บันทึกวาระสี่เดือนของมอส.ตอนที่ ๑ : ปัญหาการละเมิดสิทธิที่ตนทำงาน


 

ในช่วงเวลานี้ใกล้ถึงครบกำหนดวาระสี่เดือนที่จะต้องถอดบทเรียนสรุปการทำงาน จึงคิดว่าการที่่การถอดบทเรียนนี้จะเป็นประโยชน์นี้จะเป็นกับอาสาสมัครฯรุ่นต่อไปอยู่บ้าง รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนบทเรียนกับผู้รู้ท่านอื่นๆด้วย

การถอดบทเรียนนี้ยังมีเนื้อหาไม่เสร็จสมบูรณ์ อาจมีบางส่วนที่ตกหล่นไปบ้าง ยินดีรับฟังคำติชมครับ

๑.ปัญหาการละเมิดสิทธิที่ตนทำงานคืออะไร

                โดยที่ส่วนราชการที่รักษาการตามกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับสิทธิสถานะบุคคลมีหน้าที่จะต้องรับรองสถานะบุคคลของราษฎรไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม ถามว่าทำไมจึงต้องมีการรับรองสถานะบุคคล? เพราะการรับรองสถานะบุคคลเป็นการทำให้บุคคลมี”ตัวตน” ในสายตาของกฎหมาย อันนำมาซึ่งสิทธิตามกฎหมายอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในฐานะราษฎรไทย การรับรองสิทธิสถานะบุคคลจึงเป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน/สิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยมีหน้าที่กระทำการทั้งตามพันธะกรณีระหว่างประเทศและกฎหมายมหาชนที่ประกาศใช้ภายในรัฐ ดังนั้น การไม่ปฏิบัติหน้าที่/การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ย่อมหมายถึงการละเมิดสิทธิของราษฎรตามกฎหมายด้วย

               ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน/สิทธิมนุษยชนของราษฎรอำเภออุ้มผางที่พบเจอเกิดจากการไม่ได้รับรองสิทธิสถานะบุคคลให้เป็นราษฎรไทย(ไม่ว่าจะเป็นราษฎรที่มีสัญชาติไทยหรือราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือราษฎรไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน)ตามกฎหมายมหาชนโดยรัฐไทยอย่างถูกต้อง ทั้งที่ราษฎรเหล่านั้นมีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามกฎหมายว่าเป็นราษฎรไทย หากไม่มีการรับรองสิทธิสถานะบุคคลตามกฎมายแล้ว บุคคลดังกล่าวก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้รับการดูแลจากรัฐและอาจถูกละเมิดสิทธิต่างๆได้ง่าย

                 การที่ทางราชการส่วนท้องถิ่น(อำเภออุ้มผาง)ไม่ยอมรับการบันทึกสถานะบุคคลตามกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทำให้ในสายตากฎหมายพวกเขากลายเป็นคนต่างด้าวส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านอื่นๆอย่างยิ่ง เช่น

๑.สิทธิในการได้รับจดทะเบียนการเกิด 

บุคคลที่เกิดในรัฐต่างๆแต่ละรัฐจะต้องให้พยานหลักฐานรับรองจุดเกาะเกี่ยวสถานที่เกิด ในส่วนของรัฐไทยเองตามกฎหมายทะเบียนราษฎร บุคคลที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งหลักสืบสายโลหิตและ/หรือหลักดินแดน จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดในฐานะผู้มีสัญชาติไทย โดยทางฝ่ายปกครองจะออกเอกสารชิ้นหนึ่งให้ คือ สูติบัตร(ท.ร.๑ หรือ ท.ร.๒ แล้วแต่กรณี) พร้อมทั้งกำหนดเลขประจำตัวประชาชนแล้วเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ตามกฎหมาย

หรือแม้แต่บุตรของคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในราชอาณาจักรทั้งหลาย เช่น บุตรของบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมืองให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรป็นกรณีพิเศษ หรือ บุตรของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ บุตรของแรงงานต่างด้าวก็ตาม จะได้รับสูติบัติ(ท.ร.๓ หรือ ท.ร.๐๓ แล้วแต่กรณี) พร้อมทั้งเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๓)หรือบันทึกสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติ(แล้วแต่กรณี)ทุกคน แม้บุคคลที่เกิดในรัฐไทยเหล่านั้นจะไม่มีสัญชาติไทยก็ตาม 

๒.สิทธิในการเดินทาง(การต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่เป็นครั้งคราวทั้งการรักษาสุขภาพ,การศึกษาต่อ)

โดยทั่วไปคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายนั้นสามารถเดินทางได้ทั่วราชอาณาจักรตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต แต่มีคนต่างด้าวบางจำพวกที่กฎหมายไทยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแต่จะจำกัดพื้นที่ให้อยู่อาศัย ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ หากจะออกนอกพื้นที่จะต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่จากฝ่ายปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรและจะต้องเดินทางกลับมาภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น สิทธิในการเดินทางของบุคคลต่างด้าวเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองว่าจะให้ออกนอกพื้นที่มีกำหนดระยะเวลาเท่าใด เพื่อการใด

เท่าที่พบเจอคือผู้ป่วยของโรงพยาบาลอุ้มผางบางรายขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อไปรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเครื่องมือในการรักษาที่พร้อมกว่า และในพื้นที่มีนักเรียนของโรงเรียนมัธยมประจำอำเภออุ้มผาง(โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม)บางรายจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ต้องขอออกนอกพื้นที่เช่นกัน เท่าที่ทราบไม่พบเจอปัญหาในการขอออกนอกพื้นที่ ทางฝ่ายปกครองจะอนุญาตให้ออกพื้นที่ได้ เว้นแต่การออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือหลบหนีออกนอกพื้นที่เอง

สิทธิในการเดินทางจะเชื่อมโยงกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพด้วยเพราะชาวบ้านอาจต้องการเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด แต่เดินทางออกนอกอำเภออุ้มผางไม่ได้เนื่องจากเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ที่การสร้างฐานะทางเศรฐกิจของคนกลุ่มนี้ทำได้ยาก รวมถึงในบางกรณีอาจโดนกดค่าแรงได้ง่าย

๓.สิทธิในการศึกษา(สิทธิในการเข้าศึกษาในสถาบันศึกษา สิทธิในการกู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา)

มีความกังวลว่าน้องๆที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอาจต้องขอกู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพราะน้องๆบางคนที่เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทยส่วนใหญ่ทางบ้านจะมีรายได้น้อย แต่คุณสมบัติของผู้กู้ยืมจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้น้องเหล่านั้นไม่มีสิทธิในการกู้ยืมเงินด้วย

๔.สิทธิในการรักษาสุขภาพ

ผู้ป่วยบางคนไม่มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน รวมถึงบางครั้งมีอาการป่วยที่ต้องส่งไปรักษาต่อนอกพื้นที่ด้วย 

๕.สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว(การไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรส)

การก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน/สิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่รัฐจะต้องรับรองหากผู้ขอจดทะเบียนสมรสมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ทางปฏิบัติของส่วนราชการจะไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรสให้กับบุคคลที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน โดยอ้างว่าไม่มีเอกสารยืนยันตัวบุคคล (ยังไม่เจอกรณีเช่นนี้ในพื้นที่ตั้งแต่เข้ามาทำงาน)

              กล่าวโดยสรุป การที่ราษฎรไทยที่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนในการเป็นคนไทยไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยเปิดทางไปสู่การไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐไทยรวมทั้งเปิดประตูไปสู่การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆต่อไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 505852เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ลืมการต่อสู้ของโจ้งในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเงียโจไหมคะ คดีใหญ่ในชีวิตของทนายความคนหนึ่งเชียวนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท