ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 7


ช่วงนี้พอจะมีเวลา เลยทำบทเรียนไว้ เผื่อมีธุระปะปัง...

-ธาตุ หมวดที่ 6

 

1. พ้นธาตุหมวดที่ 1 มาแล้ว ซึ่งเราจำได้ดีแล้วว่า ธาตุหมวดที่ 1 เมื่อนำมาใช้เป็นกริยาหลัก ปัจจุบันกาล ต้องทำคุณที่สระตัวแรกของธาตุ (เว้นธาตุที่มีสระเสียงยาว สะกดด้วยพยัญชนะตัวเดียว และที่มีสระเสียงสั้น สะกดด้วยพยัญชนะสองตัว)

 

บทนี้เรามาเรียนการใช้ธาตุหมวดที่ 6 หรือ อทาทิ คณะ (อทฺ+อาทิ) โดยมีธาตุราว 70 กว่าตัว ธาตุตัวแรกคือ √อทฺ จึงเรียกธาตุหมวดนี้ว่า อทาทิ

 

2. อะ (á) เป็นปัจจัยประจำหมวด สำหรับใช้สร้างปัจจุบันกาล เช่นเดียวกับธาตุหมวด 1 แต่ไม่ต้องทำคุณ... ง่ายเลยใช่ไหม

เช่น √กฺษิปฺ (ขว้าง) + อะ = กฺษิป เป็นเค้ากริยา นำไปเติม ปัจจัยบอกบุรุษได้ เช่น กฺษิปติ กฺษิปตสฺ กฺษิปตนฺติ.

 

อะ ปัจจัยของหมวด 6  (á) มีเสียงเน้น (stress) ขณะที่ อะ (a) ของหมวด 1 นั้นไม่มีเสียงเน้น (จะได้เรียนรายละเอียดในโอกาสต่อไป)

 

3. ที่ใดมีกฎ ที่นั่นย่อมมีข้อยกเว้น คตินี้ใช้ได้ดีที่สุดกับไวยากรณ์ภาษาสันสกฤต ข้อยกเว้นดังต่อไปนี้ (ธาตุที่แจกรูปพิเศษ จะให้รูปสำเร็จไว้ในรายการคำศัพท์ท้ายบท)

 

4. ธาตุหลายตัวที่ลงท้ายด้วย ฤ เมื่อสร้างเค้ากริยา จะเปลี่ยน ฤ เป็น อิรฺ (ไม่ใช่การทำคุณ) เช่น

√กฺฤ (หว่าน) > กิรฺ + อะ = กิร, เติมปัจจัยบอกบุรุษ เป็น กิรติ กิรตสฺ กิรนฺติ เป็นต้น

 

5. ธาตุที่ลงท้ายด้วยสระ อิ, อุ/อู จะเปลี่ยนสระเป็น อิยฺ และ อุวฺ ตามลำดับ ก่อนจะเติม อะ (ปัจจัยประจำหมวดธาตุ) เช่น

√กฺษิ (ทำนา) > กฺษิยฺ + อะ = กฺษิย 

√สุ (คั้น, บีบ) > สุวฺ + อะ = สุว

√ธู (เขย่า)  > ธุวฺ + อะ = ธุว (ไม่ใช่ ธูว)

 

6. ธาตุเปลี่ยนรูปพิเศษ ก่อนจะนำไปแจกรูปในปัจจุบันกาล

√อิษฺ (ปรารถนา) > อิฉฺ (จากนั้นนำไปเติมปัจจัย อะ ตามปกติ) ได้ อิจฺฉ (แทรก จฺ เมื่อ ฉฺ ตามหลังกริยา จำได้ไหม บอกไว้ในบทก่อน) เป็นเค้ากริยา. จากนั้นก็เติมปัจจัยบอกบุรุษ เป็น อิจฺฉติ อิจฉามิ ฯลฯ

√ฤ (ไป) > ฤฉฺ > ฤจฺฉฺ > ฤจฺฉติ

√ปฺรฉฺ (ถาม) เปลี่ยนรูปธาตุเป็น ปฺฤฉฺ (บางตำราว่า ธาตุตัวนี้เป็น √ปฺฤฉฺ อยู่แล้ว)

 

7. ธาตุจำนวนหนึ่งจะแทรกเสียงอนุสวารก่อนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น

√สิจฺ แทรก เป็น สึจฺ, แปลง อนุสวาร เป็น ญฺ, ลงปัจจัย อะ เป็น สิญฺจ,  เติมปัจจัยบอกบรุษ เป็น สิญฺจติ

 

8. การเปลี่ยน อนุสวาร มีหลักดังนี้

เมื่ออยู่หน้า มฺ และ วฺ จะเปลี่ยนเป็น นฺ

เปลี่ยนเป็น ญฺ เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะวรรค จฺ

เปลี่ยนเป็น นฺ เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะวรรค ต

เปลี่ยนเป็น มฺ เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะวรรค ป

เป็น เครื่องหมายนิคหิต (ก็คือ อนุสวาร ตัวเดิมนั่นแหละ) เมื่ออยู่หน้า ร ศ ษ ส และ ห

เป็น เครื่องหมายนิคหิต กับเครื่องหมายโค้ง เมื่ออยู่หน้า ย ล ว

(ทั้งหมดนี้รายละเอียดปลีกย่อยอีก, ยังไม่ได้ใช้อะไรในตอนนี้ ให้ไว้แค่ดับข้อสงสัย)

 

ศัพท์

ธาตุหมวด 6

√อิษฺ* iṣ (อิจฺฉติ) อยากได้ (อิจฉา มาจากศัพท์นี้)

√กฺฤษฺ kṛṣ (กฺฤษติ) ไถ, ทำนา (เกษตร, กษัตริย์ ก็ว่ามาจากศัพท์นี้)

√กฺษิปฺ kṣip (กฺษิปติ) ขว้าง

√ทิศฺ diś ชี้ (ทิศติ) แสดง (ทิศ นิเทศ เทศนา มาจากศัพท์นี้)

√ปฺรฉฺ* prach (ปฺฤจฺฉติ) ถาม (ใช้กรรมสองตัว เมื่อถามสิ่งหนึ่ง กับคนหนึ่ง)

√วิศฺ viś (วิศติ) เข้าไป (นิเวศ มาจากศัพท์นี้

√สิจฺ* sic (สิญฺจติ) หยด, พรมน้ำ (เสก, อภิเษก มาจากศัพท์นี้)

√สฺฤชฺ spṛj (สฺฤชติ) ปล่อย, สร้าง (สฤษฎ์ มาจากศัพท์นี้)

√สฺปฺฤศฺ  spṛś (สฺปฺฤศติ) สัมผัส, ล้าง

 

ธาตุหมวด 1

√คุหฺ* guh (คูหติ) ซ่อน (คำว่า คูหา มาจากศัพท์นี้) (สร้างเค้ากริยาโดยยืดเสียงสระ แทนที่จะทำคุณ)

√สทฺ* sad (สีทติ) นั่ง (สร้างเค้าโดยแทรกเสียงสระอี)

* เป็นธาตุแจกรูปพิเศษ

 

นาม

(นามในภาษาสันสกฤตไม่เรียกว่า noun แต่ เรียกว่า substantive หมายถึง คำที่แจกรูปจำพวกคำนาม)

เพศชาย อการานฺต

กฏ          เสื่อ

กุนฺต        หอก

พาล        เด็ก (ไม่ใช่คนพาล)

มารฺค       หนทาง (ไทยใช้ มรรค, บาลีว่า มคฺค)

เมฆ         เมฆ

ศร           ลูกศร

หสฺต        มือ (ภาษาบาลีว่า หตฺถ)

 

เพศกลาง อการานฺต

กฺเษตฺร     นา, ที่ดิน, ไร่ (สะกด เกฺษตฺร ก็ได้)

ธน          ทรัพย์สิน, ความร่ำรวย

ลางฺคล     คันไถ

วิษฺ           พิษ

สุข          ความสุข

 

สรุปเนื้อหาบทนี้ การสร้างกริยาจากธาตุหมวด 6 โดยเติมปัจจัย อะ เท่านั้นเอง.

**ให้คัดศัพท์ ท่องศัพท์รอบหนึ่งก่อนทำแบบฝึกหัด**

 

แบบฝึกหัด

1. แปลเป็นไทย

धनानि गृहेषु गूहन्ति ॥1॥

कुन्तान् हस्ताभ्यां क्षिपामः ॥2॥

नृपाय नरौ मार्गं दिशतः ॥3॥

मार्गेण ग्रामं गच्छवः ॥4॥

सुखेनेह गृहे तिष्ठति पुत्रः ॥5॥

जलं सिञ्चति मेघः ॥6॥

धनेन सुखमिच्छन्ति नराः ॥7॥

हस्तयोः फले तिष्ठतः ॥8॥

जलं हस्तेन स्पृशसि ॥9॥

नरौ कटे सीदतः ॥10॥

क्षेत्राणि लाङ्गलैः कृषन्ति ॥11॥

नगरं नृपौ विशतः ॥12॥

नरः पुत्रेण मार्गे गच्छन्ति ॥13॥

नरान्सृजति देवः ॥14॥

 

2. แปลเป็นภาษาสันสกฤต ตามลำดับตัวเลข และแจกนามตามการกในวงเล็บ (ถ้ามี)

(อ่านภาษาอังกฤษก็แล้วกันนะ)

1. The boy4 asks3 the men1 about the road2 (acc.).

2. The clouds1 drop4 water3 on the fields2. (loc.).

3. The two men1 go4 by two roads2 (instr.) into the city3.

4. The king4 gives3 the two men1 money2.

5. The man’s1 sons2 sit4 on mats3.

6. The gods4 give3 the water2 of the clouds1.

7. We wash3 (use स्पृश्) both hands2 with water1.

8. Both men1 lead4 their sons2 (dual) home3 (गृहं).

9. The two boys3 point out4 the road2 to the city1. (gen.).

 

หมายเลขบันทึก: 502595เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2012 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

ยิ้ม :)

ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ คิดว่า ผันนามง่ายกว่าผันกริยา ต้องจำเยอะ จนป่านนี้ ใช้ไปยังเปิดตำราดูควบไปอยู่เลยครับ

ผันกริยายากที่สุดแล้วครับ กฎกติกาเยอะ แถมมีตัวพิเศษต้องจำเยอะ

แต่จากประสบการณ์ การอ่านบ่อยๆ ก็ช่วยได้มากครับ บางตัวเราจำได้ โดยลืมไปเลยว่ามันเป็นตัวพิเศษ

ผมก็ยังต้องเปิดตำราอยู่บ่อยๆ ครับ ;)

ป.ล. ผันนามจำพวกลงท้ายด้วยพยัญชนะก็ชวนปวดหัวได้เหมือนกัน

อาจารย์คะรอบนี้ส่งช้านิดนึงนะคะ พอดีมีธุระต้องทำอย่างอื่นไปด้วยนิดหน่อย อิอิ

ไม่เป็นไรครับ ผมจะได้อู้ด้วย ;)

อาจารย์คะ อย่างคำนี้ ''จรามิ'' เป็นกริยาสมบูรณ์ที่แจกตามบุรุษเรียบร้อยแล้ว เราเรียกกริยาอาขยาต หรือ ลการได้เลยใช่ไหมคะ

อยากให้อาจารย์ช่วยดูหน่อยว่าคำแปลในตารางหน้านี้ที่เป็นภาษาไทยพอจะนำมาใช้ได้ไหมค่ะ คำแปลประกอบการกที่หนึ่งถึงแปดอะคะ

http://staff.buu.ac.th/~subhrang/208321/psfmtnoutl.htm เวปสอนสันสกฤตคร่าวๆที่เห็นเขียนเป็นภาษาไทยก็เห็นจะมีแต่เวปนี้เวปเดียว แต่ขนาดเขียนเป็นไทยยังงงเลยคะ สู้ของอาจารย์ไม่ได้ อ่านง่ายเข้าใจง่าย แต่อ่านต้องหลายรอบหน่อยสำหรับคนปัญญาน้อยอย่างหนู ฮ่าๆ

(ไม่ได้เข้าระบบ)

ใช้ได้ครับ

แต่หลายคำอาจจะยังง เพราะไม่มีตัวอย่างให้ดู

คำถามคะ ...

(ข้อ 2 ) กฺษิป ที่เป็นเค้ากริยาแล้ว ตอนเราจะนำมาเติมปัจจัยบอกบุรุษ ในกรณีที่เป็นบุรุษที่หนึ่งทั้งสามพจน์ ต้องยืดเสียง อะ เป็นอาไหมค่ะ เช่น กฺษิป = กฺษิปามิ - กฺษิปาวสฺ - กษิปามสฺ

หรือว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะนี่เป็นธาตุหมวดที่หกมิใช่หมวดที่หนึ่ง

ลองส่งสักสามข้อดูก่อนไม่รู้ว่าจะเรียงรูปประโยคถูกหรือเปล่า

แบบฝึกหัด

  1. แปลเป็นไทย

धनानि गृहेषु गूहन्ति ॥1॥ เขาทั้งหลายซ่อนสมบัติไว้ในบ้าน

कुन्तान् हस्ताभ्यां क्षिपामः ॥2॥ เราทั้งหมดขว้างหอกทั้งหลายนั้นด้วยมือ(ทั้งสอง)

ข้อสามนี้ค่อนข้างจะ งงๆ

नृपाय नरौ मार्गं दिशतः ॥3॥ คนทั้งสองชี้ไปที่ถนนสำหรับพระราชาพระองค์นั้น

งง อีกแล้วคะ ข้อสี่ ..

मार्गेण ग्रामं गच्छवः ॥4॥ มารฺเคณ คฺรามํ คจฺฉวะ

''มารฺเคณ'' คำนี้มีด้วยเหรอค่ะอาจารย์ เป็นนามเพศชายลงท้ายเสียงอะ หนูไปดูในตารางหาเท่าไหร่ก็ไม่มี หรือจะเป็นคำนี้หรือเปล่าคะ มารฺเคน ( การกที่ 3 เอกพจน์ )

ยืดเสียงหมดครับ สำหรับปัจจุบันกาล (ไม่เกี่ยวกับหมวดธาตุ) ขอโทษที ผมเขียนไว้ไม่ชัดเจน.

धनानि गृहेषु गूहन्ति ॥1॥ เขาทั้งหลายซ่อนสมบัติทั้งหลายไว้ในบ้าน

कुन्तान् हस्ताभ्यां क्षिपामः ॥2॥ เราทั้งหมดหลายขว้างหอกทั้งหลายนั้นด้วยมือ(ทั้งสอง)

ข้อ 3. ถูกแล้วครับ ชี้บอกแก่... ใช้กรรมตรง (การก 2) กับกรรมรอง (การก 4)

ข้อ 4. ดีมากครับที่สังเกต ข้อนี้ มารฺเคณ ถูกแล้ว แต่เป็นเพราะสนธิ ปกติจะต้องเป็น มารฺเคน แต่สถานการณ์เช่นนี้ น เปลี่ยนเป็น ณ เมื่อ...

ร, ษ, ฤ, ฤๅ อยู่ข้างหน้า น และ "ตามติด"โดยสระ, หรือ น, ม, ว, ย

มารฺเคน ตรงกับกรณีที่ต้องเปลี่ยน เพราะ

1) มี ร นำข้างหน้า น (อยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะมีอะไรคั่น)

2) น ตามติดด้วยสระอะ (สระ, น ม ว ย จะต้องตามติด)

(ตรงนี้ ผมคัดแบบฝึกหัดมาจากหนังสือ ในหนังสือเขามีเชิงอรรถอยู่ข้างล่าง แต่ผมไม่เห็น เพราะหนังสือขาดตรงนี้พอดี อิๆๆ)

ไว้เล่าในคราวหน้าก็แล้วกันนะครับ**

สรุปคือ น เป็น ณ หนูข้ามไปก่อนนะค่ะ ยังไม่จด

सुखेनेह गृहे तिष्ठति पुत्रः ॥5॥

ข้อห้านี้ ''สุเขเนห '' ''เนห'' คืออะไรอะคะอาจารย์ หาไม่เจออีกละ อิอิ

สุเขน + อิห (ต่อไปนี้จะฝึกสนธิมากขึ้น)

sukhena + iha (a+i = e)

อาจารย์คะ..

√สฺปฺฤศฺ spṛś (สฺปฺฤศติ) สัมผัส, ล้าง

สฺปฺฤศติ คำนี้คือเติมปัจจัยแล้วเหรอคะหรือเป็นรูปพิเศษของมัน

สฺปฺฤศฺ + อะ = สฺปฺฤศ (เค้ากริยา)

สฺปฺฤศ + ติ = สฺปฺฤศติ

ตัวนี้แจกปกติ ธาตุหมวด 6 ไม่ต้องทำคุณ

सुखेनेह गृहे तिष्ठति पुत्रः ॥5॥ = ลูกชายยืนอย่างมีความสุขในบ้าน

जलं सिञ्चति मेघः ॥6॥ = เมฆหยดน้ำ

धनेन सुखमिच्छन्ति नराः ॥7॥ = ข้อนี้ทำไม่ได้คะ ติดอยู่ตัวเดียว สุขมิจฺฉนฺติ คือรู้ว่าแทรก จฺ เข้าไป แต่ ''มิ'' นี่มันมาจากไหนอะคะอาจารย์ เสียดายจัง ฮือๆ

हस्तयोः फले तिष्ठतः ॥8॥ = เขาตั้งผลไม้ไว้บนมือทั้งสอง

जलं हस्तेन स्पृशसि ॥9॥ = ท่านล้างมือด้วยน้ำ (ข้อนี้ผิดแน่ๆไม่รู้จะเรียงยังไง)

नरौ कटे सीदतः ॥10॥ = คนทั้งสองนั่งลงบนเสื่อ

क्षेत्राणि लाङ्गलैः कृषन्ति ॥11॥ = เขาทั้งหลายไถนาด้วยคันไถ (ข้อนี้ไม่ทราบว่า กฺเษตฺราณิ ลางฺคไละ ตรงนี้ต้องเปลี่ยนจาก -น เป็น -ณ ด้วยหรือเปล่า แต่มาดูแล้วมันตรงกับกฎที่อาจารย์ว่าอยู่ข้อเดียวคือ หน้า -น เป็นร, ษ, ฤ, ฤๅ แต่ข้อนี้ไม่เห็นตามติดด้วยพยัญชนะ น, ม, ว, ย เลยงงคะ

नगरं नृपौ विशतः ॥12॥ = พระราชาเสด็จเข้าไปในพระนคร (เมือง)

नरः पुत्रेण मार्गे गच्छन्ति ॥13॥ = มนุษย์หนึ่งคนไปสู่หนทาง(นั้น)พร้อมกับบุตรชายหนึ่งคน ('' ปุตฺเรณ มารฺเค '' ข้อนี้เปลี่ยน -น เป็น -ณ นะค่ะเข้ากฎที่อาจารย์ว่าไว้เมื่อ ร, ษ, ฤ, ฤๅ อยู่ข้างหน้า น และ "ตามติด"โดยสระ, หรือ น, ม, ว, ย )

नरान्सृजति देवः ॥14॥ = เทวดาพระองค์หนึ่งสร้างมนุษย์ทั้งหลาย

## นี่ไว้ถ้าเรียนเรื่องธาตุครบทุกหมวดเสร็จแล้วจะขออนุญาติรบกวนอาจารย์ช่วยสรุปธาตุแต่ละหมวดอย่างย่อๆให้ฟังด้วยอะคะ เช่นธาตุหมวดที่หกไม่ต้องทำคุณนะ เติมอะ แล้วนำไปเติมปัจจัยได้เลย คือสรุปเอาแต่ส่วนสำคัญไว้อะคะ หนูจะได้จดไว้ลงสมุด เพราะตอนนี้จดใส่ชีทหลายแผ่น ตาลายเหลือเกิน

ทำผิดบ้างดีแล้ว จะได้มีบทเรียน ;)

ส่วนมากถูก มีที่ควรแก้ถ้อยคำบ้าง ดังนี้

जलं सिञ्चति मेघः ॥6॥ = เมฆหยดน้ำ (หรือ เมฆพรายพรมน้ำ ฟังเข้าใจกว่า)

धनेन सुखमिच्छन्ति नराः ॥7॥ สุขมฺ + อิจฺฉนฺติ .. แก้ตัวใหม่นะ

हस्तयोः फले तिष्ठतः ॥8॥ = เขาตั้งผลไม้ไว้บนมือทั้งสอง/ เขาวางผลไม้...

जलं हस्तेन स्पृशसि ॥9॥ = แปลแบบนี้ ท่านแตะ/สัมผัสน้ำด้วยมือ

क्षेत्राणि लाङ्गलैः कृषन्ति ॥11॥ = เขาทั้งหลายไถนาด้วยคันไถ.. ถูกแล้ว

เกฺษตฺราณิ (น>ณ) ข้อนี้ตามด้วยสระไงครับ (อย่าลืมสระ สำคัญมาก) นอกจาก นมวย แล้วมี สระ ด้วย

नगरं नृपौ विशतः ॥12॥ = พระราชาทั้งสองเสด็จสู่เข้าไปในพระนคร (เมือง)

การกที่ 2 อย่าแปลว่า ใน (ในขั้นต้นนี้เคร่งครัดเรื่องการแปลก่อน)

 

เรียนเรื่องธาตุจบจะสรุปย่อให้ครับ

ฝึกจดโน้ตไว้ครับ จะได้จัดระเบียบตัวเองด้วย

ร, ษ, ฤ, ฤๅ อยู่ข้างหน้า น และ "ตามติด"โดยสระ,

เช่นว่า ''มารฺเคณ คฺรามํ'' ณ เดิม คือ น สระที่อยู่ติด น คือสระอะเหรอคะ
ถ้าเป็น มารฺเคณิ คฺรามิ สระที่อยู่ติด น คือสระ อิ ถูกไหมคะ ไม่ต้องไปดูตัวถัดไปจาก ตัว น

เดิมจะเป็น มารฺเคน เปลี่ยนเป็น มารฺเคณ (นฺ แบบนี้ไม่มีสระ น แบบนี้มีสระอะ)

เข้าใจถูกแล้วครับ ไม่เกี่ยวกับคำหลัง

บทต่อไปนี้พูดถึง น > ณ โดยละเอียด และมีแบบฝึกครับ

จำได้ขึ้นใจ สูตรนี้ = รษาภฺยามฺ โน ณะ สมานปเท ||

  1. แปลเป็นภาษาสันสกฤต ตามลำดับตัวเลข และแจกนามตามการกในวงเล็บ (ถ้ามี)

1.) นรานฺ มารฺคํ ปฺฤจฺฉติ พาละ

2.) เมฆานิ กฺเษตฺเรษุ ชลํ สิจนฺติ

3.) นเรา มารฺคาภฺยํา นคเร ฤจฺฉตะ

4.) นเรา ธนานิ ยจฺฉติ ราชะ

5.) นรสฺย ปุตฺรานฺ กฎานฺ สีทนฺติ

6.) เมฆานามฺ ชลํ ยจฉนฺติ เทวาะ

7.) ชเลน หสฺเตา สฺปฺฤศนฺติ

8.) นเรา ปุตฺโระ คฺฤหํ นยตะ

9.) นคเร มารฺคํ พาเลา ทิศตะ

เสียวจัง แหะๆ ...

คุณ Blank ท่องสูตรปาณินิมาเลย 

ถ้ามีเวลา มาเขียนเรื่องสันสกฤตๆ เล่าสู่กันบ้างนะครับ ;)

 

2.) เมฆานิ กฺเษตฺเรษุ ชลํ สิจนฺติ.สิญฺจนฺติ.

3.) นเรา มารฺคาภฺยํา นคเร ฤจฺฉตะ. /คจฺฉตะ.

6.) เมฆานามฺ ชลํ ยจฉนฺติ/วรฺษนฺติ(ดูบทก่อนๆ) เทวาะ.

(give rain, ให้ฝน มักจะใช้ วฺฤษฺ)

7.) ชเลน หสฺเตา สฺปฺฤศนฺติ.สฺปฺฤศามะ. (we= บุรุษที่ 1 เอกพจน์)

8.) นเรา ปุตฺโระปุตฺเรา(ใช้การกที่ 2 กรรม) คฺฤหํ นยตะ.

9.) นคเรนครสฺย(ใช้การกที่ 6 (gen)ตามโจทย์) มารฺคํ พาเลา ทิศตะ.

(บอกทางสู่เมือง ฯลฯ จะใช้การก 6)

 

สีเขียวคือทางเลือก, สีแดงคือผิด

ระวังเรื่องการก และอ่านโจทย์ให้ละเอียด

จบประโยคให้ใส่จุดเหมือนภาษาอังกฤษ หรือจะใส่เครื่องหมาย | ก็ได้

ทบทวนศัพท์ให้ดี เพราะต่อไปจะใช้ศัพท์มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจำศัพท์ได้ไม่คล่อง จะแยกสนธิยาก.

จบบทนี้. 

คำถามคะ ..

1.) √ฤ > ฤฉฺ + อะ = ฤฉ (แทรก จฺ เมื่อ ฉฺ ตามหลังกริยา )

เป็น ฤจฺฉ + เติมปัจจัยบอกบุรุษ = ฤจฺฉติ ?

ถูกไหมเอ่ย

2.) √ปฺรฉฺ > ปฺฤฉฺ + อะ = ปฺฤฉ

ปฺฤจฺฉ (เติมปัจจัยบอกบุรุษ) = ปฺฤจฺฉติ ?

ถูกแล้วครับ (ข้างผมเหมือนเขียนสระผิด เดี๋ยวจะขึ้นไปแก้ครับ)

  1. ธาตุจำนวนหนึ่งจะแทรกเสียงอนุสวารก่อนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น √สิจฺ แทรก เป็น สึจฺ ทำไมสระ –อิ บนตัว ส เปลี่ยนเป็นสระ -อึ ละคะอาจารย์

ธาตุจำนวนหนึ่งนี้หมายความว่ายังมีอีกเยอะใช่ไหมคะ ที่เป็นลักษณะนี้ อันนี้แค่เฉพาะตัวอย่าง

อาจารย์คะ

  1. ธาตุหลายตัวที่ลงท้ายด้วย ฤ เมื่อสร้างเค้ากริยา จะเปลี่ยน ฤ เป็น อิรฺ (ไม่ใช่การทำคุณ) เช่น

√กฺฤ (หว่าน) > กิรฺ + อะ = กิร, เติมปัจจัยบอกบุรุษ เป็น กิรติ กิรตสฺ กิรนฺติ เป็นต้น

  1. ธาตุเปลี่ยนรูปพิเศษ ก่อนจะนำไปแจกรูปในปัจจุบันกาล

√ฤ (ไป) > ฤฉฺ > ฤจฺฉฺ > ฤจฺฉติ

ข้อสี่กับข้อหกนี้ไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ หนูเห็นว่ามันลงท้ายด้วย ฤ เหมือนกัน

ไม่เหมือนกันครับ ข้อ 4 เปลี่ยน ฤ ในแบบพิเศษ แต่ข้อ 6 เปลี่ยนรูปไปเลย (อันนี้นักปราชญ์เองก็ยังเถียงว่ารูปเดิมอะไรแน่)

  1. ธาตุจำนวนหนึ่งจะแทรกเสียงอนุสวารก่อนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น

√สิจฺ แทรก เป็น สึจฺ, แปลง อนุสวาร เป็น ญฺ, ลงปัจจัย อะ เป็น สิญฺจ, เติมปัจจัยบอกบรุษ เป็น สิญฺจติ

ข้อนี้อาจารย์มีตัวอย่างคำในทำนองนี้ไหมค่ะ รบกวนขอสักสองสามคำก็ได้คะ ลองจะลองทำและจดลงสมุดและ อิอิ

ก็มี ปิศฺ > ปึศฺ, ลิปฺ > ลึป, กฺฤต > กฺฤนฺต, วิทฺ > วินฺต เป็นต้น

อันที่จริงยังไม่อยากให้จำเพิ่มเติม อยากให้ไปเรื่อยๆ เพราะยังมีรายละเอียดอีกมาก

นี่เป็นลักษณะเฉพาะของธาตุบางตัวเท่านั้น ไม่ใช่ทุกตัว

เพราะเดี๋ยวจะมีธาตุหมวด 7 ซึ่งมีลักษณะเฉพาะต้องลงอนุสวาระอีก จะสับสนกันใหญ่

สำหรับธาตุที่แจกรูปพิเศษ ในพจนานุกรมจะบอกไว้ทุกตัว

คะ ถ้าอย่างนั้นก็ตามอาจารย์ก่อน เดี๋ยวหนูกลัวว่าจะ งง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท