พระดื่มสุรา....ทำไมจะต้องถูกจับสึก


อุปกิเลสสูตร พระองค์ตรัสสอนสมณะพราหมณ์หรือนักบวชโดยเฉพาะ จะได้ตัดสินถูกว่านักบวชประเภทไหนควรแก่การเคารพนับถือ หรือควรแก่การตำหนิหรือขจัดออกจากพระพุทธศาสนา สำหรับสุราและเมรัยนั้น ถึงแม้ว่าพระวินัยจะมีข้อห้ามปรับอาบัติพระภิกษุที่ดื่มสุราเพียงแค่อาบัติสถานเบาคืออาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นโลกวัชชะ คือชาวบ้านติฉินนินทา ตำหนิติเตียน ชาวบ้านรับไม่ได้กับพฤติกรรมแบบนี้ เป็นความเศร้าหมองหรือความเสื่อมเสียต่อวงการคณะสงฆ์ จึงต้องจับพระที่ดื่มสุราสึกจากเพศบรรพชิตเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป.

พระดื่มสุรา....ทำไมจะต้องถูกจับสึก

          ต้องยอมรับว่าในสังคมสื่อสารที่รวดเร็ว ฉับไว และทันใจ ทำให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ข่าวสาร เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้อย่างทั่วถึง ถึงแม้ว่าข่าวสารเหล่านั้นจะเป็นข่าวในทางบวกหรือลบล้วนแต่เป็นข่าวสารที่ให้สติและปัญญาแก่ผู้คนในสังคมได้ฉุกคิดและตระหนักถึงสิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ ข่าวสารที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมาที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจของชาวพุทธโดยทั่วไป คงหนีไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับความประพฤติของพระสงฆ์บางรูปที่ประพฤติปฏิบัตินอกกรอบพระธรรมวินัย เช่น ค้ายาบ้า ติดยาเสพติด และดื่มสุรา เป็นต้น ประเด็นที่ผู้เขียนจะวิเคราะห์เกี่ยวกับพระที่ดื่มเหล้าแล้วถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จับส่งให้เจ้าคณะผู้ปกครอง เช่น เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น จับสึกขาดความเป็นพระภิกษุทันที อันที่จริงถ้านำพระวินัยมาวิเคราะห์โดยเนื้อหาและข้อห้ามแล้วพระภิกษุ ที่ดื่มเหล้า พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงปรับหรือลงโทษสถานเบา คือ ลหุกาบัติ อาบัติสถานเบาคืออาบัติปาจิตตีย์ ดังปรากฏใน พระไตรปิฎก ว่า

ในสมัยพุทธกาล [1]พระพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพีทรงปรารภพระสาคตะเถระเรื่องดื่มสุรา เรื่องมีอยู่ว่า พระสาคตะเถระได้ปราบนาคของพวกชฏิลได้ ทำให้ชาวบ้านดีใจ ปรึกษากันว่าจะถวายอะไรดีที่เป็นสิ่งของหาได้ยาก
พระภิกษุฉัพพัคคีย์ แนะให้ถวายเหล้าใสสีแดงดั่งเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงเตรียมเหล้าแดงไว้ และถวายให้พระสาคตะดื่ม
ทำให้พระสาคตะเกิดความเมามายไม่ได้สติ หลับนอนอยู่ที่ประตูเมือง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุดื่มสุรา (น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักหรือดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด
ทำให้คณะสงฆ์ ได้กำหนดเป็นโทษทางพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการดื่มสุราของพระภิกษุ-สามเณร
1.พระภิกษุดื่มน้ำเมา ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (นวโกวาท สุราปานวรรค ข้อที่ 1)
2.พระมหาสมณวินิจฉัย บัญญัติไว้ว่า ตามโทษในพระวินัยปรับเพียงอาบัติปาจิตตีย์ก็จริง แต่เป็นความประพฤติเลาทราม ไม่สมควรแก่สมณะ ไม่ควรอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป ควรแนะนำให้สึกเสีย ถ้าไม่สึกตามคำแนะนำ จงบังคับจับสึก (พระมหาวินิจฉัย คำวินิจฉัยการกสงฆ์รับสั่งพิเศษ)

ส่วนโทษตามคำสั่งมหาเถรสมาคม เกี่ยวกับการดื่มสุรา มหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่ง เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรฉันยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2521 ไว้ในข้อ 4 ว่าห้ามพระภิกษุ-สามเณร ฉันยาที่มีคติเหมือนสุราเมรัยและยาเสพติดให้โทษที่มีคติอย่างเดียวกัน (ยกเว้นปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์เพื่อรักษาโรค)

หลักปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติฝ่าฝืน

1.ถ้าไม่ได้เป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าอาวาสเจ้าสังกัด สั่งพระภิกษุสามเณรรูปนั้น ให้เลิกกระทำเสีย หากยังฝ่าฝืนอีก ให้ขับเสียจากวัด และบันทึกในหนังสือสุทธิด้วย แล้วรายงานเจ้าคณะจังหวัดทราบ

2.ถ้าเป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าคณะเจ้าสังกัด พิจารณาโทษ ฐานละเมิดจริยาของพระสังฆาธิการตามควรแก่กรณี

ต้องเคร่งครัดเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

 

      พระพุทธเจ้าพระองค์ได้ทรงปรารภไว้ในอุปกิเลสสูตรสูตรว่าด้วยความมัวหมองของพระ คือ[2]
            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เครื่องมัวหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์อันเป็นเหตุให้พระจันทร์และพระ อาทิตย์ไม่ส่องแสงไพโรจน์มี ๔ ประการ คือ เมฆ ๑  หมอก ๑ ควันและละออง๑ราหูจอมอสูร๑
            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อุปกิเลส (เครื่องมัวหมอง) ของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย  อันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ไม่สง่างาม  ไม่รุ่งเรืองไพโรจน์ มี ๔ ประการ  คือ  ดื่มสุราและเมรัย ๑ เสพเมถุนธรรม๑ ยินดีทองและเงิน๑เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ๑
           สมณพราหมณ์บางพวกถูกราคะ และโทสะครอบงำแล้ว  อวิชชาห่อหุ้มแล้ว  ย่อมดื่มสุราเมรัย  เสพเมถุนธรรม  เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง  ยินดีทองและเงิน  สมณพราหมณ์บางพวกเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  สมณพราหมณ์พวกนี้  ย่อมไม่สง่างาม  ไม่รุ่งเรืองไพโรจน์  เป็นที่รู้กันว่าไม่บริสุทธิ์  มีธุลีคือกิเลส  อันความมืดปกคลุมแล้ว  เป็นทาสตัณหาถูกตัณหาชักจูงไป  ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไม่สุดสิ้น”
           กล่าวโดยสรุป  อุปกิเลสสูตร  พระองค์ตรัสสอนสมณะพราหมณ์หรือนักบวชโดยเฉพาะ  จะได้ตัดสินถูกว่านักบวชประเภทไหนควรแก่การเคารพนับถือ  หรือควรแก่การตำหนิหรือขจัดออกจากพระพุทธศาสนา สำหรับสุราและเมรัยนั้น           ถึงแม้ว่าพระวินัยจะมีข้อห้ามปรับอาบัติพระภิกษุที่ดื่มสุราเพียงแค่อาบัติสถานเบาคืออาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นโลกวัชชะ คือชาวบ้านติฉินนินทา ตำหนิติเตียน ชาวบ้านรับไม่ได้กับพฤติกรรมแบบนี้ เป็นความเศร้าหมองหรือความเสื่อมเสียต่อวงการคณะสงฆ์ จึงต้องจับพระที่ดื่มสุราสึกจากเพศบรรพชิตเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป.



[2] www.phrasiarn.com/?topic=1880.0;imode - แคช.

 

หมายเลขบันทึก: 506750เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปาจิตตีย์ ในสมัยพุทธกาล แต่ทนทานกับกระแสเทคโนโลยีไม่ไหว กระแสข่าวที่เกิดแล้วไปเร็ว โลวัชชะเลย ถูกนำมาหยิบยกใช้

เกรียงไกร อภัยจิตร์

ความจริง ควร สืบถามให้ชัดเจน หากเป็นยา ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ตั้ง วงดื่มจนไม่ได้สติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท