กฎ (ธรรมชาติ) แห่งเศรษฐกิจ : ๑


“กฎ (ธรรมชาติ) แห่งเศรษฐกิจ” ที่ครอบคลุมกลไกการทำงานเพื่อจัดสรรพลวัตรทางเศรษฐกิจให้มีระเบียบและเข้าสู่จุดดุลยภาพโดยเสมอคือ กฎแห่งอุปสงค์อุปทาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวของการเข้าสู่จุดดุลยภาพ (ความสมดุล) นั้น จะไม่ใช่จุดดุลยภาพเดิมที่เคยเป็นมา แต่จะเป็นดุลยภาพใหม่ภายใต้องค์ประกอบของพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเหตุทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งดุลยภาพทางเศรษฐกิจก็จะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ไม่ซ้ำเดิม

                  

          ภาพ : กฎ (ธรรมชาติ) แห่งเศรษฐกิจ

 

    เมื่อมีความต้องการ (demand) หรือกิเลสเพิ่มขึ้น :

          เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการ (กิเลส) เพิ่มสูงขึ้นในการดำเนินชีวิต กระบวนการของวงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจก็จะเริ่มก่อเกิดและทำงานผ่านกลไกการสนองตอบต่อความต้องการเหล่านั้นในเบื้องแรก ซึ่งการสนองตอบต่อความต้องการนั้นนำพาไปสู่การเข้าไปทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การนำมาเป็นปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการ) ยิ่งความต้องการมาบรรจบกับการสนองตอบอยู่ในระดับที่สูงมากขึ้นเท่าใด แนวโน้มของการก้าวข้ามเข้าไปทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ความต้องการ (กิเลส) นั้นเปรียบเสมือนเป็นยาเสพติดที่ผู้เสพนั้นโดยพื้นฐานจะมีความต้องการในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำสินค้าและบริการที่ตัวเองอยากได้มาบำบัดตอบสนองต่อความอยากของตน

 

    จาก “อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ” ที่ว่า :

 

วงจรหลักแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ

 

 

     กระบวนการที่ ๑  เพราะความต้องการ           เป็นปัจจัย         การสนองตอบจึงมี

     กระบวนการที่ ๒ เพราะการสนองตอบ           เป็นปัจจัย         ราคา (เทียบสัมพัทธ์)จึงมี

     กระบวนการที่ ๓ เพราะราคา (เทียบสัมพัทธ์)  เป็นปัจจัย         การแลกเปลี่ยนจึงมี

     กระบวนการที่ ๔ เพราะการแลกเปลี่ยน          เป็นปัจจัย         เงินจึงมี

     กระบวนการที่ ๕ เพราะเงิน                           เป็นปัจจัย        การสะสมความมั่งคั่งจึงมี

     กระบวนการที่ ๖ เพราะการสะสมความมั่งคั่ง    เป็นปัจจัย       การเก็งกำไรจึงมี

    กระบวนการที่ ๗ เพราะการเก็งกำไร              เป็นปัจจัย       วิกฤติเศรษฐกิจจึงมี

 

    ๗ กระบวนการ เป็น ๑ รอบ ของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์

 

         โดยปรกติทั่วไปแล้วกระบวนการของวงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ กระบวนการที่ ๑ – ๔ นั้นถือได้ว่าเป็นกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่มี การผลิต  การแลกเปลี่ยน และการบริโภค แต่ หากว่ามนุษย์มีความต้องการ (กิเลส) ที่เพิ่มขึ้นโดยขาดซึ่ง “สติหรือเป็นไปในลักษณะความอยากนำปัญญา” แล้วก็จะนำพามาของกระบวนการของวงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจที่ ๕, ๖ และ๗ ตามลำดับ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ จะรุนแรงมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของปัจจัยทางด้านมูลค่าของตลาดการเก็งกำไรเป็นสำคัญ

          ในการเข้าสู่กระบวนการของวงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจนั้น อุปสงค์ – อุปทาน โดยผ่านกลไกการตลาดจะคอยเกลี่ยความต้องการและปริมาณสินค้าให้เข้าสู่จุดดุลยภาพอยู่เสมอ โดยผ่านกลไกการทำงานของ “ราคา” (ตามกระบวนการที่ ๑ – ๔) ที่จะคอยจัดระเบียบของตลาดให้มีเสถียรภาพ หากเมื่อใดที่มนุษย์เริ่มก้าวข้ามพ้นผ่านจากกระบวนการที่๑ – ๔ ไปสู่กระบวนการที่ ๕, ๖ และ ๗ ตามลำดับแล้ว กลไกการตลาดตามแนวคิดของคลาสสิกจะด้อยประสิทธิภาพลงทันที เนื่องจากเป็นการเข้าไปบิดเบือนกฎแห่งอุปสงค์อุปทาน

               - มนุษย์ผู้ใดที่ทำผิดต่อกฎ ระเบียบ ทางสังคม ก็จะถูกลงโทษตามกฎ ระเบียบทางสังคมดังกล่าวนั้น หรือแม้แต่ในบางครั้งบางคราวอาจจะรอดเงื้อมมือของกฎหมายแต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถรอดพ้นกฎแห่งกรรมไปได้

               - มนุษย์ที่ทำผิดต่อกฎธรรมชาติ ก็จะถูกธรรมชาติลงโทษและเรียกค่าสินไหมชดเชย เช่น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเพิ่มขึ้น การเกิดภาวะโลกร้อน น้ำท่วม เป็นต้น

        เฉกเช่นเดียวกันกับในกรณีทางเศรษฐกิจหากกฎแห่งอุปสงค์อุปทาน (ถือได้ว่าเป็นกฎธรรมชาติแห่งเศรษฐกิจ) ถูกบิดเบือนไปโดยการเก็งกำไรในตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อสนองตอบต่อลัทธิการสะสมความมั่งคั่งแล้ว ระบบเศรษฐกิจก็จะปรับสมดุลใหม่ด้วยการชำระตัวของมันเอง (ล่มสลาย) ซึ่งในกระบวนการของการปรับดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจนั้น จะสะท้อนออกมาเป็นผลของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในลักษณะของเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำ เช่น เกิดภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืด การว่างงาน การล้มละลายของธุรกิจ เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ส่งถึงผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจว่า กฎแห่งอุปสงค์อุปทานกำลังเจ็บป่วยหนัก (ถูกบิดเบือนจากการเก็งกำไร) ซึ่งวิธีที่จะรักษาเยียวยากฎแห่งอุปสงค์อุปทานในภาวะเจ็บป่วย (เสียสมดุล) ดังกล่าวก็จะมี

                ๑. ปล่อยไปตามกลไกการตลาดให้ปรับตัวเอง (คลาสสิก) หรือ

                ๒. ต้องมีเจ้าภาพ (รัฐบาล) เข้าไปบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบใหม่ (เคนส์)

 

      ๑. ปล่อยไปตามกลไกการตลาดให้ปรับตัวเอง (คลาสสิก)

           สำนักคลาสสิก : แนวคิดหรือปรัชญาของสำนักคลาสสิกในกระบวนการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ให้ความสำคัญกับการผลิต (Aggregate Supply) เป็นอย่างมาก เกี่ยวเนื่องจาก “กฎของซาย” (Say’s Law) ซึ่งมีใจความสั้น ๆ ที่ว่า “อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ในตัวเอง” (supply creates its own demand) กล่าวคือ การที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาก็เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนในตลาดกับสินค้าและบริการชนิดอื่น ดังนั้น สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาหรืออุปทานจึงก่อให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการอื่น ๆ หรืออุปสงค์เป็นมูลค่าที่เท่ากันเสมอ กฎของซายไม่ได้เน้นว่าอุปทานของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะต้องก่อให้เกิดอุปสงค์สำหรับสินค้าชนิดนั้น แต่กฎนี้เน้นว่าเมื่อพิจารณาระบบเศรษฐกิจเป็นองค์รวมแล้ว อำนาจซื้อย่อมเท่ากับอำนาจการผลิตหรือไม่ว่าการผลิตจะอยู่ในระดับใดก็ตาม รายได้ที่เกิดจากการผลิตในระดับนั้นจะก่อให้เกิดรายจ่ายเป็นจำนวนที่เท่ากันเสมอ ดังนั้นรายจ่ายจำนวนนี้ก็จะเป็นจำนวนที่เพียงพอที่จะสามารถซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้ทั้งหมด ซึ่งปัญหาสินค้าล้นตลาด (market glut) หรือการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ (overproduction) จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่าขณะใดขณะหนึ่งมีการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป ก็เป็นเพราะว่ามีการผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการผลิตสินค้าทุก ๆ ชนิดมากเกินไปในช่วงเดียวกัน ดังนั้นสินค้าชนิดหนึ่งที่ล้นตลาดจึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับที่สินค้าชนิดอื่น ๆ ขาดตลาด การที่สินค้าชนิดอื่น ๆ ขาดตลาดนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความพอใจในสินค้าที่ขาดตลาดนั้น และถ้าหากว่ามีการแข่งขันโดยเสรีแล้ว ทรัพยากรก็จะเคลื่อนย้ายออกจากการผลิตสินค้าที่ล้นตลาดไปยังการผลิตสินค้าที่ขาดตลาด ทำให้ทั้งปัญหาสินค้าล้นตลาดและขาดตลาดถูกขจัดหมดสิ้นไป ซึ่งหลักการความคิดพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสำนักคลาสสิก คือ

             . เสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic freedom) ตามหลักการนี้บุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพในการที่จะประกอบธุรกิจ และหน่วยธุรกิจก็มีเสรีภาพในการที่จะเข้าหรือออกจากอุตสาหกรรม นอกจากนี้บุคคลแต่ละคนก็ยังมีเสรีภาพในการที่จะแสวงหางานตามแต่ที่เขาจะหาได้ และออกจากงานเมื่อเขาปรารถนา

             . ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเอง (self interest) ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้โดยความคิดที่เชื่อกันตามที่ อดัม สมิท กล่าวไว้ว่า บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนย่อมเท่ากับถูกชักนำโดย “มือที่มองไม่เห็น” (invisible hands) ก่อให้เกิดสวัสดิการแก่เพื่อนร่วมชาติ ดังนั้นในการที่แต่ละบุคคลดำเนินการสิ่งใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขาก็เท่ากับได้ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวมไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่จะเห็นได้เด่นชัดเจนในเรื่องนี้ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการดำเนินการโดยการแสวงหากำไรก็เท่ากับว่าผู้ประกอบการได้มีส่วนในการทำให้มีการจ่ายค่าแรงงานให้แก่ลูกจ้าง ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้จัดหาวัตถุดิบ และจัดให้มีซึ่งสินค้าและบริการสำหรับสังคม ความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองทำหน้าที่เป็นพลังชีวิตให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม ตามทัศนะของ อดัม สมิท สังคมจะดำรงอยู่ได้โดยการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นผลของความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองของแต่ละบุคคล

             . การแข่งขัน (competition) ในโลกที่มีการค้าเสรีและมีความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองการแข่งขันเป็นตัวควบคุมและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันช่วยบังคับไม่ให้เกิดการผูกขาดเกิดขึ้น การที่อุปทานของสินค้ามาจากผู้ขายเป็นจำนวนมากรายย่อมช่วยควบคุมไม่ให้หน่วยธุรกิจใดหน่วยธุรกิจหนึ่งตั้งราคาสินค้าสูงเกินไป การแข่งขันยังช่วยป้องกันไม่ให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง ยิ่งกว่านั้นการแข่งขันยังเป็นพลังที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม (innovation) และทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าใหม่ ๆ บริโภคในราคาถูกลง และช่วยทำให้ไม่เกิดภาวะสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาดหรือขาดตลาด โดยการจัดสรรของกลไกที่ผ่านการปรับปรุงในราคาและผลิตผล

             . การดำเนินการโดยเสรี (laissez faire) ในโลกซึ่งทุกคนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ มีความสนใจในผลประโยชน์ของตนเองและมีการแข่งขันนั้น บทบาทของรัฐบาลก็ควรจะเป็นบทบาทที่น้อยมาก โดยรัฐบาลควรปล่อยให้เอกชนดำเนินงานโดยเสรี คือ รัฐบาลควรปล่อยให้เอกชนดำเนินงานไปโดยลำพังและปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามที่เป็นอยู่ (let alone, let be) นอกเหนือไปจากการออกตัวบทกฎหมาย การให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน การป้องกันประเทศและการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว รัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงในการดำเนินกิจกรรมของระบบเศรษฐกิจ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในการตัดสินกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น การดำเนินการโดยเสรีไม่ได้หมายความว่าระบบเศรษฐกิจจะต้องเป็นระบบที่ไม่มีรัฐบาลโดยสิ้นเชิงหรือเป็นระบบอนาธิปไตย (anarchy) หากแต่บทบาทของรัฐบาลจะเป็นบทบาทที่น้อยมากและจำกัดอยู่เฉพาะในการจัดให้มีโครงสร้างทางการเมืองที่เหมาะสมและเกื้อหนุนจุนเจือต่อการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy)  

            

          สำนักคลาสสิกให้ความสำคัญกับ Aggregate Supply โดยมีเครื่องมือในการจัดสรรผลผลิตให้บรรลุเป้าหมายของทางเศรษฐกิจคือ “กลไกตลาด (ราคา)” หรือที่เรียกว่า มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) โดย อดัม สมิท ย้ำว่าหากการแลกเปลี่ยนเป็นไปโดยเสรีแล้ว ระบบเศรษฐกิจย่อมจะดำเนินงานโดยมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่การที่จะเป็นเช่นนี้ได้ไม่เพียงแต่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนโดยเสรีเท่านั้น แต่ตลาดยังต้องมีเสถียรภาพอีกด้วย และเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดเสถียรภาพในตลาดก็คือ การแข่งขันซึ่งจะเป็นเครื่องหมายที่ตีตราประทับรับรองในทำนองรับประกันว่าสินค้าขายได้หมด (markets clear) อยู่เสมอ จึงไม่เกิดสถานการณ์ที่มีสินค้าล้นตลาดหรือขาดตลาด

           แนวความคิดของสำนักคลาสสิกในเรื่องเศรษฐกิจจะยึดติดถือมั่นใน กลไกตลาด โดยการปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเสรี ห้ามการเข้าไปแทรกแซงโดยรัฐบาล ซึ่งกลไกตลาดที่ว่านี้จะช่วยเกลี่ยความต้องการของผู้ซื้อสินค้าและปริมาณสินค้าของผู้ที่เสนอขายให้เกิดความสมดุลได้ตลอดเวลา  เช่น สมมติว่ามีสินค้า ก. และสินค้า ข. หากว่าสินค้า ก. มีความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้า ก. ออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการไม่ให้สินค้า ก. ขาดตลาด ในทำนองเดียวกันหากสินค้า ก. มีความต้องการของผู้ซื้อลดลง ผู้ผลิตก็จะลดการผลิตลงให้พอดีกับความต้องการที่ลดลงเพื่อไม่ให้สินค้า ก. ล้นตลาด ซึ่งการเพิ่มหรือลดในกระบวนการการผลิตสินค้า ก. ดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าอื่นที่ใช้ปัจจัยการผลิตเดียวกัน สมมติว่ากระทบต่อสินค้า ข. โดยสินค้า ก. ที่ขายดี แสดงว่าสินค้า ข. มียอดขายลดลง เมื่อเพิ่มการผลิตสินค้า ก. (นั่นแสดงถึง การไปเบียดบังเอาปัจจัยการผลิตของสินค้า ข. มาใช้) ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สินค้า ข. ก็จะผลิตลดลงจึงไม่ทำให้สินค้า ก. ขาดตลาด และสินค้า ข. ก็ไม่ล้นตลาด (สินค้า ก. และ ข. ยืดหยุ่นตามอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป) ในทำนองเดียวกัน หากลดการผลิตสินค้า ก. ลงเนื่องจากยอดขายไม่ดี (นั่นแสดงถึง การโยกย้ายถ่ายโอนปัจจัยการผลิตไปสู่สินค้า ข. ที่ขายดีกว่า) สินค้า ข. ก็จะผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด จึงไม่เกิดสินค้า ก. ล้นตลาดและสินค้า ข. ขาดตลาด เป็นไปตามกฎของซาย (Say’ Law) ที่มีใจความสั้น ๆ ที่ว่า “อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ในตัวเอง” (Supply Creates Its Own Demand) โดยที่สำคัญต้องปล่อยให้กลไกตลาด (ราคา) ทำงานได้โดยอิสระเสรี ห้ามเข้าไปแทรกแซงตลาดโดยเด็ดขาด ดุลยภาพของตลาดก็จะเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งอดัม สมิท เรียกกลไกเหล่านี้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” (invisible hand)

 

           ๒. ต้องมีเจ้าภาพ (รัฐบาล) เข้าไปบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบใหม่ (เคนส์)

                สำนักเคนส์เซี่ยน บางคนอาจจะเข้าใจว่าแนวความคิดของสำนักคลาสสิกและของสำนักเคนส์เซี่ยนซึ่งนำโดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์  (John Maynard Keynes) ยืนอยู่คนละขั้วอย่างสิ้นเชิง แต่ความเป็นจริงแล้ว ปรัชญาและแนวความคิดของทั้งคลาสสิกและเคนส์ก็ยังคงให้น้ำหนักเกี่ยวกับควรปล่อยให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปโดยเสรี แต่ต่างกันตรงวิธีการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจเท่านั้นเอง โดยเคนส์จะให้น้ำหนักของภาครัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าทางสำนักคลาสสิก ซึ่งที่เป็นอย่างนั้นก็เนื่องจากว่า ผลของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ ๑๙๓๐ ปรากฏว่ามีกองทัพคนว่างงานหลายล้านคน ซึ่งสร้างความฉงนงุนงงให้กับเหล่าบรรดาสาวกสำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีวี่แววว่ายาขนานเอกที่รักษาโรคทางเศรษฐกิจ (ไม่ว่าจะเป็นโรคเงินเฟ้อ เงินฝืด การว่างงาน) ยี่ห้อคลาสสิกโดยมีตัวยาที่สำคัญคือ กลไกตลาดและการปล่อยเสรี จะรักษาหรือบรรเทาโรคร้ายให้หายได้ มิหนำซ้ำการว่างงานยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

              

          เป็นธรรมดาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แนวความคิดและกระบวนการการแก้ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป โดยที่ตัวยาของสำนักคลาสสิกถูกมองว่าไม่สามารถเยียวยารักษาอาการของผู้ป่วยได้และในขณะเดียวกันผู้ป่วยยังเกิดอาการดื้อยา และมีภาวะแทรกซ้อน ถ้ารอให้ตัวยา (กลไกตลาด) ออกฤทธิ์ และก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานเท่าไร หรือไม่ผู้ป่วยอาจทรุดหนักและอาจจะเสียชีวิตไปเลยก็ได้ คนเราเมื่อถึงภาวะคับขันก็ต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า และคำตอบนั้นก็มาจบอยู่ที่ยารักษาโรคยี่ห้อเคนส์เซี่ยน โดยมีตัวยาที่สำคัญคือ การจัดการทางด้านอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demand) เป็นตัวยาหลัก ซึ่งเคนส์นอกจากสามารถที่จะวินิจฉัยโรคได้ตรงตามอาการแล้วยังมีวิธีการรักษาที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น โดยสาระสำคัญ เคนส์ชี้ให้เห็นว่า ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตรา (full-employment equilibrium) เสมอไป ทั้งนี้ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจอาจเป็นดุลยภาพที่มีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเงินฝืด หรือปัญหาการว่างงานก็ได้ และแท้ที่จริงแล้ว ภาวะที่มีการจ้างงานเต็มอัตราเป็นสภาวการณ์พิเศษ เคนส์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางสถาบันมีส่วนสำคัญในการทำให้กลไกราคาไม่อาจปรับตัวได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเชื่อว่า เมื่อมีการว่างงานอัตราค่าจ้างย่อมลดต่ำลง เกี่ยวเนื่องจากคนว่างงานบางส่วนยินดีทำงานโดยรับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง การปรับตัวของอัตราค่าจ้างจะช่วยขจัดให้การว่างงานหมดไป แต่เคนส์กลับชี้ให้เห็นว่า เมื่อค่าจ้างตกต่ำจนถึงระดับหนึ่งแล้วจะไม่ปรับตัวลดต่ำลงไปอีก เป็นไปในลักษณะของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความไม่ยืดหยุ่นของอัตราค่าจ้างในการปรับตัวลดลง (downward wage inflexibility) นี้เองที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในดุลยภาพที่มีการว่างงาน (unemployment equilibrium) ได้ ด้วยเหตุที่กลไกราคาไม่อาจนำพาระบบเศรษฐกิจให้เข้าสู่ดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตราได้โดยอัตโนมัตินี้เอง เคนส์จึงมีข้อเสนอแนะทางนโยบายว่า รัฐบาลต้องมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหาควรปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจล่องลอยไปตามยถากรรมและขึ้นอยู่กับการชักพานำไปของกลไกตลาดไม่ เพราะลำพังการทำงานของกลไกราคาไม่อาจแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด และการว่างงานได้ หัวใจของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดการอุปสงค์มวลรวม พัฒนาการของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian economics) ในเวลาต่อมาส่วนหนึ่งมุ่งศึกษาเทคนิควิธีจัดการอุปสงค์มวลรวมหรือที่เรียกว่า demand management policy เพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้ว่า ทำอย่างไรอุปสงค์มวลรวมจึงจะอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีการว่างงานนั่นเอง ด้วยเหตุที่หัวใจของการรักษาเสถียรภาพของทางเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดการอุปสงค์มวลรวมให้อยู่ในระดับที่ขจัดการว่างงานให้หมดไปนี้เอง เคนส์มีความเห็นว่า งบประมาณแผ่นดินควรเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยที่งบประมาณแผ่นดินไม่จำต้องอยู่ในภาวะสมดุลเสมอไป รัฐบาลจะเลือกใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น ๆ

 

         กฎ (ธรรมชาติ) แห่งเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหมุนเวียนในการเกิดวิกฤติแล้วนำไปสู่การจัดระเบียบดุลยภาพทางเศรษฐกิจใหม่ และจากการจัดระเบียบดุลยภาพทางเศรษฐกิจเมื่อมนุษย์มีกิเลสที่ขาดปัญญาก็จะนำพาไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักรเรื่อย ๆ ตราบเท่าความต้องการ (กิเลส) ยังคงมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ซึ่งการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหมุนเวียนเปลี่ยนไปสู่การจัดดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ (อนิจจัง) และปัจจัยเหตุของการเกิดวิกฤติก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตานั่นเอง    

 

********************************************************************************************************************

 

หมายเลขบันทึก: 502803เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ลดกิเลส ลดกิเลส ลดิเลส ค่ะจะท่องไว้

อิทัปปัจยตาทางเศรษฐกิจเลยนะครับ

รู้เหตุ..รู้ปัจจัย..พึงแก้ไขด้วยวิถีพอเพียง..สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน..ขอบคุณค่ะ..

ใช่แล้ว ตรงเป๊เลยหละค่ะ ==> มนุษย์มีความต้องการ ดังนั้น ความต้องการคือ กิเลส ความอยากได้ (เงิน ลาภ ยศ สรรค์เสริญ) อยากเป็น (ต่ำแหน่งสูงขึ้น) อยาก อยาก อยาก นะคะ ผลของความยาก คือ ทำร้ายตนเอง คนในครอบครัว คนรักกันต้องกลายเป็น "คนเกียจกัน.....เป็นสัตรูกัน" เพราะ ความอยาก ไม่จบสิ้น ไม่พอ นะคะ

ขอบคุณมากๆ นะคะ

ขอบพระคุณ ทพญ.ธิรัมภา มากครับที่แวะมาให้กำลังใจ...และได้ฝึกลดกิเลส... :)

ขอบพระคุณ อาจารย์โสภณ มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ...

         อิทัปปัจยตาทางเศรษฐกิจเลยนะครับ

         ... :)...ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน...จากความต้องการ...วิกฤติเศรษฐกิจ...ครบ ๑ รอบของกระบวนการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์.

ขอบพระคุณ อาจารย์พี่ใหญ่ มากครับสำหรับกำลังใจและข้อคิดดี ๆ ที่มอบให้เสมอมา...

      เพราะพอเพียง (จิตวิสัย) จึงมี เพียงพอ (วัตถุวิสัย)...

       รู้เหตุ...ความต้องการ...แก้ที่เหตุ (นั้น) ด้วยวิถีพอเพียง...:)     

ขอบพระคุณ อาจารย์P'Ple มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและให้ข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ...


Self-conquest is the freatest of victory. “การชนะใจตนเองเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

Plato (เพลโต)

ขอบคุณ อาจารย์ณัฏฐวัฒน์ มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ...

ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้จากทุก ๆ ท่านด้วยครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท