ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๔๒. เรียนรู้เรื่องความเป็นทั้งหมด


 

          ความเป็นทั้งหมด (the whole) เป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก   แต่หากเรียนรู้ และเข้าไปใกล้เพียงใด ปัญญาก็มากขึ้นเท่านั้น   เพราะมันช่วยให้เราเข้าใกล้ “ความจริง” มากขึ้น    ผมจึงหมั่นฝึกฝนตนเองในเรื่องความเข้าใจ หรือการตีความ หรือดำเนินการ เรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบที่มองเห็นภาพใหญ่ หรือภาพรวม    ที่เรียกว่า holistic approach

 

          เช้าวันที่ ๘ ส.ค. ๕๕ ผมไปร่วมประชุมเตรียมการจัดทำร่างข้อเสนอนโยบายฯ ประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพเพื่อความเป็นเลิศในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ   เพื่อเตรียมนำเสนอในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมนี้

 

          ที่จริงรัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของอาเซียน  และของโลก   คือเราจะหารายได้เข้าประเทศจากบริการสุขภาพแก่คนในต่างประเทศ    ซึ่งเวลานี้เรามีรายได้กว่าปีละ ๑ แสนล้านบาท   มีคนต่างชาติมาใช้บริการกว่า ๓ ล้านคน    เราต้องการขยายตัวขึ้นอีก   และต้องแข่งขันกับสิงคโปร์ และมาเลเซียในอาเซียน   นอกอาเซียนเราต้องแข่งกับอินเดีย  

 

          การจัดตั้ง Medical Excellence Center ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และในโรงเรียนแพทย์ จึงน่าจะสอดคล้องกับนโยบาย Medical Hub ของประเทศ

 

          แต่นโยบายของประเทศมีหลายด้าน   ด้านหนึ่งคือสุขภาวะของประชาชนในประเทศ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งความครอบคลุม (coverage) ของบริการ และความเท่าทียม (equity)   ดังนั้นการดำเนินการส่งเสริม Medical Hub จึงต้องไม่บั่นทอนสุขภาวะของคนไทยเอง

 

          ทำอย่างไรที่จะทำให้นโยบายที่ดูเผินๆ เป็นสองขั้วตรงกันข้ามนี้มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน (synergy)    ไม่ใช่ขัดกัน   เป็นไปได้ไหมที่จะจัดการให้เกิดความร่วมมือ ยกระดับทั้งสองด้าน   คือด้านระบบสุขภาพเพื่อเศรษฐกิจของประเทศ กับระบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของพลเมือง   นี่คือโจทย์ที่ท้าทายผม   ผมเชื่อว่าทำได้    แต่ผมไม่มีสติปัญญาสูงพอที่จะคิดออก

 

          ผมเชื่อว่า หากเรามองเห็นความเป็นทั้งหมดของสุขภาวะ และระบบสุขภาวะ รวมทั้งระบบบริการสุขภาพ   เราจะเห็นทางออกที่เป็น win – win    ก้าวข้ามสภาพ win – lose ได้  

 

          ข้างบนนั้นเป็นบันทึกก่อนการประชุม   ผมจงใจไม่แก่ไขส่วนที่ไม่แม่นยำ   ที่ไม่ตรงกับที่ได้จากการประชุมในภายหลัง

 

          ในการประชุมมี ศ. พญ. สยุมพร ศิรินาวิน เป็นประธาน    มีรองเลขาธิการ คสช. อ. กรรณิการ์ บันเทิงจิตร คอยเขียนผังสรุปประเด็นบน white board    ทำให้สรุปประเด็นร่วมกันได้ง่ายขึ้น   และรองฯ กรรณิการ์ ก็ชอบแนวทาง win – win หรือ both – and (ไม่ใช่ either – or) มาก

 

          เราได้เรียนรู้ตัวเลขที่แม่นยำน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นว่า ตัวเลขประมาณการคร่าวๆ จากคุณเสาวภา จากกรมสนับสนุนบริการ ว่าในปี ๒๕๕๕ จะมีคนต่างชาติมาใช้บริการสุขภาพในประเทศไทย ๒.๕ ล้านคน   เป็นเงินรายได้ ๑.๒ แสนล้านบาท

 

          และได้เรียนรู้ด้วยว่า ประเด็นความระมัดระวังด้านการดำเนินการนโยบาย Medical Hub นั้น   เคยเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้วในปี ๒๕๕๓   และมีมติของสมัชชาฯ ดังนี้  จะเห็นว่า มติก็ออกมาในแนวทาง win – win   แต่ยังมองแบบประนีประนอม   ให้ดำเนินการ Medical Hub แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลเสียต่อบริการแก่คนไทย   คือเป็นกระบวนทัศน์ +/0   ไม่ใช่กระบวนทัศน์ +/+  อย่างที่ผมเสนอ  มติของสมัชชาฯ ๒๕๕๓ ระบุให้เลขาธิการ คสช. ต้องรายงานผลการดำเนินการตามมตินี้ในสมัชชาฯ ปี ๒๕๕๕  

 

          คนที่มาอธิบายเรื่อง Medical Excellence Center ในโรงเรียนแพทย์ ทำให้เข้าใจง่ายและตรงความเป็นจริงคือ อาจารย์หมอธันว์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี   ที่อธิบายว่า Center of Excellence ของโรงเรียนแพทย์นั้น    จริงๆ แล้วเน้นการพัฒนา Quality เพื่อเปลี่ยนแปลง (transform) และขับเคลื่อนคุณภาพบริการสุขภาพของประเทศไปสู่ภพภูมิใหม่   ไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ที่เหมาะสมต่อบ้านเมืองของเราเอง   ไม่ใช่พัฒนาตามก้นฝรั่งอยู่เรื่อยไป   ดังนั้น Center of Excellence ของโรงเรียนแพทย์ จึงมุ่งสร้างระบบสุขภาพแนวใหม่ จากทั้งบริการและวิจัย     แล้วเผยแพร่แก่ทุกภาคส่วนของประเทศผ่านการศึกษา หรือการผลิตบุคลากร   และผ่านช่องทางทางวิชาการต่างๆ  

 

          โรงเรียนแพทย์ในปัจจุบัน เชื่อในบทบาท Tertiary/Quarternary Care ที่ส่งเสริม Secondary, Primary และ Self Care  ซึ่งก็คือเชื่อใน “ความเป็นทั้งหมด” ไม่แยกส่วน  โรงเรียนแพทย์ และภาคการศึกษาของบุคลากรสุขภาพทุกวิชาชีพ ต้องแสดงบทบาทต่อบริการสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ใช่แยกส่วนเฉพาะ Quaternary/Tertiary Care

 

          ผมเสริมในที่ประชุมว่า เรากำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของโรงเรียนแพทย์ เพื่อแสดงบทบาทรับใช้ประเทศด้านระบบสุขภาพและด้านนโยบายสุขภาพ ดังบันทึกนี้   และกำลังดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรการเรียนการสอนของวิชาชีพสุขภาพทั้งหมอ ให้เป็น (health) system-based curriculum ดังบันทึกชุดนี้

 

          จะเห็นว่า “ความเป็นทั้งหมด” ของระบบสุขภาพนั้น มันไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่   เวลาเราแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ คนส่วนใหญ่จะมอง “ความจริง” จากมุมมองของตน และจากสภาพอดีตถึงปัจจุบัน   แต่นักวิชาการ และคนที่ต้องชี้นำสังคม ต้องมองไปสู่อนาคตที่ไม่คงที่ และไม่แน่นอน   และร้ายกว่านั้นเรามองเห็นไม่ชัดเจน   แต่เราก็ต้องกล้าทำหน้าที่ชี้นำชักชวนให้คนคิดไปข้างหน้า ไม่ใช่คิดแบบย่ำเท้าอยู่กับที่   ซึ่งผลคือถอยหลัง  เพราะโลกเข้าก้าวไปไม่หยุดยั้ง  

 

          ความเป็นทั้งหมดที่สำคัญ ในเรื่องนี้คือต้องได้ทั้งผลทางเศรษกิจ คือหารายได้เข้าประเทศ   และผลทางสุขภาพ คือคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น   เป็น win – win หรือ both – and

 

          ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า   ต้องเน้นที่การทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างผล win – win   โดยจะต้องมีเวทีตั้งโจทย์วิจัยบนฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน  

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ส.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 501857เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2012 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีข้อมูลเรื่องแพทย์อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ รพ ในกระทรวงสาธารณสุข ในระดับ รพ. ทั่วไป ประมาณ 5 แห่ง ไม่มีอายุรแพทย์ และอีกประมาณ 17 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีวิสัญญีแพทย์ โดยที่มีการผ่าตัดใหญ่อยู่ทุกวัน และมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และเคยมีกรณีที่มีปัญหา ทำให้ รพช. ในปัจจุบันทำผ่าตัดน้อยมาก เป็นข้อมูลอีกมุมหนึ่งของประชาชนคนไทยที่ยังไม่ได้รับบริการที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท