ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 11. เคล็ดลับ (๑) เคล็ดลับจุดไฟแรงจูงใจ


ครูต้องไม่ให้รางวัลแก่การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ หรือแก่การทำชิ้นงานสำเร็จ แต่ให้รางวัลแก่การพัฒนาตนเองของ นศ. แต่ละคน มากกว่าการเปรียบเทียบกับเพื่อน ในการให้เกรด ต้องเน้นที่คุณภาพของงานที่ทำสำเร็จ ไม่ใช่ที่จำนวนชิ้นงาน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 11. เคล็ดลับ  (๑) เคล็ดลับจุดไฟแรงจูงใจ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๑๑ นี้ ได้จากบทที่ ๗ ชื่อ Tips and Strategies for Fostering Motivation

ตั้งแต่บันทึกตอนที่ ๑๑ เป็นต้นไป มาจาก Part Two – Tips and Strategies (T/S) ในหนังสือ    ซึ่งประกอบด้วย ๕ บท   แต่ละบทเป็นเคล็ดลับหนึ่งหมวด   รวมทั้ง ๕ หมวดมี ๕๐ เคล็ดลับ    ในบันทึกตอนที่ ๑๑ นี้เป็นหมวด เคล็ดลับจุดไฟแรงจูงใจ    มี ๑๓ เคล็ดลับ

ขอหมายเหตุความรู้สึกของผม   ที่เห็นต่างจากในหนังสือ ที่ใช้คำว่า motivation ซึ่งแปลว่าแรงจูงใจ    ส่วนตัวผมศรัทธาใน inspiration ซึ่งแปลว่าแรงบันดาลใจมากกว่า    แรงจูงใจมาจากภายนอก  แรงบันดาลใจมาจากภายใน   ผมชอบ inspiration/passion มากกว่า motivation   แต่ไม่ว่าจะใช้คำใด    โปรดตระหนักว่า   เรากำลังให้ความสำคัญต่อ จิตวิทยาการเรียนรู้  

 

คล. ๑  ตั้งความคาดหวังว่า นศ. ตั้งใจเรียน

จงตั้งความหวังไว้สูง ว่า นศ. ในชั้นจะตั้งใจเรียน และไม่ยอมให้ใครมาลบล้างความหวังนี้   ดังนั้นหาก นศ. คนใดแสดงท่าทีเบื่อหน่ายหรือง่วงเหงาหาวนอน จงหาโอกาสพูดคุยไต่ถามในโอกาสที่พบกันเป็นส่วนตัว   และสื่อสารให้ นศ. รู้ว่าครูไม่สบายใจที่มีการไม่ตั้งใจเรียน   ไม่ต้องการให้มีคนแสดงความไม่ตั้งใจเรียนในชั้นเรียน   เพราะมันทำลายบรรยากาศการเรียนของชั้น   จึงขอคำแนะนำว่าทำอย่างไรชั้นเรียนจะสนุกสนานไม่น่าเบื่อ 

แม้ว่า นศ. บางคนจะมีเหตุผลด้านการงานหรือเรื่องส่วนตัวที่ทำให้ง่วง    ครูต้องหาทางทำความเข้าใจว่า การมานั่งหลับในชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับ   เพราะมันทำลายบรรยากาศของชั้นเรียน   โดยครูช่วยให้ นศ. ได้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายขึ้น   โดยไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียนก็ได้    แต่เมื่อไรมาเข้าชั้นเรียน ต้องไม่แสดงท่าทีไม่ตั้งใจเรียน  

วิธีเอื้อให้ นศ. เลือกวิธีเรียนที่หลากหลาย ได้แก่ ยกเลิกการบังคับเข้าชั้นเรียน   เปิดโอกาสให้เรียนจากเอกสาร ที่จัดไว้ให้ในห้องสมุด  ใน media center  หรือ online  

การแสดงความเบื่อหน่ายในชั้นเรียนทำลายบรรยากาศ   และตรงกันข้าม ความกระตือรือร้นในการเรียนก็สร้างบรรยากาศ หรือติดต่อไปยังเพื่อนในชั้น   

 

คล. ๒  แสดงความกระตือรือร้นของครู

ผลการวิจัยด้านจิตวิทยาการเรียนรู้บอกว่า แม้ นศ. จะไม่รักวิชานั้น   แต่ก็จะตั้งใจเรียนหาก นศ. ชื่นชมครูผู้สอน   และในทางตรงกันข้าม นศ. มีแนวโน้มจะไม่สนใจหรือไม่ร่วมมือ หากมีความรู้สึกทางลบต่อครู 

ผู้เขียนอ้างผลงานวิจัย ที่ถามความเห็น นศ. ระดับ ป. ตรี ๗๐๐ คน   ให้เขียนพฤติกรรมของครูที่ตนไม่ชอบ   ได้คำตอบที่พบบ่อยที่สุดอยู่ใน ๑๐ อันดับแรก คือ “ไม่เอื้อเฟื้อ”  “เข้าไม่ถึง”  “ไม่ให้เกียรติ นศ.”   

นศ. บอกว่า บรรยากาศในชั้นเรียนเป็นแรงดึงดูดให้มาเรียน และตั้งใจเรียน   และครูที่ “จริงใจ”    “มีพลัง”  “กระตือรือร้น”  “มีไฟ”  “เข้าถึงง่าย”  “ยุติธรรม”  “มองโลกแง่ดี”  เป็นยอดปรารถนาของ นศ.

 

คล. ๓  ให้รางวัลแก่การเรียนรู้ ไม่ใช่แก่พฤติกรรม

เรื่องนี้ล้ำลึก และครูมักจะเดินผิดทาง    คือให้คำชม ยกย่อง ให้คะแนนเพิ่ม หรือยกเว้นไม่ต้องทำงานบางอย่าง แก่พฤติกรรมที่พึงประสงค์   และลงโทษ (เช่นหักคะแนน ตำหนิ ให้เกรดต่ำ)  หาก นศ. แสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์   เรื่องนี้นักจิตวิทยาการเรียนรู้บอกว่า เป็นการควบคุมพฤติกรรม   ไม่ได้กระตุ้นแรงจูงใจในการเรียน 

ผู้เขียนอ้างผลการวิจัยว่า การให้รางวัลแก่พฤติกรรมเป็น รางวัลจากภายนอก  (๑) ไม่ส่งเสริมให้ นศ. พัฒนาความรู้สึกว่าได้รับรางวัลจากภายในจิตใจของตนเอง จากความสนุกสนานในการเรียน   (๒)  รางวัลแก่พฤติกรรมอาจสื่อความหมายเป็นการติดสินบนแก่สิ่งที่ นศ. ควรทำอยู่แล้ว    (๓) เป็นการส่งเสริมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขจากภายนอก  แทนที่จะช่วยให้ นศ. พัฒนาท่าที คุณค่า ความเชื่อ และการเรียนด้วยความพึงพอใจของตน   ซึ่งจะเป็นการสร้างความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต แก่ นศ.

นั่นหมายความว่า ครูต้องไม่ให้รางวัลแก่การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ หรือแก่การทำชิ้นงานสำเร็จ   แต่ให้รางวัลแก่การพัฒนาตนเองของ นศ. แต่ละคน   มากกว่าการเปรียบเทียบกับเพื่อน   ในการให้เกรด ต้องเน้นที่คุณภาพของงานที่ทำสำเร็จ ไม่ใช่ที่จำนวนชิ้นงาน

 

คล. ๔  รู้จักใช้คำชื่นชม และคำตำหนิ

ครูมักคิดตื้นๆ ว่าการให้คำชมเป็น positive reinforcement   แต่ผลการวิจัยบอกว่าคำชมที่ไม่เหมาะสม เช่นชมเสียเลอเลิศ โดยที่ นศ. คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ   แทนที่จะก่อผลดี กลับเป็นผลร้าย   ทำให้ นศ. รู้สึกว่าครูกำลังแสดงท่าทีเหนือกว่า   หรือรู้สึกว่าครูชมแบบไม่จริงใจ   

ผู้เขียนอ้างถึงหนังสือและรายงานผลการวิจัยว่า ครูต้องมีวิธีชมที่พอดี แสดงความจริงใจ และชี้จุดที่น่าชื่นชม เช่น “รายงานไม่มีตัวสะกดการันต์ผิดเลย”  “ข้อคิดเห็นนี้ของเธอน่าสนใจมาก  ครูไม่เคยคิดถึงมาก่อน”

และในทางตรงกันข้าม ครูต้องฝึกใช้คำตำหนิอย่างสร้างสรรค์ (creative criticism)   คือบอกว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้าง  และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร   เขาแนะนำว่า คำติ จะมีคุณสมบัติสร้างสรรค์หาก ติพร้อมกับให้ข้อมูล  ติตามเกณฑ์คุณภาพ  ติที่พฤติกรรม  บอกสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง  ให้ทันทีทันใด  ให้เป็นการส่วนตัว  และให้เมื่อมีโอกาสพัฒนาให้ดีขึ้น    

 

คล. ๕  ให้ นศ. ได้บรรลุความต้องการพื้นฐาน เพื่อจะได้ตั้งใจอยู่กับความต้องการขั้นสูงขึ้นที่ตอบสนองการเรียนรู้

นี่คือการใช้หลัก Maslow’s hierarchy of needs เอามาตีความความต้องการในชั้นเรียน   นศ. ต้องไม่ถูกรบกวนด้วย physiological needs (หิว  ง่วง)   safety needs (เช่น กลัวถูกรังแก กลัวถูกครูด่า)   love needs (การยอมรับจากครู และเพื่อนๆ)  จึงจะมีใจจดจ่อกับความต้องการระดับสูงขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับความตั้งใจเรียน

เมื่อ นศ. แสดงอาการตามธรรมชาติว่ากำลังต้องการ physiological need คือง่วง เพราะเป็นเวลาบ่ายหลังอาหารกลางวัน   อาจารย์อาจช่วยโดยให้ทำกายบริหาร ๕ นาที ก่อนจะเรียนต่อไป  

ครูต้องหาทางสร้างบรรยากาศของความเป็นอิสระจากความหวาดกลัวว่า จะถูกเยาะเย้ยหากถามคำถามที่แสดงความไม่รู้ หรือแสดงความเห็นแปลกๆ

 

คล. ๖  ส่งเสริมให้ นศ. เป็นตัวของตัวเอง

เป็นเรื่องล้ำลึกและอาจเข้าใจยากสำหรับครูที่มีความตั้งใจสูง และคิดวางแผนการสอนมาอย่างดีมีขั้นตอน   ตรงที่การกำหนดกติกา ขั้นตอน เงื่อนไข การทดสอบ การบ้าน ฯลฯ ไว้อย่างเป็นระบบและกำหนดให้ นศ. ทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยไม่ยืดหยุ่น   การที่ครูทำเช่นนี้อาจก่อผลร้าย เพราะเป็นการแสดงออกด้วยพฤติกรรมว่า ชั้นเรียนเป็นของครู   ครูเป็นผู้กำหนด   นักเรียนมีหน้าที่ทำตามที่ครูสั่ง    ผลการเรียนจึงขึ้นกับการสอนของครู  ไม่ใช่ขึ้นกับการเรียนของตนเอง  

ชั้นเรียนที่ครูส่งเสริมให้ นศ. มีความเป็นตัวของตัวเอง   มีโอกาสเลือกแนวทาง กิจกรรมการเรียน และการทดสอบ เพื่อสร้างแนวความคิดว่า การเรียนเป็นเรื่องของ นศ.   นศ. ต้องรับผิดชอบการเรียนของตนเอง  

ผู้เขียนให้คำแนะนำในการสร้างความเป็นตัวของตัวเองของ นศ. ๙ ข้อ โดยอ้างอิงมาจากหลายแหล่ง

  1. บอกเหตุผลที่ชัดเจนแก่ นศ. ให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวิชาเรียน   และให้เข้าใจว่าตัว นศ. เองมีบทบาทสำคัญอย่างไร
  2. แสดงความรับรู้ความรู้สึกอึดอัดขัดข้องของ นศ. เมื่อจำเป็นต้องให้ นศ. ทำกิจกรรมที่ นศ. ผู้นั้นไม่อยากทำ
  3. ให้ทางเลือกการเรียนรู้หลายแบบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียน
  4. ให้ นศ. ได้มีโอกาสกำหนดกฎเกณฑ์กติกาในห้องเรียน
  5. ให้ นศ. ได้ร่วมกันกำหนดเวลา สถานที่ และลำดับของการส่งงานที่ครูมอบหมายให้ทำ
  6. ส่งเสริมให้ นศ. กำหนดเป้าหมายของตน และติดตามประเมินผลด้วยตนเอง
  7. ช่วยเหลือให้ นศ. รู้จักใช้เครื่องมือประเมินตนเอง  เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า  เพื่อรู้ขีดความสามารถของตนเอง  และเพื่อตรวจสอบหาอุปสรรคขัดขวางที่อาจเกิดขึ้น
  8. เปิดโอกาสให้ นศ. มีส่วนร่วมในกิจกรรมประเมินผล
  9. ให้เน้นเรื่องความรับผิดรับชอบต่อ นศ.   อย่าเข้าไปตัดสินถูก ผิด ดี ชั่ว

 

คล. ๗  สอนสิ่งที่สำคัญจำเป็นต้องเรียน

ในสมัยปัจจุบัน นศ. สามารถหาเนื้อหาวิชาเองได้   การสอนเพียงเพื่อ “รู้” วิชา ไม่เพียงพอ   ต้องให้เกิดความ “เข้าใจ”

ในยุคที่ “ความรู้ท่วมท้น” เช่นปัจจุบัน   ครูต้องเลือกเน้นการอำนวยให้ นศ. เรียนความรู้ส่วนที่จำเป็นสำหรับเป็นพื้นความรู้สำหรับการเรียนต่อยอดต่อไป    คือเขาแนะนำให้เขียนวงกลม ๓ วงซ้อนกัน   วงนอกเป็นความรู้ที่รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้   วงกลางเป็นความรู้ที่ควรรู้   และวงในเป็นความรู้ที่ต้องรู้   ครูต้องเน้นที่วงในนี้   และครูต้องมีความสามารถแยกแยะความรู้ออกเป็น ๓ วง  

นอกจากเลือกความรู้   ยังต้องอำนวยการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง   โดยเขาแนะนำว่า ให้พยายามลดการเรียนแบบ information-driven   และเพิ่มการเรียนแบบ process- และ application-driven

 

เนื่องจากบทที่ ๗ ของหนังสือ ว่าด้วยเคล็ดลับในการสร้างแรงจูงใจ มีทั้งหมด ๑๓ คล.   จึงขอแบ่งเป็นบันทึก ๒ ตอน   ในตอนที่ ๑๒ จะเป็น คล. ๘ - ๑๓

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๕๕

    

หมายเลขบันทึก: 503786เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2012 04:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2012 04:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท