ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

“โรงเรียน-วัด-ชุมชน” ผนึกกำลัง!!!!!!!!...สร้างกิจกรรมนำเด็กกลับห้องเรียน


โครงการต่างๆ ในกิจกรรมร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้น เพราะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทุกฝ่าย ทำให้เด็กกล้าเปิดใจ เมื่อมีปัญหาก็สามารถปรึกษาผู้ใหญ่ หรือเพื่อน เพื่อหาทางออกร่วมกันได้อย่างเหมาะสม

“โรงเรียน-วัด-ชุมชน” ผนึกกำลัง

สร้างกิจกรรมนำเด็กกลับห้องเรียน

 

          เมื่อ 2-3 ปีก่อน รอยสักตามแขน ขา ลำตัว หรือการเจาะหู คือภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปจากกลุ่มนักเรียนชายของโรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวมีความเสี่ยงในเรื่องของยาเสพติด

            ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร ก็ทำให้เด็กมีค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจและการเรียนรู้ ซึ่งสวนทางกับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ส่วนใหญ่ยากจน ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้าง ไม่ค่อยมีเวลาให้กับครอบครัวมากนัก หลังเลิกเรียนเด็กกลับบ้านก็มักจะพบว่าผู้ปกครองยังไม่กลับจากการทำงาน

            จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ ศุภชัย ตันจี๋ ผู้อำนวยการโรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ ค้นหากระบวนการในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน

            วิธีการที่นำมาใช้พัฒนาคุณภาพนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งนี้ คือการดึงผู้ปกครอง ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด รวมถึงบริษัทเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่านักเรียนทุกคนเป็นคนดี อยากประสบความสำเร็จในชีวิต

            ทางโรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ โดยผอ.ศุภชัย จึงขอการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ดำเนินโครงการ “การมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้ปกครองและองค์กรในชุมชนในการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2553 แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ เริ่มจากริเริ่มค้นวิเคราะห์ บ่มเพาะความร่วมมือ พอถึงระยะที่ 2 ในปีการศึกษา 2554 ได้สานต่อสิ่งที่ดีสู่วิถีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) และระยะที่ 3 คือปีการศึกษา 2555 เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการเรียนรู้ มุ่งสู่ค่านิยมที่เน้นด้านจิตใจควบคู่ไปกับความรู้ (Educare)

            กิจกรรมหลักๆ ของโครงการ ได้แก่ จัดค่ายคุณธรรมนำเศรษฐกิจพอเพียง ช่วงก่อนเปิดเรียน, กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโรงเรียน ด้วยการทำความสะอาดโรงเรียนก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ , กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนหลังเลิกเรียนสัปดาห์ละ 2 วัน ประกอบด้วยการฝึกทักษะการทำโครงงานเยาวชนทำดีถวายในหลวง การฝึกทักษะกีฬา ดนตรี, กิจกรรมเยี่ยมบ้านหลังเลิกเรียน, พัฒนาความรู้ ความเข้าใจของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในครอบครัว อาทิ การหมั่นพูดคุย ชื่นชม ให้กำลังใจเมื่อนักเรียนทำได้ดี, กิจกรรมจิราธิวัฒน์ เพื่อนที่ปรึกษา ให้เพื่อนแนะนำเพื่อนนักเรียนที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

            อาจารย์ศุภชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ เล่าว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือนักเรียนมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ค้นพบความถนัด ความสนใจ และวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ มีภูมิคุ้มกันสามารถระวังและป้องกันตัวจากยาเสพติดและอบายมุข ไม่มีนักเรียนชายเจาะหู สักตามร่างกาย หรือก้าวร้าวเกเรอีก

            “ไม่เพียงเด็กจะรู้จักตนเองมากขึ้น ผู้ปกครองก็เข้าใจในงานของครูดีด้วย มีความสบายใจที่จะมาติดต่อกับโรงเรียน หรือร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง รู้วิธีที่จะสนับสนุน ให้กำลังใจและช่วยเหลือนักเรียนขณะอยู่ที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งบ้าน โรงเรียน และนักเรียน ส่งผลให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียนเพิ่มมากขึ้น” ผอ.ศุภชัย กล่าว

            เมื่อครอบครัวและโรงเรียนร่วมมือกันอย่างแนบแน่นแล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งคือ วัด อย่างวัดใหม่ชลประทาน ที่เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยหวังว่าจะช่วยพัฒนาจิตใจของเด็กๆ นักเรียน

            พระอธิการอุดมพัน สติสมฺปนฺโน เจ้าอาวาสวัดใหม่ชลประทาน เล่าว่า ท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 ก็พบว่า นักเรียนกลุ่มหนึ่งใช้พื้นที่วัดเป็นที่มั่วสุม เสพสุรา บุหรี่ หรือทำกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ จึงได้ปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียน และขอเข้ามาสอนคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ตลอดจนกริยามารยาทให้กับเด็ก ในลักษณะของการฝึกมารยาทไทย เพราะเด็กบางคนไม่ได้นับถือพุทธศาสนา

            แน่นอน ช่วงแรกๆ ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากนักเรียนมากนัก แต่ด้วยความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้นักเรียนยอมรับในที่สุด และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด

            “ทุกวันนี้ ไม่มีเด็กเข้าไปใช้พื้นที่วัดเป็นที่มั่วสุมสิ่งเสพติดหรืออบายมุขอีก หากเป็นการเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญประโยชน์มากกว่า” พระอธิการอุดมพัน กล่าว

            เมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้น แทนที่จะจับกลุ่มมั่วสุมหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม คนในชุมชนก็ดูเหมือนจะพึงพอใจตามไม่ด้วย เมื่อทางโรงเรียนเชิญผู้ปกครองและคนในชุมชนมาทำกิจรรมร่วมกัน ชุมชนก็ตื่นตัว ช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องในเวลาเลิกเรียน หรือวันหยุด ถ้าพบเห็นเด็กประพฤติตนไม่เหมาะสมก็จะว่ากล่าวตักเตือน และบอกกล่าวครู หรือผู้ปกครอง ทำให้ทุกวันนี้ชุมชนได้เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพกลับคืนมา

            สุนทร ชัยศรีอ้าย ประธานคณะกรรมการโรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ กล่าวว่า หลังเลิกเรียนผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจแล้วว่าลูกหลานจะมั่วสุมในทางที่ผิด เพราะโรงเรียนมีกิจกรรมเปิดให้เด็กได้ทำต่อตามความสนใจ เช่น กีฬา และดนตรี  ซึ่งพบว่าเด็กชอบมาก จนได้รับรางวัลในการแข่งขันระดับต่างๆ จำนวนมาก

            ขณะที่ อภิสรา สุนันตา นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ อธิบายถึงโครงการต่างๆ ในกิจกรรมร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมดีขึ้น เพราะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทุกฝ่าย ทำให้เด็กกล้าเปิดใจ เมื่อมีปัญหาก็สามารถปรึกษาผู้ใหญ่ หรือเพื่อน เพื่อหาทางออกร่วมกันได้อย่างเหมาะสม หรือช่วงที่เด็กทำกิจกรรม เช่น โครงการคุณธรรมเลิกเหล้า บุหรี่ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ งดจำหน่ายสุราและบุหรี่ในวันสำคัญทางศาสนา

            “ทุกกิจกรรมและโครงการ จะมีนักเรียนร่วมรับผิดชอบ ตั้งแต่ชั้น ป.3-ม.3 ดังนั้นจึงดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดเมื่อนักเรียนชั้น ม.3 เรียนจบ” อภิสรา บอกในตอนท้าย

          ทุกวันหลังเลิกเรียน ภาพของเด็กๆ เล่นกีฬา และมุมานะฝึกซ้อมดนตรีอย่างจริงจัง จึงเป็นความพึงพอใจของทั้งผู้ปกครอง ชุมชน ครู ตลอดจนตัวของนักเรียนเอง เพราะไม่ใช่แค่การละเลิกพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง แต่ยังหมายถึงความใฝ่ดี ที่ส่งผลถึงรางวัลจากการแข่งขันต่างๆ และผลการเรียนที่พัฒนาขึ้นตามลำดับอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 504713เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท