กับทุกความสุขในพุทธเถรวาท


ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ได้อธิบายถึงความสุขในพุทธเถรวาทไว้ว่า

สรุปได้ว่า ความสุขในระดับสูงที่เป็นอุดมคติของพุทธศาสนาเถรวาทคือนิพพานสุข เป็นสุขที่ปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิงและถาวร แต่พุทธศาสนาเถรวาทก็มิได้ปฏิเสธความสุขในระดับต่ำคือกามสุขและฌานสุข เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า ยังมีสุขที่ดีกว่าความสุขเหล่านั้น

วัชระ งามจิตรเจริญ พุทธศาสนาเถรวาท หน้า ๔๓๔

Tiny_whatbuddhateachbg

ความสุขในพุทธศาสนานั้นมีหลายระดับ พอจะแยกเป็นลักษณะใหญ่ๆได้ ๓ ลักษณะดังที่ ดร. วัชระได้อธิบายแล้ว แม้ว่าความสุขในระดับต้นจะเกี่ยวข้องกับกามสุข แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธความสุขนั้น หากชี้ให้เห็นสุขที่ยิ่งกว่าเป็นลำดับขั้น ที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์ได้ ให้เราเห็นและเลือกที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง

[๔๕] ส่วนใดๆของกามทั้งหลายที่ละได้
ส่วนนั้นๆก็บันดาลให้เป็นสุขได้
ถ้าปรารถนาสุขทุกส่วน ก็ควรละกามให้หมด
เหมือนช่างหนังตัดเอาหนังมาทำรองเท้า

ขุ.ชา.(แปล) ๒๗/๔๕/๓๘๑

สาเหตุที่พุทธศาสนาเถรวาทไม่ได้ปฏิเสธความสุขระดับที่ต่ำกว่านิพพานสุข ก็เพราะการให้ความสำคัญกับสมมติบัญญัติ และ ปรมัตถบัญญัติอย่างเท่าเทียมกัน เช่น เมื่อยังเป็นฆราวาส แม้จะทราบว่านิพพานเป็นธรรมสูงสุดของพุทธศาสนา แม้จะเบื่อหน่ายการว่ายเวียน แม้จะทราบว่าตัวเราที่เคลื่อนไหวได้ คิดได้ อาพาธได้นี้เป็นเพียงองค์รวมของธาตุทั้ง ๖ อันแยกเป็นขันธ์ทั้ง ๕ ไม่เป็นตัวตนที่ถาวรแต่อย่างไร แม้เราจะทราบว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ด้วยความเป็นปรมัตถ์ว่าไม่เป็นตนที่พึงยึดถือได้ แต่เราก็ยังละความยึดถือมั่นในตัวตน ของตน ไม่ได้ ดังนั้น หากเราปฏิเสธความสุขที่ชอบธรรมที่เราพึงมีตามฐานะ ตั้งความหวังในความสุขสูงสุดในพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว เราคงยากที่จะอยู่ในโลกด้วยจิตที่มีความสุขเป็นพื้นฐาน

Tiny_whatdidbuddhateachba

และเราก็ยังทราบอีกว่า ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ได้สมมติสัจจะว่าชื่อนี้ มีฐานะเป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นนายงาน เป็นผู้รับทำงาน จึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อขันธ์อื่นๆตามสมมติบัญญัตินั้นอย่างถูกต้อง เพื่อความเรียบร้อย ความสงบสุขและการพัฒนาทั้งของสังคมและของตัวเราเอง เราจึงปฏิบัติให้สอดคล้องกับสมมติสัจจะ เราจึงมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสังคมอย่างมีความสุข

เมื่อชีวิตโดยรวมสงบสุข เป็นปรกติ (ศีล) เราจึงมีโอกาสที่จะพบสมาธิได้มากขึ้น มีโอกาสที่จะใช้จิตที่เป็นสมาธินี้ พิจารณาธรรมให้เห็นแจ้งมากขึ้น

เพราะชีวิตที่มีความสุขเป็นพื้นฐานจึงจะสามารถทำการต่างๆได้อย่างประสบผลสำเร็จ ดังที่ปรากฏในพระคาถานี้

[๕๕] นรชนใดมีจิตไม่ย่อท้อ มีใจไม่หดหู่
บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนนั้นพึงบรรลุความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ

ขุ.ชา.(แปล) ๒๗/๕๕/๒๓

Tiny_whatbuddhateachaa

ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้ปฏิเสธความสุขระดับที่ต่ำกว่านิพพานดังกล่าว ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้บรรยายไว้มีใจความว่า การที่บุคคลจะยอมรับหลักธรรมในพุทธศาสนา พุทธศาสนาต้องพบเขาในจุดที่เขายืนอยู่ แล้วค่อยๆจูงเขาออกมาสู่สิ่งที่ดีที่สุด

ตามคำอธิบายของท่าน ผู้เขียนเข้าใจว่า เพื่อจะพบกับมนุษย์ในจุดที่เขายืนอยู่ จึงต้องยอมรับสุขโดยชอบธรรมของมนุษย์ (เช่น สุขจากการยินดีในคู่ของตน สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์) ให้มนุษย์ควบคุมสุขโดยชอบธรรมนั้นโดยไม่ก้าวล่วงสุขของผู้อื่นและไม่สยบมัวเมาแม้ในความสุขที่ชอบธรรมนั้นอันเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ ให้เพียรเพื่อพบสุขที่ประณีตขึ้นไปตามลำดับ ให้ค่อยๆปล่อยวางความสุขที่เจือด้วยทุกข์ และค่อยๆกลืนหายไปกับภาวะที่มีความสุขสงบที่แท้จริง

ดังนั้น หากเรานำธรรมมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต กับเหตุปัจจัย ปฏิบัติต่อสมมติบัญญัติโดยให้คล้อยตามปรมัตถ์ เราจึงอยู่อย่างสงบสุขได้ท่ามกลางสิ่งที่เห็นว่าไม่ควรยึดถือ ไม่เที่ยงแท้นั้น ซึ่งการปฏิบัติต้องค่อยๆเป็นไป ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ ตามสมมติสัจจะ โดย

ปฏิบัติให้ชอบต่อสมมุติ แต่ทางจิตใจนั้นต้องปฏิบัติผ่อนคลายความยึดถือ ให้เข้าถึงปรมัตถสัจจะดังเช่นทุกคนมีสมมุติสัจจะอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เช่น เป็นหญิงเป็นชาย ชื่อนั่นชื่อนี่ มียศตำแหน่งอย่างนั้นอย่างนี้ และยังมีสมมุติอื่นๆอีกหลายอย่างหลายประการ เหล่านี้เป็นสมมุติสัจจะก็ต้องให้มีสมมติญาณ คือ ความหยั่งรู้ในสมมุติ ว่านี่เป็นสมมุติ และใครเมื่อได้รับสมมุติอย่างไรก็ปฏิบัติไปให้ เช่น เป็นหญิงหรือเป็นชายก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะของหญิงหรือชาย เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะนั้นๆ เป็นบรรพชิตก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะของบรรพชิต เป็นภิกษุ สามเณร คฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็ปฏิบัติให้เหมาะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ศึกษาให้รู้จักปรมัตถ์สัจจะด้วยว่า อันที่แท้จริงนั้น เป็นเพียงสมมุติแต่ละอย่าง

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๑๐

การไม่สันโดษในเหตุ (คือเพียรปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรม) ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยตามธรรมใหญ่ ปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสันโดษในผล (คือไม่หวังผลในการบรรลุธรรมที่เกินกว่าการปฏิบัติ หรือในระดับสูง คือไม่คาดหวังผลแต่อย่างใดเลย) เราก็จะมีชีวิตอย่างสงบสุขในขณะที่ค่อยๆก้าวหน้าไปในทางธรรมขึ้นเรื่อยๆ

Tiny_whatbuddhateachbc

แต่อย่างไรก็ดี ก็มีข้อควรระวัง คือ เมื่อปฏิบัติจนชีวิตพบความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ หากเรายึดมั่นกับความสุขในปัจจุบัน ก็อาจเกิดความเสียดายที่จะละความสุขเหล่านั้นไป และเพราะความที่เรารู้อยู่ว่าความสุขในปัจจุบันล้วนเกิดจากการปรุงแต่ง (ยอดของสังขตธรรมคือมรรคมีองค์ ๘) จึงไม่ถาวรและกลับกลายเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้ยังเวียนวนอยู่ในวัฏฏะ ต่างจากความสุขสงบอย่างแท้จริง อันเป้นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา จึงเกิดการขัดแย้งกันระหว่าง การยึดมั่นความสุขในปัจจุบัน กับการฝึกเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

ความเสียดายที่จะละทิ้งสุขในทุกๆด้านที่พบในชีวิตปัจจุบันไป(เพราะการที่ยังละความยึดถือมั่นในภาพของอัตตาไม่ได้) เพื่อบรรลุจุดสูงสุดในพุทธศาสนา ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาได้ บ้างในบางขณะจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาเพื่อละความยึดมั่นในความสุขด้วย

เปรียบกับการขึ้นบันได ก็เป็นการขึ้นไปทีละขั้น ที่มือเรายึดราวบันไดขั้นต่ำเพื่อปล่อยเมื่อเท้าของเราก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นที่สูงขึ้น เราจึงไม่เหนื่อยหน่าย ไม่ท้อถอย ไม่หวาดหวั่นกับอันตราย เพราะมีจุดหมายอยู่เบื้องหน้า และรู้ว่า เมื่อเราขึ้นบันไดอย่างมั่นคงและมั่นใจ อย่างไรเสียก็ไม่ตกลงไปให้บาดเจ็บอยู่พื้นล่าง

หมายเลขบันทึก: 503521เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 05:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดียามเช้าค่ะ

ขอบคุณสำหรับธรรมะที่แบ่งปันค่ะ

"ปฏิบัติให้ชอบต่อสมมุติ แต่ทางจิตใจนั้นต้องปฏิบัติผ่อนคลายความยึดถือ..."

สุดยอดของสังขตธรรมคือมรรคมีองค์ ๘................

     ทำศีลให้บริสุทธิ์.......ก็อื่มมมเอาการ!!!  สมาธิ......ก็โอ้!!!!  ดังนั้น สู้ๆๆ(กับตัวเอง)

ขอบคุณทุกท่านค่ะ

ทั้งที่ แวะมา ฝากดอกไม้ ฝากความเห็น ไว้

สรุปว่า (ตามความรู้ของน้องเอง)

เราดำเนินชีวิตไปกลาง ๆ มีความสุขโดยชอบธรรมของเราเอง แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลายความยึดถือ จนกว่าจะพบความสุขสงบกับความสุขที่แท้จริง

หรือเปล่าคะ 

น้องหมอ Blank คะ

ค่ะ

เรามีความสุขกับสิ่งที่พึงมีพึงได้โดยชอบธรรม (สันโดษในผลในระดับต้น)

เพียรนำธรรมมาปฏิบัติในชีวิต(ไม่สันโดษในเหตุ) ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตทั้งในปัจจุบันและเลยตาเห็น (เช่น เมื่อโกรธใคร ก็หยิบเรื่องการยึดมั่นในหู เสียง ผัสสะ เวทนา เป็นต้น ขึ้นมาพิจารณา จนเห็นความเป็นจริงว่าเพราะเรายังมีความยึดถือมั่นในภาพของอัตตาอยู่ ฯลฯ ที่ผูกโกรธ -ความโกรธในครั้งหลัง-  เพราะหยิบเรื่องที่ทำให้โกรธในครั้งแรกขึ้นมาคิดอยู่เรื่อยๆ ก็เท่ากับมีวิตก วิจาร มีอาหารอยู่ จึงวางความโกรธลงไม่ได้ เมื่อเห็นความจริงต่างๆอยู่บ่อยๆ ก็จะค่อยๆคลายความยึดมั่นในสิ่งต่างๆลงไป เพราะความยึดมั่นค่อยๆคลายไป จึงมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ)

แต่ไม่หวังผลในการปฏิบัติ (สันโดษในผลในระดับสูง)

ความสุขจึงมากขึ้นเรื่อยๆค่ะ

แต่ก็มีข้อควรระวังคือเมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้องระวังที่จะไม่ยึดมั่นในความสุขด้วย อันทำให้ต้องวุ่นวายพิจารณาคลายความยึดมั่นในความสุขอีก ไม่อย่างนั้นอาจทำให้อยากให้ธรรมาธิษฐาน กลายเป็นบุคคลาธิษฐานไป

เข้าใจว่าทางมหายาน ที่แสดงนิพพานว่าเป็นดินแดนที่เรียกว่าพุทธเกษตร อาจจะเพราะการยึดมั่นในความสุขด้วยก็ได้คะ

mail หาชลัญหน่อยส่งข่าว 101.99 หลังไมค์ [email protected]

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท