Priyapachara
นางสาว ปรียาพัชร ตุลาเนตร

สมองกับการเรียนรู้สร้างเด็กให้ฉลาด (เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2555)


เด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด ถ้าได้รับการกระตุ้น ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ที่เหมาะสม จะทำให้เด็กยุคใหม่เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

       การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลความรู้ให้เท่าทันยุคสมัย  เพราะในปัจจุบันเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ครอบครัว และตัวเด็กๆเองต้องเผชิญกับสังคมโลก ที่ต้องปรับตัวและพัฒนาความสามารถให้พร้อมที่จะรับมือ กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การมีความรู้ความเข้าใจ  ในการส่งเสริมศักยภาพของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับสมองของมนุษย์  ทำให้เรารู้ว่าเด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด (ศันสนีย์  ฉัตรคุปต์, 2543) ถ้าเด็กทุกคนได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการกระตุ้นส่งเสริมการพัฒนาสมองและการเรียนรู้อย่างเหมาะสม  จะทำให้เด็กยุคใหม่เติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

       มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542) ชี้ว่า  สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมเด็กให้เติบโตเป็นคนดี  คนเก่ง  มีความสุข  และประสบความสำเร็จในชีวิตได้  คือ  ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีแรกๆของชีวิตเด็ก  โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก  โดยเรียนรู้จากสิ่งรอบๆตัวเด็ก  ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ  ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา  ความฉลาด  พัฒนาการทางอารมณ์ และอื่นๆ  การกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง  และส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้ดี เช่น  การได้อุ้มลูก  อ่านหนังสือให้ลูกฟัง  ไม่ว่าพ่อแม่จะมีการศึกษาระดับใด  หรือมีความสามารถในการอ่านมากน้อยเพียงใดก็สามารถทำได้  แม้จะอ่านผิดอ่านถูก  ก็สามารถกระตุ้นพัฒนาการได้ทั้งสิ้น  สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยให้ลูกรักการอ่าน  รักการเรียนรู้  ทำให้ลูกสนใจภาษา  และเกิดความคิด  จินตนาการ

       สิ่งที่สำคัญที่สุด  คือ  ลูกได้สัมผัสถึงความอบอุ่นจากอ้อมกอดของพ่อแม่อันจะทำให้ลูกได้รับรู้ถึงการที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับลูก  เกิดความผูกพัน  ความมั่นคงทางจิตใจ  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตในภายภาคหน้า  แต่จากผลการวิจัย (เดเบอรา  แอล  เวลซ์ (Dr.Deborah  L  Welch)) พบว่า  พ่อแม่ชาวอเมริกันเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง  หรือพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เคยคุยกับลูก  เพราะคิดว่าลูกยังเล็ก  ยังไม่รู้ภาษา  ยังไม่เข้าใจอะไร  ซึ่งเท่ากับเสียโอกาสทองที่จะพัฒนาสมองลูกให้เจริญเติบโตเต็มตามศักยภาพ

       นอกจากการสัมผัสทางร่างกายจากพ่อแม่  จะส่งผลถึงพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ของลูกแล้ว  ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ  และเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังช่วยให้พ่อแม่ได้ทราบถึงแต่ละขั้นตอนการเจริญเติบโตของสมองลูก  ซึ่งสมองจัดเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายก็ว่าได้  เพราะสมองเป็นอวัยวะในการควบคุม  การทำงานของหัวใจ  ระบบภูมิคุ้มกัน  ฮอร์โมนต่างๆ  รวมทั้งสติปัญญา  ความคิด  การเรียนรู้  ความฉลาด  พฤติกรรม  และบุคลิกภาพของคนเราด้วย  เราไม่สามารถบอกได้ว่าสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง  หรือจุดใดจุดหนึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความฉลาด และความคิด  แต่เชื่อกันว่าสมองส่วน "นีโอคอร์เท็กซ์" มีหน้าที่เกี่ยวกับความฉลาด  และความรู้สึกนึกคิดของคนเรา

       ถ้าหากพูดถึงความฉลาด  พ่อแม่จำต้องทราบถึงการเปลี่ยนแปลงรอยหยักของพื้นผิวสมองที่เรียกว่า  "คอร์เท็กซ์ (Cortex)" รอยหยักนี้จะต้องมีจำนวนและปริมาณที่ถูกต้องพอเหมาะ  ถ้ามีมาก  หรือน้อยเกินไปจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ไม่ปกติ  บางคนเข้าใจผิดคิดว่าสมองลูกยิ่งมีรอยหยักมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้ลูกฉลาดมากเท่านั้น  แต่จริงๆแล้วจะต้องมีปริมาณที่พอเหมาะพอดี (ศันสนีย์  ฉัตรคุปต์, 2543) ที่พื้นผิวสมองนี้ เซลล์สมองจะมีการจัดเรียงกันเป็น 6 ชั้น  แล้วมีการสร้างเส้นใยสมอง  หรือใยประสาทขึ้นมา  เพื่อเป็นส่วนที่ใช้ติดต่อสื่อสารส่งข้อมูลถึงกัน  ซึ่งเรียกว่า  ซีนแนปส์ (Synapse) นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าถ้าหากสมองลูกมีเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อมากเท่าไหร่  ลูกจะยิ่งฉลาดและมีความสามารถสูง  และสิ่งที่ทำให้เส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อนี้มีปริมาณมากขึ้น  ก็คือข้อมูลที่ลูกได้รับนั่นเอง  อย่างไรก็ตามเซลล์สมองหลังคลอดจะมีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านเซลล์  ซึ่งจะไม่มีการสร้างเพิ่มอีก  แม้เซลล์บางส่วนจะถูกทำลายไปก็ตาม  แต่เซลล์สมองที่เหลืออยู่จะพยายามทำหน้าที่ทดแทนให้  จึงทำให้ด้วยวัยเพียง 3 ขวบของลูก  สมองจะมีขนาดเกือบเท่าสมองผู้ใหญ่  คือประมาณ 80 % ของสมองผู้ใหญ่  นับว่าสมองของลูกในช่วง  3 ปีแรกหลังคลอดเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ในช่วงพัฒนาการทางสมองของลูกได้มีการสร้างเส้นใยสมอง  และจุดเชื่อมต่อทั้งหลายขึ้นมานี้  หากเส้นใยสมองไม่ได้รับการกระตุ้นจากภายนอก  ก็จะไม่เกิดประจุไฟฟ้าขึ้น  หรือไม่เกิดการทำงาน  และถูกกำจัดไป  คงเหลือไว้แต่เส้นใยสมอง  และจุดเชื่อมต่อที่ทำงานบ่อยๆ คือได้รับข้อมูลจากภายนอกบ่อยๆ

       ถ้าหากเราดูแลในเรื่องของสติปัญญา  หรือความฉลาดของเด็กไม่เหมาะสม  โดยเร่งพัฒนาการมากเกินไป  หรือปล่อยปละไม่สนใจให้เด็กได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมตามวัยก็จะทำให้มีปัญหาด้านสติปัญญาและความฉลาดของลูกได้  โดยสิ่งที่เด็กต้องการสำหรับการพัฒนาสติปัญญาและความฉลาดคือ  สิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม  ผู้เลี้ยงดูควรให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลเข้าไปสร้างเป็นโครงสร้างความรู้ในสมอง  แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย

       หากพ่อแม่ และครูผู้สอนทราบกระบวนการเรียนรู้ทางสมอง  เช่นดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว  ผู้ที่ยังมีลูกอยู่ในช่วงวัยที่สามารถเตรียมพัฒนาการได้ทัน  ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่และเป็นโอกาสที่ลูกจะได้มีพัฒนาการทางสมองเต็มตามศักยภาพ  แต่หากช่วงวัยของเด็กล่วงเลยมา  โดยไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง  พ่อแม่และครูผู้สอนจำจะต้องร่วมมือกันจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง  พฤติกรรม  และความคิด  ความจำ  จินตนาการของเด็กอย่างใกล้ชิด  เพราะศักยภาพและการเรียนรู้ของคนสามารถพัฒนาได้จนตลอดชีวิต

                                                    ผู้เขียน    ปรียาพัชร  ตุลาเนตร

 

หมายเลขบันทึก: 501843เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2012 02:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตั้งน๊านนนน กว่าจะเขียนเสร็จ แถมเขียนเสร็จ ก็มาติดตรงขี้เกียจพิมพ์ เว้นช่วงอีกน๊านนน เลยพี่น้อง เหลือ อีก สองเรื่อง เขียนเสร็จแล้ว เดี๋ยวเรื่องนี้ ก็จะมาแชร์ แต่ละประเด็น รวมทั้ง ประสบการณ์แต่ละประเด็น ตรงแสดงความคิดเห็นนี่เลยแล้วกันนะคะ เพราะบทความก็ไม่ควรจะยาว ...ความจริง เขียน แต่ละเรื่อง ไม่อยากให้ยาวเกิน 2 หน้า ครึ่ง แต่บางเรื่อง ที่ยังไม่ได้พิมพ์ อาจจะตกสามหน้ารึป่าวไม่แน่ใจ ...รู้ว่าคนไม่มีความอดทนในการอ่านมากนัก ก็จะพยามเขียนเรื่อง ต่อๆไปให้พอเหมาะพอดี มากขึ้น ตัดทอนที่ไม่จำเป็นออกไป ..จะพยามไม่ให้เกิน 2 หน้าให้ได้ ไม่รู้จะทำได้รึป่าว ...เขียนแล้วก็อยากให้อ่าน...ฉะนั้น ในเมื่อคนไทยเรามีความเป็นนักอ่านน้อยมาก เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆเขา ก็จะพยามให้มันสั้นๆค่ะ ใครมีข้อคิดเห็น ร่วมแชร์ประสบการณ์ตัวเอง แสดงความคิดเห็นไว้เลยนะคะ เข้ามาอ่านค่ะ บางทีอาจไม่ได้ตอบ เพราะมีเวลาเข้าผ่านมือถือ แต่มันโพสยาก

น่าสนใจมาก ๆ เลยค่ะ

 

น้องคะ พิมพ์ใน window word ก่อนแล้วคัดลอกแปะก็ดีค่ะ

เวลาระบบขัดข้องจะได้ไม่หายไป

พี่เคยหายบ่อย ๆ จนชิน (แต่ไม่วายขี้เกียจพิมพ์ร่างก่อน)

หายบ่อย ๆ โมโหไม่บันทึกเลยก็มีค่ะ

แบบเแ้นเวิร์ดก็มีค่่ะ ปกติก็พิมพ์ลงเวิร์ดก่อน แต่วันนี้กลับดึก เลยเผยแพร่ก่อน ค่อยไปลงเวิร์ด แล้วปริ๊นซ์ออกมาค่่ะ ขอบคุณค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท