ว่าด้วย ช่องปาก ความไวต่อสัมผัส และการให้คิว


การที่สิ่งแปลกปลอมสัมผัสริมฝีปากและลิ้น โดยที่ไม่ทันรู้ตัวนั้น สร้างความตกใจ และความกลัวการทำฟัน

ผู้ที่มาทำฟันนั้น มองไม่เห็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในปากของตัวเอง เขาอาจจะเห็นเครื่องมือบางชนิด (ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายเครื่องมือช่าง) ผ่านหน้าเขาไปมา แต่ส่วนใหญ่เขา "รับรู้" และ "รู้สึก" ผ่านการสัมผัส เสียง กลิ่น และรส 

 

เสียงหวีดวี๊ ของเครื่องกรอฟัน กลิ่นของถุงมือ รสชาติของยาชา ความรู้สึกเย็นวาบ เวลาฉีดน้ำล้างปาก กระทั่งความรู้สึก เสียวฟัน หรือปวด น่ายินดีที่สิ่งเหล่านี้ สามารถควบคุมได้ โดยทันตแพทย์ทั้งสิ้น

 

ความรู้สึกเหล่านี้ เข้มข้นมากเสียด้วย สมองเรานั้นแบ่งปันพื้นที่ปริมาณมหาศาล เพื่อใช้รับความรู้สึกบริเวณ หน้า ปาก ลิ้น และมือ เรารู้สึกถึงสิ่งแปลกปลอมในปากอย่างเข้มข้น มากกว่าบริเวณอื่นๆ ลองนึกถึงการที่มีผมเล็กๆ เส้นหนึ่งในปาก (บางทีติดมากับอาหาร) ดูว่ามันทำให้เรา "รู้สึก" มากขนาดไหน

 

หากเราจัดร่างกายคนให้มีพื้นที่เป็นสัดส่วนตามพื้นที่สมองแล้วละก็ เราจะได้ Sensory Homunculus ที่มีหน้าโต ปากลิ้นใหญ่ มือโตมาก และอวัยวะอื่นๆ เล็กนิดเดียว

(ลองดูรูป ได้ที่นี่ http://piclib.nhm.ac.uk/results.asp?image=041490)

 

เขียนมาหลายย่อหน้าเพียงเพื่อต้องการจะบอกว่า การทำฟันนั้น สำหรับคนที่ไม่รู้ มันเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะมองไม่เห็น เดาไม่ถูกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แถมการสัมผัสของสิ่งแปลกปลอม (เครื่องมือ วัสดุทางทันตกรรม ยา หรือกระทั่งน้ำเกลือ) ในช่องปากแบบไม่รู้ตัวนั้น มันทำให้ "รู้สึก" ได้อย่างเข้มข้น และรุนแรง ถึงขั้นตกใจได้

 

นั่นคือคำอธิบายที่ทำไมบางครั้งเราเป่าลม หรือฉีดสเปรย์น้ำเข้าในปากเพียงเบาๆ แต่ทำให้เขาสะดุ้งตกใจเป็นอย่างมาก

 

กระบวนการที่จะช่วยปัญหานี้ได้ เรียกว่า "การให้คิว" ซึ่งหมายถึง การบอกให้รู้ล่วงหน้าว่าจะมีกระบวนการการรักษาอะไรเกิดขึ้นในช่องปากของผู้รับบริการ ซึ่งก็คือการให้สัญญาณล่วงหน้านั่นเอง (Cue: a thing said or done that serves as a signal to an actor or other performer to enter or to begin their speech or performance.)

 

การให้คิว ต้องอาศัยจินตนาการสักเล็กน้อยครับ ลองคิดว่าเรานอนรอการอุดฟันอยู่ ในแต่ละขั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สื่อสารกันให้เข้าใจก็จะลดความเครียดในการทำฟันลงได้เยอะครับ ยกตัวอย่างเช่น 

   "ฟันซี่นี้ผุลึกนะครับ หมออาจจะขออนุญาตใส่ยาชาก่อนอุด"

   "จะใส่ยาชาแล้วนะครับ จะรู้สึกบริเวณที่ใส่ยานิดนึงนะครับ"

   "หากรู้สึกขมในปากให้ทนสักพักนะครับ สักครู่จะให้บ้วนน้ำครับ"

   "ขออนุญาตเป่าลม/ฉีดน้ำ ที่ฟันหน่อยนึงนะครับ" 

    ฯลฯ


ผศ.ทพ.สิทธิพร เทพบรรเทิง แห่งภาคปริทันตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยสอนผมขณะที่ยังเป็นนิสิตน้อยว่า

   "มีคำๆ หนึ่งที่หมอควรหัดพูดให้ติดปาก มันจะสร้างความอ้อนน้อมให้กับตัวหมอ และความสบายใจให้กับคนไข้ มันคือคำว่า 'ขออนุญาตครับ' 

     ก่อนจะทำอะไรแปลกใหม่ในปาก ก็ 'ขออนุญาตทำโน่น ทำนี่ นะครับ' "

 

เวลาว่างในคลินิก อยากแนะนำให้หมอใหม่ทั้งหลาย ใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับวัสดุต่างๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับลิ้นคนไข้ครับ ลอง "ชิม" มันดู เพื่อจะได้บอกเขาได้ว่า มันจะรู้สึกอย่างไร

 

จะได้ทราบว่า etchant สำหรับการเคลือบหลุมร่องฟันนั้น เปรี้ยว ส่วนยาชา กับถุงมือนั้นขม ฯลฯ

 

โปรดอย่าสับสนระหว่างการให้คิว กับการบรรยายกระบวนการการทำฟันโดยละเอียดนะครับ เพราะบางครั้งจินตนาการของการถูกเจาะ ตัด ปะ อวัยวะในร่างกายนั้นอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวได้มากกว่า

 

ยกตัวอย่าง การผ่าฟันคุด

การบรรยาย: "ในขณะนี้เราเปิดแผ่นเหงือกของคุณออกมาแล้วนะครับ ต่อไปเราจะกรอกระดูกที่ปกคลุมฟันออกเพื่อตัดแบ่งฟันออกเป็นชิ้นเล็กๆ....."

การบอกคิว: "อาจจะรู้สึกตึงๆ และกระเทือนสักหน่อยแถวๆ นี้นะครับ อีกสักพักอาจจะมีการใช้เครื่องกรอฟัน และน้ำเกลือร่วมด้วย อาจจะรู้สึกเค็มเล็กน้อย ไม่ต้องกังวลนะครับ"

การให้คิวนั้น อาจทำได้ในลักษณะของ อวัจนภาษาด้วย เช่น การรั้งริมฝีปาก เริ่มจาก 1. "ขออนุญาตครับ" (วัจนภาษา) 2.ใช้นิ้วแตะ rest บริเวณที่ต้องการ 3.เริ่มสัมผัส 4. เริ่มออกแรง 
หรือ 1."ขออนุญาตปรับเก้าอี้นะครับ" 2.ปรับเก้าอี้ในแนว ขึ้นลง เล็กน้อยก่อน 3.จึงปรับเก้าอี้ในแนวเอนนอน

ฝึกให้คิวเป็นนิสัย ช่วยให้การทำฟันน่ากลัวน้อยลง และแถมสิ่งที่ดีที่สุดคือการช่วยให้เราคิดถึงคนอื่น อยู่เสมอๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 505507เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2012 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2014 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนคุณ หมอ วันนี้ผมกับน้องเจ้าพนักงานทันตสาธารรสุข รพ ปากพะยูน นัดชมนมผู้สูงอายุ ไปตรวจฟัน เพื่อค้นหา คนอายุ 80 ปี สุขภาพช่องปาก พบคนอายุ 86 ปี มีฟันสมบูรณ์ แต่มีคราบฟัน และคราบน้ำหมาก แนะนำให้ไปขูดหินปูน เขามีความเชื่อว่า ถ้าขูดหินปูนจะทำให้ ฟันคลอน จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถ พูดหลักการให้แกเชื่อได้ นี้ก็เป็นปัญหาทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง

ขอบพระคุณที่กรุณาให้ความเห็นครับ เรื่องการขูดหินปูน อาจจะเป็นปัญหาของหมอครับ สำหรับเขาอาจจะไม่ใช่ปัญหา มองในแง่หนึ่งคือ สำหรับผู้สูงอายุท่านนี้ วิธีการดูแลฟันแบบนี้ มันทำให้ฟันยังอยู่ในปากของท่านได้จนอายุ 80 ปี

-สวัสดีครับ..

-"ขออนุญาต" ครับ...

-คำ ๆ นี้ต้องฝึกให้ติดนิสัย..

-เรื่องการทำฟันหลายท่านหรือแม้กระทั้งตัวผมีประสบการณ์ที่น่ากลัว55

-วันนี้ได้เรีัยนรู้เรื่อง "การให้คิว" ด้วยครับ..

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ จากบันทึกนี้...

-ขอบคุณครับ..

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท