Good day Toronto 16


ฉันถาม Sharon ว่า ในการทำงานด้านนี้ สิ่งที่สร้างความลำบากใจให้ Sharon มากที่สุดคืออะไร Sharon บอกว่า สิ่งที่สร้างความลำบากใจให้ Sharon มากที่สุดคือการบอกความจริงผู้ป่วย

You did it.

หลังจากคุยกับ Trish แล้ว เธอก็มาส่งที่ร้านกาแฟชั้นล่างของโรงพยาบาล Toronto General Hospital เพราะเธอจะมารับพยาบาลไทยอีก ๒ คนที่จะมาดูงาน เห็นว่ามาจากโรงพยาบาลระบบประสาทที่กรุงเทพฯ แต่ฉันก็ไม่ได้เจอกับคนไทย ๒ คนนั้น เพราะ Sharon มารับไม้ต่อจาก Trish เลย Sharon บอกฉันว่าสิ่งแรกที่จะทำวันนี้คือเยี่ยมคนไข้กัน ก็ไปเยี่ยมป้าคนเดิมจาก Jamaica ซึ่งวันนี้ทานอาหารได้มากขึ้น เลยคุยเรื่องปรับยาจากการฉีดเป็นแบบรับประทานแทน รวมทั้งเรื่องแผนการย้ายไปอยู่ PCU วันนี้ป้าดูสดชื่นขึ้นมาก คุยกันเสร็จ Sharon ก็กลับไปสำนักงานเพื่อช่วยจัดการให้เราได้เข้าประชุม  the first palliative care conference for non professional แบบขอยกเว้นค่าลงทะเบียนให้ แล้วเธอก็นั่งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้รับ consult อีกหนึ่งราย คนนี้เป็นหลายโรคและปัญหาที่ขอให้คำปรึกษาคือเรื่องการควบคุมอาการหายใจลำบาก

เมื่อเตรียมข้อมูลเสร็จ เราก็เดินไปเยี่ยมคนไข้รายนี้กัน มีเรื่องประทับใจคือคนไข้รายนี้เป็นฝรั่งเศส ซึ่งก่อนเข้าพบคนไข้ Sharon พบแพทย์เจ้าของไข้ประจำหอผู้ป่วย ซึ่งแพทย์บอกว่าคนไข้คุยภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแรก โปรตุเกสเป็นภาษาที่สอง แล้วก็คุยต่อเรื่องอาการ สักครู่พวกเราก็เดินไปห้องคนไข้ หลังแนะนำตัวเองและขออนุญาติให้ฉันอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เมื่อคนไข้อนุญาติ Sharon ก็ถามว่าคนไข้ต้องการสื่อสารกับเธอด้วยภาษาอะไรเป็นภาษาแรก คนไข้ก็บอกว่าภาษาโปรตุเกส เธอก็ขออนุญาติออกมาติดต่อขอ translator มาช่วยสื่อสาร เธอหันมาบอกฉันว่าโชคดีที่ถามคนไข้ ไม่เอาข้อมูลจากที่ได้รับทราบมาสรุปเอง จากนั้นเธอก็รอสักพักหนึ่ง(ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง) ล่ามก็มา เราก็เข้าไปในห้องของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยคนไข้กำลังทานอาหารเที่ยง เธอเลยถามว่าจะให้พวกเราออกไปก่อนไหม ให้ทานอาหารให้เสร็จแล้วจะกลับมาใหม่ คนไข้บอกว่าไม่เป็นไร คุยไปกินไปก็ได้ คำถามได้ ๒ -๓ คำถาม Sharon ถามต่อว่าจะกินคำต่อไปอีกหรือเปล่า คนไข้ว่าไม่เป็นไร เลยคุยกันผ่านล่าม ซึ่งล่ามแปลได้ตรงมาก ไม่บิดเบือน (สังเกตจากช่วงเวลาของการตอบของคนไข้ กับเวลาการแปลเกือบใกล้เคียงกัน) คุยประมาณ ๓๐ นาทีก็เสร็จ ก่อน จากกัน Sharon ก็หันไปถามคนไข้ว่าต้องการให้เธออุ่นอาหารให้ไหม ...ดีจัง เพราะนี้คือ sense of caring ฉันรู้สึกว่าเธอไม่ได้เน้นว่าทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย แต่ให้ความสำคัญกับคนไข้อีกด้วย ประทับใจอีกแล้ว

จากนั้น Sharon ก็กลับไปทานอาหารเที่ยง แล้วไปเยี่ยมคนไข้อีกคน เพื่อคุยเรื่องสถานที่จะส่งตัวผู้ป่วยไป PCU ซึ่งเธอเต็มใจที่จะช่วยเหลือและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ PCU ที่ใกล้เคียงกับความต้องการของคนไข้ให้คนไข้และครอบครัว พอบ่ายสาม Sharon มีนัดกับครอบครัวผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง เธอบอกว่าภรรยาผู้ป่วยขอนัดพบเธอ ระหว่างเดินไปพบภรรยาผู้ป่วย ฉันถาม Sharon ว่า ในการทำงานด้านนี้ สิ่งที่สร้างความลำบากใจให้ Sharon มากที่สุดคืออะไร Sharon บอกว่า สิ่งที่สร้างความลำบากใจให้ Sharon มากที่สุดคือการบอกความจริงผู้ป่วย ในระยะแรกเธอบอกว่า เธอรู้สึกทุกข์ใจทุกครั้งไป แต่ คุณหมอ  Dori บอกว่า เราไม่สามารถปกป้องทุกคนจากความเสียใจได้ “We cannot protect people from sorrow. Sadness is normal for human life. We have to do, so that we can help them to plan ahead.” สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น และพยายามเรียนรู้และปรับวิธีการในการพูดคุยกับผู้ป่วย

เมื่อถึงเวลานัด Sharon  เข้าไปที่ห้องของคนไข้ มีญาติอยู่เต็มห้อง Sharon บอกว่าเธอมีนัดกับคนชื่อ... หนึ่งในสมาชิกครอบครัว เขาบอกว่า เป็นเขาเองที่โทรฯหา แล้วเดินออกมากับ Sharon  ผู้หญิงคนนี้เป็นลูกสาวคนไข้ Sharon พาพวกเรามาที่ห้องประชุมห้องหนึ่ง เธอบอกว่ามันเป็นส่วนตัวดี หลังจากจัดที่นั่ง และทุกคนได้ที่นั่งแล้ว ก็เริ่มการสนทนา ลูกสาวหน้าตากังวลๆ เม้มปาก ถอนใจแล้วเล่าว่าหลังจากที่แพทยบอกว่าคนไข้อยู่ในระยะสุดท้าย เธอรู้สึกลำบากใจที่จะอยู่กับคนไข้ในช่วงนี้ เพราะเธอไม่รู้ว่าจะตอบคนไข้อย่างไรดี เวลาคนไข้พูดบางเรื่องที่ทำให้อึดอัดใจ เช่น คนไข้บอกว่า ‘I may not be able to join the wedding ceremony.’ หรือ ‘Let it over.’ ลูกสาวและญาติๆ ได้แต่เงียบ เธอจึงอยากได้คำแนะนำจาก Sharon เธอจึงแนะว่าถ้าผู้ป่วยพูดอย่างนี้ก็น่าจะให้ผู้ป่วยแสดงความรู้สึกและค้นหาสิ่งที่ผู้ป่วยกังวลใจ ถ้าผู้ป่วยบอกว่าจะไม่สามารถร่วมงานแต่งงานได้ ก็อาจจะตอบกลับไปว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง พ่ออยากจะฝากบอกอะไรแก่เจ้าบ่าว เจ้าสาว (ถ้าเป็นคนไทย เราจะพูดอย่างนี้ไหมเนี่ย) Sharon ยังแนะนำให้ลูกสาวใช้วิธีทบทวนความทรงจำกับพ่อในเรื่องราวเก่าๆ พอได้ฟังอย่างนั้นลูกสาวก็พูดออกมาว่า ฉันพลาดโอกาสนั้นไปแล้วซิ เพราะพ่อพูดออกไปแล้ว และฉันไม่ได้ทำอย่างที่เธอแนะนำ Sharon บอกว่าไม่เป็นไร เราอาจจะรื้อฟื้นเรื่องเหล่านี้ได้ เช่น คุยกับพ่อว่าวันก่อนพ่อพูดเรื่องไม่ได้ไปร่วมงานแต่งงาน วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันอีกหน่อยดีไหม

เมื่อให้ข้อแนะนำเสร็จ Sharon ก็บอกว่าเธอเป็นห่วงลูกสาวว่าจะเครียด และทุกข์ใจ เลยถามว่าลูกสาวอยากคุยกับ spiritual care provider ไหม เพื่อเล่าความทุกข์ใจให้ฟังและระบายความทุกข์ใจ ลูกสาวขอบคุณ “Thank you for all responses and try to figure it up and look for system to support us.”Sharon เลยติดต่อหาเบอร์โทรให้ สิ่งที่แว๊บเข้ามาในความคิดของฉันในตอนนั้นเกี่ยวกับ Sharon คือ be Honest… try not to miss any concern they expressed

...สิ่งที่เกิดขึ้นในบ่ายนั้นทำให้นึกถึงแนวคิด Palliative care ครอบครัวเป็นอีกหนึ่งหน่วยสำคัญที่ต้องการการดูแลจากทีม... Sharon ทำในสิ่งนั้น...

 

ศิลปะจากก้อนหิน เรียก Inuksuk หมายถึง  "Someone was here" พบเห็นอยู่หลายๆ ที่ใน Toronto

หมายเลขบันทึก: 508058เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท