บุญข้าวสาก ที่เกษตรวิสัย


การทำบุญข้าวสาก เป็นประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ถือเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้ว

บุญข้าวสาก

ที่เกษตรวิสัย

 

 

 

                     ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณี เป็นสิ่งที่ ฝังลึกในจิตใจของ ชาวไทย สืบทอดกันมา จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งลี้ลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณ ภูตผี  จะฝังลึกกับคนไทย

                        เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไป อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อไปฉลองวันคล้ายวันเกิดให้หลานสาว จึงได้เห็นประเพณี บุญข้าวสาก ของชาวเกษตรวิสัย โดยที่ผู้เขียน ไม่คุ้นเคยกับประเพณีแบบนี้มาก่อน ถึงแม้ว่าผู้เขียน จะเป็นคนอีสานโดยกำเนิด แต่ไม่เคยเห็นการทำบุญข้าวสากรูปแบบนี้ แต่ สอบถามคนคุ้นเคยที่กลับจากกรุงเทพฯมาทำบุญข้าวสากที่บ้านเกิด ซึ่งห่างจากตัวอำเภอ ๑๒ กิโลเมตร ปรากฏว่า หมู่บ้านรอบ ๆ ตัวอำเภอยังมีประเพณีบุญข้าวสาก แบบของเกษตรวิสัยเหมือนกัน การทำอาจแตกต่างกัน แต่ที่มีจุดประสงค์หมือนกันคือการทำบุญให้ผี

                        บ้านผู้เขียน ประเพณีบุญเดือนสิบ หรือบุญข้าวสาก แบบง่ายๆ  โดยทำข้าวกระยาสารท นำไปแจกจ่าย ญาติ และผู้ที่เคารพนับถือ และนำไปทำบุญที่วัด เพื่อญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะได้อิ่มหนำสำราญ เป็นแบบง่าย ๆ

                        ที่เกษตรวิสัย วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เขาจะเตรียม ข้าวของที่จะนำ ไปทำบูญที่วัดเพื่อให้ผู้ตายไป ได้กิน

                        อาหาร คาว หวาน หลาย ๆ อย่าง นำมา รวมกัน อย่างละเล็กละน้อย มี หมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลา ส้มตำ ปลาร้า ส้มปลาน้อย (ปลาจ่อม) ผสมกัน เข้ากับข้าว แล้วห่อด้วยใบตอง จัดเป็นอาหารคาว ลักษณะการห่อ จะนำอาหารมารวมกัน แล้วห่อใบตองเหมือนกับข้าวต้มมัด  เพียงใช้ไม้กลัด กลัดหัวท้าย

                      ส่วนอาหารหวาน ก็จะนำ ขนมหวานต่าง ๆ ผลไม้ ในท้องถิ่น เช่น ฝรั่ง แตงโม กล้วย อ้อย ฯลฯ แล้วแต่มี นำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ เล็กๆ ผสมกัน แล้วห่อด้วยใบตอง  ผูกคู่กับห่อ อาหารคาว เตรียมไว้ ทำเป็นชุด ๆ โดยมากทำ ๘-๑๐ ชุด สำหรับเป็นอาหารที่จะไปทำบุญที่วัด ในวันรุ่งขึ้น แต่ถ้าใครมีเวลา มีญาติพี่น้องมาก ก็จะทำกันในตอนเช้าของวันที่จะไปทำบุญก็จะทัน

 

เตรียมห่อข้าวปลาอาหาร

 

                  อีกส่วนหนึ่ง เขาจะ ห่อรวมเป็นห่อใหญ่ ๆ ที่เหลือจากที่จะถวายพระ ให้ผีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และไปที่นา เพื่อที่จะให้ผีไม่มีญาติ ส่วนนี้เขาจะนำไป วางไว้นอกบริเวณวัด เขาเรียก ผีไม่มีญาติ เพราะเชื่อว่าผีพวกนี้เข้าวัดไม่ได้ จะได้มีโอกาสได้กินด้วย คนอีสานเรา เผื่อแผ่แม้แต่ผีไม่มีญาติ

                 สำหรับอาหารที่จะนำไปถวายพระ ก็ห่อใส่ใบตองเช่นกัน แต่ไม่ผสมกัน เหมือนจะไปผี เมื่อไปถึงวัด จึงแก้ห่อใบตองใส่ภาชนะที่วัด ถวายพระ

                 สรุปแล้ว อาหารที่เราเรียกว่า ข้าวสาก จะทำเป็น ๓ ส่วน คือ ถวายพระ ให้ผี และนำไปที่นา

                 ก่อนพิธีจะเริ่ม ประมาณ ๙ นาฬิกา ชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัดประจำหมู่บ้านตนเอง ที่เกษตรวิสัยไปที่วัดธาตุ  บนศาลาโรงธรรม วันนั้นปรากฏว่า ชาวบ้านไปมากบนศาลาแทบไม่มีที่นั่งเต็มไปหมด น่าภาคภูมิใจ เพราะเขาถือว่า หากลูกหลานไม่ไปทำบุญด้วยตนเอง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้วจะไม่ได้กิน ดังนั้น ลูก หลาน ที่ไป ทำงานที่ไหน ก็ต้องกลับ มาทำบุญ เพื่อให้ผี พ่อ แม่  ปู่ ย่า ตา ยาย ไดรับด้วย คนอีสานที่ไปอยู่แห่งใด ก็จะกลับ  ซึ่งแสดงออกถึงความกตัญญูต่อ บรรพบุรุษ

                            ร่วมฟังเทศน์และเตรียมนำอาหารไปแจก

 

                เริ่มพิธีพระจะเทศน์ความเป็นมาของการทำบุญข้าวสากก่อน  “ข้าวสาก” พระท่านว่า “มาจากคำว่า สลาก ภาคกลางเรียก สลากภัต” ภาคเหนือ และใต้ไม่ทราบเรียกอย่างไร คงเป็นประเพณี ชิงเปรตของใต้หรือเปล่า การทำสลาก สามารถทำได้ ๒ วิธี

               ๑.      เขียนชื่อ พระเณร ในวัด ให้ญาติโยมไปจับ จับได้ชื่อพระรูปใด ก็ นำไปถวายพระองค์นั้น

               ๒.    เขียนชื่อ ญาติโยม แล้วนำไปรวมกันในบาตร พระเป็นผู้จับ ได้ของใคร เจ้าของฉลากก็นำไปถวายพระ

               วันนั้นที่เกษตรวิสัย ไม่ได้ทำสลาก ถวายพระง่าย ๆ โดยทั่ว ๆ ไป

               เมื่อพิธีเสร็จจะตีกลองเพื่อบอกดวงวิญญาณให้มารับ ชาวบ้านก็จะ นำอาหารถวายพระ หลังจากนั้นก็จะแยกย้าย กันไปนำอาหารห่อ ไปแขวนไว้ตามต้นไม้ หรือโคนต้นไม้เพื่อให้ผีญาติ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้มากิน ส่วนที่นำไปนาก็จะแยกไว้ต่างหาก เพื่อนำไปในวันรุ่งขึ้น หรือเมื่อมีเวลา

 

                          นำอาหารไปแจก ตามต้นไม้

 

              สำหรับส่วนที่นำไป เลี้ยงผีที่นา “ตาแฮก” พระท่านเทศน์ให้ฟังเป็นนิ ทานว่า  ลูกผู้มีฐานะมีอันจะกินก่อนพ่อแม่จะตายได้หาภรรยาให้ลูก แต่ไม่มีลูกด้วยกัน พ่อแม่จึงหาภรรยาให้ใหม่ ภรรยาน้อยมีลูกด้วยกัน ภรรยาหลวงจึงอิจจา จึงคิดฆ่าลูกและภรรยาน้อย ฝ่ายภรรยาน้อยก่อนตาย อาฆาตไว้  ไปเกิดเป็น แมว อีกฝ่ายเป็นไก่ ก็กินกัน บางชาติเป็นเสือ กับกวาง สุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคน อีกฝ่ายไปเกิดเป้นยักษ์ ก็ตามฆ่าลูกคน  จนคลอดคนที่สาม นางจึงไปพึ่งพระในวัดนางยักษ์เข้าไปยังเชตวันวิหารไม่ได้

           บางครอบครัวจะนิมนต์พระไปทำพิธีที่ ธาตุเก็บกระดูกบรรพบุรุษ

 

                    พระพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ไป เรียกนางยังเข้ามาฟังธรรมเทศนา ให้เลิกจองเวรจองกรรม ให้นางยักษ์ไปอยู่หัวไร่ปลายนานางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกี่ยวกับฝนและน้ำ ปีใดฝนจะดีไม่ดี ก็จะแจ้งให้ชาวบ้านทราบชาวบ้านนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ

              นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ ชาวอีสานจึงถือเอาการถวายสลากภัตหรือบุญข้าวสากนี้เป็น ประเพณีสืบต่อกันมาและเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุและวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะ เอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า " ตาแฮก" เพื่อข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ พ้นจากแมลง

                นอกจากนี้ยังมีนิทานอีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวการทำบุญข้าวสากว่าผู้ทำแล้วได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ และในที่สุดได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วงนี้ผู้เขียนฟังไม่ค่อยถนัด จับได้นิดหน่อยว่า เดือนสิบนี้ เป็นเดือนที่ ยมทูต จะปล่อยผี ให้มารับส่วน กุศล ที่โลกมนุษย์ ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำเดือน สิบ จึงมีการทำ ข้าวปลา อาหาร ไว้ให้ผู้ตายไปแล้วได้มารับ

                การทำบุญข้าวสาก เป็นประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ถือเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้ว เพราะเชื่อว่า เมื่อลูกหลาน ทำบุญข้าวสาก ให้ก็จะทำให้เจริญร่งเรือง ไม่ขาดไม่เหลือ แต่ลูกหลานไม่ทำให้ ก็จะถูกสาป แช่ง ด้วยมัวเมาเฉพาะมรกดที่ ท่านสร้างไว้ให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ลูกหลานจึงทำให้ทุกปี ถึงแม้ว่า คนอื่นจะทำ แผ่กุศลให้ก็จะไม่อิ่มเหมือนลูกหลานทำ ดังนั้น ลูกหลานไปทำงานที่ใด เมื่อถึงวัน ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ก็จะกลับมา ทำบุญเป็นประจำทุกปี สวัสดีครับ

                                               

 

หมายเลขบันทึก: 504302เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 04:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทางเหนือเรียก...ตานก๋วยสลาก.....

ซึ่งก็ทำกันช่วงนี้เช่นกันค่ะก่อนออกพรรษา

เป็นบุญใหญ่ที่คนอีสานกลับบ้านเกิดกันไม่น้อยไปกว่า ปีใหม่ และสงกรานต์คะ

ขอบคุณครับ Krugui ภาษาเหนือ ตานก๋วยสลาก ขอบคุณกำลังใจ คุณปิ่นธิดา ...สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท