A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ลูกเสือ..กิจกรรมเก่า..แต่ยังไม่แก่ (ตอนที่ ๑)


ลูกเสือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นนานกว่า ๑๐๐ ปี.. ยังทรงอานุภาพ แม้ยุคสมัยจะก้าวสู่ดิจิตอลแล้วก็เถอะ

           หวนนึกไปถึงสมัยเด็ก ๆ เมื่อถึงวันพฤหัสบดีครั้งใดก็จะเบื่อมาก เพราะเป็นวันที่ต้องแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เพราะเครื่องแบบลูกเสือมีมาก ทั้งหมวก ผ้าผูกคอ ป้ายชื่อ สารพัดจะประดับเข้าไปกลายเป็นภาระก้อนใหญ่สำหรับเด็กวัย ๑๐ กว่าขวบ  แต่เมื่อถึงชั่วโมงเรียนจะสนุกกับการได้เรียนรู้ และเล่นกิจกรรมฐานต่าง ๆ  ยังจำได้แม่นยำถึงเงื่อนเชือกที่ผูกง่าย ๆ แต่มัดแน่น ไม่หลุด  ความทรงจำเกี่ยวกับลูกเสือจึงมีทั้งที่ประทับใจและไม่ประทับใจ

           วัยเด็ก เราเรียนที่พระโขนง (ชื่อโรงเรียน บังเอิญไปพ้องกับสถานที่) จำได้ว่า มีอาจารย์วาริน เป็นผู้กำกับลูกเสือ ท่านจบวิทยาลัยพละศึกษา ถ้าต้องเรียนลูกเสือกับท่านครั้งใด เราก็จะหลบหนีหายหน้าไปทุกครา เพราะถ้าต้องเรียนกับท่านก็จะต้องออกเรี่ยวออกแรงกันมากมาย เรียกว่าฝึกหนักจนเบื่อกันไปเลย  ที่สนามหน้าอาคาร ๔ จะมีเสาประจำค่ายของลูกเสือ แกะสลักลวดลายเหมือนรูปปั้นของเผ่าอินคาเลย (สมัยนั้น มีแค่ ๗ อาคาร ในพื้นที่ ๓๓ ไร่ครึ่ง) แต่ก็มีเพื่อนหลายคนที่ชอบและกลายเป็นขาประจำ สมัยนั้นจำได้แม่นว่า มีเพื่อนหลายคนเหล่านี้ ได้กลายเป็นลูกเสือจราจร ช่วยงานโรงเรียนเรื่องการจราจร มีสายสะพายสีขาวเหมือนตำรวจ เท่ชะมัดยาด  และที่แขนก็จะมีป้ายเล็ก ๆ ติดปะเต็มแขน แต่ละคนจะมีสมุดประจำตัวไว้จดบันทึกความดีที่ทำ และเอามาขึ้นคะแนนตอนปลายปี  กิจกรรมลูกเสือคึกคักก็เพราะเขาผู้นี้เอง

          แต่เราไม่สู้อดทนนัก จึงไม่เลือกที่จะเป็นลูกเสือแบบเพื่อนๆ  ครั้งนั้นโรงเรียนก็มีทางออกให้สำหรับคนที่ไม่ชอบแต่งเครื่องแบบ แต่ได้เรียนลูกเสือเหมือนกัน เรียกว่า “ลูกเสือขาว”  เราว่าผู้คิดก็ฉลาดดีและชื่อก็เท่มากด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการเรียนทฤษฎี ประเภทท่องตำรามากกว่า ไม่มีการเข้าค่ายหรือพักแรมผจญภัยแบบในหนังสือ

           ความทรงจำครั้งนั้น เลือนหายไปหมดแล้ว จนกระทั่งอีกสามสิบปีต่อมา มีงานชิ้นหนึ่งที่ต้องทำให้กลับมาคิดมันอีกครั้ง เพราะหน่วยงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งแห่งหนึ่งต้องการกิจกรรมสำหรับเด็กเยาวชน ขอให้ช่วยคิดโครงการให้ เอ่ยถึงเยาวชน เราก็คิดถึง “ลูกเสือ”  เราและเพื่อนจึงเสนอแนวคิดเรื่องลูกเสือประชาธิปไตยให้ พร้อมแผนพัฒนาอีก ๓ ขั้นตอน รวม ๑๐ ปี นอกจากนั้นแล้ว ครั้งนั้นยังช่วยเขียนนิยายผจญภัยของลูกเสือ ให้ด้วยอีก ๑ ชุด (ตอนนั้นตั้งชื่อว่า ชาติ พันธ์เสือกะว่าให้เป็นแบบลูกผู้ชายหัวใจทรนง..(ฮา.)

           มาถึงวันนี้ ที่ต้องคิดถึงเรื่องลูกเสืออีกเป็นครั้งที่ ๒ เพราะได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับการเข้าค่ายของลูกเสือ เป็นกิจกรรมที่มีลูกเสือจากทั่วประเทศรวมหลายพันคน เข้ามาใช้ชีวิต ๓ วัน ด้วยกันภายในค่าย ซึ่งเขาเหล่านั้น เป็นเด็กนักเรียนวัยประถม ถึงอาชีวศึกษา รวมถึงครูผู้ควบคุมอีกเกือบ ๕๐๐ คน

    รมต. กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญและให้เกียรติ ไปเป็นประธานด้วยตนเอง  (จริง ๆ แล้วเราเรียกท่านจนติดปากว่า อาจารย์สุชาติ..และเราก็ชอบอย่างนั้นมากกว่า..)

          ตลอด ๗ วันที่ไปอยู่ (เราต้องไปเตรียมงานและเก็บงานภายหลัง) รวมถึงระยะเวลาที่ต้องร่วมประสานกับทีมงานอีกจำนวนมาก มีปัญหามากมายให้ขบคิดและแก้ไขตลอด แก้ได้บ้าง แก้ไม่ได้บ้าง ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง รับคำขอบใจบ้าง รับคำติเตียนบ้าง มากมาย ได้เรียนรู้นิสัยลูกเสือ ผู้กำกับ ผู้บังคับการค่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย  ๗ วันของการทำกิจกรรมค่าย เป็น ๗ วันที่เรียนรู้อย่างมากมายจริง ๆ

  ประธาน ยืนรับการเคารพ จากการสวนสนามของลูกเสือและเนตรนารี

.. น่าทึ่ง ขึงขัง ถึงกับต้องออกปากชม และอดขนลุกไม่ได้ เมื่อเห็น เนตรนารี สวนสนามอย่างสง่างาม ก้าวเท้าอย่างสม่ำเสมอ ตบเท้าเสียงดัง ตรงเป๊ะ.. 

           ทำให้คิดถึงความหมายอันแยบคายของการอยู่ค่ายพักแรม ซึ่งน่าจะถือเป็นหัวใจของการเรียนวิชาลูกเสือได้  ถ้าเรียนวิชาลูกเสือแล้ว มิได้เข้าเข้าค่ายพักแรมก็เหมือนเรียนไม่ครบ และถึงแม้จะได้เข้าพักแรมแบบแรมคืนในโรงเรียน บังกาโล หรือรีสอร์ท ก็ยังถือเป็นการพักแรมไม่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การพักแรม จำเป็นต้องพักในราวป่าธรรมชาติหรือในทุ่งธรรมขาติ หรือในค่ายลูกเสือจริง ๆ เพราะนี่คือบททดสอบสำคัญว่า ตนเองสอบผ่านการเรียนรู้วิชา “ลูกเสือ” หรือไม่

          กิจกรรมลูกเสือเกิดขึ้นและอยู่จนมาถึงวันนี้ (วันที่เขียนบันทึกนี้)  ก็นับเป็นเวลา ๑๐๑ ปี เป็นกิจกรรมเก่าแก่ที่สุด  แต่ทว่า บทสรุปสุดท้ายของลูกเสือเด็ก ๆ ในวันนั้น คือบทเริ่มต้นสำคัญของชีวิตผู้ใหญ่ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า อย่างน่าอัศจรรย์ และถึงแม้จะเป็นครูลูกเสือ  ผู้กำกับลูกเสือ ก็ใช่ว่าจะผ่านการทดสอบจากค่าย ได้ทุกครั้ง และได้ทุกคนเสมอไป..

           อานุภาพของกิจกรรมเก่าแก่กว่า ๑ ศตวรรษ เช่นลูกเสือ มันช่างน่าอัศจรรย์นัก

   

          .....  (โปรดติดตามตอนต่อไป...)

หมายเลขบันทึก: 502094เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 05:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 03:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจนะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท