ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๕๔. เจียมตัวว่าวิธีคิดเชิงเหตุผลผิดบ่อยกว่าที่คิด


 

          บทความเรื่องYour Scientific Reasoning Is More Flawed Than You Thinkใน Scientific American Website เตือนสติผมว่า วิธีคิดเชิงเหตุผลของผมคงจะตกอยู่ใต้มายาตามในบทความนี้ด้วย

 

          บทความนี้บอกว่าคนเรามีจุดอ่อนอยู่ที่ “ความเชื่อฝังใจ” (preconceived ideas) ซึ่งหมายความคิดว่าตนรู้   แต่ไม่รู้ว่าความรู้ที่ตนยึดถือนั้นผิด   มีผลทำให้วิธีคิดของตนผิดทั้งขบวน   นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด อย่างมั่นใจ   คือตัดสินใจอย่างมั่นใจ โดยไม่รู้ว่าที่ตนตัดสินใจนั้นผิด

 

          ความจริงในชีวิตก็คือ ความรู้ที่เราจดจำไว้จำนวนมากนั้น ได้ถูกความรู้ใหม่เข้ามาแทนที่แล้ว   และเป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้ความรู้เก่าล้าสมัย หรืออาจถึงกับผิด   แต่เราไม่รู้ จึงยังยึดถือความรู้เก่าที่ผิดหรือคลาดเคลื่อนนั้น  

 

          ร้ายกว่านั้นก็คือ เรารู้ว่ามีความรู้ใหม่ แต่เราไม่มีทักษะในการเอาลบความเชื่อเก่าออกไป เอาความรู้ใหม่เข้าไปแทนที่   ทักษะนี้เรียกว่าทักษะในการเรียนรู้ (learning skills)   คนจำนวนมากมีความบกพร่องด้าน learning skills   การศึกษาสมัยใหม่จึงเน้นการเรียนรู้เพื่อฝึกฝน learning skills มากกว่าเพื่อรับถ่ายทอดความรู้   การศึกษาสมัยใหม่นี้เรียกว่า 21st Century Learning

           ที่จริงในทักษะการเรียนรู้ (learning skills) นั้น มีทักษะการขจัดความรู้เก่า (de-learning) ทิ้งไป และเปิดรับความรู้ใหม่เข้าสู่สมอง (re-learning)    คนแก่อย่างผม ต้องการทักษะนี้มาก 

          เพราะอ่านบทความนี้ ผมจึงได้รู้ว่า ทฤษฎีผิดๆ ที่เราเชื่ออย่างฝังใจนั้น เขาเรียกว่า naïve theoryทำให้ผมคิดว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนเราก็เพื่อขจัดมายาคติที่ฝังอยู่ลึกในสมองของเราออกไป    และรับเอา ทฤษฎีใหม่เข้ามา

            ความยากลำบากอยู่ที่ "วงจรชีวิต" ของความรู้ มันสั้นลงเรื่อยๆ   คือความรู้เดิมเก่าและล้าสมัยเร็วขึ้น   ความรู้ชุดใหม่หลั่งไหลออกมาท้าทายความรู้ชุดเก่ามากขึ้นและเร็วขึ้นๆ 

           เปลี่ยนชุดความรู้ ส่วนที่เป็นทฤษฎี ส่วนที่เป็นประสบการณ์ ก็ว่ายาก   แต่ยังไม่ยากเท่า เปลี่ยนชุดความเชื่อฝังใจ

             เมื่อเข้าใจธรรมชาติของความเชื่อฝังใจ   เราก็จะไม่เถียงหรือทะเลาะกันในเรื่องนี้

 


วิจารณ์ พานิช

๒๓ ส.ค. ๕๕  ปรับปรุง  ๒๗ ก.ย. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 503681เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมอ่านข้อความของท่านอาจารย์หมอ ผมนึกถึงพราหมณ์หุหุกชาติที่พระพุทธเจ้าพบระหว่างทางสมัยแรกตรัสรู้ และบอกพราหมณ์ว่า ตรัสรู้เอง ไม่มีใครสอน พราหมณ์ส่ายหน้า และเดินจากไป และนึกถึง บัวเหล่าที่สี่ ซึ่งผมคิดว่า ไม่ใช่คนไม่มีความรู้
  • และทำให้ผมคิดว่า ผมไม่รู้อะไรเลย และนึกถึงคำว่า "วิชชา" ที่ตรงข้ามกับ "อวิชชา" ขอบพระคุณครับผม

ไม่มีคำใด จะใช้ที่เหมาะสมกว่าคำว่า "บัณฑิต" (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ที่แท้จริง ไม่มีอะไรแน่นอนคือ สิ่งที่แน่นอน แต่ ณ เวลาหนึ่งต้องมีหลักที่แน่นอนคือ เหตุผลที่อ้างอิงตามหลักวิชา หลักความจริง ณ.จุดเวลานั้น เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะคะ อาจไม่ถูกต้อง เช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท