รูปแบบและระบบการปกครองสมัยพุทธกาล (อินเดีย)


พระพุทธองค์ทรงเน้นเรื่องของสังคม การชี้นำสังคมให้มีความเห็นถูกต้องเท่านั้น แนวคิดทางการเมืองการปกครองที่นักวิชาการสำนักต่างๆ ได้พยายามชี้ว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาตรงหรือสอดคล้องกับลัทธิความเชื่อของตน หากมองดูที่มาของรัฐที่ปรากฏในพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธองค์แทบไม่แตะต้องเลย

รูปแบบและระบบการปกครองสมัยพุทธกาล (อินเดีย)

 

          ประเทศอินเดียในยุคพุทธกาลสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนกลางหรือเขตชั้นใน เรียกว่า “มัชฌิมประเทศ” และส่วนรอบนอกหรือหัวเมืองชายแดน เรียกว่า “ปัจจันตประเทศ” มัชฌิมประเทศเป็นเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่มาก มีความเจริญเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและการศึกษา มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาก แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๖ แคว้นใหญ่ๆ คือ อังคะ มคธ กาสี โกสล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ และมีแคว้นเล็กอีก ๕ แคว้น คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ รวมเป็น ๒๑ แคว้น[1]

          ฤทธิชัย แกมนาค[2] กล่าวถึงสภาพการเมืองการปกครองในสมัยพุทธกาลไว้ว่า สภาพการเมืองการปกครองในยุคพระเวทนั้น องค์กรทางการเมืองของอินเดียยังมีลักษณะเป็นรัฐ ยังเป็นการปกครองแบบเผ่า ไม่มีอาณาเขตหรือดินแดนที่แน่นอน แต่หลังจากที่พวกอารยันได้ชัยชนะเหนือพวกดราวิเดียน ทำให้ความเป็นอยู่แบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนได้สิ้นสุดลง มีการสร้างหมู่บ้านเป็นหลักแหล่ง มีการทำกสิกรรม ทำให้สังคมเล็กๆ ได้พัฒนาเป็นสังคมใหญ่ขึ้น มีการประกอบพิธีกรรมมากขึ้น ในลักษณะสังคมแบบเผ่านั้นระบบเครือญาติเป็นหน่วยของสังคม การปกครองแบบพ่อปกครองลูก เช่น กุละหรือครอบครัว มีบิดาเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเรียกว่า “กุลปะ” มีหน้าที่ดูแลสมาชิกให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดี คามหรือหมู่บ้าน มีคามินะหรือคามณีเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน หลายๆ หมู่บ้านรวมกันเรียกว่า วิศยะหรือวิศ มี    วิศยบดีเป็นหัวหน้า หลายๆ วิศยะรวมกันเป็นชน มีราชันหรือกษัตริย์เป็นหัวหน้า

          ในสมัยนี้สถาบันทางการเมืองที่คอยจำกัดอำนาจของพระราชาไม่ให้มีมากจนเกินไป ซึ่งได้แก่ สภา (Sapha) และสมิติ (Samiti) นอกจากพระราชาถูกทอนอำนาจด้วยสภาและสมิติแล้ว ยังถูกทอนอำนาจด้วยสิทธิพิเศษของพวกปุโรหิต ซึ่งเป็นหัวหน้าของพวกพราหมณ์ประจำราชสำนัก เพราะพวกพราหมณ์นั้นเชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถสวดมนต์อ้อนวอนให้เทพเจ้าดลบันดาลให้พระราชาชนะในการรบได้ ตามความเชื่อถือของพวกอารยันที่นับถือเทพเจ้าโดยมีพราหมณ์เป็นผู้กระทำพิธีกรรมทางศาสนา ด้วยเหตุนี้พราหมณ์จึงเป็นส่วนสำคัญของสังคม

          ต่อมาในปลายยุคพระเวทอำนาจของพระราชามีมากขึ้น เพราะได้มีการโยงเอาสถาบันกษัตริย์กับเทพเจ้าเข้าด้วยกัน คือถือว่าเทพเจ้าได้มอบสมบัติอันน่านับถือต่างๆ ให้แก่พระราชา แต่ถึงแม้ว่าอำนาจของพระราชามีมากในยุคนี้ แต่พระราชาก็มิได้ทรงเป็นเผด็จการ เพราะถ้าพระราชาประพฤติ นอกทางธรรมะ ประชาชนมีสิทธิขับไล่ต่อต้านพระราชา

          พระมหาศรีบรรดร ถิรธมฺโม[3] ในเรื่องรูปแบบการปกครองในสมัยพุทธกาลนั้นมีรูปแบบการปกครองที่สำคัญอยู่จำนวน  ๓ รูปแบบคือ แบบสมบูรณาญาสิทธิราช (ราชาธิปไตย) แบบสามัคคีธรรม (สหพันธ์รัฐ) และแบบจักรวรรดินิยม (อุดมรัฐ) ซึ่งมีนัยดังนี้ คือ

          ๑) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Monarchical State) คือรัฐที่ให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองบ้านเมืองขึ้นอยู่กับกษัตริย์โดยตรง แต่อาจทรงมอบหมายอำนาจให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ หรือปุโรหิต ข้าราชบริพารไปปฏิบัติแทนได้ ประมุขของรัฐ เรียกว่า ราชา รัฐที่ปกครองในระบบนี้มีความเจริญรุ่งเรืองในแคว้นมคธ โกศล อวันตี และวังสะ การสืบทอดอำนาจมักจะสืบทอดโดยสายเลือด เช่น จากพ่อไปสู่ลูก หรือหลาน

          ลักษณะการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือแบบราชาธิปไตย เป็นลักษณะการปกครองที่เด่นชัดของสังคมอินเดียโบราณ เพราะมีพระมหากษัตริย์มีอำนาจในการปกครอง ตำแหน่งที่ลดหลั่นลงมาคือ ปุโรหิต เสนาบดี แต่ส่วนย่อยมีสภาการปกครองจากจุดย่อย คือ คาม นิคม ชนบท ระดับชนบทยังมีหัวหน้าทำนองเจ้าประเทศราชปกครองอีกด้วย รัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตย เช่น รัฐมคธ รัฐวังสะ รัฐอวันตี เป็นต้น[4]

          ปรีชา ช้างขวัญยืน[5] กล่าวว่า กษัตริย์หรือพระราชาผู้ครองเมืองมีอำนาจมาก มีการเก็บภาษี มีกองทหารใหญ่โต เปลี่ยนจากหัวหน้าเผ่ามาเป็นกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนจากระบบการเลือกผู้ปกครองมาเป็นระบบสืบสันตติวงศ์

          ๒) แบบสามัคคีธรรม (Republic State) หรือประชาธิปไตย คือรัฐที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองมิได้อยู่ที่ประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว จะมีสภาหรือสังฆะ เป็นผู้กำหนดนโยบายและมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง สภาจะทำหน้าที่เลือกสมาชิกมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเรียกว่า ราชา เช่น วัชชี มัลละ สักกะ เป็นต้น  เป็นการรวมกันของหลาย ๆ รัฐแล้วเลือกผู้นำเข้ามา บริหารจัดการ ซึ่งเทียบเท่ากับระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน กล่าวคือการปกครอง การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การตัดสิน ปัญหาต่างๆผู้ปกครองจะกระทำโดยมีการปรึกษาหารือกันก่อนมีการถือเสียงส่วนมากในการตัดสิน

          การปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แบบสาธารณรัฐ ซึ่งแบบสาธารณรัฐนี้ยังแยกออกเป็น ๒ แบบคือ แบบสาธารณรัฐเฉพาะตัว เป็นรัฐๆ ไป เป็นการปกครองแบบสภาของตระกูลนั้น ๆ โดยมีประธานสภาเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกัน และแบบสมาพันธรัฐ คือรัฐอิสระหลายๆ รัฐมารวมกัน มีการสับเปลี่ยนกันเป็นพระราชาของสาธารณรัฐ โดยมีการกำหนดอายุของพระราชา การปกครองแบบสาธารณรัฐ เช่น รัฐวัชชี รัฐมัลละ       เป็นต้น[6]

          ในดินแดนที่ปกครองแบบสหพันธรัฐ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือ ความสามัคคีของรัฐเป็นสิ่งสำคัญในการปกครองการบริหาร ภาระหน้าที่ของรัฐมักจะมีตัวแทนจากเผ่าต่างๆ มาร่วมประชุมกัน ในที่ประชุมจะเลือกตัวแทนคนหนึ่งขึ้นมาเป็นประธาน เรียกว่า ราชา (Raja) ซึ่งน่าจะมีความหมายในทำนองหัวหน้าที่ประชุมมากกว่าเป็นกษัตริย์ ตำแหน่งนี้มิได้เป็นตำแหน่งที่ได้โดยการสืบสายโลหิต สมาชิกของที่ประชุมคนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์[7]

           ๓) แบบจักรวรรดินิยม (Imperialism) คือรัฐที่มีแสนยานุภาพมาก มีอำนาจเหนือรัฐอื่น ๆ ผู้ปกครองจะใช้คำว่า มหาราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิ

          รูปแบบทางการเมืองการปกครองในสมัยพุทธกาลนั้นไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเมือง หรือนครรัฐนั้น ๆ เช่น บ้านขาณุมัต ซึ่งปกครองในรูปแบบพิเศษที่พระราชามอบให้เป็นรางวัล หรือพรหมไทย หรือในกรณีที่พวกพราหมณ์ปกครองเมือง เช่น กรุงเวฏฐทีปกะ ซึ่งปรากฏตอนที่ยกทัพเพื่อมาชิงพระบรมสารีริกธาตุ เป็น ๑ ใน ๘ เมืองที่ได้รับการแบ่งปันซึ่งปกติจะเป็นหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ในการปกครองสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีความเหลื่อมล้ำสูงต่ำต่างกัน ลักษณะทางการเมืองการปกครองจึงขาดเอกภาพมีการแบ่งรัฐใหญ่ รัฐเล็กกระจัดกระจายกันออกไป รัฐเหล่านี้ปกครองโดยราชา ซึ่งได้อำนาจมาโดยการสืบตระกูลบ้าง โดยการอาศัยการคัดเลือกจากนักรบบ้าง

          วิทยากร เชียงกูล ได้อธิบายว่าราชาในอินเดียโบราณไม่ได้อ้างว่ามีเทวสิทธิ์ ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าเหมือนปรัชญาการเมืองของกษัตริย์ในยุโรป พวกเขาอ้างความเป็นธรรมราชา (ราชาผู้เป็นธรรม) มากกว่าอ้างความเป็นเทวราชา (ราชาซึ่งมาจากเทพเจ้า) ราชาได้รับมอบหมายให้พิทักษ์ปกป้องธรรมะโดยมีพราหมณ์เป็นผู้กำกับดูแล ในสมัยก่อนพุทธกาลวรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะที่สูงกว่ากษัตริย์ซึ่งมักเป็นเจ้านครรัฐเล็ก แต่สมัยที่กษัตริย์มีอำนาจแบบจักรพรรดิ วรรณะกษัตริย์สูงส่งกว่าวรรณะพราหมณ์การกล่าวถึงว่ากษัตริย์ต้องเป็นธรรมราชานั้นเป็นไปตามคัมภีร์ หรือทฤษฎี ในทางความเป็นจริง กษัตริย์ที่มีอำนาจมากบางยุคสมัยอาจจะอ้างหรือทำตัวเป็นเทวราชา คือผู้ปกครองที่ใช้อำนาจแบบเผด็จการก็ได้

แม้ว่าในสมัยพุทธกาลจะมีถึง ๒๑ แคว้น (รัฐ) โดยแบ่งรัฐมหาอำนาจออกเป็น ๔ รัฐ    รัฐขนาดกลาง ๑๒ รัฐ และรัฐขนาดเล็กอีก ๕ รัฐ ตลอดพุทธกิจ ๔๕ พรรษาพระองค์ก็มิได้ทรงสนับสนุน หรือทรงแสดงแนวคิดถึงระบบการเมืองการปกครองในแง่มุมของทฤษฎีอย่างทางแนวคิดตะวันตกไม่ ในการนี้พระมหาธรรมรัต อริยธมฺโม ได้มองพุทธกิจใน ๓ ด้าน ประกอบไปด้วย

๑. พุทธกิจด้านการเมือง โดยเห็นว่าพระพุทธองค์มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในรัฐแต่อย่างใด ทว่าทรงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเสนอแนะหลักในการปกครองที่ช่วยทำให้รัฐมีความมั่นคงและสามารถปกครองให้ประชาชนมีความสงบสุข 

          ๒. พุทธกิจด้านการบริหาร โดยเทียบกับภาษาบาลีว่า ปริหร เป็นคำที่แสดงความหมายถึงลักษณะของการปกครองว่า เป็นการนำสังคม หรือหมู่คณะให้ดำเนินไปโดยสมบูรณ์  นำหมู่คณะให้พัฒนาไปพร้อมกัน ปริหร อาจบ่งความหมายถึงการแบ่งงาน การกระจายอำนาจ  หรือการที่สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการปกครองหมู่คณะก็ได้

          ๓. พุทธวิธีในการปกครอง  โดยเทียบกับภาษาบาลีว่า ปสาส หรือ อภิปาล และเน้นไปที่การปกครองสงฆ์เป็นหลัก และอาศัยพระธรรมวินัยว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับภิกษุสงฆ์ ถือได้ว่าเป็นหลักในการปกครองและบริหารงานคณะสงฆ์ นอกจากวินัยแล้วยังทรงใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหารการปกครองด้วย

          กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าเรื่องภายในรัฐ เป็นหน้าที่หรือการจัดการของเจ้าผู้ครองรัฐนั้นๆ แต่      พระพุทธองค์ทรงเน้นเรื่องของสังคม การชี้นำสังคมให้มีความเห็นถูกต้องเท่านั้น แนวคิดทางการเมืองการปกครองที่นักวิชาการสำนักต่างๆ ได้พยายามชี้ว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาตรงหรือสอดคล้องกับลัทธิความเชื่อของตน หากมองดูที่มาของรัฐที่ปรากฏในพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธองค์แทบไม่แตะต้องเลย

           



[1] http://main.dou.us/view_content.php

[2]ฤทธิชัย แกมนาค. รัฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา. ใน http://www.learners.in.th/file/ganesh/aa.doc

[3] พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม).   ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก. หน้า  ๒๘-๓๐.

[4] ฤทธิชัย แกมนาค. รัฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา. ใน http://www.learners.in.th/file/ganesh/aa.doc

[5] ปรีชา ช้างขวัญยืน. ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา. หน้า ๑๐.

[6] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๓๕-๓๖.

[7] http://www.human.cmu.ac.th/couseonline/couse/004233/pdf/doc03.pdf

หมายเลขบันทึก: 504179เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท