การยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าสู่ทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ของผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด


ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร บุคคลสัญชาติไทย(กรณีนี้เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย)ย่อมได้รับรองสิทธิอาศัยถาวรอยู่ทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ที่เราเห็นเป็นเล่มสีน้ำเงินนั่นเอง

ขั้นตอนการขอเพิ่มชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทยเข้าในทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)

หลังจากที่ครั้งที่แล้วการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อน้องดาวพระศุกร์และน้องฝ้ายเข้าสู่ทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่ได้นำพยานบุคคลที่สามารถยืนยันและรับรองตัวบุคคลมาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงาน ครั้งนี้พี่อนันต์เดินทางมาอำเภออุ้มผางอีกครั้งเพื่อยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อน้องทั้งสองเข้าทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)อีกครั้ง

ถามว่าทำไมจึงต้องเป็นการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อตามกฎหมายทะเบียนราษฎร เหตุผลก็คือ น้องดาวพระศุกร์เป็นบุคคลสัญชาติไทยตามหลักดินแดน มาตรา ๗(๒)แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒ และฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ ส่วนน้องฝ้ายก็เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากการขอพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรฯตามกฎกระทรวงกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมการขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดพ.ศ.๒๕๕๓ กฎกระทรวงนี้ออกตามความในมาตรา ๗ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒ และฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร บุคคลสัญชาติไทย(กรณีนี้เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย)ย่อมได้รับรองสิทธิอาศัยถาวรอยู่ทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ที่เราเห็นเป็นเล่มสีน้ำเงินนั่นเอง

หลังการประสานงานและนัดหมายจากทางอำเภออุ้มผางแล้ว พี่อนันต์พร้อมบุตรสาวทั้งสองคนและพยานบุคคลที่มารับรองและยืนยันตัวบุคคลที่มากันถึง ๔ คน (มีคุณครูที่เป็นผู้สอนน้องทั้งสองคนจากโรงเรียนสามัคคีวิทยา ๒ ท่าน พร้อมทั้งญาติของพี่อนันต์ที่รู้จักพี่อนันต์กับน้องทั้งสองคนเป็นอย่างดีอีก ๒ คน)ก็เดินทางมาพร้อมกันที่อำเภออุ้มผาง

เมื่อพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือพร้อมแล้ว ก็ตรวจสอบพยานเอกสารที่ต้องใช้ในการดำเนินการครั้งนี้  ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพี่อนันต์(ผู้ร้องขอเพิ่มชื่อ), สำเนาบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของน้องดาวพระศุกร์ ,สำเนาหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๒ ออกโดยโรงพยาบาลอุ้มผาง ของน้องดาวพระศุกร์ ,สำเนาหนังสือรับรองการพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ออกโดยอำเภออุ้มผาง ของน้องฝ้าย, สำเนาหนังสือรับรองการเป็นนักเรียนของน้องทั้งสองคน ออกโดยโรงเรียนสามัคคีสามัคคีวิทยา , สำเนาประวัติส่วนตัวผู้เรียนของน้องทั้งสองคน และสำเนาผลพิสูจน์หมู่เลือดและดีเอ็นเอ

พร้อมเพรียงทุกอย่าง ทุกคนจึงเข้าไปยังที่ทำการสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง ทางปลัดอำเภอได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารที่จะบันทึกปากคำของผู้ยื่นคำร้องไว้แล้ว  ประกอบด้วย

๑.บันทึกข้อความเรื่องขออนุมัติเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔) กรอกรายละเอียดของผู้ร้องขอ

๒.แบบการขอมีรายการบุคคลในเอกสารการทะเบียนราษฎร สำหรับกรณีการแจ้งเกิดเกินกำหนดและการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๒๕) เอกสารนี้จะต้องกรอกรายละเอียดบุคคลที่จะถูกเพิ่มชื่อ ข้อมูลของผู้ร้องขอเพิ่มชื่อและพยานผู้ให้การรับรอง ติดรูปถ่ายของผู้ที่จะถูกเพิ่มชื่อ ๑ รูป พร้อมทั้งลงลายมือชื่อบุคคลที่ขอมีรายการในเอกสารทะเบียนราฎร ผู้ร้องขอเพิ่มชื่อ และพยาน ๒ คน

ที่เห็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่สำคัญคือบันทึกปากคำผู้ร้อง/ผู้รับรองซึ่งเป็นบันทึกการสอบสวนผู้ร้องขอเพิ่มชื่อ ผู้รับรอง เป็นที่เข้าใจดีว่าการสอบสวนผู้ร้อง/ผู้รับรองเป็นไปเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันเชื่อได้ว่าบุคคลที่ร้องขอเพิ่มชื่อกับบุคคลที่จะถูกเพิ่มชื่อนั้นมีความเกี่ยวข้องกันตามที่กล่าวอ้าง ผู้รับรองมีความเกี่ยวข้องอย่างใดกับผู้ร้องขอเพิ่มชื่อและบุคคลที่จะถูกเพิ่มชื่อ กิริยาอาการระหว่างการให้ถ้อยคำเป็นอย่างไร มีพิรุธในทางส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ การสอบสวนดังกล่าวจึงต้องมีการบันทึกลงในเอกสารเพื่อใช้ประกอบเป็นพยานหลักฐานประกอบการใช้ดุลพินิจของผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่(ปลัดอำเภอ)ซึ่งจะทำความเห็นว่าควรอนุมัติตามคำร้องหรือปฎิเสธคำร้องแล้วเสนอไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่(นายอำเภอ)ผู้มีอำนาจออกคำสั่งอนุมัติหรือปฏิเสธคำร้องอีกครั้ง

การที่เราเห็นบันทึกปากคำเป็นเอกสารอยู่นั้นจึงน่าจะเป็น"แนวทาง"ในการสอบสวนผู้ร้อง/ผู้รับรองมากกว่า

ในส่วนเฉพาะของอำเภออุ้มผางเองนั้น บันทึกปากคำผู้ร้อง/ผู้รับรองมีรายละเอียดประกอบด้วย สถานที่บันทึก, เรื่อง(ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน) ,ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้อง/ผู้รับรอง ได้แก่ ชื่อ-สกุล อายุ อาชีพ จังหวัดที่เกิด สัญชาติ ชื่อ-สกุลบิดาและมารดา สถานภาพ,ความเกี่ยวพันของผู้ร้อง/ผู้รับรองกับบุคคลที่จะถูกเพิ่มชื่อ(เช่น เป็นบิดาของผู้จะถูกเพิ่มชื่อ เป็นผู้รู้จักกันเป็นอย่างดีกับผู้ร้องขอเพิ่มชื่อและผู้ที่จะถูกเพิ่มชื่อ) ,การให้ผู้ร้อง/ผู้รับรองยืนยันและรับรองว่าบุคคลที่จะถูกเพิ่มชื่อนั้นเกิดที่ใด เมื่อใด ,การให้ยืนยันว่าบุคคลที่จะถูกเพิ่มชื่อเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่มาปรากฎ ณ สถานที่บันทึก,การให้ผู้ร้อง/ผู้รับรองทราบว่าการแจ้งข้อความเท็จกับพนักงานที่ทำการสอบสวนนั้นมีความผิดตามกฎหมายอาญา เป็นต้น บันทึกปากคำผู้ร้อง/ผู้รับรองจะลงลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำ ผู้สอบสวน และพยาน ๒ คน

การยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อครั้งนี้และการสอบสวนผู้ยื่นคำร้องกับผู้รับรองเป็นไปด้วยดี และทางอำเภอก็ได้รับคำร้องขอเพิ่มชื่อไว้เป็นที่เรียบร้อยด้วย ต่อไปคงเป็นขั้นตอนที่พนักงานเจ้าหน้าที่อำเภออุ้มผางพิจารณาคำร้องและการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งทางปกครอง(อนุมัติตามคำร้องหรือปฏิเสธคำร้อง)ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 503851เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2012 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุมังนะโจ้ง จะได้ฟ้องคดีในศาลปกครองกันไหมนะคะ

นับวันกันซิ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความปกครอง จะต้องใช้เวลากี่วันนะคะ

อาจารย์แหวว ขอบคุณมากครับ ตอนนี้เคสนี้กำลังใกล้รู้คำตอบเข้ามาทุกทีว่าจะต้องฟ้องศาลปกครองหรือไม่ (ลุ้นตัวโก่ง

แต่พยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ก็ได้แต่หวังว่า อำเภออุ้มผางจะไม่ผิดพลาดนะครับ

โจ้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท