จดหมายถึงแม่ ฉบับที่ ๔


ปากเป็นเอก เลขเป็นโท

                                                               เมืองเชนไน,  อินเดีย

                                              ๒๕  มีนาคม  ๒๕๕๑

ถึงคุณแม่  ที่เคารพอย่างสูง

        คุณแม่อยู่ทางเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้างครับสบายดีหรือเปล่า  และคุณพี่คงสบายดีกันทุกคนนะครับ  ส่วนผมอยู่ทางอินเดียก็สบายดีเหมือนเดิม  คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง  ส่วนเรื่องงานวิทยานิพนธ์ของผมตอนนี้ก็ลงมือเขียนไปได้เยอะแล้วประมาณ ๔๐% คาดว่าสิ้นปีนี้ผมคงเขียนวิทยานิพนธ์เสร็จไม่น้อยกว่า ๖๐%  ซึ่งผมต้องเร่งทำงานให้จบก่อน ๓ ปี เพราะกลัวจะมีปัญหาเรื่องวีซ่าเหมือนนักศึกษาไทยท่านหนึ่ง  วีซ่าของท่านเป็นวีซ่าสำหรับการเรียนปริญญาเอก (Research Visa)  มีระยะเวลา ๓ ปีเท่ากับหลักสูตรปริญญาเอก  แต่เมื่อครบ  ๓ ปีท่านยังเขียนวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ  เดือนที่ผ่านมาท่านจึงกลับไปต่อวีซ่าที่กรุงเทพฯ ปรากฎว่าทางสถานทูตอินเดียไม่ยอมต่อให้ เขาบอกว่า Research Visa จะต้องได้รับหนังสืออนุมัติจากรัฐบาลที่กรุงนิวเดลีเสียก่อน ทางสถานทูตจึงจะยอมต่อวีซ่าให้  ท่านจึงต้องทำหนังสือขออนุมัติจากรัฐบาลอินเดียที่นิวเดลีซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร

           ตอนนี้ที่เชนไนมีนักศึกษาไทยเหลืออยู่ ๒ คน  คือผมกับอาจารย์สาคร  ส่วนท่านอื่น ๆ ก็กลบไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยกันหมด  อาจารย์ ดร.สุนันท์หลังจากกลับไปแล้วก็ได้ติดต่อมาหาผมเพื่อให้ขอเอกสารต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยให้ เพราะในการที่จะกลับเข้าทำงานจะต้องมีหนังสือรับรองการจบปริญญาเอกยื่นต่อหน่วยงานของตนจึงจะกลับเข้าทำงานได้ พรุ่งนี้ผมจะส่งเอกสารไปให้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์

       สำหรับรางวัลที่ผมฝากอาจารย์สุนันท์ไปให้นัทนั้น  แม้ว่าจะไม่มีมูลค่ามากมายแต่ก็ให้ถือว่าเป็นการให้รางวัลในความดีที่ได้ทำ เป็นการให้กำลังใจเพื่อจะได้มีความมุ่งมั่นเพียรพยายามต่อไป  การที่ผมให้กระเป๋าเพราะอยากให้เขาสะพายไปเรียนทุกวัน ให้เขาเห็นความสำคัญของการเรียน  ส่วนที่ให้เสื้อกีฬาเพราะอยากให้เขาออกกำลังกายเป็นประจำ  ซึ่งการเล่นกีฬาจะช่วยสร้างเสริมพลังกายและพลังใจเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนการเล่นกีฬาเป็นสิ่งจำเป็นมาก  เพราะมันจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้การเข้าสังคม และช่วยดึงเขาออกจากสิ่งเสพติดทั้งหลายด้วย  ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า เมื่อเขาเป็นนักเรียนเขาก็ต้องขยันเรียนตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสืออย่างเดียว ห้ามเล่นหรือคบเพื่อนฝูงเพราะจะเสียการเรียน  การคิดอย่างนี้ไม่ถูกต้องนัก  ส่วนที่ถูกคือเราต้องแนะนำให้เขารู้จักเลือกคบเพื่อนฝูงที่ดี และรู้จักเลือกเล่นกีฬาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย  ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้นอกห้องเรียนและนอกตำราเรียน  เพราะการเรียนรู้นั้นไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนฟังอาจารย์สอนหรือแค่ในตำราเรียนเท่านั้น

           อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะชี้แจง คือเรื่องที่แม่และพี่ภาณีกังวลว่าผมกับนัทจะเอาตัวไม่รอดแม้ว่าจะมีความรู้สูง เพราะเป็นคน "ปากไม่ไว ไอไม่ดัง"   จริงอยู่ว่าสังคมให้การยอมรับคนที่พูดเก่ง ตามสำนวนไทยที่ว่า "ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี" ความหมายก็คือคนที่พูดเก่ง ถ้าเป็นนายร้อยก็จะได้เป็นร้อยเอก คือมาเป็นอันดับหนึ่ง  คนที่เก่งการคิดคำนวนตัวเลขก็จะมาเป็นที่สอง คือร้อยโท  ส่วนพวกที่เก่งหนังสือหรือเก่งภาษาก็จะมาเป็นที่สาม คือร้อยตรี  แต่ในสังคมไทยสมัยปัจจุบันนี้มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกันทางความคิดหรือสติปัญญา  ซึ่งคนที่จะคิดได้เก่ง ก็คือคนที่เก่งในการคิดคำนวนและคนที่เก่งภาษาหรือตัวหนังสือ ไม่ใช่คนที่เพียงแค่พูดเก่ง  แน่นอนว่าคนที่พูดเก่งอาจจะเอาตัวรอดได้ดีในสังคมทั่วไป  แต่ถ้าเป็นสังคมของคนมีความรู้มีการศึกษา  คนที่จะเอาตัวรอดจริง ๆ คือคนที่เก่งในการใช้ความรู้หรือสติปัญญา  นั่นคือคนที่เก่งในการคิดคำนวนและคนที่เก่งภาษาหรือตัวหนังสือ  เพราะฉนั้นเราต้องถามตัวเองว่าเราอยากให้เขาอยู่ในสังคมระดับไหน  ถ้าอยากให้เขาอยู่ในสังคมของคนมีความรู้และสติปัญญา ก็สนับสนุนให้เขาเก่งเรื่องการใช้ความคิดเถิด  แม้ว่าเขาจะพูดไม่ค่อยเก่งก็ไม่เป็นไร ขอให้เขาเก่งจริง ๆ ในการใช้ความรู้ความคิดและสติปัญญาก็พอ

      สุดท้ายนี้ก็ไม่มีอะไรมาก  ผมขออ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนตรัย คือคุณพระพุทธ คุณพระธรรมและคุณพระสงฆ์  จงช่วยอภิบาลรักษาให้คุณแม่มีแต่ความสุขกายสบายใจ ปราศจากโรคาพยาธิทั้งมวล  และขอให้พี่ ๆ ทุกคนมีแต่ความสุข ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปราถนาทุกประการ

 

                                                       ด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                          บรรพต     แคไธสง

หมายเลขบันทึก: 505109เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2019 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท