ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนิพพาน


พระองค์ทรงรู้ว่า นิพพานคืออะไร นิพพานอยู่เหนือความรู้สึกนึกคิดที่มนุษย์จะสัมผัสได้ด้วยอินทรีย์เป็นสภาวะที่รับรู้ได้ยาก มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนไม่สามารถที่จะสื่อสารจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้อย่างง่าย ๆ นิพพานเป็นสภาวะที่อาจรู้แจ้งได้ด้วยตัวของบุคคลผู้ดำเนินตามวิถีแห่งมรรค คือ มัชฉิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าทรงสอนเบญจวัคคีย์ให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง (สยํ อภิญญา) โดยผ่านการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่อัธยาศัย

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนิพพาน

        คำว่า ”นิพฺพานํ  ปรมํ  วทนฺติ  พุทธา “  พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสนิพพานว่ายอดเยี่ยม  มีนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนิพพานตามหลักปรัชญาและแนวคิดตามหลักวิชาการอย่างหลากหลาย

        นิพพาน[1] มาจาก นิ (อุปสรรค) แปลว่า ออกไป หมดไป ไม่มีเลิก, พานหรือวาน แปลว่า พัดไปหรือเป็นไป เครื่องร้อยรัด

        นิพพาน[2] ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมพุทธศาสน์ หมายถึง การดับกิเลสและกองทุกข์เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถ้าวิเคราะห์ตามหลักนิรุกติศาสตร์ ตีความหมายของนิพพานไว้  3  ประเด็น คือ

1.นิพพาน หมายถึง ความเย็นชาหรือเมินเฉยต่อกิเลสตัณหา

          2.นิพพาน หมายถึง ความหลุดพ้นจากปัจจัยที่จะนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

3.นิพพาน หมายถึง ความสิ้นไปแห่งความวุ่นวายทางกายและใจ

        ร้อยโทปรีชา  หอมประภัทร [3] ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับนิพพานไว้น่าสนใจ ดังนี้

1.นิพพาน หมายถึง ความดับสิ้น ความเจ็บปวด และความโศกเศร้า

 2.นิพพาน หมายถึง ความสิ้นไปแห่งปรากฎการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์เฝ้าสังเกตดูได้

 3.นิพพาน หมายถึง การดับที่สมบูรณ์หรือการทำลายล้างกิเลสอาสวะทั้งปวงไม่ให้มีส่วนเหลือ

4.นิพพาน หมายถึง สภาวะที่มีอยู่อย่างแท้จริงและเป็นความมีอยู่อย่างสมบูรณ์

          ส่วนใน มัชฉิมนิกาย ได้ให้ความหมายของคำว่า นิพพาน ไว้ว่า ไม่เกิด ไม่มีกำเนิด ไม่มีการต่อตั้ง ไม่เสื่อม ไม่ตาย มีอิสระจากความเศร้าโศกและความไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง

          ส่วยใน สังยุตตปกาย ได้ให้ความหมายของคำว่า นิพพาน ไว้ว่า ไม่มีการก่อตั้งขึ้น ไม่ตาย  เป็นสัจธรรมก้าวพ้นวัฎสงสาร ไม่เสื่อมสลายมั่งคงมีความเป็นหนึ่งเสมอ ไม่สามารถแสดงได้ มีความสงบเสงี่ยมดีเลิศ มีสันติภาพที่ถาวร รูปแบบที่ตั้งและอายุของนิพพานไม่สามารถที่จะพรรณนาได้

          ส่วนใน มหาวัคค์  ได้ให้ความหมายของคำว่า นิพพาน ไว้ว่า วิมุตติสุข หรือ ปรมํ สุขํ คือ ความสุขสบายชั้นยอด

          ส่วนใน สุตตนิบาต ได้ให้ความหมายของคำว่า นิพพาน ไว้ว่า เป็นอมตะเที่ยงแท้ ไม่ท่องเที่ยวไปมีรสคือความบริสุทธิ์

ประเด็นสำคัญก็คือ พระพุทธเจ้า พระองค์เองก็ทรงหลีกเลี่ยงคำถามที่ต้องการคำตอบยืนยันคำถามที่ว่า “นิพพาน” คืออะไร เหตุผลก็คือพระองค์ทรงเห็นประจักษ์ว่า การโต้แย้งทางอภิธรรม เรื่อง นิพพานมิใช่แต่จะไม่ยกจิตใจของคนให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงอีกด้วย พระองค์ทรงรู้ว่า นิพพานคืออะไร นิพพานอยู่เหนือความรู้สึกนึกคิดที่มนุษย์จะสัมผัสได้ด้วยอินทรีย์เป็นสภาวะที่รับรู้ได้ยาก มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนไม่สามารถที่จะสื่อสารจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้อย่างง่าย ๆ  นิพพานเป็นสภาวะที่อาจรู้แจ้งได้ด้วยตัวของบุคคลผู้ดำเนินตามวิถีแห่งมรรค คือ มัชฉิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าทรงสอนเบญจวัคคีย์ให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง (สยํ   อภิญญา)  โดยผ่านการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่อัธยาศัย

กล่าวโดยสรุป นิพพาน ตามที่ได้วิเคราะห์มาข้างต้น ซึ่งเป็นสภาวะที่พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงพระดำรัสไว้  3  ประการคือ

1.นิพพาน คือ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ กิเลส อาสวะ ทั้งหมด และอวิชชาการดับไปของที่ตั้งแห่งความคิดทั้งปวง (วิกัลละปะ) และความสิ้นไปแห่งอุปธิ คือ ความยึดมั่นติดแน

 2.นิพพาน คือ ความบริสุทธิ์ สมาธิและปัญญา

 3.นิพพาน คือ สภาวะที่ไม่มีเบื้องต้นและที่สุดไม่มีอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ไม่มีขอบเขต ไม่มีเงื่อนไขและสิ่งปรุงแต่ง ไม่สามารถวัดได้และอยู่เหนือธรรมดาเป็นโลกุตตระ



[1] พระธรรมปิฎก, (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรม  ฉบับขยายความ,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2543, หน้า 261.

[2] พระธรรมปิฎก, (ป.อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์, ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 9, พ.ศ. 2543, หน้า 125.

[3] ร้อยโทปรีชา  หอมประภัทร, หนังสือที่ระลึก พิธีเปิดป้ายอาคารธรรมวิมลโมลี, อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,วิทยาเขตพะเยา. 2542.

 

หมายเลขบันทึก: 506843เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูล
  • อาจารย์สบายดีนะครับ

แวะมาทักทาย ขอบพระคุณมากค่ะท่านอาจารย์

เป็นวิถีพุทธแห่งการหลุดพ้นทุกข์อย่างแท้จริง...เข้าใจเนื้อหาอย่างเดียวไม่เพียงพอ..ต้องเพียรปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งอย่างต่อเนื่อง..ขอบคุณค่ะ..

นิพพาน หมายถึง ... ความเย็นชา...หรือ...เมินเฉยต่อกิเลส/ตัณหา หมอเปิ้ล ชอบมากเลยนะคะตรง ความหมายนี้ นะคะ ...หมอเปิ้ล ไม่ได้ไปนิพพาน ... คงจะช้ามากนะคะ  เพราะความเย็นชา ต่อความยากได้..วัตถุนิยม ยังไม่ได้นะค

ดีมากเลยครับอาจารย์

ขออนุญาตเสริมความเห็นนะครับ

ก่อนอื่นต้องกล่าวขออภัยล่วงหน้าตรงนี้ก่อนว่าผมไม่เห็นชอบด้วยกับคำสรุปของอาจารย์ตรงส่วนที่ว่า "พระพุทธเจ้าหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่านิพพานคืออะไร" เพราะว่า คนทั่วไปที่ไม่ศึกษามาอาจจะเข้าใจผิดได้ ดูเหมือนจะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่อาศัยวิทยานิพนธ์ของพระรูปหนึ่ง (จำชื่อหนังสือไม่ได้ และก็อยู่ในกล่องไหนสักแห่ง ไม่อาจไปค้นได้ทันที) ก็พูดทำนองนี้มาแล้วว่า พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่เป็นอัพยากตะ

ถ้าจะไปอ้างถึงพระสูตรต่างๆ ก็ต้องดูในสถานการณ์เฉพาะคราวนั้นๆ ว่า คนหลายๆ คนที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น มีภูมิปัญญาจะรับคำอธิบายพระพระพุทธองค์ได้หรือไม่ เพราะถ้าทรงเห็นว่าคนเหล่านั้นรับไม่ได้ ก็ไม่ทรงเสียเวลาที่จะอธิบาย แต่จะดึงประเด็นไปที่คำสอนของพระองค์เลย มุ่งให้คนฟังหลุดพ้น เพราะไม่ได้จะทรงมุ่งอภิปรายปัญหาทางอภิปรัชญา แต่ว่า นิพพานนั้นมีอธิบายไว้แน่นอนว่าคืออะไร (ขอโทษทีครับ) จำไม่ได้ว่าพระสูตรไหนบ้าง สมองไม่ค่อยดี

ขออธิบายจากความเข้าใจที่ได้มาจากทั้งการศึกษาพระอภิธรรมและประสบการณ์ส่วนตัวจากฌานสมาบัติ

นิพพานคือสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็น ปรมัตถธรรม ที่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมถึงขั้น (คือพระอริยบุคคล ระดับต่างๆ ตั้งแต่ โสดาบันบุคคล สกทาคามีบุคคล อนาคามีบุคคล จนถึง พระอรหันต์) เข้าถึงได้ รับเป็นอารมณ์ได้ (sensed object) คำสรุปของท่านอาจารย์ในข้อสุดท้าย บรรทัดสุดท้าย ค่อนข้างตรงที่สุด กล่าวคือ "3.นิพพาน คือ สภาวะที่ไม่มีเบื้องต้นและที่สุดไม่มีอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ไม่มีขอบเขต ไม่มีเงื่อนไขและสิ่งปรุงแต่ง ไม่สามารถวัดได้และอยู่เหนือธรรมดาเป็นโลกุตตระ"

แต่ว่าอีกนัยหนึ่ง คำว่า "นิพพาน" ที่คนเราพูดกัน เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ ที่ใช้อ้างถึง สภาวธรรม นั้น ในการสื่อสารกันระหว่างบุคคลเท่านั้น

ส่วนคำบรรยายที่แปลออกมากันส่วนมากนั้น และท่านอาจารย์ก็ได้กรุณาแจงออกมานั้น เป็นแค่ คุณสมบัติบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่ตัวมันเอง เสมือนหนึ่ง เรากำลังพูดถึง "สีแดง" "กลิ่นหอม" พวกนี้เป็นคุณสมบัติบางอย่าง หากว่าเรากำลังพูดถึงคำว่า "ดอกไม้" เป็นต้น ทั้ง สีแดง และ กลิ่นหอม ก็ไม่ใช่ดอกไม้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท