สถานการณ์โคนมของประเทศไทย


ต้นทุนค่าอาหารข้นของโคนมอยู่ที่ 9.62 บาทต่อกก.และเกษตรกรขายได้ 16.50 บาทต่อกก. เป็นราคากลางนะครับ สำหรับที่สหกรณ์ขอนแก่นอยู่ที่มีต้นทุนค่าอาหารข้นอยู่ที่ 12 บาทต่อกก.ก็ถือว่าสูงมาก

 

วันนี้ผมก็มีอะไรดีๆมาฝากกันเช่นเคยเพราะว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 55 ที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการผสมติดให้เพิ่มสูงขึ้น โดยออกเดินทางตั้งแต่  8.30 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ก็ถึงสหกรณ์โคนมขอนแก่นแล้ว ซึ่งก็นำทีมโดย รศ.ดร.สุทธิพงศ์  อุริยะพงศ์สรรค์ และ รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์  ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีความรู้ความสามารถด้านโคเนื้อ และสรีระวิทยาการสืบพันธุ์ของสัตว์เป็นอย่างดี ก็จะมีการนำเอาเทคนิคที่ได้จากการทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านแล้วประสบความสำเร็จมาเผยแพร่ให้เกษตรกรได้นำเอาไปใช้กันเพื่อทำให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมามากขึ้นหรือมีกำไรเพิ่มขึ้นนั้นเอง ใครอยากรู้ก็เชิญทางนี้ได้เลยครับ

ก่อนอื่นก็มาทราบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโคนมก่อนก็แล้วกันครับ อาชีพโคนมเป็นอาชีพที่ในหลวงทรงพระราชทานให้เกษตรกรไทยนำไปมาเลี้ยง เมื่อปีพ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นความภูมิใจของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตลอดมาครับ และกลุ่มสารสนเทศและข้อมูลสถิติ ศูนย์สารสนเทศ กรมปศุสัตว์ได้สำรวจเอาไว้เมื่อวันที่ 15  สิงหาคม 54 รายงานไว้ว่า จำนวนโคนมทั้งหมดในประเทศไทยมีประมาณ 560,659 ตัว และมีเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมมีทั้งหมด 20,645 ครัวเรือน ซึ่งมีการเลี้ยงมากแถวภาคกลาง เช่น สระบุรี นครราชสีมา ลพบุรี ราชบุรี ส่วนขอนแก่นอยู่อันดับที่ 11 ที่มีการเลี้ยงโคนมมากที่สุดในประเทศ ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบทั้งประเทศอยู่ที่ 914,388 ตัน ในปี 53 ส่วนในปี 55 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 967,840 ตัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 และก็มาดูการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยกันสักหน่อยครับ คาดการณ์ว่าในปี 2554 ส่งออก 95,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,741 ล้านบาท สูงกว่าปี 2553 ร้อยละ 0.46 แล้วก็มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2554 ประมาณ 180,000 ตัน มูลค่า 15,500 บาท เป็นนมผงขาดมันเนย 55,990 ตัน มูลค่า 5,875 ล้านบาท

เมื่อมาดูด้านต้นทุนค่าอาหารข้นของโคนมอยู่ที่ 9.62 บาทต่อกก.และเกษตรกรขายได้ 16.50 บาทต่อกก. เป็นราคากลางนะครับ สำหรับที่สหกรณ์ขอนแก่นอยู่ที่มีต้นทุนค่าอาหารข้นอยู่ที่ 12 บาทต่อกก.ก็ถือว่าสูงมาก เพราะอันนี้ยังไม่รวมอาหารหยาบปกติก็มักใช้ฟางในการเลี้ยง เมื่อมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลทำให้กำไรที่จะได้ลดลง ในตอนนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมันเส้น (มันสำปะหลังที่แห้งลักษณะเป็นชิ้นเล็กๆ) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักในสูตรอาหารโคนมอยู่ที่ 7-8 บาทต่อกก จากเดิมราคาเพียง 3-4 บาทต่อกก.เท่านั้น

อาชีพการเลี้ยงโคนมต้องอาศัยความขยันและอดทนเป็นอย่างมากเพราะต้องตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อรีดนม และช่วงบ่ายก็ต้องมารีดนมอีก เรียกว่าวันทั้งวันไม่ได้ไปไหนเลยต้องอยู่กับโคนมตลอดเวลาก็ว่าได้และปัจจัยที่จะทำให้มีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น ก็เป็นผลมาจาก พันธุกรรม อาหาร และการจัดการ

ยิ่งโคนมเรื่องสรีระวิทยาสำคัญมาก เพราะหากโคนมผสมไม่ติดหรือผสมติดช้าก็จะมีผลต่อผลผลิตน้ำนมโคได้ นั้นหมายถึงกำไรหรือขาดทุนได้เลยทีเดียว ใครอยากทราบเทคนิคการผสมให้ติดหรือมีปัญหาเรื่องผสมติดยากต้องติดตามตอนต่อไปก็แล้วกันนะครับ

ข้อมูลทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณ รศ.ดร.สุทธิพงศ์ อุริยะพงศ์สรรค์ที่ทำให้เราทราบข้อมูลดีๆอย่างนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 505854เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท