การใช้หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่กับโปรแกรมการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้สำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่


หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่กับโปรแกรมการศึกษาพื้นฐาน

การใช้หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่กับโปรแกรมการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้สำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่

 ( USING  ADULT  LEARNING  PRINCIPLES  IN  ADULT  BASIC  AND  LITERACY EDUCATION )         

        การใช้หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่กับโปรแกรมการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้สำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่  โดย  SUSAN  IMEL  (1998)  นั้นได้พบว่า  โปรแกรมการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่  (ABLE)  เป็นกิจกรรมเชิงซ้อนที่ใช้กับผู้เรียนที่มีความแตกต่างอย่างหลากหลาย  จนเป็นที่สนใจของผู้เรียนที่มีความจำเป็นและมีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตามปรากฏว่าในโปรแกรมให้เปล่านี้ในปีแรกมีผู้ที่ลาออกถึงร้อยละ  74  ( QUIGLEY  1997)  ผู้เรียนจำนวนหนึ่งให้เหตุผลที่ไม่เข้าเรียนและการลาออกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่า  เป็นเพราะลักษณะวิถีชีวิตที่ซับซ้อนของผู้ใหญ่  จริงๆแล้วลักษณะโครงสร้างของโปรแกรมก็น่าจะมีส่วนทำให้เกิดการลาออกดังกล่าวขึ้นได้ด้วย  ทั้งนี้เพราะกิจกรรมของโปรแกรมมีลักษณะคล้ายโรงเรียน (QUIGLEY 1997, VELAZQUES 1996)  ซึ่งบรรดาผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออกเหล่านั้นเคยเข้าเรียนมาแล้ว  จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพียรพยายามเรียนให้จบ  การจัดลักษณะโครงสร้างของกิจกรรมโดยอาศัยหลักการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่  น่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาพัฒนาโปรแกรมให้เป็นที่น่าสนใจแก่นักศึกษาผู้ใหญ่ได้มากขึ้น  คำแนะนำสั้นๆด้านการประยุกต์ใช้หลักการด้านการศึกษาผู้ใหญ่น่าจะใช้ได้กับโปรแกรมนี้  ทั้งนี้หลังจากได้อธิบายหลักการของการศึกษาผู้ใหญ่แล้ว  ยังมีข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปปฏิบัติโดยใช้หลักการดังกล่าวพร้อมเอกสารอ้างอิง  สำหรับการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้เพิ่มเติมมาให้ด้วย 

หลักการด้านการศึกษาผู้ใหญ่                 แม้ว่าไม่ปรากฏรายการเรื่อง  หลักการของการศึกษาผู้ใหญ่บันทึกไว้ในเอกสารอ้างอิงใดๆ  ก็ตามแต่  ก็ได้มีข้อยอมรับร่วมกันว่าการดำเนินการด้านการศึกษาผู้ใหญ่น่าจะเป็นไปในรูปแบบ  หลักการที่จะกล่าวต่อไปนี้  ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มีการพัฒนามาโดยการสังเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ( BROOKFIELD  1986, DRAPER  1992 , DRAVES  1997 , GRISSOM  1992 , KNOWLES  1992 , VELLA  1994)  

กิจกรรมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในการวางแผนและการนำบทเรียนไปใช้                 การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการนำบทเรียนไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนถือเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการศึกษาผู้ใหญ่  ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้ควรจะเริ่มต้นจากการจัดทำการประเมินความจำเป็นในการเรียนรู้  โดยให้กลุ่มประชากรเป้าหมายช่วยกันกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม  ตลอดจนกำหนดรายละเอียดของกิจกรรมการเรียนรู้  ตลอดจนกำหนดวิธีการประเมินผลด้วย                ถ้าลองนำเอาประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนมารวมกันก็จะเป็นแหล่งความรู้ได้อย่างหนึ่ง  หลักการที่ถูกอ้างถึงบ่อยๆอีกอย่างเกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่ก็คือ  การนำประสบการณ์ต่างๆของผู้เรียนที่ร่วมในโปรแกรมมาเป็นแหล่งการเรียนรู้  เพราะไม่เพียงแต่ผู้เรียนที่เป็นนักศึกษาผู้ใหญ่จะมีประสบการณ์ที่จะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเท่านั้น  แต่วัยของผู้ใหญ่ยังมีความพร้อมที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมและปัญหาจริงในชีวิตอีกด้วย  สถานการณ์และมุมมองต่างๆที่ผู้เรียนนำมาที่ห้องเรียนจะกลายเป็นแหล่งภูมิปัญญาเพื่อการเรียนรู้ที่ดียิ่ง 

ปลูกฝังการกำหนดทิศทางของตัวเองให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน                 การกำหนดทิศทางของตัวเองถือเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของการเป็นผู้ใหญ่  แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะมีคุณสมบัติดังกล่าวเท่าเทียมกัน  ยิ่งถ้าหากเป็นผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบครูเป็นผู้ชี้นำด้วยแล้ว  ก็จะไม่ค่อยแสดงออกในบรรยากาศการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ที่ต้องกำหนดทิศทางด้วยตนเอง  การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จึงควรจัดโครงสร้างกิจกรรมให้มีลักษณะการกำหนดทิศทางของตัวเองและตัดสินใจได้ด้วยตนเองจนเป็นธรรมชาติ  เพราะเมื่อผู้ใหญ่มีกำลังใจเพียงพอที่จะเป็นตัวของตัวเอง  ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ที่เริ่มมองเห็นอนาคตและจะเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มที่เป็นของตัวเองอย่างต่อเนื่อง  ทั้งในด้านความสัมพันธ์  โลกของงานและสภาพสังคม  แทนที่จะเป็นเพียงผู้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียว  (BROOKFIELD  1986 , P 19)                สร้างบรรยากาศที่ให้กำลังใจและส่งเสริมการเรียนรู้โดยการทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมีความไว้เนื้อเชื่อใจและยอมรับในซึ่งกันและกันระหว่างครูกับผู้เรียน  จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีเกียรติและภูมิใจในตัวเอง  แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนปราศจากความขัดแย้งแต่ประการใด  แต่เป็นการดูแลให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โลกทัศน์มุมมองใหม่ๆและต้องช่วยสนับสนุนให้การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย 

ตีกรอบให้เกิดน้ำใจในการประสานความร่วมมือกันในบรรยากาศของการเรียนรู้                 มักพบบ่อยๆว่า  การประสานความร่วมมือกันจะเกิดขึ้นในบทบาทที่ครูและผู้เรียนต่างผลัดกันเป็นผู้สอนผู้เรียนซึ่งกันและกัน  จริงอยู่ครูจะต้องรับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นผู้นำกิจกรรมการเรียนรู้  แต่ในการศึกษาผู้ใหญ่  แต่ละคนต่างก็มีบางอย่างที่จะต้องสอนผู้อื่นและต้องเรียนจากผู้อื่น (DRAPER  1992 , P. 75 )  การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จึงเป็นกิจกรรมร่วมกันทำที่ต่างต้องนับถือและสนใจที่จะนำเอาความรู้ของแต่ละคนมาอยู่ในบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยกัน

 ใช้กลุ่มย่อยให้เป็นประโยชน์                 การใช้กลุ่มย่อยมีประวัติอันยาวนานในระบบการศึกษาผู้ใหญ่และผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้กันเป็นกลุ่ม  เนื่องจากกลุ่มทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม  กระตุ้นให้เกิดการประสานงานและการประสานความร่วมมือกันระหว่างผู้เรียน  โดยโครงสร้างแล้วจะเป็นการเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อนที่มีอายุใกล้เคียงกันและจะเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้มีส่วนในการมีส่วนร่วมในการถกแถลงและแสดงบทบาทที่แตกต่างกัน                หลักการต่างๆ  ที่ได้ยกมาให้เห็นข้างต้นนี้คงจะสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่อย่างกว้างๆ  ในตอนต่อไปก็จะเป็นข้อเสนอแนะในการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในการจัดทำโปรแกรมการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่ต่อไป 

ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้                 มีโปรแกรมการศึกษาผู้ใหญ่จำนวนมากพอสมควรที่ใช้หลักการข้างต้น  ในโปรแกรมการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่  (ABLE)  และจากข้อมูลในระยะหลังๆพบว่าโปรแกรมดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับนักศึกษาและการมีส่วนร่วมของนักศึกษามากขึ้น  (AUERBACH 1992 , FINGEREST 1992 , NONESUCH  1996 , SISSEL  1996 , STEIN 1995)  ซึ่งข้อเสนอแนะเพื่อใช้ในการปฏิบัติที่สะท้อนถึงหลักการด้านการศึกษาผู้ใหญ่ต่อไปนี้  สามารถจะหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในแหล่งอ้างอิงข้างต้นการให้นักศึกษาผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและนำบทเรียนไปใช้นั้น จำเป็นจะต้องปรึกษานักศึกษาผู้ใหญ่ดังกล่าวเกี่ยวกับ หัวเรื่อง ที่จะนำไปผสมผสานเข้ากับเนื้อหาของโปรแกรม  ABLE  ( ดังในตัวอย่างของ  AUERBACH  1992 ; NONESUCH  1996 ; SISSEL 1996 ; VELAZQUE 1996 )  นักการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้จำนวนมาก  ได้บรรยายถึงความสำคัญของการมีส่วนรวมของผู้เรียน  แต่ไม่ได้ดำเนินการให้เกิดขึ้น  ซึ่งจริงๆ  แล้วนักการศึกษาดังกล่าวจะต้องฟังสิ่งที่นักศึกษาผู้ใหญ่พูดเกี่ยวกับประสบการณ์การศึกษาในอดีตและเป้าหมายของการเรียนรู้ในปัจจุบัน  แล้วจึงจะใช้ข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาโปรแกรม AUERBACH (1992)  ได้ให้เหตุผลในการใช้วิธีการมีส่วนร่วมของผู้เรียนว่า การศึกษาผู้ใหญ่จะมีประสิทธิภาพสูงสุดถ้าได้ดำเนินการโดยใช้ประสบการณ์ของผู้เรียน  เพื่อมุ่งสนองตอบต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียนและมีการกำหนดทิศทางโดยกลุ่มผู้เรียนเอง (P. 14) ในโปรแกรม ABLE แบบมีส่วนร่วม  ควรให้สะท้อนชีวิตจริงของนักศึกษาและใช้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง  โปรแกรม  ABLE  ควรให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการวางแผนและนำไปใช้ในหลายๆด้าน  รวมถึงการขอให้ทีมเข้ามาช่วยในการปฐมนิเทศผู้เรียนใหม่และอาจรวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการเพื่อให้คำแนะนำในกิจกรรมต่างๆด้วย                การพัฒนาและ/หรือ  การใช้อุปกรณ์การสอนที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นอยู่ของนักศึกษา  นับเป็นการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการกำหนดเนื้อหาการสอน  บางครั้งการอ้างอิงเนื้อหาการเรียนรู้และอุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์จริงของผู้เรียน  และเหมาะสมกับระยะพัฒนาการและปัญหาของผู้เรียน  จะพบว่าเป็นการเน้นความสำคัญที่ผู้เรียนและจะมีความหมายโดยตรงต่อชีวิตของผู้เรียน  (AUEBACH  1992 , DIRKX  AND  PRENGER  1997 , NASH  E T A  1992)  ซึ่ง  DIRKX  AND PRENGER (1997)  เรียกวิธีนี้ว่า การใช้หัวเรื่องเป็นพื้นฐาน   (THEME  BASED)  และได้อธิบายเอาไว้ว่าควรจะบูรณาการเนื้อหาทางวิชาการกับปัญหาในชีวิตจริงเข้าด้วยกัน  ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในการได้มาซึ่งทักษะที่ได้รับการบูรณาการแล้วแทนที่จะเน้นการเรียนรู้เนื้อหาวิชาแยกออกมาต่างหาก  เนื่องจากการใช้หัวเรื่องเป็นพื้นฐานยังจะทำให้จุดเน้นไปอยู่ที่สามัญสำนึกร่วมกันของผู้เรียนและจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายต่อนักศึกษาด้วย  การใช้วิธีการดังกล่าวจะทำให้ห้องเรียนมีความใกล้เคียงของจริงมากขึ้น  ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่จะเรียนรู้จากการใช้ทักษะในสถานการณ์จริงของชีวิตได้เป็นอย่างดี 

พัฒนาความเข้าใจในประสบการณ์ของผู้เรียนและชุมชน                 การดำเนินการให้ผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในการอ่านออกเขียนได้ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับนับถือในวัฒนธรรม  พื้นฐานความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน (AUERBACH 1992)  ในการศึกษาพื้นฐานเพื่อการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่นั้น  จำเป็นต้องเน้นความสนใจส่วนใหญ่ไปที่การสอนแบบรายบุคคลเพื่อสนองความ้องการเฉพาะตัว  ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่มีอะไรผิดในการใช้วิธีการดังกล่าว  แต่การเน้นหนักด้านการให้บริการรายบุคคล  อาจจะทำให้ลืมคำนึงถึงเรื่องของเพศ  เชื้อชาติและชนชั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงของนักศึกษาผู้ใหญ่เหล่านี้ไปก็ได้  (CAMPBELL  1992)  นักการศึกษาด้านการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ออกมารณรงค์ส่งเสริมให้ทำความเข้าใจผู้เรียนทั้งในฐานะเอกัตตบุคคล  และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและกลุ่ม (NONESUCH  1996 , SISSEL 1996)  และมุ่งปรับแต่งการสอนเพื่อให้ตอบสนองต่อเนื้อหาเฉพาะทางเหล่านั้น  ตัวอย่างเช่น  NONESUCH  (1996)  อธิบายว่า  ประสบการณ์ของผู้หญิงสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร  เป็นต้น                การจัดทำกลุ่มย่อมให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้  จะสามารถทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  และจะทำให้เกิดการประสานความร่วมมือมากกว่าการสอนแบบกลุ่มใหญ่หรือการสอนแบบตัวต่อตัว  นอกจากนั้นการเรียนรู้โดยกลุ่มย่อยยังจะสามารถสะท้อนเนื้อหาที่ชัดเจนกว่าสำหรับผู้ใหญ่ที่ใช้ทักษะทั่วไปในการอ่านออกเขียนได้  การจัดกลุ่มย่อยยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง  เช่น  การส่งเสริมการเรียนรู้แบบช่วยกันในกลุ่มเพื่อนและการลดความแตกต่างระหว่างครูกับผู้เรียน  โดยการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและสร้างบรรยากาศในการร่วมคิดร่วมทำ  ซึ่งจะทำให้ช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนลดลงจากวิธีการแบบดั้งเดิมได้เป็นอย่างมาก  กลุ่มย่อยสามารถจะใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการกำหนดหัวเรื่องและความคิดที่จะก่อให้เกิดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ (IMEL , KERKA , AND  PRITZ 1994 )                โปรแกรม  ABLE  ที่ได้นำเอาข้อเสนอแนะต่างๆเหล่านี้ไปใช้จะเร่งรัดให้ผู้เรียนเกิดความตื่นตัวในการกำหนดทิศทางและการตระหนักรู้ในตัวเอง  ผู้เรียนที่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและร่วมจัดกิจกรรมตามเนื้อหาวิชาจะสามารถพัฒนาและยกระดับความตระหนักชัดในสถานภาพของตัวเองและยกระดับความสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ 

บทสรุป                 ถ้านักการศึกษาด้านพื้นฐานและการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่มุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จในการชี้ชวนผู้เรียนและรักษาผู้เรียนไว้ในโปรแกรมให้ได้  นักการศึกษาดังกล่าวจะต้องเปลี่ยนวิธีการคิดที่เกี่ยวกับโปรแกรมนี้ (QUIGLEY  1997)  รูปแบบของโรงเรียนที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องดำเนินการบนพื้นฐานการรับรู้แบบผู้ใหญ่  ทั้งในด้านเป้าหมาย  จุดประสงค์  และจะต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของชีวิต  ซึ่งการใช้หลักการด้านการศึกษาผู้ใหญ่น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้   

หมายเลขบันทึก: 50864เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท