ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 55. เจตคติและคุณค่า (1) อัตตชีวประวัติ


กิจกรรมนี้ ช่วยให้ นศ. ตระหนักว่ามิติเชิงคุณค่า เจตคติ ฯลฯ ของตน มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในรายวิชาที่กำลังเรียน และการนำมิตินี้มา ลปรร. ในชั้นเรียน ช่วยให้ตนเองเข้าใจตนเองมากขึ้น เห็นโอกาสพัฒนาตนเองมากขึ้น

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 55. เจตคติและคุณค่า  (1) อัตตชีวประวัติ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๕นี้ ได้จาก Chapter 17  ชื่อ Attitudes and Values  และเป็นเรื่องของ SET 35 : Autobiographical Reflections

บทที่ ๑๗ ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ด้านคุณค่าและความหมายในชีวิต  รู้จักตนเอง และพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 35 – 40  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 35  : Autobiographical Reflections

จุดเน้น  :  บุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

การรู้จักตนเอง เป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้  เทคนิคเขียนอัตตชีวประวัติเชื่อมโยงกับสาระวิชาที่ได้เรียนรู้  ช่วยให้ นศ. ได้ทบทวนตนเอง   ในเรื่องความเชื่อ เจตคติ คุณค่า สิ่งที่ชอบไม่ชอบ พื้นความรู้ ปัญหาการเรียน อคติ และอื่นๆ 

กิจกรรมนี้ ช่วยให้ นศ. ตระหนักว่ามิติเชิงคุณค่า เจตคติ ฯลฯ ของตน มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในรายวิชาที่กำลังเรียน   และการนำมิตินี้มา ลปรร. ในชั้นเรียน ช่วยให้ตนเองเข้าใจตนเองมากขึ้น  เห็นโอกาสพัฒนาตนเองมากขึ้น

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดว่า ต้องการให้ นศ. เล่าเรื่องชีวิตของตนในแนวใด เพื่อให้เชื่อมโยงกับวิชาที่กำลังเรียน  เช่น ประสบการณ์ในชีวิตที่ทำให้ชอบหรือไม่ชอบวิชานั้น  การได้เรียนวิชาอื่นมาก่อน ทำให้เรียนวิชาปัจจุบันได้สนุกและน่าสนใจ  ประสบการณ์ทำกิจกรรม ที่ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะหรือความรู้ที่เชื่อมโยงกับวิชานั้น เป็นต้น

2.  กำหนดการเขียนเล่าชีวประวัติให้แคบเข้า  เช่นเอาเฉพาะช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา  เอาเฉพาะเรื่องในครอบครัว  เอาเฉพาะเรื่องงาน

3.  เพื่อไม่ให้ นศ. เขียนเล่าออกนอกเรื่อง หรือน้ำท่วมทุ่ง  ครูกำหนดความยาว คำถาม หรือกรอบประเด็น

ตัวอย่าง

วิชาพีชคณิตเบื้องต้น

ครูใช้ข้อมูลของวัตถุประสงค์ของวิชา และผลการทดสอบพื้นความรู้คณิตศาสตร์ของ นศ.  ให้ นศ. ทำงานตามคำสั่งดังนี้  “ให้ นศ. ใช้เวลา ๑๕ นาที  เขียนเรียงความความยาวไม่เกิน ๑ หน้ากระดาษ  บอกประสบการณ์ประทับใจที่สุดในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์  หากเป็นประสบการณ์ที่เป็นบวก ให้อธิบายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  หากประสบการณ์เป็นลบ ให้อธิบายว่าทำไมจึงเป็นประสบการณ์ไม่ดี  และให้แนะวิธีดำเนินการที่แตกต่าง ที่จะทำให้เป็นประสบการณ์ที่ดี  โดยผู้ดำเนินการอาจเป็นครู ตัว นศ. เอง หรือเพื่อน นศ. ก็ได้” 

ก่อนให้ นศ. ส่งเรียงความ ครูให้ นศ. จับคู่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน  แล้วให้ นศ. ทั้งชั้นช่วยกันทำรายการว่า พฤติกรรมใดบ้างของตัว นศ.  และของตัวครู  ที่จะช่วยให้การเรียนของ นศ. สนุกและประสบความสำเร็จในการเรียนรู้

วิชาดนตรีพหุวัฒนธรรมของอเมริกา

เพื่อช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับเนื้อหาในวิชา และให้ตระหนักอิทธิพลของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม ที่มีต่อความชอบไม่ชอบชนิดของดนตรี  ครูจึงมอบงานแก่ นศ. ในช่วงต้นเทอม ดังนี้

“ให้เขียนอัตตชีวประวัติ ๑,๐๐๐ คำ  เชื่อมโยงพื้นฐานทางครอบครัวของตนเองกับรสนิยมด้านดนตรีของตัว นศ. เอง  แบ่งข้อเขียนออกเป็นช่วงๆ ตามช่วงชีวิตของ นศ. ดังนี้

·  ก่อนคลอด  มีอะไรเกิดขึ้นกับครอบครัวของคุณ และเกิดขึ้นในโลก ในช่วง ๒๕ ปี ก่อนคุณเกิด  พ่อแม่และปู่ย่ายตายายของคุณฟังดนตรีชนิดไหน

·  อายุ ๐ - ๕ ปี  เล่าประสบการณ์ดนตรี ที่ได้ฟังตอนป็นเด็ก  เพลงกล่อมเด็ก เพลงลูกทุ่ง (folk song) ชนิดไหนที่จำได้  ชาติพันธุ์และเชื้อชาติมีอิทธิพลแค่ไหนต่อประสบการณ์เหล่านี้  เล่าประสบการณ์อื่นๆ ที่มีผลต่อรสนิยมดนตรีของคุณ

·  อายุ ๖ - ๑๒ ปี  คุณฟังดนตรีอะไรในช่วงนี้  เล่าประสบการณ์ดนตรีที่สำคัญ เช่นการเรียน/ฝึก ดนตรีในโรงเรียน  การเล่น/ฟังดนตรีในงานเทศกาล  การมีพี่/น้อง เล่นดนตรี

·  อายุ ๑๓ - ๒๑ ปี  เล่าเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อรสนิยมดนตรีของคุณ  เวลานี้คุณชอบ/ไม่ชอบ ดนตรีแบบไหน  รสนิยมนี้เกิดจากอะไร  มีการเปลี่ยนรสนิยมไหม  การเปลี่ยนนั้นเกิดจากอะไร

·  ถ้า นศ. อายุเกิน ๒๑ ปี  คุณมีประสบการณ์ดนตรีอย่างไรบ้างหลังอายุ ๒๑ ปี  รสนิยมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง  เพราะอะไร

·  ทบทวนประสบการณ์ชีวิตด้านดนตรีในภาพรวม  เวลานี้คุณอายุเท่าไร  เล่าสภาพแวดล้อมในชีวิต  คุณคิดว่าประสบการณ์ชีวิตที่สำคัญที่สุดที่กำหนดรสนิยมด้านดนตรีของคุณคืออะไร  เปรียบเทียบกับ นศ. คนอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันในด้านอายุ เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ฯลฯ รสนิยมดนตรีแตกต่างกันอย่างไร”  

การประยุกต์ใช้ online

ใช้ได้ง่าย  โดยกำหนดให้ นศ. แต่ละคนจัดทำเว็บเพจอัตตชีวประวัติของตน  ใส่ ภาพ คลิปเสียง หรือคลิปวิดีทัศน์

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  เพื่อเพิ่มความรู้จักตนเอง  กำหนดให้ นศ. ใคร่ครวญและเขียนอธิบายว่าทำไมเหตุการณ์ที่เขียนจึงมีความหมายต่อรสนิยมดนตรีของตน

·  ให้ใส่ มัลติมีเดียลงในเรียงความ เพื่อเพิ่มสีสัน

·  เก็บเรียงความไว้  ตอนปลายเทอมส่งคืน นศ.  ให้เขียนเล่าเพิ่ม ว่ารสนิยมและความเห็นต่อดนตรีของตนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในระหว่างเรียนวิชานี้ 

คำแนะนำ

  ในวิชาระดับเบื้องต้น  การเน้นทำความเข้าใจทัศนคติต่อการเรียนสาระวิชา จะช่วยลดความเครียดหรือวิตกกังวล ต่อวิชาที่ นศ. เลื่องลือกันว่าเรียนยาก  เช่นคณิตศาสตร์ สถิติ การพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น  รวมทั้งช่วยให้ครูทำความเข้าใจพื้นความรู้ของ นศ. ด้วย

เมื่อ นศ. ทำความเข้าใจ หรือเรียนรู้ตนเอง  ก็จะเรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนด้วย  เทคนิคนี้จึงช่วยให้เกิด การเรียนรู้เชิงสังคม เช่นเกิดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น  ความสามารถมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนอื่น  โดยเฉพาะคนที่มีผิวและเชื้อชาติแตกต่างกัน   เกิดทักษะเชิงพหุวัฒนธรรม

หากครูอ่านอัตตชีวประวัติพบว่า นศ. จำนวนมากมีความกังวลต่อการเรียนวิชานั้น  ให้บอกเรื่องนี้แก่ชั้นเรียน  เพื่อให้ นศ. ใจชื้นว่ามีเพื่อนอีกหลายคนที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

นศ. บางคนไม่สบายใจที่จะบอกเรื่องส่วนตัวของตน  อย่าบังคับ  ให้อธิบายว่าการเรียนด้วยเทคนิคนี้จะช่วยการเรียนรู้อย่างไร  แต่หากยังมี นศ. ที่ไม่สบายใจที่จะเขียน  ก็ให้ นศ. คนนั้นทำอย่างอื่นแทน

การเขียนอัตตชีวประวัติใช้เวลา  ครูจึงควรใส่ข้อจำกัดเพื่อทำให้เป็นข้อเขียนที่สั้น  และครูต้องอ่านและตอบสนอง

ข้อเขียนเหล่านี้ ช่วยให้ครูปรับการจัดการเรียนการสอนแก่ชั้นให้เหมาะสมแก่ นศ. กลุ่มนั้นยิ่งขึ้น  และอาจค้นพบ นศ. พิเศษ สำหรับทำหน้าที่ช่วยครู หรือเชิญให้แสดงหรือนำเสนอแก่ชั้นเรียน 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Focused autobiographical sketches. Classroom assessment techniques. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 281-284. 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 509018เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2012 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท