ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 22


- กริยากรรมวาจก ปัจจุบันกาล

(ยากขึ้นมาอีกหน่อย โปรดตั้งใจอ่านไปทีละนิด)

เราเรียนกริยาปัจจุบันกาลมาเกือบครบถ้วนแล้ว สำหรับธาตุชุดแรก (หมวด 1, 4, 6 และ 10) ที่ผ่านมา การสร้างกริยาหลัก (finite verb) หรืออาขยาต นั้นเป็นรูปกรรตุวาจก ที่นี้มาพูดถึงกรรมวาจกบ้าง

โดยทั่วไป เราจะแบ่งประโยคเป็น 2 แบบตามลักษณะวาจก คือ กรรตุวาจก (ประโยคธรรมดา) ที่ประธานเป็นผู้ทำกริยา เช่น เขาเขียนหนังสือ ฉันร้องเพลง กับกรรมวาจก (ประโยคกรรม) ที่ประธานของประโยค อันเป็นตัวกำหนดกริยานั้น ถูกทำ เช่น โจรถูกลงโทษ

วิธีทำ

  •   แค่เติมปัจจัย ยะ (yá) มีเสียงเน้น ที่ข้างหลังธาตุ เป็นอันจบพิธี ได้เค้ากริยาไปใช้
  •   ลงปัจจัยในอาตมเนบท

ทั้งนี้ไม่จำเพาะหมวดหรือคณะธาตุ หมวด 1 2 3 4 .. 10 ทำได้หมด เช่น 8อ√ตนฺ  8A√tan แผ่ กระจาย (ตนฺ เป็นธาตุหมวด 8 ปกติหากใช้ในปรัสไมบท จะต้องลงปัจจัยประจำหมวดธาตุ คือ นุ, แต่เมื่อนำมาใช้เป็นกรรมวาจก ก็ลืมเรื่องหมวดธาตุไปก่อน, แต่อย่าลืมว่า ธาตุตัวนี้ยังใช้ปรัสไมบทไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้เรียน) มาดูการแจกรูป

  • √tan + yá =tanyá  นำไปลงปัจจัย รูปอาตมเนบท เช่น อิ, เส, เต
  • tanyá + i = tanyé
  • tanyá + se = tanyáse
  • tanyá + te = tanyáte   เช่น กนฺยยา ปุษฺปาณิ ตนฺยนฺเต. ดอกไม้ทั้งหลายถูกกระจายออกโดยหญิงสาว (โปรดสังเกต หญิงสาว เป็นกรณการก ดอกไม้เป็น กรรตุการก กริยาสอดคล้องกับนามกรรตุการก-ประธา่น)

  มีเรื่องยุ่งยากนิดหน่อย คือธาตุบางตัว พอลง ยะ แล้ว ต้องเปลี่ยนรูป ดังนี้

  1. ธาตุที่มีเสียงนาสิกตรงกลาง เมื่อนำไปเติม ยะ ให้ลบเสียงนาสิกออกก่อน เช่น

√อญฺชฺ >   อชฺ

  • อชฺ + ย > อชฺย
  • อชฺย + เต = อชฺยเต

√พนฺธฺ > พธฺ

  • พธฺ+ย = พธฺย
  • พธฺย + เต = พธฺยเต

2. ธาตุที่ขึ้นต้นด้วย ว จะหดเสียงจาก ว เป็น อุ เช่น √วจฺ, √วทฺ, √วปฺ, √วสฺ, √วหฺ, √สฺวปฺ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

  • √วจฺ > อุจฺ > อจฺยเต
  • √วทฺ > อุทฺ > วทฺยเต
  • √วปฺ > อุปฺ > อุปฺยเต
  • √วสฺ > อษฺ > อุษฺยเต (สฺ เปลี่ยนเป็น ษฺ เมื่อมีสระข้างหน้า ที่ไม่ใช่ อะ, อา)
  • √วหฺ > อุหฺ > อุหฺยเต
  • √สฺวปฺ >สุปฺ > สุปฺยเต (svap > sup)

3. ธาตุที่ขึ้นต้นด้วย ย จะหดเสียงจาก ย เป็น อิ เช่น ยชฺ > อิชฺ > อชฺยเต

4. ธาตุที่แจกรูปพิเศษ จำนิดหนึ่ง

  • คฺรหฺ > คฺฤหฺ > คฺฤหฺยเต
  • ปฺรฉฺ > ปฺฤจฺฉฺ > ปฺฤจฺฉฺยเต
  • ศาสฺ > ศิษฺ  > ศิษฺยเต

5. เสียงท้าย อุ และ อิ จะยืด ก่อนลงปัจจัย ยะ เช่น

  • ชิ > ชี > ชียเต      สฺตุ > สฺตู > สฺตูยเต

6. เสียงท้าย ฤ มักจะเปลี่ยนเป็น ริ เช่น กฺฤ > กฺริ > กฺริยเต

  แต่.. ถ้าหน้า ฤ มีพยัญชนะควบ จะทำคุณที่ ฤ (กลายเป็น อรฺ) เช่น

  • สฺมฺฤ > สฺมรฺ > สฺมรฺยเต

  ส่วน ฤ ตัวอื่น (นักไวยากรณ์อาจใช้ ฤๅ บ้าง) รูปกรรมวาจกอาจเปลี่ยน ฤ(ฤๅ) เป็น อีรฺ หรือ อูรฺ เช่น

  •   √ตฺฤ (√ตฺฤๅ) > ตีรฺยเต
  •   √กฺฤ (√กฺฤๅ) > กีรฺยเต  หรือ
  •   √ปฺฤ (√ปฺฤๅ) > ปูรฺยเต

7. เสียงท้าย อา มักจะเปลี่ยนเป็น อี เช่น

  • √คา > คี > คียเต
  • √ทา > ที > ทียเต
  • √ธา > ธี > ธียเต
  • √ปา > ปี > ปียเต
  • √มา > มี > มียเต

  * ยกเว้นบางธาตุ เช่น ธฺยา ไม่ต้องเปลี่ยน, ธฺยา + ย > ธฺยาย > ธฺยายเต

8. ธาตุ ตนฺ และ ขนฺ ปกติจะตัด นฺ ทิ้ง แล้วยืดเสียงอะเป็นอา (ได้รูป ตายเต, ขายเต) แต่รูป ตนฺยเต, ขนฺยเต ก็ใช้

9. กริยาที่ลงปัจจัย อยะ (áya) ที่เป็นกริยาบอกเหตุ และกริยาจากนามธาตุ มีพิธีรีตองนิดหน่อย ดังนี้

    1) ลง อยะ áya เพื่อสร้างกริยาบอกเหตุ หรือกริยาจากนามธาตุ เช่น

  • √cur + áya ทำคุณสระอุ =  cor + áya= coráya
  • √gaṇ + áya สระ อะ ปกติไม่ยืดเสียง = gaṇ + áya = gaṇáya

    2) ลบ อยะ áya ทิ้ง,

  • coráya > cor
  • gaṇáya > gaṇ

    3) ลงปัจจัย yá (ตัวกรรมวาจก)

  • cor + yá =coryá > coryáte
  • gaṇ + yá = gaṇyá > gaṇyáte

    สาเหตุที่ต้องลง อยะ แล้วก็ลบออก ก็เพราะเมื่อลง อยะ แล้ว ต้องยืดเสียงสระตามวิธีพิเศษของ ปัจจัย อยะ  นั่นเอง วิธีที่อธิบายขั้นตอนง่ายที่สุดก็คือ บอกว่า ลงอยะ แล้วลบอยะ แล้วจึงลง ยะ  ฟังดูน่าสับสนไม่น้อย แต่อันที่จริงทำไปตามขั้นตอนก็เข้าใจได้ง่ายๆ

10. บางครั้งกริยากรรมวาจกนั้น ประธานไม่ได้ถูกกระทำจริงๆ แต่เป็นการใช้รูปประโยคเท่านั้น ประโยคเช่นนี้จะไม่มีประธา่นที่เป็นกรรตุการก เช่น

  • นเรณ สฺวรฺเค ลภฺยเต. แปลได้ว่า ...ถูกได้รับสู่สวรรค์โดยมนุษย์. แปลแบบนี้ไม่รู้เรื่อง ความหมายก็คือ มนุษย์บรรลุสู่สวรรค์ โปรดสังเกตว่า 
  • อาคมฺยเต แปลว่า ..ถูกมา นั่นคือ เขามา (กริยาเป็นบุรุษที่ 3 เอกพจน์)
  • สุปฺยเต แปลว่า .. ถูกหลับ นั่นคือ เขาหลับ
  • ศฺรูยเต แปลว่า ... ถูกได้ยิน นั่นคือ กล่าวกันว่า
  • ราเมณรฺษิณา ชีวฺยเต. แปลตามตัวหนังสือว่า ... ถูกใช้ชีวิต โดยพระราม โดยฤษี ?? ไม่รู้เรื่อง ประโยคนี้ต้องแปลว่า พระรามใช้ชีวิตเยี่ยงฤษี (ฤษิณา และ ราเมณ ใช้การก เดียวกัน)

การแปลประโยคกรรมวาจก จึงต้องพิจารณาให้ดี ว่าเป็นประโยคที่ประธานถูกกระทำ หรือจริงๆ ไม่มีสิ่งถูกกระทำ แต่ใช้โครงสร้างกรรมวาจก (อ่านบ่อยๆ ก็คุ้นเคยมากขึ้น)

กริยาปัจจุบันกาล ที่แจกรูปกรรมวาจก
(คละหมวดธาตุ)

  • √กฺฤ กฺริยเต kriyáte ทำ
  • √ขนฺ ขนติ khánati; ขายเต khāyáte, ขนฺยเต khanyáte ขุด
  • √คา คายติ gā́yati, คียเต gīyáte ร้องเพลง(√ไค)
  • √คฺรหฺ คฺฤหฺยเต grahyáte รับ, คว้า, ถือเอา
  • √ทํศฺ ทศติ dáśati ; ทศฺยเต daśyáte กัด
  • √ทา2 ทฺยติ dyáti ; ทียเต dīyáte ตัด* (√โท)
  • √ทีวฺ ทีวฺยติ dī́vyati ; ทีวฺยเต dīvyáte เล่น, เล่นพนัน
  • √ธา1 ธียเต dhīyáte. วาง
  • √ธา2 ธยติ dháyati; ธียเต dhīyáte ดูด (√เธ)
  • √ธฺยา ธฺยายติ dhyā́yati ; ธฺยายเต dhyāyáte คิด ครุ่นคิด (√ไธ)
  • √ปา1 ปิพติ pibati ; ปียเต pīyáte ดื่ม
  • √ปฺฤ1 ปูรฺยเต pūryáte เติม (บางตำราว่า √ปฺฤๅ)
  • √พนฺธฺ พธฺยเต badhyáte ผูก พัน ทำให้ยุ่ง
  • √มา1 มียเต mīyáte วัด
  • √วจฺ อุจฺยเต ucyáte พูด
  • √วปฺ วปติ vápati , อุปฺยเต upyáte หว่าน โปรย
  • √ศาสฺ ศิษฺยเต śiṣyáte  ปกครอง ลงโทษ
  • √ศฺรุ ศฺรูยเต śrūyáte ฟัง
  • √สฺตุ สฺตูยเต stūyáte สรรเสริญ สดุดี 
  • √สฺวปฺ สุปฺยเต supyáte หลับ
  • √หา1 หียเต hīyáte ทิ้ง สละ เลิก ละเลย
  • √หฺวา  หฺวยติ hváyati ; หูยเต hūyáte เรียกร้องเรียก (√หฺเว หรือ √หู)
  • √หฺวา + อา เรียกให้เข้ามา

* ทา มีสองตัว จึงกำหนดว่า ทา1 แปลว่า ให้, ทา 2 แปลว่า ตัด, ธาตุอื่นๆ ที่มีตัวเลขตามหลังก็แบบนี้

กริยาในหมวดที่เรียนมาแล้ว จะแจกรูปปัจจุบันกาล กรรตุวาจกให้ด้วย, แต่กริยาหมวดอื่น จะไม่แจกให้ เพราะยังไม่ได้เรียน เกรงจะสับสน (โปรดสังเกตเสียงเน้นในกริยาแต่ละตัว)

ศัพท์อื่น

  • นาม
  • อาชฺญา  ส.  คำสั่ง
  • อาศา  ส.  ความหวัง
  • กาษฺฐ  นปุ.  ฟืน, ไม้
  • คีต  นปุ.  เพลง
  • ฆฏ  ปุ.  หม้อ, ภาชนะ
  • ฆฺฤต  นปุ.  เนยเหลว. ฆี
  • ธานฺย  นปุ.  ข้าว, ธัญพืช
  • ปาศ  ปุ.  บ่วง, บ่วงบาศ
  • ภาร  ปุ. ภาระ, น้ำหนัก
  • ภิกฺษุ  ปุ. ขอทาน, นักบวช(ที่ขออาหาร)
  • ภฺฤตฺย  ปุ. คนรับใช้
  • มาลา  ส. พวงมาลัย
  • ราชฺย  นปุ. อาณาจักร
  • ศิศุ  ปุ. เด็ก
  • สรฺป  ปุ. งู
  • คุณศัพท์
  • วิเธย, วิเธยา (ผู้)เชื่อฟัง

ป. เพศชาย ส.เพศหญิง นปุ.เพศกลาง

แบบฝึก

1. แบบสันสกฤตเป็นไทย

  • रामेण पुत्रावद्योपनीयेते इति श्रूयते.  1.  
  • ऋषिर्नृपेण धर्मं पृच्छयते.  2. 
  • घतौ घृतेन पूर्येते.  3. 
  • विहगाः पाशैर्बध्यन्ते.  4. 
  • जनैर्नगरं गम्यते.  5. 
  • हे शिष्या गुरुणाह्वयध्वे.  6. 
  • नरैः कटाः क्रियन्ते.  7. 
  • कविभिर्नृपाः सदा स्तूयन्ते.  8. 
  • प्रभूता भिक्षा गृहस्थस्य भार्यया भिक्षुभ्यो दीयते.  9.
  • कन्याभ्यां गीतं गीयते.  10. 
  • स्तेनैर्लोकानां वसु चोर्यते.  11. 
  • इषुभी रणे |रयो नृपतिना जीयन्ते.  12.   
  • हे देवौ साधुभिः सदा स्मर्येथे.  13.   
  • दण्डेन बालाः शिष्यन्ते.  14. 
  • प्रभूतः काष्ठानां भारो नरेणोह्यते.  15.  
  • अश्वेन जलं पीयते .  16. 
  • धर्मेण राज्यं शिष्यते नृपेण .  17.   
  • सर्पेण दश्येते नरौ.  18. 
  • सूतेनाश्वस्ताड्यते.  19.

2. แปลไทยเป็นสันสกฤต (ใช้ประโยคกรรมวาจกทั้งหมด)

  1. ข้าว2ถูกโปรย3เพื่อนกทั้งหลาย1.  
  2. มาลัยทั้งหลาย1ถูกร้อย3 (ใช้बन्ध्เพราะคนอินเดียเขาไม่ได้ร้อยมาลัย แต่มัดๆ เอา) โดยหญิงสาวทั้งหลาย2.  
  3. หริ1ได้รับการสรรเสริญ4โดยราม3อีกครั้ง2
  4. วิษณุ1ดื่ม4น้ำ3จากมือ2
  5. คนทั้งหลาย 6กล่าว5 ว่า4 คนหนึ่งหลับ3ในร่มไม้2ด้วยความสุข1
  6. ฤษีทั้งสอง1สังเวย2
  7. บิดา1ตั้ง4ความหวัง2ในลูกชาย3
  8. ศิษย์3ละเลย4คำสั่ง2ของครู1
  9. ศิษย์ทั้งสอง1ครุ่นคิด3ถึงตำรา2 (ใช้กรรตุการก)
  10. ข้าว2ถูกหว่าน3ในนา1 
  11. พวกเขาเล่น(พนัน)2ด้วยลูกเต๋าทั้งหลาย1
  12. คำสั่งทั้งหลาย2 ของพระราชา1ถูกรับไว้5โดยข้าราชบริพารทั้งหลาย4 ผ้เชื่อฟัง3
  13. ชายคนนั้น1ขุด3ในนา2. 


หมายเลขบันทึก: 509375เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

โอยยยย ...หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมคะ

อิๆ ผมทดลองเพิ่มเนื้อหา จะได้จบในบทเดียว

งั้นสงสัย คราวต่อไปต้องให้สั้นเท่าเดิมใช่ไหมครับ

อาจารย์อ่านงานของมหายานที่เป็นสันสกฤตเยอะไหมค่ะ แล้วสันสกฤตของทางมหายานต่างกับของฮินดูมากขนาดไหน เพราะขนาดของอินเดียก็ยังมีสันสกฤตแบบแผนเลย ขอบคุณคะ

ภาษาสันสกฤตมหายาน ได้อ่านมาบ้างครับ ดูเหมือนภาษาร้อยแก้วจะอ่านง่ายกว่า โดยเฉพาะพระสูตรต่างๆ (ดูบล็อก สุขาวตีวยูห ที่ผมเขียน) ก็ไม่ถึงกับยากมาก ภาษาในพระสูตรมหายานมักจะใช้ข้อความซ้ำๆ ทำให้อ่านง่าย  แต่ก็มีศัพท์สำนวนเฉพาะไปบ้าง ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตผสม คือ ทั้งตัวศัพท์ และไวยากรณ์ มีการแจกรูปแปลกๆ ต้องอาศัยความชำนาญพอสมควร (ดู ลลิตวิสตระ) อย่างเช่นศัพท์ อิสฺตฺรี แบบนี้บาลีก็ไม่ใช่ สันสกฤตก็ไม่ใช่ แต่ในพระสูตรมหายานมีใช้

ส่วนภาษาร้อยกรองบางครั้งก็ยากพอๆ กับงานฮินดู (ดู พุทธจริต, เสานทรนันทะ)

ถ้าสนใจ ให้เริ่มจากพระสูตรขนาดสั้น และเป็นร้อยแก้ว จะมีกำลังใจหน่อย

เรียนของอาจารย์ไปได้สักครึ่งทางจะต้องลองหามาอ่านมาแปลแล้วคะ ตอนนี้ฝึกแปลของอาจารย์ไปก่อน อิอิ พระสูตรของมหายานเคยอ่านมาอยู่บ้างนิดๆหน่อยๆ แต่ไม่เยอะเท่าของฮินดู อ่านที่เป็นภาษาไทยนะค่ะ

ทราบมาว่าพระถังซำจั้งท่านก็แปลพระสูตรจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ท่านก็เก่งน่าดูนะค่ะอาจารย์ ขอบคุณมากคะ

เห็นหน้าปกหนังสือแล้วคะ เพิ่งทราบว่าเป็นงานของท่านอัศวโฆษ ทนไม่ไหวแล้วคะ น่าอ่านมากๆ หนูอาจจะไปซื้อเลยพรุ่งนี้เลย จริงๆปลื้มท่านอัศวโฆษมานานแล้ว ท่านคงเก่งมากๆ

หนูได้ยินมาว่าอัศวโฆษชื่อนี้มีหลายคน แต่นักวิชาการยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเป็นองค์ไหนกันแน่ ทราบมาว่าชื่อนี้มีที่มาจากการที่ท่านเทศน์จนม้าน้ำตาไหล ฉะนั้น อัศว มาจากม้าแน่ๆ ส่วนโฆษนี่หนูไม่ทราบคะ ฮ่าๆ เห็นคนจีนเรียกท่านว่า ม่าหมิงผูซ่า 马鸣菩萨

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆคะสำหรับข้อมูลดีๆ

แอบไปเห็นเล่มนี้มา เห็นหน้าปกบอกว่าให้ฝึกแปลและอ่านด้วย ตอนนี้หนูคงยังไม่ได้ แต่คิดว่าจะซื้อเก็บไว้ไม่ทราบว่าจะยากไปหรือเปล่า

แล้วก็ยังไม่รู้จะไปหาซื้อได้ที่ไหนด้วยคะ หรือว่าต้องเข้าไปที่ภาควิชาภาษาตะวันออก ศิลปากร หน้าตาคล้ายๆหนังสือเรียนเลยนะค่ะ

ขอบคุณคะ

อาจารย์ค่ะงงตรงประโยคนี้คะ .. ดอกไม้ทั้งหลายถูกกระจายออกโดยหญิงสาว

  • ดอกไม้หลายดอกเป็นประธาน พหูพจน์ = ปุษฺปาณิ

  • โดยหญิงสาวหนึ่งคน เอกพจน์ = กนฺยยา

เพราะฉะนั้นต้องทำกริยาให้สอดคล้องกับประธานพหูพจน์ในที่นี้คือดอกไม้หลายดอก ก็ต้องเติมปัจจัย อนฺเต บุรุษที่สาม พหูพจน์หรือเปล่าคะ ได้เป็น กนฺยยา ปุษฺปาณิ ตนฺยนฺเต

หรือตามกฎข้อที่ 8 คือตัด นฺ ทิ้งแล้วยืดเสียงตัวข้างหน้าเป็นอา ก็จะได้ กนฺยยา ปุษฺปาณิ ตายนฺเต

ไม่รู้ว่าหนูจะมั่วหรือเปล่านะค่ะ รบกวนอาจารย์ช่วยดูด้วยคะ

ลองแต่งประโยคด้วยตัวเองดูนะค่ะ สักหนึ่งข้อตามความเข้าใจ

พาลา คุรุณา ปีฑฺยนฺเต = เด็กๆถูกครูตีด้วยไม้

แล้วต่อไปจะมีวิธีสังเกตอย่างไรค่ะว่ากริยาตัวนี้เป็นกรรมวาจกหรือเป็นหมวดที่สี่เพราะต่างก็ลงปัจจัยยะด้วยกันทั้งคู่ หนูตายหยังเขียดแน่ๆคะ ฮือๆๆๆ

ตายแล้ว ...ตกคำว่าด้วยไม้ไปตัวนึงคะ ขออภัยเบลอไปหน่อยยังไม่ได้นอน

ขอแก้ตัวเป็น พาลา คุรุณา กาษฺเฐน ปีฑฺยนฺเต = เด็กๆถูกครูตีด้วยไม้

ไม่ได้ตัดครับ พิมพ์ตก อิๆๆ ขอบคุณมากครับ

หนังสือที่ยกมา ควรอ่านทั้งหมดครับ

สำหรับการฝึกหัดแปล คงค่อยๆ ดูไปตามระดับขั้น เพราะในเรื่องส่วนมากจะมีอดีตกาลมาก เรายังไม่ได้เรียน

ระหว่างนี้หัดแปลสุภาษิตด้วยก็ดี

ภควัทคีตา อ่านของ อ.สำเนียงก็ดีครับ หรือไม่ก็ดูฉบับนี้ http://www.asitis.com/3/1.html

แยกศัพท์ แปลความหมาย แต่ไม่ได้อธิบายไวยากรณ์

 

 

พาลา คุรุณา กาษฺเฐน ปีฑฺยนฺเต ถูกครับ (ขำ ตายหยังเขียด อิๆๆ)

แตกต่างจากหมวด 4 (ya) เพราะใช้รูปอาตมเนบทครับ และกรรมวาจก (yá) มีเสียงเน้น

บางธาตุก็เปลี่ยนเสียง เช่น ธา2, ในบทนี้มีธาตุหมวด 4 หลายตัว ลองดูรูปกรรตุวาจก กับกรรมการกเปรียบเทีย[กันนะครับ

มีธาตุอีกหลายตัว ที่สร้างกรรมวาจกแล้วจะเปลี่ยนรูปไปนิดๆ หน่อยๆ

สรุป (ตามความเข้าใจของหนู )

1.) - ธาตุหมวดที่ 4 (กรรตุวาจก) = ลงปัจจัยในปรัสไมบท / เติมปัจจัย ยะ / ไม่มีเสียงเน้น การเน้นเสียงจึงอยู่ที่สระต้นธาตุเช่น ásyati

  • กริยากรรมวาจก ปัจจุบันกาล = ลงปัจจัยในอาตมเนบท / เติมปัจจัยยะ / มีเสียงเน้นที่ข้างหลังธาตุ เช่น ajyáte , supyáte , pīḍyánte

2.) จริงๆแล้ว √ตนฺ ที่ถูกต้องต้องเป็นคำไหนค่ะ ตนฺยเต หรือ ตายเต หรือได้ทั้งสองแบบ แล้วพบเห็นแบบไหนมากกว่ากัน

3.) หนูลองมาฝึกทำตามข้อ 9 ดู คือนำปัจจัยที่ลง อยะ กริยาบอกเหตุและนามธาตุ (หมวด 10) ถ้าไม่ฝึกไว้ก่อนเดี๋ยวจะงง รบกวนอาจารย์ช่วยดูคะ

3.1.) √ปูชฺ (ไม่ต้องทำคุณเพราะเป็นสระเสียงยาว) + อย = ปูชย ( pūjaya)

  • ลบ อยะ ทิ้ง = ปูชฺ

  • ลงปัจจัยยะ (กรรมวาจก) ปูชฺ + ย = ปูชฺยเต

    = ศิโว มาลยา ปูชฺยเต พระศิวะทรงถูกบูชาด้วยพวงมาลัย

3.2.) √ปฺฤ (ทำพฤทธิ์) = ปารฺ (pār ) + อย = ปารย ( pāraya )

  • ลบ อยะ เหลือ ปารฺ

  • ลงยะ (กรรมวาจก) ปารฺยเต ( pārya )

= ศตฺโว นคราตฺปารฺยนฺเต ศัตรูทั้งหลายถูกกำจัดออกไปนอกพระนคร

ยิ่งพิมพ์เยอะยิ่งงงและสับสนคะ เข้าใจอาจารย์เลย อิอิ

เข้าใจถูกแล้วครับ

ตายเต ใช้เยอะกว่าครับ แต่ใช้ได้ทั้งสองแบบ

ศตฺโว นคราตฺปารฺยนฺเต

ขยันมาก ดีมากเลยครับ แบบนี้เรียนรู้ได้เร็วแน่ๆ

อาจารย์ค่ะประโยคนี้เป็นกริยากรรมวาจกไหมค่ะ แล้วจริงๆแปลว่าอะไร แปลว่าปาณินิถูกสิงโตฆ่าเหรอค่ะ

सिंहो व्याकरणस्य कर्तुरहरत् प्राणान् मुनेः पाणिनेः ।

ขอบคุณคะ

ประโยคข้างบนนี้อาจารย์แยกสนธิให้ดูได้ไหมค่ะอยากจะเห็น

คำถามคะ ..

1.) √ทํศฺ เป็นธาตุหมวดหนึ่งหรือเปล่าค่ะ แล้วทำไมเป็น ทศฺยเต อาจารย์แสดงวิธีการแจกรูปให้ดูหน่อยคะ

2.) √ปา ทำไมกรรตุวาจกได้เป็น ปิพติ ค่ะ ธาตุปานี่หมวดที่หนึ่งด้วยหรือเปล่า แล้วปาที่แปลว่าดื่มกับประปาของเราเหมือนกันไหมค่ะ ฮ่าๆ

3.) √ปฺฤ ทำไมถึงได้เป็น ปูรฺยเต ตามความเข้าใจของหนู √ปฺฤ - ปฺริ+ ย = ปฺริยเต

4.) √มา ตัวนี้มาจากมาตราแปลว่าวัดหรือเปล่าค่ะ แล้วก็ถ้าให้เดา √ศฺรุ ก็คงมาจากศรุติแน่ๆ

5.) √หฺวา ทำไมไม่เป็น หฺวียเต

ขอบคุณมากคะ

सिंहो व्याकरणस्य कर्तुरहरत् प्राणान् मुनेः पाणिनेः । มีศัพท์ไวยากรณ์ที่เราไม่ได้เรียนหลายตัวครับ เป็นกรรตุวาจกธรรมดา แต่เป็นอดีตกาล และมีสัมพันธการกหลายตัว

สึหสฺ(สึห, อันว่าสิงโต) วฺยากรณสฺย(วฺยากรณ, แห่งไวยากรณ์) กรฺตุสฺ(กรฺตฺฤ, แห่งผู้สร้าง) อหรตฺ(ได้พาไปแล้ว √หฺฤ) ปฺราณานฺ(ปฺราณ, ซึ่งลมหายใจทั้งหลาย) มุเนสฺ(มุนิ, ของมุนี) ปาณิเนสฺ(ปาณินิ, ของปาณินิ)

สิงโตได้พาไปแล้วซึ่งลมหายใจของมุนีชื่อปาณินี ผู้สร้างไวยากรณ์ (โครงสร้างแบบอังกฤษ the maker of grammar)

 

ทํศฺ หมวด 1, ธาตุืที่มีเสียงนาสิกตรงกลาง ทำเป็นกรรมวาจก ลบนาสิกออกครับ

ทํศฺ > ทศฺ > ทศฺย > ทศฺยเต แค่นี้เอง...

ปา อันที่จริงมีการทำเสียงซ้ำก่อน เป็น ปาปา แล้วเปลี่ยนสระอาเป็นอิ แล้วเปลี่ยน ป เป็น พ ;) คำเดียวกับประปาของเราครับ ปฺร+ปา, ปฺรปา แปลว่าแหล่งน้ำ

ฤ เป็น อู (เดี๋ยวจะใส่เพิ่มในบทเรียนครับ)  อันที่จริง ฤ กลายเป็นหลายเสียง ธาตุที่ลงท้ายฤ บางทีนักไวยากรณ์อินเดียว่าลงท้าย ฤๅ ทีนี้ บางถิ่นออกเ้สียง ฤ เป็น อุ/อึ ออกเสียง ฤๅ เป็น อู/อือ, ปฺฤ (หรือ ปฺฤๅ) จึงกลา่ยเป็น ปูรฺยเต ด้วยเหตุนี้, ส่วนที่ออกเสียง อึ อือ ก็คงจะกลายเป็น อี ไป เสียงสระในภาษาสันสกฤตเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้มากครับ (นักไวยากรณ์ฝรั่งว่า ฤๅ จริงๆ ไม่มี หรือพูดง่ายๆ ว่า ฤ ฤๅ ก็เหมือนกัน)

 

4.) √มา ตัวนี้มาจากมาตราแปลว่าวัดหรือเปล่าค่ะ แล้วก็ถ้าให้เดา √ศฺรุ ก็คงมาจากศรุติแน่ๆ

กลับกันครับ, มาตรา มาจาก √มา, ศฺรุติ มาจาก √ศฺรุ

 

√หฺวา ทำไมไม่เป็น หฺวียเต

หฺวา นั้นเป็นตัวธาตุ(รูปสมมุติสำหรับใช้เรียก)เฉยๆ ธาตุนี้นักไวยากรณ์บอกไว้หลายอย่าง หู บ้่าง หฺเว บ้าง,  การเปลี่ยนจากธาตุเป็นกริยา บางทีก็ไม่ตรงไปตรงมา  เราอาจเขียนการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจนได้ ดังนี้

√หฺวา > หฺวยติ (รูปจริง)

√หู > หูยเต (รูปจริง)

กริยาทั้งสองตัวมีความหมายเดียวกัน นักไวยากรณ์คงไม่อยากเขียนธาตุหลายรูป จึงเลือกใช้ธาตุีรูปใดรูปหนึ่ง ทีนี้ พอใช้ √หฺวา รูปกรรมวาจกก็แปลกไป พอใช้ √หู รูปกรรตุวาจก ก็แปลกไป

ขอส่งข้อสองก่อนคะ

  1. แปลไทยเป็นสันสกฤต (ใช้ประโยคกรรมวาจกทั้งหมด)

1.) วิหเคภฺโย ธานฺยานิ อุปฺยนฺเต

2.) มาลาะ กนฺยาภิรฺพธฺยนฺเต

3.) หริรฺปุนรฺราเมณ สฺตูยเต

4.) วิษฺณุรฺหสฺถาชฺชลานิ ปียเต

5.) สุเขน ฉยายาะ สุปฺยตยุจฺยนฺเต

6.) ฤษี ยชฺเยเต

7.) ชนโก อาศามฺปุเตฺร ติษฐยเต

8.) คุโรรฺอาชฺญา ศิษฺโย หียเต

9.) ศิษฺเยา ศาสฺตฺราณิ ธฺยาเยเต

10.) กฺเษเตฺร ธานฺยุปฺยนฺเต

11.) อกฺไษฺรทีวฺยนฺเต

12.) ราชสฺย อาชฺญาวิเธไยรฺภฺฤตฺไยรฺภฺฤตฺย

13.) นระ กฺเษเตฺร ขายเต

โอ้ย มึนคะ พักผ่อนน้อยไปหน่อยไม่รู้ว่าจะมีพิมพ์ผิดไปบ้างหรือเปล่า

อาจารย์ค่ะ ช้อนตักเนยสันสกฤตว่าอย่างไร ? ใจจริงถ้าอาจารย์ว่างๆอยากรบกวนให้อาจารย์เขียนประวัติของปาณินิ และที่มาที่ไปรวมถึงรายละเอียดของศิวะสูตราณิและอัษฐธยายี ขอบคุณคะ

4.) วิษฺณุรฺหสฺถาชฺ(หสฺตาทฺ)ชลานิ(นิยมใช้ ชลํ) ปียเต. คงจะพิมพ์ผิด

5.) สุเขน ฉยายาะ สุปฺยตยุจฺยนฺเต.

สุเขน ฉายายามฺ สุปฺยเต อิติ อุจฺยเต ชไนะ. = สุเขน จฺฉายายำ สุปฺยต อิตฺยุจฺยเต ชไนะ

  • จฺฉายายำ*  สงสัยว่าผมให้แบบแจกผิดไป ตอนนี้แก้แล้ว(ย้อนไปดู เสนา), แทรก จฺ หน้า ฉฺ ตามกฎ
  • สุปฺยเต + อิติ = สุปฺยต อิติ หรือ สุปฺยตยิติ ก็ได้
  • อุจฺยเต ต้องเป็นเอกพจน์ (เื่รื่องถูกกล่าว)

6.) ฤษี ยชฺเยเต, สร้างกรรมวาจกตามโจทย์ ต้องเป็น ฤษิภฺยำ ยชฺเยเต. ดังนั้นประธานผู้แสดงกริยาจริงๆ ต้องเป็นกรณการก

 

7.) ชนโก อาศามฺปุเตฺร ติษฐยเต. สร้างกรรมวาจก ชเนน อาศามฺ ปุเตฺร ธียเต. 

 

8.) คุโรรฺอาชฺญา ศิษฺโย หียเต, คุโรสฺ อาชฺญา ศิษฺเยน หียเต. > คุโรราชฺญา ศิษฺเยน หียเต.

 

9.) ศิษฺเยา ศาสฺตฺราณิ ธฺยาเยเต. ถ้าเป็นกรรตุวาจก เป็น ศิษฺเยา ศาสฺตฺราณิ ธฺยายตะ, กรรมวาจก ศิษฺยาภฺยำ ศาสฺตฺรํ ธฺยาเยเต.

 

10.) กฺเษเตฺร ธานฺยุปฺยนฺเต. > กฺเษตฺเร ธานฺยานฺยุปยนฺเต.

 

11.) อกฺไษฺรทีวฺยนฺเต > อกฺไษรฺทีวฺยนฺเต (ใส่จุดผิดที่)

 

12.) ราชสฺย อาชฺญาวิเธไยรฺภฺฤตฺไยรฺภฺฤตฺย.

ราชฺย อาชฺญาสฺ วิเธไยสฺ ภฺฤตฺไยสฺ คฺฤหยนฺเต. > ราชฺยาชฺญา วิเธไยรฺภฺฤตฺไยรฺคฺฤหยนฺเต.

ข้อนี้สงสัยจะเบลอ คำสั่งทั้งหลาย ต้องสอดคล้องกับกริยาพหูพจน  คฺฤหยนฺเต

 

13.) นระ กฺเษเตฺร ขายเต. ถ้าใช้ นระ เป็น กรรตุวาจก ต้องใช้กริยา ขนติ > นระ กฺเษเตฺร ขนติ.

กรรมวาจก นเรน กฺเษตฺเร ขายเต/ขนฺยเต.

 

ถ้ายังงงๆ ก็ถามมาได้นะครับ

ช้อนตักเนย เรียก ชุหู जुहू เพศหญิง แปลว่า ลิ้นก็ได้

ประวัติปาณินิ คงต้องค้นคว้าหน่อย เพราะประวัติท่านไม่ค่อยจะมี มีแต่ผลงาน

ศิวสูตร กับอัษฏาธยายี ไว้จะเขียนเล่าให้ฟังครับ

ผมชอบศิวสูตรมาก คล้ายๆ ตัวแปรทางคณิตศาสตร์เลย

ข้อ 7 ชนกทำไมถึงเป็นกรณไม่เป็นกรรตุการกละค่ะอาจารย์

บิดา1ตั้ง4ความหวัง2ในลูกชาย3

ทำเป็นกรรมวาจก ให้บิดาเป็นกรณครับ (ความหวังในลูกชายถูกตั้งโดยบิดา)

ถ้าบิดาเป็นกรรตุ  ก็ได้ประโยคกรรตุวาจกปกติ

อ๋อ อย่างนี้นี่เองหนูเขาใจผิด

ดูเหมือนสันสกฤตเขาจะไม่เน้นมากนักที่ความหมายแบบกรรมวาจกว่า "ถูก" อย่างที่เราแปลกัน

ตำราส่วนมากมักแปลกรรมวาจก กรรตุวาจก ออกมาเหมือนๆ กัน

ผิดเยอะแบบนี้เครียดเลยคะ แต่จะจำไว้เป็นบทเรียน ขอสารภาพว่าตอนแรกหนูก็ทำถูกแล้ว แต่ลังเลและสองจิตสองใจอยู่นาน รู้แบบนี้หนูทำมาทั้งสองแบบให้อาจารย์ตรวจเลยก็ดี ไม่น่าเลือกมาแบบใดแบบหนึ่งเลย

4.) วิษฺณุสฺ หสฺตาตฺ ชลํ ปียเต

หนูงงตรงเรื่องสนธิว่า ตฺ เปลี่ยนเป็น ทฺ เมื่อมีเสียงก้องตามมา ยกเว้นพยัญชนะในวรรคจะ ช ที่ตามมาจัดอยู่ในวรรคจะ = หสฺตาชฺ ชลํ หรือเปล่าค่ะ ทำสนธิทั้งหมดได้เป็น วิษฺณุรฺหสฺตาชฺชลํ ปียเต

  • อยากทราบว่าอมาวสี คืนจันทร์ดับนี่เป็นคำสันสกฤตหรือเปล่าค่ะ และมีการสนธิอะไรหรือเปล่า ?

รอบนี้เอาข่าวมาฝากด้วยคะ ไม่รู้ว่าอาจารย์จะทราบหรือยังที่มหิดลคะ คออินเดียไม่น่าจะพลาด

ตัวหนังสือเล็กไป ..

ศูนย์ภารตะศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ขอเชิญร่วมกิจกรรมทางวิชาการ TWO in ONE

พบงานสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ "อินเดีย-อาเซียน: โอกาสเติบโตของประเทศไทยในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่"

ร่วมเสวนากลุ่ม "Best practices: การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวไทย-อินเดีย" จากกลุ่มธุรกิจไทยในอินเดียและการท่องเที่ยวไทย-อินเดีย

พลาดไม่ได้กับงานเปิดตัวหนังสือ "LETTERS FROM INDIA 1962-1965" ประพันธ์โดย ภิกขุณีธัมมนันทา

วันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555 เวลา 8.30-14.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

อย่าเครียดๆ ผิดถูก เรื่องธรรมดา  สมัยผมเรียนก็ผิดๆ ถูกๆ แบบนี้แหละ ยังมีอีกหลา่ยเรื่องรออยู่ข้างหน้า

วิษฺณุรฺหสฺตาชฺชลํ ปียเต ถูกแล้วครับ ต เปลี่ยนเป็น ท จากไม่ก้อง เป็นเสียงก้อง แล้วเปลี่ยนเป็น ช จาก ฐานฟัน เป็นฐานเพดาน ตามตัว ช ที่ตามมา

สนธิระหว่างคำแบบนี้เรียกว่า สนธิภายนอก เราจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้  ในเอกสารต่างๆ มีหลายแบบ เพราะถือว่าไม่บังคับ

แต่สนธิภายใน ที่เราใช้เวลาสร้างกริยาจากธาตุ แบบนั้นเคร่งครัดว่าครับ ไม่ทำไม่ได้ (แต่อาจมีหลายวิธี)

อมาวสี สันนิษฐานว่า อมา(แปลว่า กับ) วสฺ (อยู่, อาศัย) และปัจจัย อี...

 

ขอบคุณครับที่แจ้งข่าว ผมไม่ได้ไปอีกแหละ เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ค่อยจะรู้เรื่องครับ

ทำแบบฝึกหัดต่อนะครับ

บทต่อไปจะขึ้น อดีตกาลธรรมดา แล้ว

ข้อที่เว้นไว้คือทำไม่ได้คะ (เยอะเลย อิอิ )

  1. แบบสันสกฤตเป็นไทย

1.) -

2.)

3.)

4.)

5.) ชนทั้งหลายไปสู่เมือง

6.) ครูเรียกศิษย์ทั้งหลาย

7.) คนทั้งหลายนั่งที่เสื่อทั้งหลาย

8.) พระราชาทั้งหลายทรงถูกเหล่ากวีสรรเสริญอยู่เสมอ

9.) ข้อนี้ติดตรง ภารฺยยา

10.) เพลงถูกร้องโดยหญิงสาวทั้งหลาย

11.) ทรัพย์สินของประชาชนทั้งหลายถูกปล้นโดยโจรทั้งหลาย

12.) -

13.) นักบวชทั้งหลายระลึกนึกถึงเทวดาทั้งสององค์นั้นอยู่เสมอ

14.) เด็กๆถูกทำโทษด้วยไม้เท้า

15.) ปฺรภูตสฺ กาษฐานามฺ ภารสฺ นเรน แยกได้เท่านี้คะไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า

16.) ม้าดื่มน้ำ

17.) พระราชาทรงปกครองอาณาจักรโดยธรรม

18.) คนทั้งสองถูกงูกัด

19.) -

  • ที่อาจารย์ให้ย้อนกลับไปแก้เสนานี้คือวิภักติที่ 7 เอกพจน์ แก้เป็น เสนามยามฺ ใช่ไหมค่ะ ?

หนูอยากทราบว่า sáṃskṛta มาจากธาตุอะไรค่ะ และมีอุปสรรค สมฺ ที่เราเคยเรียนอยู่ด้วยหรือเปล่า ?

रामेण पुत्रावद्योपनीयेते इति श्रूयते.  1. ราเมณ ปุตฺเรา อทฺย อุปนีเยเต อิติ ศฺรูยเต. ได้ยินมาว่า ปุตรทั้งสองของรามเข้าพิธีอุปนยนะในวันนี้

ऋषिर्नृपेण धर्मं पृच्छयते.  2. ฤเษสฺ นฺฤเปณ ธรฺมมฺ ปฺฤจฺฉยเต. ธรรมะถูกถามแล้วจากฤษีโดยพระราชา

घतौ घृतेन पूर्येते.  3. (เขียนผิด) ฆเฏา ฆฺฤเตน ปูรฺเยเต. หม้อทั้งสองถูกเติมด้วยเนยใส

विहगाः पाशैर्बध्यन्ते.  4.  วิหคาสฺ ปาไศสฺ พธฺยนฺเต. นกทั้งหลาย ถูกมัดด้วยบ่วงทั้งหลาย

जनैर्नगरं गम्यते.  5. ชไนสฺ นครมฺ คมฺยเต .ชนทั้งหลายไปสู่เมือง

हे शिष्या गुरुणाह्वयध्वे.  6. เห ศิษฺยาสฺ(8 พหุ) คุรุณา อาหูธฺเว. นี่แน่ะ ศิษย์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายถูกเรียก. เห เป็นคำร้องเรียก

नरैः कटाः क्रियन्ते.  7.  นไรส์ กฏาสฺ กฺริยนฺเต  เสื่อทั้งหลายถูกทำแล้วโดยคนทั้งหลาย

कविभिर्नृपाः सदा स्तूयन्ते.  8. กวิภิสฺ นฺฤปาสฺ สทา สฺตูยนฺเต. 8.) พระราชาทั้งหลายทรงถูกเหล่ากวีสรรเสริญอยู่เสมอ

प्रभूता भिक्षा गृहस्थस्य भार्यया भिक्षुभ्यो दीयते.  9. ปฺรภูตา ภิกฺษา คฺฤหสฺถสฺย ภารฺยยา ภิกฺษุภฺยสฺ อาหารจำนวนมากถูกให้แล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยภรรยาของพ่อบ้าน ภารฺยยา เป็น กรณการกของ ภารฺยา

कन्याभ्यां गीतं गीयते.  10.  เพลงถูกร้องโดยหญิงสาวทั้งหลายสอง

स्तेनैर्लोकानां वसु चोर्यते.  11. ทรัพย์สินของประชาชนทั้งหลายถูกปล้นโดยโจรทั้งหลาย

इषुभी रणे |रयो नृपतिना जीयन्ते.  12. อิษุภิสฺ รเณ อรยสฺ นฺฤปตินา ชียนฺเต. ศัตรูทั้งหลายถูกเอาชนะโดยพระราชาในสนามรบด้วยลูกศรทั้งหลาย (อิษุภิสฺ รเณ > อิษุภิรฺ รเณ > อิษุภี รเณ, รฺ ซ้อน กับ ร ต้องตัดทิ้ง แล้วยืดเสียง)

हे देवौ साधुभिः सदा स्मर्येथे.  13.  เห เทเวา สาธุภิสฺ สทา สฺมรฺเยเถ ข้าแต่เทพทั้งสอง นักบวชทั้งหลายรำลึกถึงท่านทั้งสองอยู่เสมอ

दण्डेन बालाः शिष्यन्ते.  14.   เด็กๆถูกทำโทษด้วยไม้เท้า

प्रभूतः काष्ठानां भारो नरेणोह्यते. 15.) ปฺรภูตสฺ กาษฐานามฺ ภารสฺ นเรน อุหฺยเต. น้ำหนักที่มากแห่งฟืนทั้งหลายถูกพาไปโดยชายคนนั้น

(อุหฺยเต < วหฺ)

अश्वेन जलं पीयते 16.) ม้าดื่มน้ำ

धर्मेण राज्यं शिष्यते नृपेण .  17.) พระราชาทรงปกครองอาณาจักรโดยธรรม

सर्पेण दश्येते नरौ. 18.) คนทั้งสองถูกงูกัด

सूतेनाश्वस्ताड्यते.  19. สูเตน อศฺวสฺ ตาฑฺยเต ม้าถูกตีโดยโจร

ผิดบ้างถูกบ้าง เอาไปทบทวนอีกทีนะครับ

 

สํสฺกฺฤต < สมฺ + สุ + √กฺฤตฺ ใช้อุปสรรค สมฺ ถูกแล้ว

แก้ที่ เสนายามฺ ใช่แล้ว

สวัสดีครับอาจารย์ ผมทศวรรษไม่รู้ว่าอาจารย์จะจำได้หรือเปล่า ตามอ่านมานานเลยมีคำถามดังนี้ครับ

เรียนสันสกฤตจำเป็นไหมต้องมีความรู้ทางด้านอินเดียไหมครับ เหมือนกับเรียนภาษาบาลีอาจต้องรู้ด้านพุทธ

หนังสือสอนภาษาสันสกฤตที่หน้าปกสีชมพูเล่มนั้นสอนเหมือนกับของอาจารย์ไหมครับ คือผมยังลังเลอยู่ว่าจะซื้อดีไหมเพราะอาจารย์ก็เขียนบทเรียนมาให้แล้ว จริงๆผมตามอ่านมาอยู่เรื่อยๆแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจดีและเข้าใจช้ามาก แต่ผมก็ว่าจะเซฟบทเรียนเก็บไว้นะครับ เผื่อเวลาว่างๆจะได้เอามานั่งย้อนกลับมาอ่านกลัวจะตามคนอื่นเขาไม่ทันเพราะเราไม่มีพื้นฐานอะไรเลย คงต้องจูนกันอีกนาน

ผมเห็นอาจารย์เขียนเปรียบเทียบเรื่องแกรมม่าไว้ตลอดว่าแกรมม่าสันสกฤตนี้ของทางยุโรปว่าอีกอย่าง กับของทางอินเดียก็ว่าอีกอย่าง บางอย่างเห็นไม่ตรงกัน ผมก็เลยสงสัยว่าแล้วทำไมต้องไปเกี่ยวกับของทางฝรั่งเขาอะครับ ทำไมไม่ยึดนักไวยากรณ์ของอินเดีย ฝรั่งก็ไม่ได้ใช้ภาษาสันสกฤต

ภาษามันมีความยุ่งยากขนาดนี้แล้วคนสมัยก่อนเค้าพูดเค้าจำกันได้ยังไง แล้วที่บอกว่าภาษานี้ไพเราะ มันไพเราะยังไงอะครับอยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างเพราะผมอ่านไม่เปน ที่อยากเรียนนี่ก็เพราะอยากรู้ว่ามันมีความไพเราะอะไรยังไง

ขอบคุณล่วงหน้าครับ ถ้ามีอะไรสงสัยจะมาถามอีก

สวัสดีครับ คุณ Ico48 ทศวรรษ จำได้ครับ นานแล้วนะครับ

เล่มสีชมพู เนื้อหาหลักเหมือนกัน น่าซื้อไว้ครับ แต่การอธิบายอาจจะแตกต่างกันพอสมควร ดูจากหลายๆ ที่ดีกว่าที่เดียวครับ เรื่องเนื้อหา ถ้าไม่เข้าใจ ถามได้นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ คนเรียนมีอยู่้ไม่กี่คนเอง

เรื่องตำราฝรั่งนั้น จะว่าไปก็สำคัญมาก เพราะพจนานุกรมสำคัญๆ ก็มีฝรั่งทำ ไม่ว่าของมอเนียร์  วิลเลียม, วิลสัน, แมคโดเนลล์ ส่วนตำราไวยากรณ์ ที่ครบถ้วนก็ของฝรั่ง เขามีงานวิจัยมาก เราอาศัยตำราเขาทำให้ได้รายละเอียดค่อนข้างครบถ้วนครับ สรุปว่า ตำราฝรั่งจัดระบบได้ดี อ่านง่าย แต่เขาก็เทียบระบบของเขา ส่วนของอินเดียนั้น ยังกระจัดกระจาย หาที่ครอบคลุมได้ยาก เลยต้องอาศัยตำราทั้งสองฝั่งครับ (ตำราของอาจารย์วิสุทธิ์ก็ใช้ของฝรั่งเหมือนกัน เล่มที่ผมใช้อยู่นี่แหละ ฝรั่งอเมริกันคนนี้ดัดแปลงจากตำราของชาวเยอรมันอีกทีหนึ่ง)

ความไพเราะคือ 1 ด้านเสียง 2 ด้านความหมายครับ

ด้านเสียง คงจะเป็นร้อยกรอง ก็มีการกำหนดเสียงสั้นยาว เสียงหนักเบาในแต่ละบทร้อยกรอง (แต่ละภาษาคงจะมีความไพเ้ราะแตกต่างกันไป) ลองฟังเสียงบทสวดฤคเวทดูนะครับ http://www.youtube.com/watch?v=7hgkucBAqYE

ด้านความหมายนั้น ภาษาสันสกฤตทำได้ดี เพราะคำหนึ่งอาจกินความมาก เช่น

อุทฺธเรตฺ  อาตฺมนา  อาตฺมานมฺ  น อาตฺมานมฺ อวสาทเยตฺ

อาตฺมา เอว หิ อาตฺมนสฺ พนฺธุสฺ อาตฺมา  เอว  ริปุสฺ  อาตฺมนสฺ (ที่มีจุดข้างล่าง อ่านเหมือนเป็นตัวสะกด)

บุคคล ต้องช่วยตนด้วยตนเอง ต้องไม่ทำให้ตนเองตกต่ำ

เพราะว่า ตนนั่นแหละเป็นมิตรของตน ตนนั่นแหละเป็นศัตรูของตน.

มีการเล่นคำว่า อาตมา (ตัวเอง) ในหลายที่

(http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/502774)

 

เรียนสันสกฤตต้องรู้เรื่องอินเดียไหม อันที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องรู้มากครับ แต่โดยมากผู้เรียนสันสกฤตมีความสนใจเรื่องอินเดียอยู่แล้ว ทำให้ได้ความรู้เพิ่มได้ง่าย เช่น บทเรียน ตัวอย่าง วรรณคดีสันสกฤต มีเรื่องความคิด ปรัชญา ความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยนั้น ถ้าไม่เคยทราบเลย อ่านไปก็จะงงๆ ทำไมพูดแต่เรื่องเทวดา เรื่องฤษี บางคนไม่รับความคิด เห็นว่าตลก เกิดอคติเลิกเรียนไปเลยก็มี

คนสมัยก่อน คงจะพูดภาษาสันสกฤตได้ง่ายๆ เหมือนเราพูดภาษาไทยนี่แหละครับ ในบทละครสันสกฤต ส่วนที่เป็นร้อยแก้ว ก็ใช้ภาษาไม่ยากมาก  เทียบกับคนพูดภาษากรีก ละติน สมัยโบราณ ก็คงจะแบบเดียวกันครับ ความจริงแล้ว ภาษาที่มีวิภัติปัจจัยก็ยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างภาษาเยอรมัน รัสเซีย หรือบัลกาเรีย มีการแจกรูปเยอะๆ น้องๆ ภาษาบาลีสันสกฤตอยู่้เหมือนกัน

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท