กวีนิพนธ์ไทย


อลังการ และประเภทของวรรณคดีต่าง ๆ

วรรณคดีของอินเดีย  ได้มีกำเนิดมาจากหลักของคัมภีร์อลังการศาสตร์ของสันสกฤต

          อลังการ  หมายถึง การตกแต่งคำประพันธ์ด้วยถ้อยคำ  แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด

          ๑.  ศัพทาลังการ           ว่าด้วยอลังการทางเสียง  เช่น  การเล่นคำ  การสัมผัส  เป็นต้น

          ๒.  อรรถาลังการ          ว่าด้วยอลังการทางความหมาย  เช่น  การใช้โวหารอุปมา  อุปลักษณ์

          คัมภีร์อลังการศาสตร์ที่เป็นภาคภาษาไทยมีอยู่เพียง ๒ เล่ม  คือ

          ๑.  สุโพธาลังการ         เป็นคัมภีร์ฝ่ายบาลีที่แต่งตามแบบคัมภีร์อลังการศาสตร์ของฝ่ายสันสกฤต    ประมาณคริสตวรรษที่ ๗

                    ว่าด้วยทฤษฎีวรรณคดีเพียง ๓ ทฤษฎี  คือ  

                             ๑)  ทฤษฎีคุณ             ลักษณะเด่นของการประพันธ์

                             ๒)  ทฤษฎีอลังการ        มีเฉพาะอลังการทางความหมาย 

                             ๓)  ทฤษฎีรส                ปฏิกิริยาทางอารมณ์

          ๒.  อลังการศาสตร์  เป็นคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต  ประมาณคริสตวรรษที่ ๑๒

                    ว่าด้วยทฤษฎีวรรณคดีศึกษา ๘ ทฤษฎี  คือ 

                             ๑)  ทฤษฎีรส              ว่าด้วยปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้อ่าน

                             ๒)  ทฤษฎีอลังการ        ว่าด้วยความงามในการประพันธ์

                             ๓)  ทฤษฎีคุณ             ว่าด้วยลักษณะเด่นของการประพันธ์

                             ๔)  ทฤษฎีรีติ              ว่าด้วยลีลาในการประพันธ์

                             ๕)  ทฤษฎีธวนิ             ว่าด้วยความหมายแฝงในการประพันธ์

                             ๖)  ทฤษฎีวโกรกติ        ว่าด้วยภาษาในการประพันธ์

                             ๗)  ทฤษฎีอนุมิติ           ว่าด้วยการอนุมานความหมาย

                             ๘)  ทฤษฎีเอาจิตยะ       ว่าด้วยความเหมาะสมในการประพันธ์

 

ประเภทของวรรณคดี

          พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวรรณคดีสโมสร  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำหนดประเภทของ   วรรณดคีและพิจารณาหนังสือที่เป็นยอดของวรรณคดีแต่ละประเภทไว้ ดังนี้

          ๑.      กวีนิพนธ์  คือ  เรื่องที่แต่งเป็น  โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน

          ๒.      ละครไทย  คือ  เรื่องที่แต่งเป็นกลอนแปด  มีกำหนดหน้าพาทย์

          ๓.      นิทาน  คือ  เรื่องราวอันผูกขึ้นและแต่งเป็นร้อยแก้ว

          ๔.      ละครพูด  คือ  เรื่องราวที่เขียนเพื่อใช้แสดงบนเวที

          ๕.      อธิบาย (essay  หรือ pamphlet)  คือ  การแสดงด้วยศิลปวิทยา หรือกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช้ตำราหรือแบบเรียน หรือความเรียงเรื่องโบราณ  มีพงศาวดาร  เป็นต้น

 

หนังสือที่เป็นยอดแห่งวรรณคดีไทย

           ประเภทกวีนิพนธ์

          ๑.      ลิลิตพระลอ                 เป็นยอดของ       ลิลิต

          ๒.      สมุทรโฆษคำฉันท์        เป็นยอดของ       คำฉันท์

          ๓.      เทศน์มหาชาติ              เป็นยอดของ       กลอนกาพย์ (ร่ายยาว)

          ๔.      เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน    เป็นยอดของ       กลอนสุภาพ

          ละครไทย  บทละครเรื่องอิเหนา  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  เป็นยอดของ   บทละครรำ

          ละครพูด  บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖  เป็นยอดของ  บทละครพูด

          นิทาน  เรื่องสามก๊ก  ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)  เป็นยอดของ    ความเรียงนิทาน

          อธิบาย  เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕   เป็นยอดของ ความเรียงอธิบาย

การแบ่งประเภทวรรณคดีตามเกณฑ์ต่าง ๆ

            วรรณคดีไทยอาจแบ่งตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ ดังนี้

          ๑.      แบ่งตามความมุ่งหมาย  แยกได้  ๒  ประเภท คือ

                   ๑.๑  สารคดี   คือ    หนังสือที่มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ  แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้กลวิธีการเขียนให้เกิดความบันเทิงเป็นผลพลอยได้ไปด้วย                  

                   ๑.๒  บันเทิงคดี  คือ  หนังสือที่มุ่งให้ความสนุกเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านมากกว่าความรู้แต่อย่างไรก็ดี บันเทิงคดีย่อมมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญแทรกอยู่ด้วยในรูปของคติชีวิตและเกร็ดความรู้

 

          ๒.      แบ่งตามลักษณะที่แต่ง  แยกได้  ๒  ประเภท คือ     

                    ๒.๑  ร้อยแก้ว   หมายถึง   ความเรียงที่ใช้ภาษาพูดธรรมดา   แต่มีรูปแบบโดยเฉพาะและมีความไพเราะเหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย

                    ๒.๒  ร้อยกรอง  หมายถึง  ข้อความที่เรียบเรียงตามกำหนดของคณะและสัมผัสบังคับของ   แต่ละชนิด คณะ ได้แก่  จำนวนคำและจำนวนวรรคในแต่ละบท  ลักษณะบังคับ  ได้แก่  กำหนดสัมผัส  กำหนด   คำเอก  คำโท หรือกำหนดครุ  ลหุ  ร้อยกรอง  อาจเรียกว่า  คำประพันธ์  กาพย์กลอน  หรือ        กวีนิพนธ์ ก็ได้  ร้อยกรองแต่งเป็น กลอน  โคลง  ร่าย  กาพย์ และฉันท์

          ๓.      แบ่งตามลักษณะการจดบันทึก   แยกได้  ๒  ประเภท คือ

                    ๓.๑  วรรณคดีลายลักษณ์อักษร ได้แก่  วรรณคดีที่บันทึกไว้เป็นหนังสือ  อาจเป็นตัวจารึกตัวเขียน หรือตัวพิมพ์ก็ได้

                   ๓.๒  วรรณคดีที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่  วรรณคดีที่บอกเล่า จดจำสืบต่อกันมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วรรณคดีมุขปาฐะ  เช่น  เพลงพื้นเมือง  บทเห่กล่อม  นิทานพื้นบ้าน  ปริศนาคำทาย

            การแบ่งประเภทวรรณคดีดังกล่าวอาจคาบเกี่ยวกันได้  สารคดีโดยทั่วไปมักแต่งเป็นร้อยแก้ว  แต่อาจแต่งเป็นร้อยกรองก็ได้  บันเทิงคดีอาจแต่งเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้

          กวีนิพนธ์ไทยเป็นงานสร้างสรรค์ทางภาษาที่แสดงคุณค่าทางวัฒนธรรมและสะท้อนให้เห็นศิลปะการใช้ภาษาของกวี ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ไทยประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ล้วนเป็นกวีนิพนธ์ที่กวีเลือกสรรถ้อยคำมาแต่งให้งดงามทั้งศิลปะการใช้ภาษาด้านเสียงและความหมาย เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนจินตนาการของกวีที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและทราบซึ้งถึงความไพเราะของถ้อยคำในบทกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษากวีนิพนธ์ไทย จึงควรมีความรู้เรื่องแบบแผน ข้อบังคับ และลักษณะของกวีนิพนธ์ไทยแต่ละประเภท มีความสามารถในการใช้ภาษาและรู้จักเลือกสรรถ้อยคำมาเรียงร้อยให้ถูกต้องตามแบบแผน ข้อบังคับของกวีนิพนธ์ไทยแต่ละประเภท และมีความไพเราะ งดงาม ในเชิงวรรณศิลป์

หมายเลขบันทึก: 504551เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้องคะ แล้วน้องชอบการประพันธ์แบบไหนเอ่ย

ขอบคุณบันทึกดี นี้ค่ะ 

ขอขอบคุณ พี่ภูสุภา และคุณ ทิมดาบนะครับ กับ Comment ที่มีให้นะครับ

และขอขอบคุณทิมดาบ  พี่ภูสุภา พี่ี่ Ple  คุณ Wasawat Deemarn และคุณ tuknarak

กับการให้ดอกไม้นะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท