การนิเทศการเรียนการสอนในโรงเรียน


ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
การนิเทศการเรียนการสอนในโรงเรียน บทบาทของผู้บริหารที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้  ความสามารถ  ประสบการณ์  มีเทคนิคในการจัดการเรียนรู้  เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของผู้บริหารที่ควรทำและต้องทำอย่างต่อเนื่อง  อาจด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง  หรืออาจหลายวิธีประกอบกัน  แล้วแต่การวินิจฉัยของผู้บริหารที่มีต่อครูแต่ละคน  การพัฒนาอาจมีมากมายหลายวิธี  เช่น  การส่งครูประชุม  อบรม  สัมมนา  การส่งเสริมเอกสารทางวิชาการ  การศึกษาดูงาน  การส่งเสริมให้ศึกษาต่อ  เป็นต้น   เพื่อเป็นการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตรงตามเป้าหมายของหลักสูตร  การนิเทศการเรียนการสอนถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญประการของผู้บริหารโรงเรียน  ที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องศึกษาและทำความเข้าใจ แนวคิดทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง  พร้อมนำไปปฏิบัติ  และเรียนรู้จากการปฏิบัติ  มาสรุปเป็นองค์ความรู้และพัฒนาใช้ให้เหมาะกับบริบทของโรงเรียนและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด  จากการศึกษา  แนวคิด  ทฤษฎี  ทางการนิเทศการศึกษา  และประสบการณ์การนิเทศการศึกษา  หลายรูปแบบ  เช่น  การนิเทศแบบคลินิก  การนิเทศแบบสอนแนะ  การนิเทศแบบกัลยาณมิตร 
  พอสรุปเป็นแนวทางที่สามารถใช้ได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จระดับหนึ่งการนิเทศการเรียนการสอน  ควรประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน   4  ขั้นตอน ดังต่อไปนี้  คือ 
                1.  การเตรียมการ  เป็นการเตรียมการด้านข้อมูลสารสนเทศ  ในการนิเทศ  ทั้งด้านผู้รับการนิเทศ  และผู้นิเทศ  เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลผู้รับการนิเทศ  วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น      1.1  ในส่วนของผู้รับการนิเทศ  สิ่งที่ผู้นิเทศจะต้องรับรู้คือ  ลักษณะนิสัยใจคอ บุคลิกลักษณะ  ข้อมูลเบื้องต้นในการจัดการเรียนรู้  ความต้องการของผู้รับการนิเทศ  ความพร้อมต่อการนิเทศ
      1.2  ในส่วนของผู้นิเทศ  สิ่งที่ผู้นิเทศต้องเตรียมคือ 
1.2.1  เตรียมใจ  หมายความว่า  จะต้องทำใจให้เที่ยงตรงกำหนดเป้าประสงค์ในการนิเทศให้ชัดเจน  เช่น  เป็นการนิเทศบนหลักการของการมีส่วนร่วม  บนหลักของความจริงใจ  บนหลักของกัลยาณมิตรที่แท้จริง  และบนความปรารถนาดีต่อกัน  บนหลักการของวิทยาศาสตร์  บนหลักของการเรียนรู้ร่วมกัน   บนหลักของการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งนักเรียนและครู
1.2.2  เตรียมความรู้  ผู้นิเทศต้องมีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการนิเทศอย่างดี  เช่น  การวางแผนการจัดการเรียนรู้  วิธีการจัดการเรียนรู้  เทคนิคการจัดการเรียนรู้  การผลิตและการใช้สื่อการเรียนรู้  การวัดและประเมินผลการเรียนรู้  จิตวิทยาการเรียนรู้
1.2.3  เตรียมสื่อ  อุปกรณ์สำหรับการนิเทศ  เช่นอุปกรณ์  เครื่องมือ  ที่จำเป็นสำหรับการนิเทศ
1.2.4  เตรียมสถานที่  บรรยากาศให้เอื้อต่อการนิเทศ  ทั้งบรรยากาศระหว่างผู้รับการนิเทศกับผู้นิเทศ  บรรยากาศสิ่งแวดล้อม
1.2.5  การกำหนดเวลา    
                2.  ขั้นปฏิบัติการ
                      2.1  ผู้รับการนิเทศและผู้นิเทศ  สร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกัน  ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก  หากทั้งผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ  มีความสัมพันธภาพที่ดีตั้งแต่ต้น  โอกาสแห่งความสำเร็จย่อมมีสูง  ถ้าสัมพันธภาพบกพร่อง  โอกาสก็มีน้อยลงตามลำดับ  ซึ่งข้อนี้เป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหารและผู้นิเทศโดยทั่วไป  การปรับบุคลิกให้มิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีต่อทุกคน  จะเป็นการส้รางความสำเร็จในการนิเทศได้ดี 
      2.2  กำหนดวัตถุประสงค์  และเป้าหมายในการนิเทศร่วมกัน  ควรยึดถือเป็นหลักของการมีส่วนร่วม  ถ้อยทีถ้อยอาศัย  บนหลักของกัลยาณมิตร  บนหลักเหตุผล                      2.3  ร่วมกันกำหนดแผน  แนวทางในการนิเทศ  กำหนดปฏิทินการทำงาน  บนวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์  เห็นจริง  สัมผัสได้
                      2.4  ดำเนินการ    วางแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน  โดยพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ เช่น 
2.4.1  จุดประสงค์การเรียนรู้  สาระการเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนรู้  สื่อ  การประเมินผล  การให้ข้อมูลย้อนกลับ  ตลอดจนการคาดคะเนปัญหาการจัดการเรียนรู้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
2.4.2   การวางแผนสังเกตการจัดการเรียนรู้  เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นิเทศกับครูในเรื่องที่ต้องการสังเกตุ  เช่น  การจัดทำแผนการเรียนรู้  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้   สื่อที่ใช้ประกอบการเรียนรู้    แหล่งการเรียนรู้    การประเมินผลการเรียนรู้  พฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู   พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน   บรรยากาศในการเรียนรู้   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน   เครื่องมือบันทึกพฤติกรรมการเรียนรู้  กำหนดระยะเวลา  สถานที่    การปฏิบัติตนของผู้นิเทศในขณะสังเกต   วิธีการวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้หลังจากการสังเกต
                การดำเนินการในขั้นตอนนี้  ครูจะนำแผนการจัดการเรียนรู้มาทบทวนร่วมกับผู้นิเทศจนเกิดความมั่นใจว่าถ้าจัดการเรียนรู้ตามที่ตกลงกันแล้วจะทำให้เกิดผลดีที่สุด
2.5  การสังเกตการณ์สอนหรือสังเกตการจัดการเรียนรู้  เป็นขั้นที่ผู้นิเทศไปเยี่ยมการพบกลุ่ม  และสังเกตการจัดการเรียนรู้ของครู  ภารกิจในขั้นตอนนี้มีดังนี้
      2.5.1  ผู้นิเทศสังเกตการจัดการเรียนรู้ของครูตามแผนที่ได้กำหนดไว้รวมกัน
      2.5.2  ผู้นิเทศบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการสังเกตลงในเครื่องมือสังเกตการจัดการเรียนรู้  ตามที่ได้ตกลงกันไว้  การสังเกตการจัดการเรียนรู้อาจกำหนดให้มีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้  การนำเข้าสู่บทเรียน  การจัดแบ่งเวลาในการพบกลุ่ม  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู   การใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้    การใช้แรงเสริม   การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้
พฤติกรรมการแสดงออกของครู   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน   พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน   สื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้   การมีส่วนร่วมของผู้เรียน  วิธีการประเมินผล  ฯลฯ
2.6   การประชุมให้ข้อมูลป้อนกลับ  เป็นการให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ครูและหาข้อสรุปร่วมกันในการจัดการเรียนรู้ให้ดีขึ้น  ภารกิจในขั้นตอนนี้มีดังนี้
        2.6.1  ผู้นิเทศและครูร่วมกันทบทวนข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการจัดการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ  เช่น  พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู  พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดการเรียนรู้
                                       2.6.2  ผู้นิเทศสนับสนุนให้ครูได้ชี้แจงวิเคราะห์พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของตนเองเพื่อให้ครูได้ค้นพบตัวเองและประเมินศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ของตนเองได้
3.  ขั้นประเมินผล   ผู้นิเทศและครูช่วยกันวิเคราะห์และตรวจสอบว่าพฤติกรรมใดที่ดีเด่นอยู่แล้ว  และควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น  หรือพฤติกรรมใดที่เป็นจุดอ่อนที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในการจัดการเรียนรู้ครั้งต่อไป  ซึ่งจะดำเนินการเข้าสู่วงจรในขั้นที่  1  อีก
หมายเลขบันทึก: 50863เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท