Chapter 18  ชื่อ Self-Awareness as Learners  และเป็นเรื่องของ SET 41 : Learning Logs

บทที่ ๑๘ ว่าด้วยเรื่องการมีสติอยู่กับการเรียน   เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. ไตร่ตรองทบทวนการเรียนของตน  เกิดความเข้าใจตนเองในเรื่องการเรียน  ว่ามีสไตล์การเรียนอย่างไร ชอบ-ไม่ชอบอะไร  เข้าใจพัฒนาการในทักษะการเรียนรู้ของตน  ผมคิดว่า บทนี้เน้นที่ Learning How To Learn หรือการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) นั่นเอง 

บทที่ ๑๘ นี้ ประกอบด้วย ๕ เทคนิค  คือ SET 41 – 44  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 41  :  Learning Logs

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  :  หลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

ครูให้ใบงานชุดหนึ่ง ให้ นศ. สะท้อนความคิดเกี่ยวกับการเรียนของตนในหลากหลายรูปแบบ ตลอดเทอม  โดยเขียนเป็นรายงานส่งครู  ถือเป็นการทำงานในรายวิชา และมีคะแนน

บันทึกการเรียน เป็นเครื่องมือให้ นศ. ทำความเข้าใจตนเอง เกี่ยวกับวิธีเรียน และสไตล์การเรียนรู้   การมีเวลาไตร่ตรองเพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับการเรียนของตน และเขียนบันทึก ช่วยให้ นศ. เข้าใจรูปแบบการเรียนของตน  วินิจฉัยข้อเด่นและข้อด้อย ในการเรียนของตน   และหาทางแก้ปัญหาการเรียนของตน  ช่วยให้ นศ. พัฒนาทักษะการเรียน  สู่การเป็นผู้ที่กำกับดูแลการเรียนของตนเองได้  รวมทั้งได้ทำความเข้าใจว่า ตนเองได้อยู่ในสภาพที่เรียนอย่างได้รับความท้าทายเหมาะสมแล้ว  เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการเรียน

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดประเด็นในบันทึก  ว่าจะให้บันทึกเรื่องอะไร  ต้องการให้ นศ. สะท้อนความคิดเกี่ยวกับทักษะ หรือความรู้ในลักษณะใด  แล้วจึงเขียนคำสั่ง หรือแนวทางการเขียนบันทึกของ นศ.  โดยครูอาจเขียนวัตถุประสงค์ของรายวิชาลงไปก่อน  แล้ว ตั้งคำถาม เช่น “นศ. ได้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้แค่ไหน”  “นศ. ใช้ยุทธศาสตร์ และความพยายามอย่างไรบ้าง เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้”  หรืออาจตั้งคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมบางกิจกรรม เช่น “ในกิจกรรมนี้ ส่วนไหนของกิจกรรมที่ทำให้ นศ. ได้เรียนรู้มากที่สุด  เพราะอะไร”  “ส่วนไหนของกิจกรรม ที่ นศ. จะทำแตกต่างออกไปในคราวหน้า  เพราะอะไร”  “ถ้ามีเวลามากกว่านี้ จะทำอะไรอีก”  “สิ่งที่การเรียนวันนี้ ต่อยอดจากความรู้ที่ได้เมื่อวาน คืออะไร”  ความเห็นของผม  ครูอาจฝึกให้ นศ. ทำ BAR และ AAR เป็น  แล้วให้ นศ. เขียนบันทึกแบบ BAR อละ AAR

2.  เขียนใบงาน  ที่บอกเป้าหมายของการเขียนบันทึก  บอกข้อตกลงความถี่ของการเขียนบันทึก   แนวทางเขียนบันทึก  และให้ตัวอย่าง

ตัวอย่าง

วิชาสัมมนาสำหรับ นศ. ปี ๑

ครูที่สอนวิชานี้ร่วมกันหลายคน เห็นพ้องกันว่า ควรใช้เทคนิค “บันทึกการเรียน” ช่วยให้ นศ. ประสบความสำเร็จในการเรียนมากขึ้น  จึงทำกระดาษตารางให้ นศ. แต่ละคนกรอกเป็นรายสัปดาห์  ว่าตนใช้เวลาเท่าไรในการเรียนแต่ละวิชา  เรียนด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง  ได้รับเกรดเท่าไรจากการบ้าน เป็นต้น  และ นศ. พบกับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่วมกันประเมินบันทึกการเรียน  และหาทางช่วยให้ นศ. ประสบความสำเร็จในการเรียนดียิ่งขึ้น

วิชาสื่อสารด้วยวาจา

ครูกำหนดคำถาม ๒๒ ข้อ เพื่อให้ นศ. ที่ลงเรียนวิชานี้ตอบตลอดภาคการศึกษา  หนังสือยกตัวอย่าง ๓ ข้อแรก ดังนี้

·  ข้อ ๑  จงกำหนดแผนการทำงาน ว่า นศ. จะทำการบ้านข้อไหนบ้าง  ทำไมจึงเลือกข้อนั้น  นศ. คิดว่าการเลือกนี้สะท้อนความชอบการเรียนแบบไหน  ทำไม นศ. จึงคิดว่า ครูควรมีทางเลือกการบ้านให้แก่ นศ.  นศ. คิดว่าแนวทางเช่นนี้จะมีผลต่อการเรียนของ นศ. หรือไม่ เพราะอะไร

·  ข้อ ๒ ทำไมมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วิชาสื่อสารด้วยวาจาเป็นวิชาบังคับ  ถ้าไม่บังคับ นศ. จะลงเรียนไหม  ทำไมไม่ลง  ในภาพรวม นศ. ประเมินทักษะด้านการสื่อสารของตนเองเป็นอย่างไร  ให้อ่านหนังสือหน้า … และตั้งเป้าหมาย ๑ อย่าง ที่ตนเองจะได้จากชั้นเรียนนี้

·  ข้อ ๓  เขียนเรื่องราวของตนเอง เรื่องการทำงานเป็นทีม  ปัจจัยอะไรที่ทำให้ประสบการณ์นี้ได้ผลดี หรือได้ผลไม่ดี  เมื่อทำงานกลุ่ม สมาชิกกลุ่มแต่ละคนมีความรับผิดชอบอย่างไร  สมาชิกคนหนึ่งจะมีทางส่งเสริมให้สมาชิกอีกคนหนึ่งมีความรับผิดชอบได้อย่างไร   

การประยุกต์ใช้ online

 กำหนดให้เขียน บล็อก ได้ง่าย โดยครูต้องระวังอย่ากำหนดให้เขียนเรื่องที่ นศ. ไม่อยากเปิดเผย  การเขียน บล็อก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดซึ่งกันและกันระหว่าง นศ. มีประโยชน์มาก

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  ให้ นศ. เขียน “บันทึกสานเสวนา” (Dialogue Journal) ระหว่าง คู่ นศ.  ให้คนหนึ่งเขียนบันทึกครึ่งซ้ายของหน้า  คู่เสวนาเขียนเสวนาที่ครึ่งขวา

·  แทนที่จะกำหนดคำถามให้เขียนตอบ  ครูให้รายการประโยคที่ครูเขียนขึ้นต้น ให้ นศ. เขียนเติม  เช่น

1.  วันนี้การเรียนของฉันได้ผลดี (ไม่ได้ผลดี) เพราะ ....

2.  วันนี้ฉันมีปัญหาในการทำ ....  พรุ่งนี้ฉันจะทำใหม่ให้ได้ผลดี โดย ....

3.  วันนี้ฉันเรียนรู้ได้มาก เพราะ .....

4.  วันนี้การเรียนของฉันก้าวหน้ามาก เพราะ....

5.  ส่วนที่ง่ายที่สุดใน ชั้นเรียน / โครงการ / การบ้าน คือ ....

6.  ฉันต้องการความช่วยเหลือเรื่อง ...  ดังนั้นพรุ่งนี้ (หรือคืนนี้) ฉันจะ ....

7.  วันนี้ฉันภูมิใจตัวเองมาก เพราะ ....

8.  วันนี้ฉันเปลี่ยนวิธี .... เพราะ ....

9.  สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีเรียนของฉันในวันนี้คือ ....

10.  วันนี้ฉันใช้เวลาได้ดีมาก เพราะ ....

11.  ฉันต้องทำ .... ให้ดีขึ้นในชั้นเรียนครั้งต่อไป เพราะ ....

คำแนะนำเพิ่มเติม

การเขียนบันทึกใช้เวลา  ครูจึงต้องพยายามอย่างมาก ที่จะแสดงให้ นศ. เห็นประโยชน์  ครูต้องคิดคำถามอย่างประณีต และให้เห็นชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับวิชาที่เรียน  และต้องอธิบายคุณค่าของการเขียนบันทึกให้ นศ. เข้าใจชัดเจน  อย่าให้ นศ. คิดว่า เป็นวิธีที่ครูหาทางทำให้ นศ. มีงานยุ่ง

ครูต้องเข้าไปอ่านบันทึก อย่างสม่ำเสมอ  และตอบสนอง หรือใช้ข้อความในบันทึกตอบสนอง นศ.  เพื่อให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเขียนบันทึก

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Weimer M. (2002). Learner-centered teaching : Five key changes to practice. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 207-208.

วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 509705เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2012 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมากๆ ค่ะอาจารย์ เป็นไอเดียที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียนใน ClassStart ได้เป็นอย่างดีค่ะ

 

มีสติ...กับ..การเรียน ....ใจอยู่กับสิ่งที่เรียน ....เรียนแล้วสนุก...

 

ขอบคุณท่าน อจ.มากๆๆนะคะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ จะนำไปทดลองใช้ เชื่อว่า จะเกิดข้อสังเกต และประโยชน์ ใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้อย่างดีนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ เป็นบทความที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท