ความช่วยเหลือยามที่แม่ป่วย


ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลใหญ่ๆ จะเข้าใจถึงความยากลำบากของการพาผู้สูงอายุมากๆ ไปโรงพยาบาลหรือเปล่า

เพิ่งไปเยี่ยมแม่ที่บ้านนครนายกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม  เห็นว่าแม่สบายดี กินข้าวได้และนอนหลับดี ดิฉันกลับไปทำงานที่นครศรีธรรมราชตั้งแต่เช้าตรู่วันจันทร์ที่ 29 อยู่ๆ เมื่อ 13 น. กว่าของวันพุธที่ 31 ก็ได้ข่าวจากลูกสาวและพี่สาวว่าแม่ไม่สบาย เป็นอะไรก็ไม่รู้ บ่นเวียนหัว นั่งไม่ได้ เอาแต่นอนหลับตา พี่สาวจึงจะให้ลูกสาวของดิฉันขับรถไปดูยายที่บ้านนครนายกด้วยกัน

ดิฉันโทรศัพท์สอบถามน้องสาว สงสัยว่าแม่จะมีปัญหา electrolyte imbalance หรือซีดเกินไปหรือเปล่า แต่ถามดูก็ว่าแม่กินข้าวกินน้ำได้ ไม่มีอาการท้องเสีย วัดไข้ก็ไม่มี วัด BP ได้ 100/50+ เมื่อไม่รู้ว่าแม่เป็นอะไรแน่ จึงบอกพี่สาวให้ไปรับแม่มากรุงเทพฯ โชคไม่ดีที่วันนี้ลูกหลานที่เป็นผู้ชายไม่มีใครว่างเลย กังวลว่าถ้าลูกสาวขับรถไปกับป้าสองคน หากยายอาการไม่ดี จะตกใจทำอะไรกันไม่ถูก

นึกขึ้นได้จึงโทรศัพท์หา พญ.อารยา ทองผิว อาจารย์แม่ที่แข็งขันของเครือข่ายเบาหวาน ขอรถ Ambulance ของโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน ให้ไปรับแม่ที่บ้านนครนายก อาจารย์อารยาจัดการให้ทันที พี่สาวจึงไปขึ้นรถที่โรงพยาบาลฯ ออกเดินทางตั้งแต่ 14 น. กว่า

ดิฉันโทรศัพท์คุยกับอาจารย์พยาบาลรุ่นน้องที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีว่าควรเอาแม่ไปที่ ER หรือไม่ เพราะแม่เป็นคนไข้ของที่นี่ อาจารย์รุ่นน้องเป็นกังวลว่านอกเวลาราชการการบริการที่ ER น่าจะไม่สะดวก บอกว่าเดี๋ยวนี้การที่ผู้ป่วยจะผ่านตรงนั้นไปพบแพทย์อายุรกรรม ไม่คล่องตัวเหมือนเก่า ปรึกษาอาจารย์แพทย์ที่ดูแลแม่มาตลอด ก็ได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับระบบการ Consult ของแพทย์ที่ ER 

แม้อาจารย์แพทย์จะเต็มใจให้การดูแลรักษา แต่ด้วยต้องไปโรงพยาบาลนอกเวลาทำการปกติ ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอาจารย์อารยาว่าควรพาแม่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโลฯ ก่อน หากต้องการจะย้ายไปที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ค่อยทำในวันรุ่งขึ้น

ไม่รู้ว่าโรงพยาบาลใหญ่ๆ จะเข้าใจถึงความยากลำบากของการพาผู้สูงอายุมากๆ ไปโรงพยาบาลหรือเปล่า ที่ผ่านมาทุกครั้งที่จำเป็นต้องใช้รถ Ambulance ไปรับแม่ ไม่ว่าจะจากบ้านหรือจากโรงพยาบาลนครนายก ดิฉันจะได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์อารยาตลอด เคยสอบถามเรื่องการขอใช้รถของโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับคำตอบว่าให้ไปใช้บริการของศูนย์นเรนทร และยังได้ข้อมูลอีกว่าหากใช้รถของโรงพยาบาลเอกชนแล้วไปส่งที่ ER ก็จะมีปัญหาเช่นกัน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พี่และน้องสาวพาแม่ไป Follow up ตามแพทย์นัด ที่อาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อไหมว่าแม่ที่อายุ 98-99 ปี ต้องรอนานมาก นัด 16.30 น. กว่าจะได้ตรวจเกือบสองทุ่ม พี่และน้องสาวต้องคอยช่วยกันพยุงแม่ให้เปลี่ยนท่านั่งบน wheel chair เป็นพักๆ นึกเห็นภาพแม่ที่ต้องนั่ง wheel chair นานหลายชั่วโมงแล้วสงสารจริงๆ คิดอยู่ว่าคงจะต้องเลิกพาแม่ไป follow up แล้ว เมื่อไปรับยา เจ้าหน้าที่การเงินก็ไม่ยอมให้ใช้สิทธิการเบิกตรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เอาบัตรประชาชนของแม่มาด้วย (หาบัตรไม่เจอแล้ว ครั้งสุดท้ายที่มาตรวจเมื่อเดือนมีนาคมก็ไม่ต้องใช้) ที่พี่สาวโมโหมากๆ คือเจ้าหน้าที่การเงินพูดจาไม่ดีมากๆ 

แม้ดิฉันจะเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนพยาบาลในคณะแพทยศาสตร์ฯ แห่งนี้ และเคยทำงานที่นี่เกือบ 24 ปี แต่ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิพิเศษใดๆ เวลาที่แม่เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ถ้าเป็นเวลาราชการก็อาศัยอาจารย์แพทย์ที่เป็นเพื่อนกันช่วยเหลือ

แต่ผู้ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันทีทันใดทุกครั้งที่ร้องขอ ไม่มีเงื่อนไข และไม่เลือกเวลาคืออาจารย์อารยา ทองผิว และโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน บริการแบบนี้ต้องบอกว่าคงหาไม่ได้จากโรงพยาบาลของรัฐ

พี่สาวเล่าให้ฟังว่าแพทย์ที่โรงพยาบาลเปาโลฯ ซึ่งอาจารย์อารยาฝากฝังไว้ ตรวจร่างกายของแม่ ตรวจเลือด X-ray ปอด แล้ว ไม่พบความผิดปกติ ให้น้ำเกลือแม่ไปครึ่งขวด อาการของแม่ดีขึ้น ไม่มีอาการเวียนศีรษะแล้ว นั่งได้ แต่ก็มีสับสนและหลงบ้าง ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรุ่งนี้ก็จะออกจากโรงพยาบาล กลับไปบ้านได้แล้ว

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 507423เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2012 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

...... นโยบาล 70 ปี ไม่มี "คิว" ..... รพ. บ้านลาด อายุ 100 ปี ยังมี 7 คน นะคะ ... ... ดังนั้น 70 ปี ชึ้นไป ..,. มีอีกมาก นะคะ

ขอบคุณ มากค่ะ

ขอให้คุณยายหาย และแข็งแรงนะครับ....ออกจากโรงพยาบาล...กลับบ้านที่อบอุ่นนะครับ

  • ขอให้คุณแม่หายไวๆนะครับ
  • เคยเจอแบบนี้เหมือนกันครับ
  • เสียใจมาก
  • สิงหาคมที่ผ่านมา พี่และน้องสาวพาแม่ไป Follow up ตามแพทย์นัด ที่อาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อไหมว่าแม่ที่อายุ 98-99 ปี ต้องรอนานมาก นัด 16.30 น. กว่าจะได้ตรวจเกือบสองทุ่ม พี่และน้องสาวต้องคอยช่วยกันพยุงแม่ให้เปลี่ยนท่านั่งบน wheel chair เป็นพักๆ นึกเห็นภาพแม่ที่ต้องนั่ง wheel chair นานหลายชั่วโมงแล้วสงสารจริงๆ คิดอยู่ว่าคงจะต้องเลิกพาแม่ไป follow up แล้ว เมื่อไปรับยา เจ้าหน้าที่การเงินก็ไม่ยอมให้ใช้สิทธิการเบิกตรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เอาบัตรประชาชนของแม่มาด้วย (หาบัตรไม่เจอแล้ว ครั้งสุดท้ายที่มาตรวจเมื่อเดือนมีนาคมก็ไม่ต้องใช้) ที่พี่สาวโมโหมากๆ คือเจ้าหน้าที่การเงินพูดจาไม่ดีมากๆ 

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาให้กำลังใจ เช้านี้แม่ออกจาก รพ. กลับไปพักที่บ้านพี่สาวแถวถนนงามวงศ์วานแล้ว

ผลการตรวจร่างกายพบว่าซีดเล็กน้อยตามสภาพเดิม ภาวะ electrolyte สมดุลดี อาจารย์อารยาห่วงกลัวว่าจะมี CVA ก็ไม่เป็นไร กินอาหารได้ อาจารย์อารยาบอกว่าแข็งแรงกว่าคุณแม่ของอาจารย์เองอีก

ขอบคุณอาจารย์อารยาและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน ที่ไปรับแม่ถึงที่บ้านนครนายก (อยู่ทุ่งนาเลย)

อาจารย์อารยาบอกว่าไม่ต้องเกรงใจเพราะ "เราเป็นเพื่อนกัน" คำนี้มีความหมายลึกซึ้งทีเดียว

ขอให้คุณแม่ของอาจารย์แข็งแรงค่ะ

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พี่และน้องสาวพาแม่ไป Follow up ตามแพทย์นัด ที่อาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อไหมว่าแม่ที่อายุ 98-99 ปี ต้องรอนานมาก นัด 16.30 น. กว่าจะได้ตรวจเกือบสองทุ่ม พี่และน้องสาวต้องคอยช่วยกันพยุงแม่ให้เปลี่ยนท่านั่งบน wheel chair เป็นพักๆ นึกเห็นภาพแม่ที่ต้องนั่ง wheel chair นานหลายชั่วโมงแล้วสงสารจริงๆ คิดอยู่ว่าคงจะต้องเลิกพาแม่ไป follow up แล้ว เมื่อไปรับยา เจ้าหน้าที่การเงินก็ไม่ยอมให้ใช้สิทธิการเบิกตรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่ได้เอาบัตรประชาชนของแม่มาด้วย (หาบัตรไม่เจอแล้ว ครั้งสุดท้ายที่มาตรวจเมื่อเดือนมีนาคมก็ไม่ต้องใช้) ที่พี่สาวโมโหมากๆ คือเจ้าหน้าที่การเงินพูดจาไม่ดีมากๆ

นี่คือการฆาตกรรมที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ดิฉันได้พบ เห็นมากับตา ผ่านไป10กว่าปีก็ยังไม่เคยลืมเลย

แม้คนไข้จะจากไปแล้ว  ในวันนั้น ขณะนั้น  ก็ไม่มีความสะดวกใดๆ จากบริการ นรก ของโรงพยายาลรามาธิบดี


อนาถใจมากๆ  ไม่เคยลืม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท