พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว : สรุปแนวคำพิพากษา คนสัญชาติไทยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นำไปสู่การเสียสัญชาติไทย (ตอนที่ 1)


ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว : 

สรุปแนวคำพิพากษา คนสัญชาติไทยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นำไปสู่การเสียสัญชาติไทย

 (ตอนที่ 1)

สาระสำคัญของ “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว”

  เป็นเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือเอกสารประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งรัฐไทยออกให้กับคนต่างด้าวซึ่งที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย

  ทั้งนี้ กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวฉบับเดิมและฉบับปัจจุบัน กล่าวคือ พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493[1] ได้ให้นิยามของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ “ใบสำคัญประจำตัว” ตาม มาตรา 4 ซึ่งหมายความว่า “หนังสือประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งนายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้”

บ่อเกิดของกฎหมายไทย  บทบัญญัติซึ่งนำไปสู่สิทธิในการขอมีใบสำคัญประจำตัว

  ประเทศไทย มีกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งกำหนดข้อเท็จจริงอันนำไปสู่สิทธิในการขอมีใบสำคัญประจำตัว กล่าวคือ

1. พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479[2] [3]

  เป็นบทบัญญัติฉบับเดิม ก่อนการประกาศใช้กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวฉบับปัจจุบันโดยกำหนดให้ช่องทางของ สิทธิในการขอมีใบสำคัญประจำตัว มาจากข้อเท็จจริง  2 ประการ กล่าวคือ

 1.กรณีเป็นคนต่างด้าวโดยข้อเท็จจริง กล่าวคือ มีสถานะเป็นคนต่างด้าวและมีอายุเกินกว่า 12 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่กฎหมายบังคับใช้ หรือเข้ามาภายหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็ตาม จำต้องไปรับใบสำคัญประจำตัว ตามมาตรา 4[4] มาตรา 5[5] และมาตรา 6[6]

  2.กรณีหญิงสัญชาติไทย ต้องสละสัญชาติไทย  เพราะสมรสกับคนต่างด้าว  กฎหมายกำหนดให้ไปขอรับใบสําคัญประจําตัวจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ถ้าหญิงนั้นมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดจะไม่ขอรับใบสำคัญประจำตัวก็ได้ ตาม มาตรา 7[7] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2481

 

2. พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493

  สิทธิในการขอมีใบสำคัญประจำตัว มาจากข้อเท็จจริงใน 2 กรณีดังต่อไปนี้

1.กรณีคนต่างด้าวซึ่งอายุตั้งแต่  12 ปีบริบูรณ์ กำหนดให้ขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน  7 วันนับแต่วันที่มีอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ ตามบทบัญญัติในมาตรา 7[8]

  2.กรณีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กำหนดให้ขอรับใบสำคัญประจำตัวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมือง และต้องแจ้งด้วยว่าได้นำคนต่างด้าวอายุต่ำกว่า  12 ปีมาด้วยกี่คน เพื่อให้นายทะเบียนจดลงไว้ในใบสำคัญประจำตัว ตามบทบัญญัติในมาตรา 7

ทั้งนี้ปรากฏหมายเหตุท้ายฎีกา ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่1559-1563/2538 ระบุว่า “ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเป็นเอกสารประจำตัวคนต่างด้าวที่รัฐออกให้แก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและอยู่อาศัยในประเทศไทยในลักษณะถาวรกล่าวคือได้รับอนุญาตให้เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความหมายของ “คนเข้าเมือง” จำต้องพิจารณาตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ได้ให้บทนิยาม “คนเข้าเมือง” หมายความว่า “คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร” โดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมว่า คนเข้าเมือง หมายถึง คนต่างด้าวเข้าเมืองผู้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว หรือเฉพาะคนต่างด้าวเข้าเมืองผู้มีสิทธิอาศัยถาวรเท่านั้น

เมื่อพิจารณาดังนี้ ด้วยความเคารพผู้เขียนมีความเห็นว่าการตีความถ้อยคำว่า “คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายคนเข้าเมือง” ตาม มาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ซึ่งมีสิทธิขอรับใบสำคัญประจำตัว จึงควรหมายความถึงบุคคล 2 กลุ่ม คือ 1) คนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในราชอาณาจักรไทย และ 2) คนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยถาวรในราชอาณาจักรไทย

  3. กรณีผู้เสียสัญชาติไทย กลายเป็นคนต่างด้าว  กรณีนี้ มาตรา 8[9] กำหนดให้คนสัญชาติไทยผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยเหตุใด ไปขอใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนในท้องที่ที่ตนอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าตนได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย

  อย่างไรก็ตาม การเสียสัญชาติไทย อันนำไปสู่สิทธิในการขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 นั้นไม่ได้มีการอธิบายความหมาย และจำแนกลักษณะของการเสียสัญชาติไทยไว้ใน พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 จึงต้องกลับไปพิจารณาจากกฎหมายไทยซึ่งมีบทบัญญัติว่าด้วยการเสียสัญชาติไทย

 

ประเด็นสำคัญ คือ “การเสียสัญชาติไทยของปัจเจกชน” เป็นข้อเท็จจริงอันนำไปสู่สิทธิในการขอรับใบสำคัญประจำตัว ซึ่ง “สิทธิ” ดังกล่าว ได้กำหนด “หน้าที่” ให้แก่ “นายทะเบียน”[10]  ที่จำต้องออกใบสำคัญประจำตัวให้โดยไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจใดๆ[11]  หลังจากพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว และปรากฏข้อเท็จจริงครบว่าปัจเจกชนดังกล่าวเสียสัญชาติไทยแล้วจริง ซึ่งนำไปสู่คุณสมบัติของการมีใบสำคัญประจำตัว

เพราะฉะนั้น การที่บุคคลใดจะถือใบสำคัญประจำตัวได้ ก็จะต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นคุณสมบัติ ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากบุคคลนั้นถือใบสำคัญประจำตัว ทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริงครบตามองค์ประกอบของกฎหมาย การถือใบสำคัญประจำตัวดังกล่าวก็จะไม่ชอบ

  บทบัญญัติว่าด้วยการเสียสิทธิในสัญชาติ ตาม มาตรา 8 จึงเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ที่กำหนดข้อเท็จจริงอันนำไปสู่สิทธิในการขอมีใบสำคัญประจำตัว

(อ่านตอนที่ 2 ต่อ) 


[1] พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495 และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2497

[2] พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2481และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2481 และพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2483

[3] ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2480 จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2493

[4] มาตรา 4 คนต่างด้าวที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรสยามก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวจาก พนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ตนอยู่ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้และให้แจ้งด้วยว่า มีคนต่างด้าวอายุต่ำกว่า 12 ปีบริบูรณ์อยู่ในปกครองของตนกี่คนหากจะพึงมี

[5] มาตรา 5 คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยามภายหลังวันใช้ พระราชบัญญัตินี้ ให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวตามความในมาตราก่อนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองได้ และให้แจ้งด้วยว่า ได้นำบุคคลอายุต่ำกว่า 12 ปีบริบูรณ์เข้ามาด้วยกี่คน หากจะพึงมี

[6] มาตรา 6 คนต่างด้าวอายุต่ำกว่า 12 ปีบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรสยามก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรสยามภายหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี เมื่อมีอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ ให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวโดยนัยเดียวกันภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันมีอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์แล้ว

[7] มาตรา 7 หญิงซึ่งมีสัญชาติเป็นไทย ถ้าต้องสละสัญชาติไทย เพราะสมรสกับคนต่างด้าว ให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ตนอยู่ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสมรส

[8] มาตรา 7 คนต่างด้าวที่มีอายุสิบสองปีบริบูรณ์ หรือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีอายุสิบสองปีบริบูรณ์ หรือวันที่รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมือง แล้วแต่กรณี เฉพาะในกรณีหลังให้แจ้งด้วยว่าได้นำคนต่างด้าวอายุต่ำกว่าสิบสองปีมาด้วยกี่คน ถ้ามี เพื่อนายทะเบียนจะได้จดลงไว้ในใบสำคัญประจำตัว

[9] มาตรา 8 คนสัญชาติไทยผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนในท้องที่ที่ตนอยู่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าตนได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย

[10] พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ “นายทะเบียน” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

[11] คำพิพากษาศาลฎีกาที่1486/2529  ยืนยันอย่างชัดเจนว่าเมื่อผู้ร้องเป็นบุคคลที่เสียสัญชาติไทยนายทะเบียนคนต่างด้าวจะใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้นายทะเบียนคนต่างด้าวจะต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแก่บุคคลที่ร้องขออย่างถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด


(มีต่อตอนที่ 2)

หมายเลขบันทึก: 507608เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2012 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท