บันทึกวาระสี่เดือนของมอส. ตอนที่ ๗ : สิ่งที่ต้องปรับปรุงและต้องเพิ่มสำหรับตนเอง


๗.สิ่งที่ต้องปรับปรุงและต้องเพิ่มสำหรับตนเอง

๑.ความเข้าใจในองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสถานะบุคคล

  เนื่องจากเนื้อหาของการทำงานที่เป็นเรื่องสถานะบุคคลมีความเกี่ยวข้องทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมหาชนภายในของรัฐไทย(โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และกฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมืองที่เป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ) ทำให้ต้องทบทวน/ทำความเข้าใจความรู้ภาคทฤษฎีในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับใช้กฎหมายภาคทฤษฎีให้เข้ากับภาคปฏิบัติ

  ในส่วนของการทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องส่วนที่เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติบางฉบับเป็นมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาค่อนข้างบ่อยครั้ง เช่น กฎหมายสัญชาติที่มีการประกาศใช้ ยกเลิก และแก้ไขเพิ่มเติมโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ทางการเมืองหลายฉบับ/หลายครั้ง ทำให้การพิจารณาข้อเท็จจริงต้องมีความละเอียดมากขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะช่วงเวลาในขณะที่บุคคลนั้นเกิด สิ่งที่อาสาสมัครฯพบเจอก็คือข้อเท็จจริงในช่วงเวลาหนึ่งมีผลให้บุคคลได้สัญชาติไทย แต่ข้อเท็จจริงที่เหมือนกันในปัจจุบันอาจทำให้บุคคลไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยก็ได้(อาจสามารถพิจารณาได้จากพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ประกอบกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ และพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ ตลอดจนพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑)

  นอกจากนี้ในกฎหมายแต่ละฉบับจะมีกฎหมายลูกออกมามากมายซึ่งเป็นรายละเอียดการปฏิบัติทางเทคนิค เช่นกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่กระทรวงมหาดไทยจะออกวิธีการปฏิบัติการจัดทำทะเบียนราษฎรต่างๆ หรือกฎหมายสัญชาติที่จะออกวิธีการปฏิบัติในวิธีการต่างๆซึ่งกฎหมายให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงได้

  ปัญหาในส่วนของการใช้กฎหมายนี้(โดยเฉพาะกฎหมายการทะเบียนราษฎร)ทำให้อาสาสมัครฯต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกฎหมายพอสมควร ทางแก้ไขอย่างหนึ่งคือการถามไปยังพี่เลี้ยงอาสาสมัคร,เจ้าหน้าที่องค์กร ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายไปได้มาก ทางแก้ไขตรงนี้อาจช่วยให้ย่นระยะเวลาการทำความเข้าใจกฎหมายให้เร็วขึ้น 

  ๒.การสื่อสาร/ทำความเข้าใจ เรื่องสิทธิสถานะบุคคลกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือชาวบ้าน ข้าราชการอำเภออุ้มผาง

  การสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งชาวบ้านและอำเภอ พบว่าตนเองยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เป็นเพราะขาดความแม่นยำในข้อกฎหมายต่างๆ,ในบางครั้งคิดว่าตนเองเรียงลำดับการพูดให้ชาวบ้านเข้าใจได้ไม่ดีนัก,การถามคำถามเพื่อสอบข้อเท็จจริง ถามวกไปวนมาไม่มีการลำดับคำถาม ,บางครั้งก็ตกหล่นบางประเด็นที่จำเป็นต้องรู้แต่ลืมถาม บางครั้งกลายเป็นผู้พูดมากกว่าผู้ฟัง เป็นต้น จนทำให้ดูเหมือนว่าอาสาสมัครดูแล “ลูกความ” ได้ไม่ดีนัก

  การติดต่อกับอำเภอแม้จะมีการพูดคุยกัน(ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ)หลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถประเมินได้ว่า ทางพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าใจจุดมุ่งหมายที่อาสาสมัครฯต้องการสื่อสาร/ชี้แจงหรือไม่ เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่(ปลัดอำเภอ)ยังมีการโต้แย้งความคิดเห็นของอาสาสมัครอยู่เสมอ ซึ่งบทสรุปก็ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของอาสาสมัครอยู่บ่อยครั้ง ทำให้บางครั้งก็กลายเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด เป็นต้น

  ๓.การเก็บข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์สถานะบุคคลที่ต้องเพิ่มความรอบคอบมากกว่าเดิม

  เนื่องจากอาสาสมัครฯได้รับมอบหมายจากองค์กรให้เน้นการเก็บข้อเท็จจริงเพื่อรวบรวมนำมาวิเคราะห์สถานะบุคคลซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลของผู้ประสบปัญหาต่อไป ข้อเท็จจริงทั้งหมดจึงมีความสำคัญมาก ทั้งจากคำบอกเล่าของผู้ประสบปัญหา หรือผู้ปกครอง(ในกรณีที่ผู้ประสบปัญหาเป็นเด็ก) หรืออาจจะต้องสอบถามพยานบุคคลอื่นๆด้วยในกรณีที่ต้องการความน่าเชื่อถือคำบอกเล่าของผู้มีส่วนได้เสียมากยิ่งขึ้น(ยังไม่พบเจอด้วยตัวเอง) รวมถึงรวบรวมพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลของผู้ประสบปัญหาด้วย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเอกสารมหาชน เช่น ทะเบียนบ้าน(ทั้งท.ร.๑๔ และท.ร.๑๓) ,แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ,สูติบัตร ,ใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือเอกสารอื่นๆที่แสดงข้อเท็จจริงว่ามีการอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ,สมุดประจำตัวนักเรียน ,บัตรประจำตัวผู้ป่วย  เป็นต้น จากนั้นอาสาสมัครฯจะนำมาวิเคราะห์สถานะบุคคลตามฟอร์มขององค์กรเพื่อส่งให้พี่เลี้ยง(อาจารย์)ขององค์กรตรวจทานอีกครั้ง แบบวิเคราะห์นี้จะนำยื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาประกอบการยื่นคำร้องตามกฎหมายต่างๆด้วย

จากการทำงานตลอดระยะเวลาสี่เดือนที่ผ่านมา พบว่าหลังจากการสอบถามข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานของผู้ประสบปัญหาแล้วนำมาสรุปและวิเคราะห์สถานะบุคคล ปรากฎว่ามีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ตกหล่นไปไม่ได้สอบถามจนบางครั้งต้องมีการสอบถามข้อเท็จจริงและรวบรวมเอกสารอีกครั้งหนึ่ง ความเห็นส่วนตัวคือทำให้อาสาสมัครฯและองค์กรดูมีความบกพร่องในการทำงานในสายตาของคนภายนอก จึงต้องปรับปรุงความรอบคอบอยู่อีกมาก

  นอกจากนี้ ทางองค์กรมีแบบฟอร์มการสอบถาม แต่อาสาสมัครฯไม่ค่อยได้นำมาใช้สอบถามนัก(มีมุมมองส่วนตัวว่า การถามข้อเท็จจริงผู้ประสบปัญหาโดยไม่ใช้แบบสอบถามดูมีความเป็นกันเองมากกว่า) แต่ก็พบปัญหาว่าเก็บข้อมูลไม่ได้ครบ การทำงานในอนาคตอาจต้องเน้นแบบฟอร์มขององค์กรมากกว่านี้ โดยเฉพาะอาสาสมัครฯยังไม่ค่อยเน้นบทบาทการร่างแบบ Family Tree ที่ช่วยทำให้สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ง่ายขึ้นและมีข้อคิดเห็นจากพี่เลี้ยงด้วยว่าการใช้แบบสอบถามทำให้มีหลักฐานว่ามีการขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบปัญหาด้วย 

หมายเลขบันทึก: 508169เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท