ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเอกของโลกที่มีหลักคำสั่งสอนอันเปรียบเสมือนห้วงมหานทีแห่งสรรพศาสตร์ จึงมิใช่เพียงแค่เป็นปรัชญาหรือทฤษฎีเท่านั้น หากแต่ยังมีเนื้อหาครอบคลุมถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความนึกคิดแทบทุกด้านและที่สำคัญพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท และกิริยาวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้และเริ่มต้นแต่บัดนี้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา

          มนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มีความเชื่อ ความคิด อุปนิสัย ทัศนคติ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มารวมกันอยู่ภายในอาณาเขตเดียวกัน จึงทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหาการปกครองที่เหมาะสมมาใช้ในสังคม เพื่อให้สังคมนั้นๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี คือมีความสงบเรียบร้อย มีความยุติธรรม มีความสามัคคี ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม หากสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ไม่มีการนำการปกครองที่เหมาะสมมาใช้แล้ว ก็อาจทำให้สังคมนั้นประสบกับความสับสนยุ่งเหยิง เกิดความแตกแยก แย่งชิงผลประโยชน์ตามมา อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เห็นได้ในสังคมต่างๆ ในปัจจุบันนี้การปกครองที่เหมาะสมจึงเป็นที่ต้องการของทุกๆ สังคมเพราะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้มาซึ่งการมีเสถียรภาพทางสังคมและการนำสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ความผาสุก การบริหารและการปกครองของสังคมในอดีตมีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างใกล้ชิด มีการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ศาสนาจึงเป็นที่มาของอุดมการณ์รูปแบบเดียว เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการธำรงรักษาความชอบธรรมของการปกครองและการยอมรับของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครอง 

พระพุทธศาสนาทั้งที่เป็นส่วนพระธรรม คือคำสอน และพระวินัย คือ คำสั่ง มีคุณค่าต่อการปกครอง ทั้งในด้านการปกครองตนเอง การปกครองหมู่คณะและการปกครองประเทศหรือสังคมโดยส่วนรวมตลอดจนมีการปกครองโลกอยู่มาก กล่าวคือ มุ่งส่งเสริมให้บุคคลหมั่นสำรวจ ฝึกฝน ปรับปรุง เคารพ ควบคุม บังคับภายใน คือ จิตใจ เชื่อมั่นรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นการปกครองตนเอง รู้จักธรรมชาติและความต้องการของผู้อื่น ใช้พระคุณควบคู่กับการใช้พระเดช เป็นการปกครองหมู่คณะและปกครองประเทศหรือสังคมโดยส่วนรวม ตลอดมีการใช้ธรรมเป็นโลกบาล คือหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นธรรมปกครองโลก สังคมไทยได้รับอิทธิพลคำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการบริหารและการปกครอง โดยเฉพาะที่นำมาจากคัมภีร์ชาดก เช่น ทศพิธราชธรรม พละ ของกษัตริย์ เว้นจากอคติ ซึ่งเป็นธรรมของพระราชา ผู้นำ ผู้ปกครองโดยตรง เมื่อมองในแง่รัฐศาสตร์ ก็คือหลักแห่งการบริหารและการปกครองกายและใจ ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ชีวิตดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้องและก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า เป็นประมวลความรู้ทางศาสนาระบบหนึ่ง เช่นเดียวกับประมวลความรู้ทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เรียนกันอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ประมวลความรู้ทางพระพุทธศาสนา 


ว่าด้วยสิ่งสำคัญ ๔ ประการด้วยกัน คือ[๑]

                   ๑. ธรรมชาติของชีวิต

                   ๒. ธรรมชาติของจักรวาล

                   ๓. จุดมุ่งหมายของชีวิต

                   ๔. ทางไปสู่จุดมุ่งหมายของชีวิต

          ประมวลความรู้ทุกอย่าง ย่อมมีแหล่งที่มาหรือแหล่งกำเนิด การรู้แหล่งที่มาของศาสนาต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาศาสนา เพราะเป็นความรู้ ภูมิหลังของศาสนา ทำให้เราเข้าใจศาสนานั้นๆ ได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับการที่เรารู้ถึงมารดาบิดา และฐานะตระกูลของคนที่เรากำลังจะคบหาสมาคมด้วย ย่อมทำให้เราสามารถประเมินคุณค่าของเข้าได้ดีขึ้น

 

๑. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา[๒]

 

          พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเอกของโลกที่มีหลักคำสั่งสอนอันเปรียบเสมือนห้วงมหานทีแห่งสรรพศาสตร์ จึงมิใช่เพียงแค่เป็นปรัชญาหรือทฤษฎีเท่านั้น หากแต่ยังมีเนื้อหาครอบคลุมถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความนึกคิดแทบทุกด้านและที่สำคัญพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท และกิริยาวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้และเริ่มต้นแต่บัดนี้ 

          คำว่า “พระพุทธศาสตร์” แยกได้เป็น ๓ คำ คือ คำว่า พระ แปลว่าประเสริฐ ดีเลิศ คำว่า พุทธะ แปลว่า ผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบานในที่นี้หมายถึงท่านผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้ คำว่า ศาสตร์ แปลว่าความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย ซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์อย่างหนึ่งที่มุ่งอธิบายอย่างเป็นระบบในความที่น่าจะเป็นไปได้ เมื่อรวมกันแล้วได้ความหมายว่าองค์แห่งความรู้ของผู้รู้-ผู้ตื่น-ผู้เบิกบานอย่างประเสริฐ

          ในบรรดาองค์แห่งความรู้ทั้งหมดนั้นเป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วยพระองค์เองจนสามารถกำหนดเป็นทฤษฎีแห่งความรู้ต่างๆ มากมาย ในที่นี้จะแบ่งลักษณะความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพียงแค่น้อยนิดเท่านั้น แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑. คำสอนที่ทรงค้นพบใหม่ เช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

๒. คำสอนที่ทรงปฏิรูปจากลัทธิ ศาสนาเดิม เช่น การทำบุญให้ได้ผลสมบูรณ์จะต้องทำกับผู้เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด หรือบริสุทธิ์โดยตระกูล พระองค์ทรงปฏิรูปโดยให้ทำกับปฏิคาหก (ผู้รับ) ที่มีศีลบริสุทธิ์มีคุณธรรม และทายก (ผู้ถวายหรือผู้ให้) จะต้องมีความบริสุทธิ์ใน ๓ กาล คือก่อนให้-ขณะกำลังให้-หลังจากให้แล้ว

            ๓. คำสอนที่ทรงปฏิวัติ เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญจัดเป็นมหามงคลอย่างยิ่ง สามารถบันดาลให้ตนสำเร็จตามปรารถนา พระองค์ทรงเห็นตรงกันข้ามว่าการฆ่าเป็นบาปทั้งสิ้น            ความรู้ในพระพุทธศาสนาแม้จะมากมาย ถึงกระนั้นก็ตามพระพุทธศาสนามีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่พระนิพพาน คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดังนั้นการบรรลุนิพพานก็คือการเข้าถึงความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง และบรรลุความสุขอย่างสูงสุด จิตของผู้บรรลุนิพพานย่อมมีความสะอาดสว่างและสงบตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่และเมื่อดับขันธ์แล้วก็เป็นการสิ้นทุกข์ ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป เมื่อมนุษย์ไม่สามารถเข้าสู่เป้าหมายอันสูงสุดได้อย่างรวดเร็วทางพระพุทธศาสนาจึงได้กำหนดอัตถะ หรือประโยชน์ที่เป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายรองเอาไว้ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นที่มุ่งหวังสำหรับมนุษย์เอาไว้ ๓ ระดับ ดังนี้

          ๑. ทิฏฐิธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือประโยชน์ปัจจุบัน เช่นมีสุขภาพที่ดี มีเงินใช้และมีงานทำ มีสถานภาพที่ดี และมีครอบครัวที่ผาสุก เป็นต้น

          ๒. สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือประโยชน์เบื้องหน้า เช่น ความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ความภาคภูมิใจ ความอิ่มใจ ความแกล้วกล้ามั่นใจ และความโล่งจิตมั่นใจ เป็นต้น

          ๓. ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ไม่ผิดหวังและเศร้า มีความปลอดโปร่งสงบ และเป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นต้น

          พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่มีเหตุและผลเป็นศาสนธรรมว่าโดยแม่บทอันเป็นหลักการใหญ่ที่เรียกว่า ปาพจน์ มี ๒ อย่างคือ พระธรรมกับพระวินัย ว่าโดยปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์หลักของศาสนามี ๓ คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ว่าโดยหัวข้อที่เรียกว่าธรรมขันธ์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์[๓]

 

๒. ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

 

           พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ด้วยชนชาติไทยได้นับถือและยกย่องเทิดทูนเป็นสรณะแห่งชีวิต สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของชาติส่วนใหญ่ มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา

          องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นพระประมุขของชาติทุกๆ พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนาตลอดมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน จวบจนกาลปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าพระพุทธศาสนาได้สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญของชาติไทยตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

          กล่าวได้ว่าชาติไทยได้มีความเจริญมั่นคง ดำรงเอกราชอธิปไตยสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล จวบจนกาลปัจจุบัน ก็ด้วยคนไทยทั้งชาติยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความเคารพบูชาพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ พระพุทธศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิตของชาวไทย โดยมีส่วนเสริมสร้างอุปนิสัยของคนในชาติให้รักความสงบ มีความเสียสละ แกล้วกล้า อาจหาญ รอบรู้ฐานะ อฐานะ มีความรักและยึดมั่นอยู่ในสามัคคีธรรม

          โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยดังกล่าวนี้ ชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๕ ของประชากรทั้งประเทศเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามีอิทธิพลเป็นอันมากต่อความเชื่อ และความประพฤติ หรือการดำรงชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่

          หากมองดูสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าแม้ชาวไทยเราส่วนใหญ่จะเป็นพุทธศาสนิกชนดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักเป็นกันตามจารีตประเพณี หรือเป็นพุทธศาสนิกชนตามสำมะโนครัว มักไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาได้เท่าที่ควร ทั้งนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน[๔]

 

๓. ความสำคัญของพระพุทธศาสนากับสังคมไทย

 

       พระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติ และอยู่เคียงคู่กับชาติไทยมาโดยตลอด ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย พอสรุปได้ดังนี้[๕]

          ๑) พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของคนไทย เพราะคนไทยนำหลักธรรมมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และลักษณะนิสัยของคนไทยมีจิตใจที่ดีงามใน  ทุกๆ ด้าน มีความเป็นมิตรกับทุกคน เป็นต้น 

         ๒) พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการปกครองประเทศ กษัตริย์ทุกพระองค์ของไทยได้นำเอาหลักธรรมพระพุทธศาสนาไปใช้ในการปกครองประเทศ เช่น ทศพิธราชธรรม ตลอดมา หรือใช้หลัก “ธรรมาธิปไตย” และหลักอปาริหานิยธรรม เป็นหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น

         ๓) พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ เนื่องจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งเน้นให้เกิดความรักความสามัคคีกัน มีความเมตตากรุณาต่อกัน เป็นต้น จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวไทยให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน

            ๔) พระพุทธศาสนาเป็นที่มาของวัฒนธรรมไทย ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับพระพุทธศาสนา จึงเป็นกรอบในการปฏิบัติตนตามหลักพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาต่าง ๆ เช่น การบวช การแต่งงาน การทำบุญเนื่องในพิธีการต่างๆ การปฏิบัติตนตามประเพณีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมไทยจนถึงปัจจุบัน

๕) พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สังคมไทยส่วนใหญ่นับถือ และสืบทอดกันมาเป็นช้านาน ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญของวิถีชีวิตของคนไทย พระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านศิลปกรรม

          ๖) พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่อย่างแนบแน่นกับพระพุทธศาสนา ซึมแทรกผสมผสานอยู่ในแนวความคิด จิตใจและกิจกรรมแทบทุกก้าวของชีวิตโดยตลอดเวลายาวนาน โดยยังคงเนื้อหาสาระเดิมที่บริสุทธิ์ไว้ได้ก็มี ถูกดัดแปลงเสริมแต่งตลอดจนปนเปกับความเชื่อถือและข้อปฏิบัติสายอื่นหรือผันแปรในด้านเหตุอื่นๆ จนผิดเพี้ยนไปจากเดิมก็มาก

            ๗) พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นเอกลักษณ์ของชาติ การที่พระพุทธศาสนาอยู่กับคนไทยมาช้านาน จึงก่อให้เกิดการซึมซาบเอาหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ไม่เหมือนกับชาติอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เด่นได้แก่ รักความเป็นอิสระ และความมีน้ำใจไมตรี

          ๘) พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นมรดกของชาติ หลักฐานทางคัมภีร์และศาสนาวัตถุ ซึ่งนักประวัติศาสตร์โบราณคดีเชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนสุวรรณภูมิก่อน พ.ศ. ๕๐๐ แต่ศรัทธาความเชื่อของปุถุชนก็เป็นไปตามยุคสมัย พระพุทธศาสนาจึงรุ่งเรืองและเสื่อมลงตามกาลสมัยด้วย จนกระทั่งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้สถาปนากรุงสุโขทัยและรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ครั้นราว พ.ศ. ๑๘๓๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ อาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชไปกรุงสุโขทัยและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจนมั่นคงยืนนานมาในปัจจุบันนี้

          ๙) พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างสรรค์อารยธรรม ชนชาติหนึ่ง ๆ นอกจากมีหน้าที่ต้องพัฒนาประเทศชาติของตนเองแล้ว ก็พึงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และส่งเสริมอารยธรรมโลกด้วย ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่เก่าแก่มากชนชาติหนึ่ง มีวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้าอย่างสูงมาตลอดเวลายาวนาน จึงได้มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมอารยธรรมของโลกด้วย แม้ว่าจะอยู่ในขอบเขตที่ไม่กว้างนัก ส่วนร่วมที่ว่านี้ก็คือ ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจนมีแบบแผนเป็นของตนเอง อย่างที่เรียกว่ามีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเด่นชัด ศิลปวัฒนธรรมไทยเหล่านี้มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่

๑๐) พระพุทธศาสนาในฐานะที่ช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่โลก พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานอารยธรรมที่สำคัญของโลกดังได้กล่าวมาแล้ว พระพุทธศาสนายังช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่ชาวโลกได้ หากศึกษาในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีทั้งการสร้างสรรค์     อารยธรรมและสันติภาพแก่มวลมนุษย์ นั่นคือ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป พระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย กล่าวคือสังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์เป็นวรรณะต่าง ๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้ากับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำเรียนไม่ได้ เป็นต้น เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่อง วรรณะ ๔ พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า “คนมิใช่ประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะการกระทำ” แล้วก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ให้หันมาหวังผลจากการกระทำ นี่คือการ ประกาศอิสรภาพของมนุษย์

 

๔. แนวคิดประชาธิปไตยตามแนวพระพุทธศาสนา

 

          การศึกษาถึงแนวคิดประชาธิปไตยตามแนวพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตย โดยศึกษาข้อมูลที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ดังรายละเอียดดังนี้

          หลักประชาธิปไตย คือการให้อำนาจแก่ประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน การให้อำนาจทั้งทางนิติบัญญัติ การบริหาร และด้านตุลาการ หลักการสำคัญของระบอบการเมืองที่ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากประชาคมโลกอย่างแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๕ ประการ คือ

          ๑) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) เพื่อแสดงออกถึงอำนาจในการปกครองของประชาชนโดยแท้จริง ประชาชนจะแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของโดยใช้อำนาจกำหนดตัวผู้ปกครอง และผู้แทนของตน รวมทั้งอำนาจในการถอดถอนในกรณีที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งของประชาชนอย่างอิสรเสรีแบบลับและทั่วถึง มีกำหนดเวลาที่แน่นอน[๖]   ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักอธิปไตย ๓ ประการคือ หลักอัตตาธิปไตย คือการเอาตนเป็นใหญ่ หลักโลกาธิปไตย คือการเอาโลกเป็นใหญ่ และหลักธรรมาธิปไตย คือการเอาหลักธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งพระพุทธศาสนามุ่งเน้นหลักธรรมาธิปไตยเป็นรูปแบบในการปกครองที่ดีที่สุด

          ๒) หลักเสรีภาพ (Liberty) หมายถึง การที่บุคคลสามารถกระทำ หรืองดเว้นกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่ต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำหรืองดเว้นการกระทำนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน[๗] ตามหลักพระพุทธศาสนา มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ ไว้ในพระวินัยไว้อย่างชัดเจน เช่น การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสงฆ์ในการทำญัตติกรรม ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ สงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป ได้แก่ การสวดปาฏิโมกข์ ทำสังฆกรรม เป็นต้น การทำญัตติจตุตถกรรม ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรค คือ สงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ได้แก่ การกรานกฐิน เป็นต้น และญัตติจตุตถกรรม ทำด้วยสงฆ์ ๑๐ รูปขึ้นไป (ยกเว้นในที่กันดารที่หาพระสงฆ์ได้ยาก) ได้แก่ การอุปสมบท เป็นต้น นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังให้หลักเสรีภาพในการคิด เช่น ชาวกาลามะ ในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ในกาลามสูตร ๑๐ ประการ เช่น อย่าเชื่อเพียงเพราะเล่าสืบกันมา ฟังตามกันมา ข่าวลือ การอ้างตำราหรือทฤษฎี เป็นต้น หากจะเชื่อต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบตามหลักของโยนิโสมนสิการ

          ๓) หลักความเสมอภาค (Equality) คือ ในระบอบประชาธิปไตยเชื่อมั่นว่า หากมนุษย์มีโอกาสที่เสมอภาคเท่าเทียมกันถึงแม้ว่าจะมีความสามารถที่แตกต่างกันก็ตาม มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตที่ดีร่วมกันได้ ดังนั้นความเสมอภาคจึงหมายถึง ความเสมอภาคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนในสังคมเดียวกันมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันได้[๘] ในพระพุทธศาสนา จะเห็นได้อย่างชัดเจนในการให้ความเสมอภาคในเรื่อง วรรณะ   เชื้อชาติ เช่น บุคคลไม่ว่าจะอยู่วรรณะไหนก็สามารถเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ และนับถือกันในเรื่องของพรรษา โดยไม่คำนึงว่าจะอยู่วรรณะใด เชื้อชาติใด หลักความเสมอภาคในการเคารพนับถือพระรัตนตรัย เป็นต้น

          ๔) หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) หลักการนี้มีขึ้นเพื่อมุ่งจะให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้ปกครองจะใช้อำนาจใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ อีกทั้งการใช้อำนาจนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเท่านั้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ ของประชาชนจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายเท่านั้น[๙] ในพระพุทธศาสนามีพระวินัย ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่เป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหมู่คณะมีความสงบสุข ข่มคนชั่ว ปกป้องคนดี จนถึงเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม คือพระพุทธศาสนา เป็นต้น

          ๕) หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ในการตัดสินใจใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตัวผู้ปกครอง หรือการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และเพื่อให้มั่นใจว่าการตัดสินใจนั้นสะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงก็จะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย (Minoirty Right) ทั้งนี้ เพื่อประกันว่าฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้มติในลักษณะพวกมากลากไป[๑๐] ในพระพุทธศาสนา ก็ใช้หลักเสียงข้างมาก เป็นเครื่องตัดสิน เช่น การรับกฐิน จะต้องมีการถามท่ามกลางสงฆ์ว่า พระภิกษุรูปใดสมควรได้รับผ้ากฐิน โดยมีการเสนอพระภิกษุรูปที่สมควรได้รับผ้ากฐิน หากพระภิกษุสงฆ์เห็นด้วยก็เปล่งวาจาพร้อมกันว่า “สาธุ” หรือหากภิกษุรูปใดทำผิดพระวินัย ก็มีการตัดสินที่เรียกว่า “เยภุยยสิกา” คือ การระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ ทั้งอธิกรณ์และการระงับสงฆ์ส่วนใหญ่ และในการประชุมทำสังฆกรรมต่างๆ นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ หากมีข้อข้องใจมีสิทธิยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงพระภิกษุรูปเดียวทักท้วง สงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟัง ดังกรรมวาจาที่ว่า “ยสฺสายสฺมโตขมติ...โสตุณฺหสฺสยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย” แปลว่า “ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใด ผู้นั้นพึงพูดขึ้น”

 

             กล่าวโดยสรุป สาระที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนพื้นฐานปฏิบัติการเพื่อเสรีภาพของบุคคล คือ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางสังคม และเสรีภาพทางการเมือง พระพุทธเจ้า คือบุคคลผู้ชูประทีปแห่งประชาธิปไตย และเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจังต่ออิสรภาพ สมภาพ และภราดรภาพ เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มวลมนุษย์จะมีเสรีภาพที่แท้จริงได้

 



[๑]แสง จันทร์งาม, พุทธศาสนวิทยา, (กรุงเทพมหานคร: สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๔๔), หน้า ๑–๒.

[๒]พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม), ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (พะเยา: โรงพิมพ์เจริญอักษร, ๒๕๕๐), หน้า ๑ - ๓.

[๓]คูณ โทขันธ์,  พุทธศาสนากับสังคมและวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพมหานคร: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ , ๒๕๔๕), หน้า ๑.

[๔]พิทูร มลิวัลย์ และไสว มาลาทอง, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๒),

หน้า ๑.

[๕]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ, พิมพ์ครั้งที่ ๑๐,  (กรุงเทพมหานคร: สหธรรมิก, ๒๕๔๓), หน้า ๙–๑๐.

[๖]ศาลรัฐธรรมนูญ, สำนักงาน. “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ” รวมบทความทางวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ๓ : (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๗), หน้า ๓-๔.

[๗]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔.

[๘]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔.

[๙]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔.

[๑๐]เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔-๕.

หมายเลขบันทึก: 503671เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท