เลียนหลักการ ปชต. สหรัฐ มาเป็นต้นแบบการปรับใหญ่การเมืองไทย


หลายท่านคงหาว่าระบบสว. แบบนี้ไม่เป็นปชต. ซึ่งผมได้ค้านไว้แล้วในบทความก่อนๆ ว่า มันเป็นปชต. เสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งทางตรงเสียอีก เพราะการกำหนดแบบนี้มันเป็นการเลือกตั้งแบบ “ธรรมชาติ”

เลียนหลักการ ปชต. สหรัฐ มาเป็นต้นแบบการปรับใหญ่การเมืองไทย

เพิ่งผ่านไปหยก ๆ สำหรับการเลือกตั้ง ปธด. สรอ.  โอบามายังได้รับการไว้วางใจอีกสมัย  แต่น่าสังเกตว่า ในสภาผู้แทนนั้นพรรครีพับลิกัน (ซึ่งเป็นพรรคของคู่แข่งของโอบามา)  กลับได้เสียงข้างมาก

แสดงว่าคนอเมริกันนั้น คนคนเดียวกันเวลาเขาลงคะแนนอาจเลือกสส. พรรครีพับลิกัน  แต่เวลาเลือกปธด.กลับเลือกพรรคตรงข้าม นี่แสดงว่าเขามีความรู้พอควร สามารถแยกแยะออกระหว่างประเด็นท้องถิ่นกับประเด็นระดับชาติ  โดยไม่ยึดติดกับสีเสื้อแบบหูหนวกตาบอด หรือ โหวตตามคำสั่งของใคร ตามที่หัวคะแนนรับเสียงกระซิบมาจากนายใหญ่อีกต่อ

ในเมื่อโอบามามีเสียงข้างน้อยในสภาแล้วเขาจะทำงานบริหารประเทศอย่างไร  ก็ตอบว่าทำได้สบายๆ  (เหมือนอย่าง ๔ ปีก่อนก็เป็นเช่นนี้แหละ)  เพราะสส. พรรคฝ่ายค้าน เขาไม่ได้โหวตตามใบสั่งพรรคเหมือนไทยเรา แต่โหวตตามจิตสำนึกของเขา ผนวกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่เขา  ซึ่งโอบามาเองก็ต้องฟังด้วย ดังนั้นหากนโยบายของโอบามาออกมาดี มีเหตุผล อธิบายได้ สส. ฝ่ายค้านก็จะโหวตให้เขา  ตรงข้าม สส. ซีกรัฐบาลเองหลายคนก็โหวตค้านเขาบ่อยๆ


จึงได้ข้อคิดว่าหากปชต.ไทยเราจะเอาข้อดีของสรอ.มาใช้ก็คงจะดีหาน้อยไม่  เช่น เปิดโอกาสให้พรรคเสียงข้างน้อยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้  ซึ่งก็สามารถทำได้อยู่แล้วตามที่รธน. เปิดช่องไว้  แต่มีความเป็นไปได้น้อยมาก และถึงแม้เป็นได้ รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพที่ง่อนแง่นมาก


ผมจึงได้เคยเสนอรูปแบบ ปชต.แบบไทยรูปหนึ่งไว้แล้ว ดังนี้

-ให้เลือก สส. ตามปกติ

-ให้สส.  100 คน มีสิทธิเสนอชื่อ ว่าที่นรม. ได้ 1 คน เพื่อให้ สว. เป็นผู้คัดเลือก ให้เป็น นรม.  (ดังนั้นน่าจะได้ชื่อ ว่าที่นรม. สัก 3-4 คน ) 

-สว. ที่ทำการคัดเลือก นรม. นั้น ให้มาจากการกำหนดของ รธน.  เช่น

  -ตามตำแหน่งในราชการ องค์กรเอกชน สื่อ  องค์กรอิสระ

  -นักคิด นักเขียน อิสระ  (เสนอชื่อโดย...)

-ดังนี้ เราอาจได้นรม. ที่เป็นหน.พรรคเสียงข้างน้อย (แม้น้อยมากเพียง 100 เสียง จาก 500 เสียง สส. เท่านั้นเอง) 


ประเด็นน่าคิดและน่าโต้แย้งเป็นดังนี้

-หากพรรค ก.มีเสียง 300 และทั้ง 300 เสนอ นาย กก เป็น นรม. ส่วนพรรค ข มีเสียง 100 และเสนอ นาย ขข เป็น นรม.  ดังนี้หากสว. เลือก นาย ขข.  สว. จะต้องมีเหตุผลที่ดีมากที่เป็นที่ยอมรับได้ของสส.พรรค ก.

  -สมมติว่า นาย ขข ดังกล่าวขึ้นเป็นนายก  การทำงานของนาย ขข. จะต้องดีมาก ไม่งั้นจะผลักดันนโยบาย กฎหมาย ผ่านสภาได้ยากมาก  ซึ่งกลับ กลายเป็นผลดีต่อชาติ  เพราะจะเป็นนโยบายที่รอบคอบมาก  หากมีนโยบาลดีๆออกมาแล้วสส. พรรค ก ตีรวนไม่ยอมรับ ปชช. ก็จะวิจารณ์และในสมัยหน้าอาจไม่โหวตเลือก สส. พรรค ก อีกก็เป็นได้  เท่ากับเป็นการให้การศึกษา ปชต. ไปในตัวโดยปริยาย

-เสถียรภาพรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องได้รับการการันตี  คุณอาจทำงานยาก แต่คุณจะถูกแกล้งให้ออกไม่ได้  ดังนั้นในการลงมติไม่ไว้วางใจนั้น สว. เท่านั้นเป็นคนลงมติ  ส่วนสส. มีหน้าที่อภิปรายซักฟอกเท่านั้น

-ถ้าพรรคเสียงข้างมากได้เป็น รบ.  ก็ใช่ว่าจะมีเสถียรภาพดี นึกจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ  แต่พรรคเสียงข้างน้อยอาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้ว สว. อาจลงมติให้ยุบรัฐบาลได้  ซึ่งก็เป็นผลดีต่อชาติ เพราะพรรคเสียงข้างมากก็ไม่อาจชุบมือเปิบ เขมือบชาติได้เหมือนดังก่อน


หลายท่านคงหาว่าระบบสว. แบบนี้ไม่เป็นปชต.  ซึ่งผมได้ค้านไว้แล้วในบทความก่อนๆ ว่า มันเป็นปชต. เสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งทางตรงเสียอีก  เพราะการกำหนดแบบนี้มันเป็นการเลือกตั้งแบบ “ธรรมชาติ” เนื่องจากบุคคลต่างๆ นั้นกว่าจะได้รับการดำรงตำแหน่ง เช่น นายกสมาคมทนายความไทย  เขาก็ต้องได้รับการยอมรับจากทนายทั้งประเทศอยู่แล้ว เท่ากับว่าได้รับการ”เลือกตั้งโดยธรรมชาติ” มาแล้วนั่นเอง  ทั้งผู้มีสิทธิออกเสียงก็ล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ไม่สามารถไปหลอกเอาคะแนนเสียงได้ง่ายๆ เหมือนการเลือกตั้ง สส.  ทั่วไป

ถ้าเราให้ สว. มาจากเลือกตั้ง มันก็จะเป็นพวกเดียวกับสส.  แน่นอน ว่าไปแล้ว สว. จะกลายเป็นลูกน้องสส. เพราะต้องไปขอฐานเสียงจาก สส. ดังนี้แล้วจะยิ่งมีการซื้อเสียงมากขึ้น  เพื่อให้ นรม. ที่ตนเสนอ ได้รับการล็อคโหวตจาก สว. 


ข้อดีของปชต. ที่เสนอนี้คือ 

-เราจะได้นรม. ที่ (สว. เห็นว่า) เก่งที่สุด ดีที่สุด เข้าไปบริหารประเทศ ไม่ใช่นรม. พวกลากมากไปเสมอไป

-การซื้อเสียงจะลดลง เพราะพรรคการเมืองจะได้คิดว่า แม้ซื้อเสียง ได้เสียงข้างมากก็อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

-แม้พอได้เสียงข้างมากแล้วเวลาส่งชื่ออาจไม่ส่งหัวหน้าพรรคก็เป็นได้ เพราะหัวหน้าพรรคอาจมีภาพลักษณ์ไม่ดี  อาจส่งคนอื่นที่เห็นว่ามีสิทธิที่จะโน้มใจสว.ได้มากกว่า 


รธน. ควรเปิดช่องไว้ด้วยว่า ในกรณีจำเป็นอย่างยิ่งยวด  สว. มีสิทธิในการเสนอชื่อ บุคคลอื่นนอกเหนือจากรายชื่อ ที่สส. เสนอขึ้นมาขึ้นเป็น นรม. ก็ได้ เช่น หากเลือก นายกก. หรือ นายขข. ก็อาจนำไปสู่การแตกแยกของประชาชน เป็นต้น


อีกทั้ง รธน. ควรกำหนดด้วยว่า  เมื่อได้ชื่อ นรม. นรม. ต้องเสนอชื่อ รมต.  แต่ ว่าที่รมต. เหล่านี้จะต้องถูกอภิปรายซักฟอกในสภาสส. เป็นรายบุคคล จากนั้นให้ สว. โหวตรับรอง รมต. เข้ารับตำแหน่งเป็นรายบุคคล

ถ้าทำแบบนี้ เราจะได้รมต. ที่เก่งดี มีความรู้เข้าไปบริหารกระทรวงต่างๆ  ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย ให้นรม. มีสิทธิ์เลือกใครก็ได้ขึ้นไปปบริหารกระทรวง จนบ้านเมืองไทยเละเทะมาจนวันนี้ (ระบบ confirmation เช่นนี้ก็ใช้ใน สรอ.  แต่ของเขาให้ สว. ซักฟอก และ รับรองเองในตัว)

...คนถางทาง (๑๑ พย. ๒๕๕๕) 

หมายเลขบันทึก: 508374เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2012 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

We should start teaching "honesty" in school and upholding "honesty" at all levels.

;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท