ชีวิตหญิงไทยในเยอรมัน


หญิงไทยในต่างแดน

ชีวิตหญิงไทยในเยอรมัน

         เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศเยอรมัน พบปะกับหญิงไทย และคนไทยที่อาศัยอยู่ในเยอรมันส่วนหนึ่ง พบว่าในประเทศเยอรมันมีหญิงไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในลักษณะการไปศึกษาต่อ ไปทำงาน แต่งงานกับชาวเยอรมัน ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เดินทางไปแล้วประสบความสำเร็จในชีวิตมีความสุขดี กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ตอนแรกก็มีความสุขดีแต่ต่อมาถูกบังคับขู่เข็ญถูกทำร้ายร่างกาย และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ถูกล่อลวงมา

        ในแง่มุมของการทำงานด้านครอบครัวนั้นมองเห็นถึงมิติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและครอบครัว ดังนี้

          1. ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจแต่งงานกับชาวต่างชาติ อาจจะมีรูปแบบที่เกิดการพบปะคบหาและมีความรักต่อกันส่วนหนึ่ง หรือ ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงฐานะทางเศรษฐกิจของฝ่ายหญิง หรือ การต้องการได้สัญชาติเยอรมัน หรือ การถูกล่อลวงโดยญาติหรือเพื่อนบ้านใกล้ชิด

          2. ชีวิตการแต่งงาน ต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความแตกต่างกันมาก ทั้งด้าน เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดความเชื่อ และวิถีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาษาในการสื่อสาร ซึ่งก่อนแต่งงานนั้นหญิงไทยจะต้องผ่านการสอบภาษาเยอรมันระดับหนึ่ง บางรายสอบไม่ผ่านก็ไม่ได้แต่งงานซักที ซึ่งการรู้หรือไม่รู้ภาษาก็ส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูกมากทีเดียว บางรายจะไม่ยอมพูดภาษาเยอรมันกับลูก แต่จะพูดภาษาไทย เพราะกลัวลูกเรียนรู้ภาษาเยอรมันแบบเพี้ยนๆ ซึ่งกรณีนี้ได้ถามว่าเด็กจะมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าไม่เป็นปัญหามิหนำซ้ำยังดีซะอีกเด็กจะพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาเยอรมันที่ถูกต้อง ความแตกต่างดังกล่าวหากคนที่ไม่สามารถจะปรับตัวได้ก็จะส่งผลให้หญิงไทยส่วนหนึ่งมีความเครียดสะสมในชีวิตประจำวันจนมีอาการเจ็บป่วยทางกายและทางทางจิต

          3. ปัญหาที่พบ ในหญิงไทยบางกลุ่ม พบว่า ได้รับความลำบากจากการใช้ชีวิตในเยอรมันไม่น้อย หลายรายถูกบังคับข่มขู่ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ มีไม่น้อยที่ต้องการจะหย่าแต่ไม่กล้า เนื่องจากถูกสามีเก็บเอกสารทั้งหมดไว้ กลัวจะถูกส่งกลับประเทศ จากข้อมูลที่ได้คุยกับ FIM ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนในการช่วยเหลือหญิงต่างชาติในเยอมัน พบว่า ปัญหาครอบครัวของหญิงไทยในเยอรมันมีความรุนแรง 2 ระดับ คือ กรณีที่มีปัญหากันแต่ยังไม่ขั้นหย่าร้าง เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การใช้ความรุนแรง สามีไม่ให้เงินใช้ เป็นต้น อีกกรณีคือถึงขั้นที่ทนไม่ไหวแล้วและต้องการหย่าร้าง ผู้หญิงไทยมักไม่รู้สิทธิของตนเอง และมักจะโดนสามีข่มขู่ว่าจะส่งกลับประเทศและจะไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู บางรายถูกให้ทำสัญญาก่อนสมรสเมื่อหย่าก็จะไม่ได้อะไรเลย สิ่งเหล่านี้หญิงไทยอาจจะไม่รู้และไม่คำนึงถึงขอให้ได้แต่งก่อนค่อนว่ากัน กฎหมายของประเทศเยอรมันนั้นกำหนดให้ชาวต่างชาติที่แต่งงานกับชาวเยอรมันนั้นต้องแต่งงานสามปีไปแล้วถ้าหย่าจึงจะสามารถอยู่ในเยอรมันได้ แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามันมีข้อยกเว้นในกรณีที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ  มีบางเคสที่เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายขายเห็นว่าผู้หญิงทำงานบาร์มาก่อน เคยขายบริการมาก่อน ก็ให้ภรรยาทำอาชีพขายบริการ โดยที่ฝ่ายชายเก็บเงินไว้ทั้งหมด เมื่อถึงเวลาต้องเลิกกันผู้หญิงก็จะลำบากมาก อีกปัญหาหนึ่งที่พบกับหญิงไทยที่มีปัญหาในครอบครัวคือกฎหมายจะแยกเด็กออกจากครอบครัว กรณีที่พ่อหรือแม่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ รัฐจะเข้ามาแยกเด็กออกไปดูแล

          4. ปัจจัยที่ทำให้จำทน ไม่ยอมกลับประเทศไทย ด้วยความคาดหวังโอกาสอื่นๆ เช่น หากได้แต่งงานกับคนใหม่ชีวิตจะดีขึ้น และมีปัจจัยหนึ่งที่ฟังแล้วก็สะท้อนใจนั่นคือ คำว่า ความกตัญญู หญิงไทยส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและภาคเหนือ เมื่อมาอยู่ก็จะส่งเงินกลับบ้านด้วยความหวังว่าพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ประเทศไทยจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ถึงแม้ว่าตัวเองจะต้องลำบากอยู่ในต่างประเทศก็ตาม มีบางรายที่ลำบากมากแต่ก็ไม่ยอมกลับบ้าน โทรมาเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็บอกว่าให้ทนทนเอา แต่ก็มีบ้างมีบอกว่าไม่อยากกลับ ลำบากแค่ใหนก็ไม่กลับ เพราะอาย กลัวเสียหน้า

          5. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ก็คือ ในหัวใจที่เกิดคำถามว่า เงินเป็นคำตอบของความสุขในครอบครัวจริงหรือ ความรักของคนในครอบครัวคืออะไร ความหมายของคำว่ากตัญญูและเสียสละต้องมีมากน้อยแค่ใหนถึงจะดี  ชุมชนไทยเราดูแลสมาชิกของชุมชนดีแล้วหรือ สังคมไทยมีความพร้อมในการตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวข้ามชาติพันธุ์มากน้อยแค่ใหน ในวาระที่จะเปิดประตูสู่อาเซียนในอีกสองปีที่จะถึงนี้.

 

คำสำคัญ (Tags): #ชีวิตหญิงไทย
หมายเลขบันทึก: 505324เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2012 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตผู้หญิงไทยในบางส่วนค่ะ

ขอให้กำลังใจคนที่ยังไม่กล้าทำอะไรเพื่อตัวเอง ทำเพื่อตัวเองบ้างค่ะ มิเช่นนั้นค่านิยมของคนไทยในบ้านเราจะยังคงเป็นอย่างนี้เรื่อยไป และที่สำคัญใครก็มาช่วยเราไม่ได้หากเราไม่ช่วยตัวเองก่อน เงินทอง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งของตนเองและครอบครัว ไม่ใช่ทุกคำตอบของชีวิตค่ะ อ่านข้อ 4 แล้วรู้สึกสะท้อนใจเหลือเกิน

การอยู่ไกลบ้าน หากไม่มีความรักจากทั้งตัวเองและคู่ชีวิตสนับสนุน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะในฐานะคนที่อยู่ไกลบ้านเหมือนกัน แต่โชคดีที่มีความรัก ความเข้าใจในครอบครัวเป็นเครื่องคุ้มกันค่ะ

ผญ อีสานกับเหนือคงจะรักและกตัญญูต่อบิดามารดามากกว่าภาคอื่นๆต้องยอมรับลำบากเพื่อครอบครัวแบบนี้สุดยอดผู้หญิงถึงแม้โอกาสเขาจะมีไม่มากเหมือนใครหลายๆคนแต่เขาเป็นคนกตัญญูสุดยอดคนแล้ว

สำหรับคนไทยที่พำนักอยู่ในเยอรมันนะคะ หากคุณมีปัญหาเรื่องกฎหมาย ไมว่าจะกฎหมายครอบครัว กฎหมายจราจร และกฎหมายแรงงาน หากคุณต้องการความช่วยเหลือ ขอแนะนำสำนักกฎหมาย www.rechtsrat-lueneburg.de เพราะที่นี่มีพนักงานคนไทยทำงานด้วย คุณสามารถปรึกษาได้ด้วยภาษาไทย คุณไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะมีให้กับทนาย เพราะในหลายๆ กรณีรัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้คุณเอง หากต้องการความช่วยเหลือส่งอีเมลล์ไปได้เลยค่ะ [email protected]


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท