ปรัชญาการศึกษา: คำถามและคำตอบ


ปรัชญาคือความเชื่อที่เรามีต่อการเรียนรู้ของคน ต่อความรู้ที่เขาสร้างขึ้น และต่อความจริงที่เขาค้นพบ



ปรัชญาการศึกษา: คำถามและคำตอบ



เรียน  อาจารย์ eyona


                  ตามที่ได้อาจารย์  eyona ได้สอบถามผมเข้ามาว่า  “ปรัชญาการศึกษาใดที่เหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใน  การสอนภาษาอังกฤษบ้าง” ครั้งนี้  ผมจึงขอตอบแบบสบายๆ ซึ่งต่างจากน้ำเสียงในบทความวิชาการทั้งหมดก่อนหน้านี้ทั้งหมดของผมนะครับ


                  ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ ผมจะต้องเรียนถามอาจารย์ก่อนบ้างว่า แล้วขณะที่อาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ทุกวันนี้ อาจารย์มีความเชื่ออย่างไรบ้างเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของลูกศิษย์ครับ 

                   ที่จริงแล้ว ครูที่สอนหนังสือโดยส่วนใหญ่ เรียนปรัชญาก็เพราะเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตร แต่มิได้นำปรัชญาหรือปรัชญาการศึกษามาปฏิบัติเลย  เราสอนหนังสือไปตามแบบแผนที่นิยมทำกันในวิชานั้น ซึ่งเป็นแบบแผนที่เราเองก็เคยได้รับมาในวัยเด็ก  เหตุใดน่ะหรือครับ ก็เพราะการฝึกหัดครูของเรา มิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องปรัชญาอย่างไรเล่าครับ 


                     ปรัชญา คือ ความเชื่อหรือความพยายามที่จะหาคำตอบว่า อะไรคือความจริงแท้ อะไรคือความรู้ และอะไรคือความดีหรือความงาม  สามคำถามนี้ เป็นคำถามที่นักปรัชญาทั้งหลายล้วนแต่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะหากมุ่งมั่นที่จะตอบคำถามไปในทิศทางใด  คำตอบนั้นก็คือตัวปรัชญาที่เราเองยึดถือ ซึ่งก็แน่นอนว่า 1) อาจจะไปตรงกับปรัชญาของปราชญ์ท่านใดท่านหนึ่งที่ได้กำหนดไว้มาก่อนแล้ว  หรือ 2) เป็นปรัชญาใหม่ ที่เราเองนั้นเป็นผู้สร้าง  คนทุกคนสามารถมีปรัชญาเป็นของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการคัดสรรกลั่นกรองประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต แล้วนำมาสร้างเป็น “ปรัชญาชีวิต” อย่างเช่นหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุท่านเลยเล่าไว้ว่า  ปรัชญาในการทำงานของท่านคือ “เกิดเป็นมนุษย์ต้องไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว ความย่อท้อนี้ มิใช้วิสัยของมนุษย์” เมื่อท่านเชื่อของท่านเช่นนี้ ท่านจึงเป็นผู้กอปรด้วยอุตสาหะ แม้ในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นจะมีโรคภัยรุมเร้าอย่างใดก็ตาม ท่านก็ยังคงบำเพ็ญกิจสมดังปรัชญาที่ท่านประกาศไว้  อาจารย์จะเห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าปรัชญานั้นคือความเชื่อ และปรัชญาคือฐานของการกระทำ เราเชื่อเช่นใด เราก็จะทำเช่นนั้น และทำโดยไม่ต่อท้อ เพราะเราศรัทธาในความเชื่อของเรา
  

                   ผมย้อนกลับมาที่คำถามเดิมนะครับ ว่าอาจารย์เชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ของลูกศิษย์อย่างไร เพราะถ้าอาจารย์เชื่อว่า ลูกศิษย์จะต้องเรียนความรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของชีวิต นักเรียนจะต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์หรือหลักการทางภาษาที่ไม่เปลี่ยนแปลง  โดยที่แต่ละคนควรจะได้รับความรู้ไปเท่าๆ กันทุกคน  และอาจารย์เชื่อว่าลูกศิษย์ของอาจารย์ไม่มีวันเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ถ้าอาจารย์ไม่บอก  หรือสอน  เช่นนี้ อาจารย์จะเป็นพวกที่ศรัทธาในปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (Essenialism)  โดยไม่รู้ตัวครับ  เพราะปรัชญานี้เชื่อว่า ความรู้แท้คือความรู้ในเนื้อหาสาระวิชา และทุกคนควรจะเรียนด้วยวิธีการเดียวกัน  สื่อเหมือนกัน และวัดประเมินด้วยวิธีการเดียวกันว่า มีความรู้และความเข้าใจเนื้อหาสาระภาษาอังกฤษมากเพียงใด  อาจารย์คุ้นๆ ไหมครับว่า การศึกษาในบ้านเรา ช่างมีลักษณะพื้นฐานความเชื่อเหมือนปรัชญานี้เสียนี่กระไร
  

                  ในทางตรงกันข้ามนะครับ หากอาจารย์เชื่อว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่องค์ความรู้ แต่เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ณ ขณะปัจจุบัน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เองได้  โดยอาจารย์ให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษเอง (ภายใต้คำแนะนำ) เน้นการนำไปใช้แก้ปัญหาในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน  ลดการวัดประเมินโดยใช้การทดสอบ  หันมามุ่งเน้นการให้ผู้เรียนได้เลือกปฏิบัติกิจกรรมทางภาษาตามความสนใจ (อย่างแท้จริง) และแสดงให้เห็นตัวอย่างของการใช้ภาษาอังกฤษในการประกอบอาชีพ หรือการใช้ภาษาอังกฤษในสถานที่ปฏิบัติงานจริงๆ เช่น ในสำนักงาน ในหน่วยงานราชการ เอกชน ฯลฯ เช่นนี้ อาจารย์ย่อมได้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) แล้วครับ 


                     มาถึงตรงนี้ อาจารย์พอจะเห็นแนวทางของคำตอบแล้วใช่ไหนครับ ว่าปรัชญาก็คือความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียน  เพราะฉะนั้นแล้ว  ในการจัดการเรียนการสอน ไม่มีการนำปรัชญาใดมาใช้เป็นเอกเทศหรอกครับ  เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ปรัชญาบางอย่างมีพื้นฐานที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคม  การศึกษาโดยปกติหรือการศึกษากระแสหลัก (เช่น การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ) จึงไม่อาจหนีพ้นความเชื่อในความสำคัญของความรู้ของปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยมได้เลยครับ  อาจจะมีบางโรงเรียนพยายามที่จะแสดงตนว่า ถือปรัชญาพุทธบ้าง  ปรัชญาพิพัฒนาการนิยมบ้าง (ปรัชญานี้เป็นของกลุ่มโรงเรียนสาธิต ที่เน้นการทำกิจกรรมและให้ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการสร้างความรู้ของตนเอง) ปรัชญามนุษยนิยมบ้าง แต่โรงเรียนเหล่านี้ ในท้ายที่สุดก็ต้องผสมผสานปรัชญาหลักของตัวเองเข้ากับปรัชญาพื้นฐานของระบบการศึกษาครับ 


                       จากที่เขียนมา ผมจะขอตอบว่า  ไม่มีปรัชญาใดที่เหมาะที่สุดในการสอนภาษาอังกฤษครับ แต่หากต้องการจะหา ก็ต้องตอบว่า ต้องใช้ปรัชญาผสมครับ  อาจารย์ยังต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ทั้งโครงสร้างไวยากรณ์และระบบต่างๆ ใช่หรือไม่ครับ (ปรัชญาสารัตถนิยม) อาจารย์ยังต้องการให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะกระบวนการและมีประสบการณ์ทางภาษาจากการลงมือปฏิบัติใช่หรือไม่ครับ (ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม) อาจารย์ยังต้องให้ผู้เรียนเรียนวรรณคดี คำประพันธ์หรือเรื่องราวในภาษาเพื่อฝึกหาเหตุผล  และใช้กล่อมเกลาศีลธรรมจรรยาของเขาใช่หรือไม่ครับ (ปรัชญานิรันตรนิยม)  ถ้าอาจารย์ยังต้องการอยู่ ก็แสดงว่า อาจารย์ไม่สามารถที่จะสอนโดยใช้เพียงปรัชญาใดปรัชญาเดียวได้ แต่ถามได้ว่าถ้าจะเลือกเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่นั้น คำตอบคือ “ได้ครับ” แต่คำตอบนี้ ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า อาจารย์จะต้องสามารถปฏิเสธเป้าหมายการสอนด้านอื่นๆ ให้ได้นะครับ เช่น ถ้าอาจารย์ศรัทธาในปรัชญาพิพัฒนาการนิยม อาจารย์จะต้องปฏิเสธความรู้ในหนังสือ แล้วไปสนใจกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะต้องสร้างความรู้ขึ้นเองทั้งหมด ผู้เรียนต้องแสวงหาและควบคุมตนเองได้ในการเรียน  (ลึกๆ แล้วอาจารย์เชื่อเช่นนี้ไหมครับ? ) เพราะฉะนั้น การเรียนการสอนตามปรัชญานี้ ครูจะไม่สนใจการวัดผลในด้านความรู้ เลิกให้ผู้เรียนทำข้อสอบ แต่จะเน้นการไปพูดคุยเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง เน้นการบูรณาการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริง โดยผู้เรียนมีอิสระในการเลือกและควบคุมตนเองในทุกขั้นตอน (ถามอีกครั้งว่า อาจารย์เชื่อไหมครับ)  ถ้ามีเสียงเล็กๆ ที่ก้องอยู่ว่า ยังไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่า ผู้เรียนจะทำเช่นนั้นได้จริง ก็แสดงว่าอาจารย์ไม่ได้เชื่อในปรัชญานี้เพียงอย่างเดียวเสียแล้วล่ะครับ 


                    โดยสรุป ปรัชญาที่เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะเป็นปรัชญาใดก็ได้ครับ ถึงอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสอนและความเชื่อในการพัฒนาคนของอาจารย์  ถ้าเชื่อในการสร้างคนให้มีความรู้ก็ใช้ปรัชญาหนึ่ง  ถ้าเชื่อในการสร้างคนให้มีความคิด ก็ต้องใช้ปรัชญาหนึ่ง  ถ้าเชื่อในการสร้างคนให้เป็นคน รู้ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ก็ต้องใช้อีกปรัชญาหนึ่ง  แต่ถ้าหวังมากหน่อย ต้องการให้ผู้เรียนเป็นทุกอย่างดังที่ว่ามา ก็คงต้องใช้ปรัชญาผสมครับ 


                    ยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้รู้จักและยินดีที่อาจารย์ติดตามผลงานเขียนของผม ก็หวังว่าคำตอบทั้งหมด จะทำให้อาจารย์เข้าใจได้บ้างกระมังครับว่า โลกของเราคือโลกแห่งการบูรณาการ ไม่มีอะไรที่เหมาะที่สุดสำหรับ  สิ่งใด เพราะมันมีบริบทอื่นๆ ที่ทำให้สิ่งนั้นเปลี่ยนโดยตลอด ถ้าปีนี้  กระแสการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมาแรงก็คงต้องใช้ปรัชญาหนึ่ง แต่หากปีต่อไป เกิดกระแสการสอนภาษาเพื่อสร้างทักษะชีวิต ปรัชญาเดิมที่ใช้ก็คงต้องเปลี่ยนแปลงไป  ดังนั้น ผมถามคำถามอาจารย์กลับบ้างแค่ 3 ข้อนะครับ  เพื่อให้อาจารย์ลองคิดแล้วลองสะท้อนความคิด (reflection) ดู


                     1.  อาจารย์คิดว่า เป้าหมายในการสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียนของอาจารย์คืออะไรครับ   

                      2.  เป้าหมายในข้อ 1. นั้น จำแนกอยู่ในด้านไหนครับ (ด้านวิชาการ ด้านทักษะชีวิต ด้านความเป็นคน ด้านเศรษฐกิจ ด้านคุณธรรมจริยธรรม หรือหลายๆ ด้าน)
                      3.  เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น อาจารย์ได้จัดการเรียนการสอนในปัจจุบันนี้อย่างไรบ้างครับ 
                      4.  อาจารย์คิดว่าที่สุดแล้ว อาจารย์จะสามารถใช้ปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งเพียงปรัชญาเดียว เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย (ในหลายด้าน) ในข้อ 1-2 ได้หรือไม่ครับ 


                    ในท้ายที่สุดนี้  หวังว่าอาจารย์คงจะได้นำความคิดที่เกิดจากการอ่านของผมกลับไปพิจารณาการสอนของตนเองครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพไม่มากก็น้อย  คำถามของอาจารย์ในครั้งนี้  เปรียบเหมือนแสงสว่างเล็กๆ ที่ส่องอยู่ท่ามกลางความมืดมิดของการศึกษาไทย ที่นิยมและพึงพอใจต่อคำตอบสำเร็จรูปให้กับการเรียนการสอน บทบาทที่อาจารย์ได้ทำอยู่นี้ จึงมิใช่บทบาทของครูเท่านั้น แต่ยังเป็นบทบาทของนักการศึกษา ที่พยายามตั้งคำถามต่อการศึกษาที่ "เป็นมา" อยู่เสมอ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง

                    ด้วยความใฝ่รักในการเรียนรู้ในครั้งนี้ หวังว่าจะอำนวยผลให้อาจารย์มีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูต่อไปครับ 


 
    ขอแสดงความนับถือ
เฉลิมลาภ ทองอาจ
นิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
           

หมายเลขบันทึก: 508671เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2012 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท