จินตนาการ ความรู้ และ ความจำ ตามความหมายของไอสไตน์


วันนี้ไปนึกถึง คำพูดของไอสไตน์ ตามที่เคยได้ยินจากคนเขียนอ้างถึงบ่อยๆ ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" แล้วคนมักจะสรุปกันแบบง่ายเข้าว่า ว่าความรู้ไม่สำคัญ ผมไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของคนที่ชอบอ้างคำกล่าวนี้ ความจริงควรต้องดูทั้งบริบท ในภาพรวม เพื่อจะได้เข้าใจความหมายจริงๆ ว่าเขาพูดว่าอย่างไร ผมจะแปลเป็นไทยให้ชัดว่าเขาพูดว่ายังไงมาทั้งช่วง


ไอสไตน์เขียนไว้ (อ้างอิงจาก wikiquotes) ว่า "ผมเชื่อมั่นใน(ความสำคัญของ)ปรีชาญาณ และ แรงบันดาลใจ ... ในหลายๆ ครั้งผมรู้สึกแน่ใจว่า ผม(หยั่งรู้ขึ้นมา)ถูกต้องโดยที่ไม่รู้เหตุผล แต่อุปราคาในปี ๑๙๑๙ ก็ย้ำว่าปรีชาญาณของผม(ถูกต้อง) ผมก็ไม่อยู่ใน(สถานะที่ผมเองรู้สึก)ประหลาดใจที่สุด ตามความจริงแล้วผมควรจะประหลาดใจ(ด้วยซำ้)ถ้าหากว่ามันกลับไปเป็นอย่างอื่น จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะเหตุว่าความรู้(ในตัวเรา)มีขีดจำกัด แต่ว่าจินตนาการครอบคลุมไปทั้งโลก กระตุ้นความก้าวหน้า ก่อให้เกิดวิวัฒนาการ(ของความรู้) พูดให้เจาะจงลงไป จินตนาการเป็นปัจจัยแท้จริงในการ(ทำ)วิจัยทางวิทยาศาสตร์"

ในวงเล็บผมเติมภาษาไทยและคำอธิบายให้เต็มเอาเอง เพราะประโยคภาษาอังกฤษละคำเอาไว้ในฐานที่คนอ่านเข้าใจได้เอง แต่ถ้าไม่เติมเมื่อแปลมาเป็นไทยแล้วจะงง เข้าใจยาก

(พจนานุกรมแปล intuition เป็นศัพท์ปรัชญาไว้ว่า อัชฌัติกญาณ หรือคณิตศาสตร์ว่า สหัชญาณ แต่ผมเลือกใช้คำที่คนธรรมดาๆ พอเข้าใจง่ายๆ ว่า ปรีชาญาณ แปลว่า ความหยั่งรู้ขึ้นมาได้ในตัวเอง หวังว่านักภาษาศาสตร์คงไม่ตำหนิว่าผิด)

ผมสังเกตอยู่สามสี่จุด 

หนึ่งคือ คำว่าจินตนาการ ที่เขาพูดเขาอาจจะหมายความในแง่ กระบวนการในสมองที่ทำให้ก่อเกิดปรีชาญาณ คงไม่ใช้ในแง่หลงคิดฝันเฟื่องในเรื่องอะไรไร้สาระตามกิเลส นี่ว่าตามสำนวนไทยพุทธ

อีกจุดหนึ่งคือ คำว่าโลก (world) ว่าเขาน่าจะหมายความในแง่ "โลกที่รับรู้ได้จากอายตนะ" ซึ่งกว้างมาก หมายถึงทุกสิ่ง ไม่ได้หมายถึง "ดาวเคราะห์โลก" (earth) นี่ก็ตีความแบบชาวพุทธเหมือนกัน

จุดที่สามก็คือ เขาไม่ได้บอกว่าความรู้ไม่สำคัญ เขาพูดว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ นั่นคือความรู้ก็สำคัญอยู่

และผมก็คิดอีกว่า ในบริบทของเขา คำว่าความรู้ เขาน่าจะหมายถึงความรู้ภายในตัวคน คือ ความรู้จากอายตนะในตัวเขาหรือในตัวคนๆ ใดก็ตาม นั่นคือ จากอัชฌัติกายตนะ (ดูจากศัพท์ intuition ซึ่งไทยเราแปลว่า อัชฌัติกญาณ ก็ได้) ซึ่งมนุษย์มีขีดจำกัดอยู่ เขาน่าจะไม่ได้หมายความถึงความรู้ของมนุษยชาติทั้งมวล เพระประโยคต่อมาเขาพูดถึงวิวัฒนาการ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าที่ละไว้อีกคือเขาหมายถึงความก้าวหน้าสั่งสมของความรู้ของมนุษยชาติที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อยากสรุปก็คือ ไอสไตน์เห็นความสำคัญของ ปรีชาญาณ และ จินตนาการมาก ว่าสำคัญสำหรับวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ก็สำคัญ และก็ถ้าผมจะพูดเกินประเด็นออกไปอีก ความจำก็สำคัญเพราะเป็นการทรงจำความรู้เอาไว้ใช้ ถ้าสมองเราจำอะไรไม่ได้เลยก็ใช้ไม่ได้ สิ่งที่จำเป็นต้องจำก็ต้องจำ เช่น เราต้องจำได้ว่าตัวอักษรไหนคืออะไร คำไหนแปลว่าอะไร นักเคมีก็ต้องจำสูตรเคมีที่ตนใช้ได้ นักฟิสิกส์ก็ต้องจำสมการที่ตนเองใช้ได้ ชาวนาก็ต้องจำได้ว่าตัวเองใช้ปุ๋ยแบบไหน ไม่ใช่ความรู้ไม่สำคัญ ไม่ใช่ความจำไม่สำคัญเสียเลย

 

หมายเลขบันทึก: 502782เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท