ผลการดำเนินงานตามภารกิจและงานนโยบายเร่งด่วนของรัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2555


ผลการดำเนินงานตามภารกิจและงานนโยบายเร่งด่วนของรัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2555

ตามอำนาจหน้าที่ของกรมบัญชีกลางมี 13 ภารกิจ แบ่งเป็น 2 ด้านหลัก คือ ด้านการกำกับดูแล Regulator เกี่ยวกับการกำหนดกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ด้านการเงินการคลัง การพัสดุ การตรวจสอบภายใน การบัญชี การบริหารบุคคลลูกจ้าง ความรับผิดทางแพ่ง พัฒนามาตรฐานค่าตอบแทนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ และการบริหารเงินนอกงบประมาณ ด้านการให้บริการ Service Provider พัฒนาระบบบริหารการคลังภาครัฐเกี่ยวกับการรับ-จ่ายเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ GFMIS การบริหาร
เงินคงคลัง การอบรมพัฒนาบุคลากรภาครัฐ และสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจการคลังในส่วนภูมิภาค

1.  การเพิ่มรายได้ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 ตามนโยบายรัฐบาลให้ผู้จบปริญญาตรีต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน

จำนวนผู้มีสิทธิที่ได้รับเงิน พ.ช.ค. เพิ่มทั้งที่จบปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี

 

ประเภท

วุฒิปริญญาตรี/คน

ต่ำกว่าปริญญาตรี/คน

จำนวนเงิน/ล้านบาท

(ม.ค.-ก.ย.)

จำนวนเงินต่อปี

(ล้านบาท)

ข้าราชการ

257,400

29,110

10,872

14,496

ลูกจ้างประจำ

2,217

1,464

99

132

ลูกจ้างชั่วคราว

27,362

74,869

3,393

4,524

พนักงานราชการ

59,368

59,500

3,042

4,056

รวม

346,365

164,943

17,406

23,208

ทหารกองประจำการ

      138,015 คน

 

990

1,325

รวมทั้งสิ้น

649,323 คน

 

18,396

24,533

 2. การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ โดยบูรณาการ ๓ กองทุน เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน บุคลากรภาครัฐ และผู้ประกันตน ในการให้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุดโดยรวมสถานพยาบาลของเอกชนด้วย

 3. โครงการรถคันแรกตามนโยบายฯ ยกระดับคุณภาพชีวิต ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้มีสิทธิโดยโอนเงินเข้าบัญชีของเจ้าของรถยนต์โดยตรง  โดยจะดึงข้อมูลจากกรมสรรพสามิตมาดำเนินการเบิกจ่ายในระบบ GFMIS และตรวจสอบกับเอกสารที่กรมสรรพสามิตแจ้งมาให้ถูกต้องตรงกัน และจะโอนเงินเข้าบัญชีของเจ้าของรถผู้มีสิทธิผ่านระบบ Smart ของธนาคารกรุงไทย  โดยจะแบ่งจ่ายเดือนละ 2 รอบ คือ ทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน ตามจำนวนเงินที่ได้คืน เช่น 84,000 บาท 90,000 บาท หรือ 100,000 บาท และเงินจำนวนดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษี คาดว่าจะมีรถที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 425,000 คัน ใช้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท 

4. งานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง

   4.1 การทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ ปรับปรุงและจัดทำหลักเกณฑ์ในการคำนวณราคากลางใหม่ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2555 โดยปรับปรุงแนวทาง/วิธีปฏิบัติและข้อกำหนด
ให้ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณค่างานต้นทุน (Direct Cost) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Indirect Cost) ค่าใช้จ่ายพิเศษและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้ได้ราคางานก่อสร้างที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

   4.2 การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร e-GP ระยะที่ ๒ พัฒนาระบบงาน
เพื่อรองรับการจัดซื้อจัดจ้างครบทั้ง 12 วิธี  และครอบคลุมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด  โดยหน่วยงานภาครัฐปฏิบัติงานผ่านระบบ e-GP ระยะที่ 2 และจัดอบรมการใช้งานแล้ว ยกเว้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติงานในระบบ e-GP ด้วย

        มีระบบการบริหารสัญญา (e-Contract Management) ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่จัดเตรียมร่างสัญญาจนกระทั่งสัญญาฉบับนั้นหมดภาระผูกพันตามสัญญา มีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ ได้แก่ ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate Authority) และวางแนวทางการพัฒนาระบบงานต่อเนื่องในระยะที่ ๓ โดยเพิ่มวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง 2 วิธี ได้แก่

        - e-Market เป็นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมาตรฐาน มีข้อกำหนดและคุณสมบัติไม่ซับซ้อน เช่น กระดาษ ปากกา เป็นต้น เพิ่มความสะดวกในการค้นหารหัสสินค้า GPSC  

        - e-Bidding เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความซับซ้อน เช่น งานก่อสร้างที่ต้องใช้ความประณีตเป็นพิเศษ

5. การพัฒนามาตรฐานค่าตอบแทนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ดำเนินการการปรับปรุงการบริหารค่าใช้จ่ายประเภทค่ารักษาพยาบาลและสวัสดิการ

   5.1 กำหนดรูปแบบการเงินการคลังด้านสุขภาพระยะยาว (Long term health financing) โดยการ

        - กำหนดรหัสยาและเครื่องมือแพทย์ให้เป็นมาตรฐาน จัดทำราคาแนะนำเป็นราคาจัดซื้อยาของโรงพยาบาล และกำหนดราคาเบิกจ่ายจากกองทุน

        - ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังลงทะเบียนเลือกโรงพยาบาลประจำตัว

        - กำหนด DRG แยกตามความรุนแรงของโรคให้เป็นมาตรฐาน

   5.2 บูรณาการระบบการให้บริการสาธารณสุขและจัดทำ Basic Benefit Package 

        - ขยายระบบบริการสุขภาพโรคเอดส์และโรคไต

        - มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา เช่น แพทย์ต้องระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติไว้ในเวชระเบียนหรือใบสั่งยา

        - ส่งเสริมการใช้ยาสามัญทดแทนยาต้นแบบที่มีราคาแพง

        - จัดทำระบบขออนุมัติก่อนใช้ยา (Prior Authorization) สำหรับกลุ่มยาราคาแพง

โดยสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เบิกจ่ายเพียง 61,844.27 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 64,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2555 เบิกจ่ายแล้ว 56,419.29 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่สูงกว่างบประมาณที่ได้รับเช่นเดียวกับปีก่อน

6. การเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Anti-Corruption) กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Committee) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ ที่ปรึกษาฯ หรือรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการและเลขานุการ  มีหน้าที่กำหนดมาตรการและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและการต่อต้านการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง  กำหนดมาตรการทางธุรกิจสำหรับป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเน้นการกำกับดูแลด้านบริษัทเอกชนด้วยมาตรการด้านตลาดทุน การเปิดเผยข้อมูลทางบัญชี มาตรการจูงใจและมาตรการลงโทษหรืออื่นๆ  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อจัดประชุมคณะกรรมการฯ  เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลกรมบัญชีกลางมีภาพลักษณ์
ที่ดีในด้านความโปร่งใส และมักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ เพื่อการตรวจสอบการทุจริต รวมถึงการกำหนดมาตรฐานด้านการตรวจสอบภายในภาครัฐ

7. การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 จำนวน 2,380,000 ล้านบาท คือภาพรวมร้อยละ 93 และงบลงทุนร้อยละ 72 ของงบลงทุน ผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ภาพรวมเบิกจ่ายจำนวน 1,265,987.60 ล้านบาท จากวงเงินหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 1,587,365.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.75  งบลงทุนเบิกจ่ายจำนวน 183,444.17 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 322,224.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.93 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 3.07 (เป้าหมายร้อยละ 61.00)

   ณ สิ้นปีได้ปรับเป้าหมายการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น โดยภาพรวม จากร้อยละ 89.40 เป็นร้อยละ 91.21  และงบลงทุนจากร้อยละ 63 เป็นร้อยละ 65.55

   นโยบายการกันเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. 2555 ไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพัน จากการตรวจสอบในระบบ GFMIS ยังมีหลายส่วนราชการมีเงินงบลงทุนเหลือโดยยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน จำนวน 1.2 แสนล้านบาท โดยมีส่วนราชการรายงานข้อมูลเข้ามา 255 หน่วย เป็นเงิน 89,721 ล้านบาท  ซึ่งจำนวนนี้ได้เสนออนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพัน แต่ต้องก่อหนี้ให้ทันภายในสิ้นเดือนธันวาคาม 2555 สำหรับอีก 73 หน่วย ไม่ได้แจ้งเข้ามา แต่นโยบายการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีก็ยังให้โอกาสขออนุมัติเข้ามา และใช้แนวทางเดียวกันคือ ถ้าคาดว่าจะก่อหนี้ผูกพันทันภายในธันวาคม 2555 ก็อนุมัติให้กันเงิน

8. แนวคิดและวิธีการการส่งเงินชดเชย กบข. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 กรมบัญชีกลางได้ประชุมหารือกับ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุปว่าเลือกแนวทางให้สมาชิก กบข. สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำนาญตามสูตรการคำนวณบำนาญแบบเดิม (พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494) หรือ แบบ กบข. (พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539)  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังต่อไป

9. รายงานการเงินรวมภาครัฐ  การจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐ หรือการทำงบการเงินของแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 และได้เสนอให้ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญในการจัดทำรายงานการเงินให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์และน่าเชื่อถือ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการเงินการคลังได้อย่างถูก

 10. การบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารเงินนอกงบประมาณ
ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 เห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 15 โครงการ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
1.ด้านการกำกับและบริหาร เช่น พัฒนาระบบประเมินผลการดำเนินงาน การประเมินสถานะการเงินของเงินนอกงบประมาณ และการนำส่งเงินนอกงบประมาณส่วนเกินเป็นรายได้แผ่นดิน  2. ด้านสารสนเทศ เช่น พัฒนาระบบฐานข้อมูลระบบบริหารเงินนอกงบประมาณ (e-Nonbudgeting)  3.ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากร เช่น โครงการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 170

  

_________________________

หมายเลขบันทึก: 502250เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท