ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๗๕.ใช้ทฤษฎีแบบไร้บริบท


 

 

          ในการประชุมเจรจาข้อตกลงตัวชี้วัดประเมินผลงานของ สรพ. กับ กพร. เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ย. ๕๕ ผมได้เรียนรู้มากมาย    ข้อที่มีคุณค่าที่สุดคือเรื่องการใช้ทฤษฎีแบบไร้บริบท   โดยผมตีความจากการเสวนากันหลังตกลงเรื่องตัวชี้วัดเรียบร้อยแล้ว

 

          ท่านประธานของคณะกรรมการเจรจา คือ ดร. กอปร กฤตยากีรณ ที่ผมเคารพนับถือในความปรีชาสามารถอย่างยิ่งเป็นผู้เอ่ยขึ้น   ว่าในการประชุมปรึกษาหารือในคณะกรรมการฯ มีคนเอ่ยขึ้นว่าควรแยกหน้าที่ ๒ ด้านของ สรพ. ออกจากกัน   คือหน้าที่พัฒนาคุณภาพ กับหน้าที่ประเมินคุณภาพ   เพราะเป็น conflict of interest    จึงควรแยกออกจากกันเหมือนกรณีตลาดทุน   ที่แยกหน่วยพัฒนา กับหน่วยกำกับตรวจสอบ

 

          ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร (ซึ่งเป็นชื่อที่ผิด เพราะกรรมการนี้ไม่มีหน้าที่บริหาร - management  แต่ทำหน้าที่กำกับดูแล - governance) ผมชี้แจงว่า   เรื่องนี้ต้องดูที่ตัวอย่างจริง  เปรียบเทียบระหว่าง ๒ หน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายกันมาก แต่ทำในคนละระบบ   คือ สมศ. ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและประเมินคุณภาพ ในระบบการศึกษา    กับ สรพ. ทำหน้าที่ พัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ในระบบบริการสุขภาพ   

 

          ทั้ง ๒ องค์กร ทำงานเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพ   สมศ. ทำเรื่องคุณภาพของสถานศึกษา ของระบบการศึกษา    ส่วน สรพ. ทำเรื่องคุณภาพของสถานพยาบาล ของระบบบริการสุขภาพ

 

          สมศ. ไม่ทำเรื่องพัฒนา  ทำเฉพาะเรื่องเกณฑ์ (มาตรฐาน) และการประเมิน   ส่วน สรพ. ใช้การพัฒนานำ  การประเมินตาม   ผลมีประจักษ์พยานเห็นกันทั่ว    ว่าในเวลา ๑๒ ปีที่สถาบันทั้ง ๒ ทำงาน    คุณภาพการศึกษาไทยเลวลง ทั้งเมื่อเทียบกับโลก และเมื่อเทียบกับตัวเอง    ส่วนคุณภาพของสถานบริการสุขภาพไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน  

 

          ผมอธิบายว่า เป็นเพราะ สมศ. ใช้การประเมินในทางที่ผิด คือเน้นใช้ประเมินเพื่อบอกได้-ตก   ทำให้สถานศึกษาสนใจแต่เรื่องประเมินให้ได้ ไม่ตก   โดยทำอย่างไรก็ได้ แม้ใช้วิธีจ้าง หรือโกง    และที่ร้ายกว่านั้น ผลประเมินได้-ตก ไม่เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ตกแก่ผู้รับผล (beneficiaries) ซึ่งกรณีของระบบการศึกษา ได้แก่นักเรียน

 

          ตรงกันข้าม สรพ. เน้นที่คุณภาพของบริการที่ผู้ป่วยและญาติได้รับ   เน้นทำงานร่วมกับสถานบริการและเจ้าหน้าที่ ในการพัฒนาคุณภาพด้านต่างๆ    การพัฒนาคุณภาพหลายเรื่องซับซ้อน คล้ายเส้นผมบังภูเขา   สรพ. ทำหน้าที่เปิดประตูให้สถานพยาบาลและเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยกันสร้างความรู้สร้างระบบแก้ความลี้ลับซับซ้อนนั้น   คือสร้างระบบคุณภาพ หรือระบบพัฒนาคุณภาพ

 

          สรพ. จึงเน้นทำหน้าที่สร้างภาคีคุณภาพ ภาคีพัฒนาคุณภาพ และสร้างวัฒนธรรมพัฒนาคุณภาพ ขึ้นในวงการสุขภาพไทย   ร่วมกับวงการนานาชาติ    ทำให้เราติดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำด้านการัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล   คุณหมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผอ. สรพ. ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้ทั่วโลก    สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณแก่ประเทศไทยเป็นอันมาก

 

          สรพ. ใช้การทำงานร่วมกับภาคี เพื่อสร้างบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูง ให้แก่คนไทย   เป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์ที่ตกแก่ผู้ใช้บริการ   ไม่ใช่อยู่ที่ผลได้-ตกของการประเมิน   ทำให้คนในวงการสุขภาพคิดใหญ่ คิดออกไปนอกตัว    คือมุ่งที่ผลลัพธ์ต่อผู้ใช้บริการเป็นเป้าหมาย    ส่วนการประเมินและผลการประเมินเพื่อรับรองเป็นเส้นทาง (means)   ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

 

          ผมชี้ให้เห็นว่า กรณี สรพ. เราทำงานสนอง ๒ ภารกิจที่คล้ายขัดกัน แต่เราทำให้มันเสริมพลังสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทย   ด้วยการนำเอาเป้าหมายที่ทรงคุณค่าทางจิตวิญญาณมนุษย์   คือการทำงานรับใช้ผู้อื่น เน้นที่ผลต่อผู้เจ็บป่วยทุกข์ยากเป็นเป้าหมายหลัก    ทำให้สองภารกิจนี้เสริมกัน   และที่สำคัญ ทำให้ไม่หลงทาง    ไม่นำเอาการประเมินแบบใช้อำนาจ สร้างความอ่อนแอให้แก่ระบบ โดยไม่รู้ตัว

 

          ท่านประธาน ดร. กอปร หัวไวมาก   ท่านสรุปว่า กรณี สรพ. เป็นการทำงานเพื่อ public goods  จึงสามารถแปลง conflicting roles ให้กลายเป็น synergistic roles ได้   ส่วนงานด้านตลาดทุน เป็น for profit จึงต้องแยกงานด้านพัฒนา กับงานกำกับควบคุมออกจากกัน

 

          ผมขออภัยหากบันทึกนี้พาดพิงไปสร้างความไม่สบายใจแก่บุคคลในองค์กรใด   ผมไม่มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่น   แต่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย.​ ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 506854เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้มองเห็นภาพอันยิ่งใหญ่และงดงามของการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพตามที่ สรพ. ได้ดำเนินมาค่ะ และมองเห็นถึงความท้าทายด้วยค่ะว่า ทำอย่างไรคนหน้างานทางด้านสุขภาพจะทำงานพัฒนาคุณภาพอย่างมีความสุข ทำด้วยหัวใจอันเป็นสุข..

กว่าจะถึงวันที่่ สมศ.ออกไปประเมิน ร.ร

หลายเดือนก่อนวันที่กำหนด บุคลากรของ ร.ร.ทุกคนต้องถูกเร่งระดมทำงาน ทำเอกสาร ปรับปรุงอาคาร สถานที่ เพียงเพื่อให้มีหลักฐานพร้อมสำหรับการประเมิน

ท้ายที่สุด บทสรุปเป็นดั่งที่ท่านว่าครับ ระบบการศึกษาของไทย ยิ่งแย่ลง ๆ

อยากให้ท่านช่วยเหลือ โดยขยายข้อเท็จจริงนี้ ให้ผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายข้าราชการและการเมือง ของวงการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาในแนวทางที่่ถูกต้องที่ "ผู้เรียน" เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท