เหตุเกิดที่นวลวรรณศึกษา 2/1


“พึงระวังในการเขียนแสดงความคิดสะท้อนกลับ” เพราะถ้าเขียนไปโดนใจทางด้านลบ ก็เท่ากับเราไปสะกิดแผลใจของสวยให้เกิดแผลใหม่ขึ้น

ตอนที่ 2

ดูให้เห็น

 

เมื่อเขียนตอนที่ 1 จบลงไป  และมอบให้เพื่อนครูบางท่านอ่าน  ก็มีเสียงถามว่า  “ทำไมวิเคราะห์เจาะลึกอย่างนั้น  แล้วจะใช้เวลาไหนอ่านวิเคราะห์ได้”

ผมฟังคำถามแล้วรู้สึกเฉยๆ  เพราะคำตอบที่เขาต้องการคือ  “จะใช้เวลาไหนอ่านวิเคราะห์”  มากกว่าวิธีการวิเคราะห์เจาะลึก

ผมเชื่อว่า การเป็นครูมืออาชีพนั้นอยู่ตรงที่  รู้จักเด็กอย่างลึกซึ้ง พฤติกรรมของผู้เรียนที่ครูคอยสังเกตอย่างต่อเนื่องกับผลงานของผู้เรียนที่นำเสนอ  เป็นข้อมูลที่ดีสำหรับครูนำสู่การรู้จักผู้เรียน ครูยุคใหม่ในศตวรรษที่21 นี้ จะต้องพัฒนาตนเองจากผู้สอนแบบบอกความรู้มาเป็น  “ครูฝึก” (Coach)  การที่จะฝึกผู้อื่นได้  ผู้ฝึกจำเป็นที่จะต้องรู้ทางของผู้ที่เราจะช่วยฝึกให้นั้น  หมายถึงว่า ครูจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้แนวทางการเขียนหรือลีลาการเขียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะช่วยต่อยอดให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนี่คือหน้าที่ของคนเป็นครู เพราะฉะนั้นเวลาที่ครูวิเคราะห์ผลงานผู้เรียนเวลาใด  ตรงไหน ตรงนั้น  เวลานั้นครูก็ทำหน้าที่  ครูทำหน้าที่ครูได้ทุกเวลา  ลองสังเกตดูเวลานั่งกินข้าว  เราไม่ได้กินข้าวแต่เรานั่งนึกเรื่องอะไรไม่รู้เรื่อยเปื่อยไป ถ้าเวลานั้นเรามานั่งนึกวิเคราะห์งานของผู้เรียน  เวลากินข้าวตอนนั้นครูก็ทำหน้าที่

ผลงานของผู้เรียนแต่ละคนนั้น แสดงศักยภาพของเจ้าของผลงาน ถ้าเขาสร้างรูปประโยคไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมกับเรื่องราวที่เขาเขียน ไม่เหมาะสมกับชนิดหรือรูปแบบงานที่เขียน เราก็จะช่วยให้เขาเขียนงานได้ถูกต้อง ถ้าเราได้อ่านงานของเขาอย่างพินิจพิเคราะห์เจาะลึก  ก็จะเห็นทางที่จะแนะพวกเขาได้  แม้แต่ภาษาที่นำมาใช้เขียน  ผู้เรียนส่วนหนึ่งมักจะนำคำพูดที่ตนคุ้นชินหรือได้รับมาจากสังคมสิ่งแวดล้อม  เขาก็จะนำมาเขียน  เช่น “เสร็จแล้ว”  “แล้วก็”  “คือว่าอย่างนี้”  “พอ...แล้วก็...”  และอื่นๆ อีก ครูต้องบันทึกคำเหล่านั้นไว้ในสมุดบันทึกของครู  ขอได้โปรดอย่าไปวงกลมหรือขีดเส้นแดงให้เปรอะเปื้อนผลงานของเขา  จงสร้างทัศนคติต่อการรักการเขียนการอ่านให้เด็กๆ  วงกลมและเครื่องหมายขีดฆ่าคือสิ่งบั่นทอนความรู้สึกของผู้เรียน  แต่การพูดคุยโน้มน้าวชี้แนะให้เห็นว่า  สิ่งนั้นควรไม่ควรอย่างไร  เด็กๆ จะยอมรับในสิ่งที่มีเหตุผล  ผมเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง  ครูที่ดีต้องดึงความสามารถแท้ที่ซ่อนลึกอยู่ในตัวศิษย์ออกมาให้เห็นเป็นภาพลักษณ์ของศิษย์ผู้นั้น

ทัศนคติเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้เรียน ถ้าเขาฝังใจว่า  เขาเขียนไม่ดี  เขียนไม่ถูก เขาอาจจะเบื่อการเขียนได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาเริ่มต้นด้วยความสำเร็จในผลงาน เขาก็จะฝังใจในความสำเร็จครั้งนั้นไว้ได้นานแสนนาน  และจะเป็นแรงใจให้เขารักการอ่านการเขียน  ดังนั้นคำที่เขาเขียนผิด  ภาษาพูดที่นำมาเขียนปะปนซ้ำๆในเรียงความของเขานั้น ควรให้เขารับรู้และพิจารณาลบออกหรือปรับปรุงงานเขียนด้วยตัวเขาเอง ครูเป็นเพียงบรรณาธิการที่คอยตรวจดูต้นฉบับ  คอยแนะนำ ขอย้ำว่าแนะนำไม่ใช่คอยสอน แนะให้ผู้เรียนรู้แล้วเขาเรียนด้วยตัวของเขาเอง

เรียงความของผู้เรียนบางคน บางครั้งจะบอกเล่าเรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของตน  เป็นความรู้สึกลึกๆ  ที่เขามีอยู่ เมื่อมีโอกาสเขาก็ระบายออกมาให้เราได้อ่านได้รู้  ตรงนี้ครูต้องหาวิธีการช่วยเหลือเขาด้วย  เช่น 

สุขอยู่ที่ใด

เช้าวันหนึ่งเสียงโฆษณาสินค้าโทรทัศน์ดังว่า  “สุขอยู่ที่ใด...” 

หลังจากได้ยินคำถามจากเสียงโฆษณาอาหารสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่ง  ฉันเริ่มคิดว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่สิ่งนี้เพียงสิ่งเดียว  ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า  สุขอยู่ที่ไหน?  คำถามนี้ทำให้ฉันงงงวยปวดหัว  เพราะเป็นคำถามที่น่าฉงน

ถึงเวลากินข้าวมื้อเช้า ทุกคนกินอาหารอย่างอร่อยพร้อมๆ กับดูโทรทัศน์ไปด้วย

สำหรับคนบางคน  การอร่อยกับรสชาติอาหารอาจเป็นความสุข แต่แท้จริงแล้วความสุขไม่ได้จำกัดอยู่ที่อาหารหรือสิ่งที่ชอบ  สิ่งที่ทุกคนยังมองข้ามคือ  การได้อยู่ร่วมกัน  ได้กินข้าวด้วยกันกับทุกคนภายในครอบครัว

ถ้าตอนนี้ใครถามฉันว่า  “สุขอยู่ที่ใด”  ฉันคงไม่ลังเลที่จะตอบว่า  “ความสุขของฉันอยู่ที่ครอบครัว  พ่อ แม่  พี่  น้อง ได้อยู่พร้อมหน้ากัน”

ด.ช.รวิสุต  ศรีพนมพงษ์ ป.6

รวิสุต  ได้เล่าเรื่องราวที่ค้างคาใจ  ให้เราผู้เป็นครูอ่าน  ตรงนี้สำคัญมาก  ถ้าครูมองเพียงเพื่อค้นหาคำที่เขียนผิด  ความที่เขียนพลาด  คอยแต่จะนำหลักภาษาเข้าไปจับ  ครูก็จะมองไม่เห็นจุดแห่งการใช้  “ใช้เป็น”  ซึ่งเป็นจุดสำคัญมาก  เพราะหน้าที่ของครูวันนี้คือ  โค้ช คือผู้แนะนำชี้ทางให้ศิษย์เดินต่อไปข้างหน้า  และลึกลงไปจากนั้น ครูคือผู้สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในตัวของศิษย์ให้ได้

ความคิดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่รวิสุต นำเสนอในความเรียงเรื่องนี้คือ ความสุขที่แท้จริงที่รวิสุตมี และมั่นใจที่จะบอกใครต่อใครได้ว่า “ความสุขของฉันอยู่ที่ครอบครัว  พ่อ  แม่ พี่  น้อง  ได้อยู่พร้อมหน้ากัน”  ผมจึงเขียนแสดงความคิดเห็นลงไปว่า

  “ครูอ่านเรื่องของรวิสุตแล้วครูชอบมาก  ชอบที่รวิสุตสามารถเขียนเล่าความในใจได้อย่างตรงไปตรงมา  ชอบที่รวิสุตมองเห็นความรักที่แท้จริง  คือ  ความรักที่ พ่อ  แม่  พี่  น้อง  มอบให้กันและกัน  ครูเองนั้นก็เหมือนกับรวิสุต  ตรงที่ความสุขอยู่ที่เรา  พ่อ  แม่  ลูก  ได้อยู่พร้อมหน้ากัน  รับประทานอาหารร่วมกัน  ดูโทรทัศน์ด้วยกัน  รวิสุตลองให้คุณพ่อคุณแม่อ่านเรื่องที่เธอเขียนนี้  แล้วเขียนเล่าถึงความคิดความรู้สึกที่คุณพ่อคุณแม่มีภายหลังจากอ่านเรื่องนี้แล้ว  ครูคอยอ่านอยู่นะ

การนำความรู้สึกภายในจิตใจมาเขียนบอกเล่าให้ผู้อ่านอ่านได้อย่างนี้นั้น  นอกจากรวิสุตแล้ว  ด.ญ.สวย เป็นอีกคนหนึ่งที่เขียนได้ดี เธอเขียนเรื่อง “วันแห่งความสุข” ว่า

วันแห่งความสุข

วันปีใหม่ที่ผ่านมา ฉันมีความสุขที่ได้เจอแม่ เพราะแม่ไปทำงานที่ลาดกระบัง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านมาก

ก่อนวันปีใหม่  แม่โทรมาบอกฉันว่า“แม่มีของขวัญมาให้ลูก” ฉันถามแม่ด้วยความตื่นเต้นว่า “จริงเหรอคะแม่” 

ฉันอยากรู้เหลือเกินว่า ของขวัญชิ้นนั้นคืออะไร มันสามารถทำอะไรได้บ้าง

พอถึงวันปีใหม่  ฉันตื่นเต้นกับการจะได้ของขวัญมาก  แต่ก่อนที่ฉันจะได้รับของขวัญ  ฉันต้องขึ้นไปแสดงบนเวทีก่อน  พอฉันลงมาจากเวที  ฉันเห็นแม่ของฉัน  ฉันรีบวิ่งไปหาแม่  ฉันกอดแม่และบอกแม่ว่า “ของขวัญที่หนูอยากได้มากที่สุด  คือการที่หนูได้กอดแม่”  พอแม่ได้ยินแม่ร้องไห้

แม่พูดกับฉันว่า  “ลูกรู้ไหม  แม่รักลูกที่สุดเลย”  คำพูดของแม่ทำให้ฉันน้ำตาไหล

ฉันอยากบอกแม่ว่า “หนูอยากให้แม่กลับมา เพราะพ่อกับหนูและน้องรอแม่อยู่ หนูรักและคิดถึงแม่  หนูจะเป็นลูกที่ดีของแม่ตลอดไป  หนูรักแม่”

“สวย”(นามสมมติ)

อ่านงานเขียนของ “สวย” แล้ว ผมมีความรู้สึกลึกๆ ว่า ผลงานชิ้นนี้มีอะไรซ่อนอยู่ในบางประโยค จึงอ่านทบทวนหลายครั้งก็มั่นใจว่า  “พึงระวังในการเขียนแสดงความคิดสะท้อนกลับ”  เพราะถ้าเขียนไปโดนใจทางด้านลบ  ก็เท่ากับเราไปสะกิดแผลใจของสวยให้เกิดแผลใหม่ขึ้น  นี่คือ ความคิดพึงระวังเพราะผมไม่รู้จักสวย ผมเพียงแต่อ่านผลงานของเธอแล้วมองเห็นว่า ข้อมูล ที่ค้นพบในงานเขียน น่าจะเป็นสื่อในการ  “ใช้เป็น”  จุดชี้แนะหรือเสริมแรงใจไห้เธอได้  แต่ผมต้องแสดงความคิดในขอบเขต  ผมตระหนักเสมอว่า  เรื่องเล่าของผู้เรียนที่เขียนสะท้อนความจริงออกมาในรูปแบบต่างๆ  ที่เขาสามารถแสดงออกมาได้นั้น  ครูและผู้เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม  แม้บางเรื่องอาจจะเป็นจุดเล็กๆในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ทว่ามันเป็นจุดที่ยิ่งใหญ่ของเด็กคนนั้นได้

การที่เด็กๆเขียนเล่าถึงความรู้สึกของตนให้ครูและผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเขานั้น  นับว่าเป็นเรื่องดี  เพราะเราจะได้ร่วมกันหาทางช่วยแก้ปัญหานั้นให้มันทุเลาเบาบางลงจนกระทั่งหมดไปได้  เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม

ผมจึงเขียนแสดงความรู้สึกว่า

  “ครูดีใจด้วยที่สวยได้รับรางวัลอันสูงค่าจากคุณแม่  ครูก็คิดเหมือนสวย  คือ  ไม่มีรางวัลใดยิ่งใหญ่เท่ากับอ้อมกอดของคุณแม่  และครูก็ดีใจกับคุณแม่ของสวยด้วยที่มีลูกอย่างสวย  คำสัญญาที่สวยให้กับคุณแม่คือเกราะกั้นกันภัยให้สวย  คำที่สวยเขียนว่า  “หนูจะเป็นลูกที่ดีของแม่ตลอดไป”  นั่นแหละ  ครูขอให้สวยปะพฤติตนอยู่ในธรรม  มั่นคงต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับคุณแม่  ครูเชื่อว่าสวยจะต้องประสบความสำเร็จในชีวิตของสวย

  สวยส่งเรื่อง “วันแห่งความสุข”  ให้คุณแม่อ่านด้วยนะ  คุณแม่จะได้ภูมิใจในตัวลูกสาว

  ว่างๆ เขียนเรื่องใหม่ให้ครูอ่านอีกนะ

สำหรับงานเขียนที่ครูอ่านแล้วสบายใจ ไม่ต้องนึกถึงภูมิหลังของผู้เขียน เพราะเรื่องที่เขียนเป็นเพียงเรื่องเล่าเรื่องสนุกๆ  หรือที่ผู้เขียนประทับใจ  จะมีบ้างก็เพียงนักเรียนบางคนมักจะ

1. เขียนข้อความซ้ำๆหรือใช้คำซ้ำๆ

2. เขียนวกวนอ่านเข้าใจยาก

3. เขียนไม่ถูกหลักภาษา

4. เขียนคำผิด

5. นำภาษาพูดมาใช้เป็นภาษาเขียน

สิ่งเหล่านี้ครูอ่านพบแล้วบันทึกไว้ในสมุดตรวจงานของครู เพื่อนำมาพูดคุยกับเจ้าของผลงานรายบุคคลหรือถ้ามีผู้เขียนผิดพลาด  หลายๆ คนก็นำมาสอนในชั้น แต่ไม่ควรนำคำหรือความที่ผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่งมายกตัวอย่าง ครูควรสร้างตัวอย่างขึ้นมาใหม่เพื่อจะไม่เป็นปมด้อยของใครคนใดคนหนึ่ง  และไม่ควรเขียนลงไปในผลงานของผู้เรียน เปิดโอกาสให้เขาแก้ไขผลงานของเขาด้วยตัวของเขาเองภายหลังที่เขาได้เรียนรู้แล้ว

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 509203เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2012 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นานๆ จะได้อ่านบทความดีๆ ของท่านอาจารย์ชาตรี สำราญ ที่มีความเป็น "ครู" จริง ทำให้คนรู้จัก "ครู"

อ่านให้มากนะครับ คนที่กำลังประกอบอาชีพครู ต้องอย่างนี้ครับ "ครู" ที่แท้จริง เขาต้องมีหลักในการสอน มีขั้นตอนในการฝึก ไม่ใช่สักแต่ว่าอธิบายตามหนังสือแบบเรียน แล้วสั่งให้ทำ โดยไม่ต้องฝึกตามลำดับขั้นตอนการเรียนรู้เลย

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ที่ยังมีเมตตาพยายามแนะนำคนที่มีอาชีพครู แต่ไม่ยอมใฝ่รู้และสงสารเด็กให้มากขึ้น และไม่ยอมเข้าใจว่่า "ความเป็นครูนั้นอยู่ที่ "ฝึก" มิใช่ "สอน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท