แรงงาน


ความหมายของแรงงาน

ผมได้รับเชิญจากกระทรวงแรงงานให้เป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ตลาดแรงงานฝีมือกับโลกการค้าเสรี ในวันที่ 26 กันยายน 2555 เวลา 10.45-11.45 น

โจทย์ที่ได้มากว้างมากแถมมีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง และไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้ารับฟังเป็นใครมาจากไหน หลังจากทบทวนวัตถุประสงค์ของผู้จัดงานทำให้ตัดสินใจ พูดเรื่องความหมายของแรงงาน ก่อนที่จะเข้าเรื่องตลาดแรงงานและเชื่อมโยงไปถึงโลกการค้าเสรี

 

 ค้นพบรายงานวิจัยฉบับหนึ่ง กล่าวถึงความหมายของแรงงานไว้น่าสนใจดังนี้

"แรงงานมีความสำคัญในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตในการผลิตสินค้า และเป็นทุนมนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นได้ ตามความหมายของแรงงานเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงานที่สามารถทำงานได้โดยใช้กำลังกายและกำลังความคิดที่มีหลายระดับความรู้ ความสามารถอันเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ซึ่งความหมายของแรงงานมีคำที่เกี่ยวข้องหลากหลายคำ ได้แก่ กำลังคน และกำลังแรงงาน นอกจากนี้ยังมีความหมายที่แบ่งย่อยลงไปเป็น ผู้มีงานทำ ผู้ว่างงาน ผู้ที่อยู่และไม่อยู่ในกำลังแรงงาน โดยที่ผู้มีงานทำยังจำแนกได้ตามสาขาการผลิตอีหลายประเภท ซึ่งแรงงานในทุกสาขาการผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่ง และสร้างประโยชน์ทั้งในระดับสถานประกอบการ สังคม และประเทศชาติ"

หลังจากได้ทำความเข้าใจกับข้อสรุปเบื้องต้น ผมได้สรุปความหมายของแรงงานในความเข้าใจของผมดังนี้

"แรงงานหมายถึงทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านการบริหารจัดการจนทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ"

แรงงานแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1  แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งนี้ ความชำนาญในงานอาชีพสามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานด้วยตนเองได้

2  แรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skilled Labor) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติที่มีความชำนาญเพียงบางส่วนของงานอาชีพ

3  แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) หมายถึง ผู้ที่ทำงานโดยใช้กำลังกาย ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความชำนาญ เพียงได้รับคำแนะนำบ้างเล็กน้อยก็สามารถทำงานได้

จากการแบ่งประเภทแรงงานดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า กระทรวงแรงงานได้พุ่งเป้าไปที่แรงงานในภาคการผลิตสินค้า และแรงงานด้านก่อสร้างเป็นหลัก ไม่ได้เน้นถึงแรงงานที่ใช้ความคิดและแรงงานในภาคบริการที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น

กระแสสังคมไทยในปัจจุบัน เน้นให้คนไทยจบการศึกษาระดับปริญาตรีเป็นอย่างต่ำ จึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและก่อสร้างที่เน้นแรงงานขั้นต่ำไม่จำเป็นต้องจบปริญาตรี

พูดถึงตลาดแรงงาน ต้องกล่าวถึงตลาดแรงงานในประเทศหรือตลาดแรงงานต่างประเทศ แรงงานคนไทย หรือแรงงานต่างด้าว

นักศึกษาจบปริญญาตรีไม่สามารถหางานที่ต้องการได้  ผู้ประกอบการไม่สามารถหาแรงงานที่มีคุณภาพได้  แรงงานขาดตลาด จึงทำให้ต้องนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่คนไทยไม่ต้องการทำ

สรุปได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะขาดแรงงาน ให้เตรียมรับแรงงานต่างด้าวในทุกระดับ แรงงานก็จะมีตำแหน่งงานมากขึ้นทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีแรงงานต่ำอีกต่อไป จะต้องพัฒนาคนไทยให้มีรายได้สูง และธุรกิจบริการจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับประเทศไทย

สำหรับความหมายของ "โลกการค้าเสรี" หมายถึงโลกสมัยนี้เป็นโลกที่ไร้พรมแดน การกีดกันทางการค้าจะค่อยๆหมดไป การค้าจะเสรีมากขึ้น การค้าระหว่างประเทศจะมีความสำคัญมากขึ้น ตลาดการค้าจะเป็นตลาดโลก ค้าขายกับคนต่างชาติมากขึ้น ทำงานร่วมกับคนต่างชาติต่างศาสนา ตลาดแรงงานจะเป็นตลาดสากล อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศคงไม่ง่ายอย่างที่เข้าใจ แต่ละประเทศยังคงปกป้องคนของแต่ละประเทศไม่ให้ถูกต่างชาติมาแย้งงานทำ แต่ถ้าเข้าใจถึงกลไกการตลาด และยอมรับความจริงต้องเตรียมพร้อมในการแข่งขันในเวทีสากลสำหรับผู้ประกอบการ และแข่งขันในตลาดโลกสำหรับแรงงานระดับกลางขึ้นไป

 

หมายเลขบันทึก: 504753เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2012 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมได้ให้ความหมาย "แรงงาน" ไว้ดังนี้ แรงงานหมายถึงทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านการบริหารจัดการจนเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงให้กับประเทศชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท