73 ฟังแบบหาเรื่อง....มาเล่า


เพื่อเป็นการต่อยอด    บันทึกที่แล้ว   ซึ่งผู้เขียนได้เชิญชวนให้มาเขียนเรื่องเล่าด้วยกัน  บันทึกนี้จึงขอยกเป็นตัวอย่างในการเขียนเรื่องเล่าพร้อมๆกับการเล่าประสบการณ์ตรง  เรื่องการจับประเด็นจากการฟังไปด้วยเลยนะคะ  และก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียนลองทำตามที่ผู้เขียนแนะนำดูนะคะ

 

เริ่มด้วยการสร้าง แผนที่ความคิด  คงจำภาพนี้จากบันทึกที่แล้วได้

 

และก่อนเขียนเรื่องเล่าเรื่องนี้   เราลองหัดทำแผนที่ความคิด ( mind map)  เรื่องที่กำลังจะเล่าลองดูนะคะ

 

 

เมื่อเราทำแผนที่ความคิดเรียบร้อยแล้ว  ก็เริ่มลงมือเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าได้เลย   โดยค่อยๆเล่าไปตามความคิดที่เรากำหนดไว้ตามลำดับ    ลองตามอ่านดูนะคะ

 

                                          

 

ระยะนี้มีหลายคนมาทาบทามผู้เขียนให้เล่า ประสบการณ์จากการฟัง  ว่า  ฟังแบบหาเรื่อง ...มาเล่า นั้นทำอย่างไร   ทั้งๆที่บางครั้งก็นั่งล้อมวงฟังอยู่ด้วยกัน  บางคนฟังแล้วได้เรื่อง   ขณะที่หลายๆคนฟังจบแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าคนเล่าต้องการสื่ออะไร  หรือเขาพูดเรื่องอะไร  

 

ได้มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ชี้แจงว่า  คนเรานั้นส่วนใหญ่สื่อสารกันด้วยภาษากายมากกว่าภาษาที่เป็นคำพูด  หรือแม้ขณะพูดเราก็ใช้ภาษากายควบคู่ไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า  สายตา  น้ำเสียง  หรือแม้แต่ก็เงียบก็เป็นการสื่อความหมายอย่างหนึ่ง   ทำให้เราสามารถเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น  การฟังจึงเป็นศาสตร์อีกชนิดหนึ่ง  ที่เราต้องฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าใจในความหมายที่ผู้พูดต้องการที่จะบอก   ฟังอย่างไร....

 

ฟังอย่างไรให้ได้เรื่องราว  ได้ประเด็น  ทฤษฏีบอกว่า  ผู้ฟังต้องฟังอย่างใจจดใจจ่อ   ละทิ้งการวิจารณ์หรือความคิดขัดแย้งในสมองตนเองก่อน  รวมทั้งต้องสนใจอากัปกิริยาของผู้พูดด้วย  ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง  แววตา  ลีลา  หรือแม้แต่ระดับความเร็วในการพูด  หรือการหยุดพูดเป็นช่วงๆ   นั่นหมายถึง การฟังอย่างตั้งใจ  ฟังให้ได้ยินจากข้างในของผู้พูด   และให้รู้จักจับจังหวะ  ว่าเมื่อไรควรซักถาม  หรือเมื่อไรควรจะสะท้อนกลับ      

 

ทั้งหมดที่เขียนมานั่นเป็นทฤษฏี   แต่สำหรับผู้เขียนไม่มีหลักการที่ตายตัว  รู้แต่ว่าเมื่อไหร่ต้องทำหน้าที่เป็น  Facilitator   หรือเรียกง่ายๆว่า  เป็นวิทยากรกระบวนการ คือ คนกลางที่ช่วยจัดและดำเนินงานการพบปะให้เกิดการคิดที่เป็นระบบ โดยดึงเอาความคิด  ความสามารถของผู้เล่าออกมาให้หมด และสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกัน  ด้วยการป้อนคำถามให้ตรงประเด็น   สิ่งแรกที่ผู้เขียนให้ความสำคัญและคำนึงถึง  คือ  จะต้องทำให้บรรยากาศของวงเรื่องเล่าสบายๆ  เป็นกันเองให้มากที่สุด  ไม่มีกติกาหรือพิธีการมากมาย  เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เล่าเรื่อง  เพราะเมื่อไหร่เขารู้สึกว่า ปลอดภัยและเป็นอิสระ  เรื่องราวและความคิดต่างๆก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างมีความสุข  เพราะในเวทีนี้ไม่มีใครที่รู้ดีในเรื่องเล่าเท่าเขา  เพราะเป็นเรื่องเล่าที่เกิดจากการลงมือทำจริงของผู้เล่า   นอกจากนั้นคนทำหน้าที่ FA ต้องไม่ให้เกิดการปิดกั้น  หรือกดทับทางความคิดของผู้เล่าโดยคนที่อยู่ในวง  เพราะผู้เขียนคิดเสมอว่า “ ความคิดที่ชนะ  ไม่ใช่ความคิดที่ดีเสมอไป...”

 

ขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้ฟังในวงก็ต้องฟังอย่างเปิดใจ  ฟังโดยไม่ต่อต้าน  ไม่ด่วนสรุป  หรือตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ได้ยิน  การฟังอย่างพิจารณาเราจะพบว่า  สิ่งที่ได้ยินนั้นมักมีความคิด  แนวคิดใหม่ๆของผู้เล่าอยู่เสมอ  ว่าเขาต้องการบอกอะไรเรา

 

ง่ายๆสำหรับผู้เขียน  การจะหัดฟังให้ได้ยิน  ผุ้เขียนจะเริ่มที่ พยายามสร้างความเข้าใจผู้เล่าก่อนด้วยการค้นหาว่า...

  • อะไร คือ เรื่องหลักที่เขาสนใจและอยากจะบอกเรา

  • เขามีแนวความคิดอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ

  • ทักษะหรือความสามารถเฉพาะตัวที่เขาใช้จัดการกับสิ่งทีเขาสนใจ

  • แล้วผลลัพท์เขาได้อะไร เช่น  แนวคิด  รูปแบบ  นวัตกรรม ฯลฯ

 

ซึ่งพอจะสรุปง่ายๆ   การฟังให้ได้ประเด็นจากประสบการณ์ของผู้เขียน คือ

     ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย  ด้วยการสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง  สบายๆ  อิสระ  เพื่อให้ผู้เล่าสามารถเล่าโดยไม่ต้องกังวลว่า จะมีใครมาปิดกั้นความคิด  หรือ คอยจับผิด

2      ต้องฟังอย่างตั้งใจ  ฟังให้ได้ยินเข้าไปถึงข้างในของผู้เล่า  ว่าเขาอยากบอกอะไรเรา  ..ความสุข  ความภาคภูมิใจ  ความผิดหวัง...

3      จดประเด็นหลักๆ  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไหร่

4      หาประเด็นย่อยๆที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นหลัก  เพื่ออธิบายความให้ได้เรื่องราวมากขึ้น

5      นำสิ่งที่ได้ทั้งหมดมาเรียบเรียงตามลำดับก่อน หลัง  ทำความเข้าใจและทบทวนเรื่องราวตั้งแต่ต้นอีกรอบ   เพื่อหาหัวใจของเรื่อง  ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดของเรื่องเล่าว่าอยู่ตรงไหน  นำมาเป็นชื่อเรื่อง  แล้วค่อยๆเรียบเรียงประเด็นอื่นๆตามมา

 

                                       

 

 

การฟังเพื่อให้ได้สาระ  และเข้าใจเรื่องราว  สิ่งสำคัญคือต้องฟังให้มาก  และฟังอย่างมีสมาธิ   

 

และ...การที่ธรรมชาติสร้างให้ร่างกายเรามีหนึ่งปาก  แต่มีสองหู  นั่นหมายถึงธรรมชาติได้ออกแบบให้เรา รู้จักการฟังมากกว่าการพูดนั่นเองค่ะ....

 

                                                                                   ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 501820เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2012 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

การพูดต้องการการฝึกฝน แต่การฟังต้องฝึกมากกว่านะคะ เพราะเรามีแผ่นกรองเยอะเหลือเกิน มักอยากฟังแต่สิ่งที่ได้ยินค่ะ

ขอบคุณเรื่องเล่าดีดีที่นำมาฝากนะคะ

ขอบคุณมากค่ะที่แบ่งปันการฟังด้วยความเข้าใจคิดตาม คงจะนำมาเล่าต่ออย่างสุขใจได้นะคะการที่ฟังมาไม่ได้นำมาเล่าก็เสียดายที่วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ..จะย้อนกลับไปเล่าก็เหมือนว่าจะไม่ทันการณ์ นะคะ ขอข้อแนะนำจากพี่เขี้ยวตวยเจ้า ...

แบ่งปันเรื่องเล่าด้วยใจและวิธีการดีๆ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการลปรร. ..ขอบคุณค่ะ

จะลองหัดดูนะคะ เพราะเป็นที่เขียนไม่ได้เรื่องเลยค่ะ

 

ตามหลักการมันต้องเป็นขั้นตอนแบบนี้นี่เอง

ขอบคุณมากกับข้อคิดค่ะ

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว  krugui  เขียนแบบตามใจตัวเองมากกว่า 

บางครั้งจึงเหมือนมีสาระบ้างไม่มีสาระบ้าง

แล้วแต่คนอ่านจะจับจุดตรงไหนได้ เฮ้ออออ

พูด(เล่า) ฟัง เขียน

ยากทั้งหมดเลยค่ะ

ยินดีที่ได้พบกันที่บ้านแม่ตาดค่ะ หวังว่าคงมีโอกาสได้พบกันอีก

ค่ะจะหาเรื่องฟังมากๆ แต่บางทีไม่อยากฟังจริงๆ (บางเรื่อง)แต่ก็ต้องฟัง ทำอย่างไรดีค่ะ

สวัสดีค่ะพี่เขี้ยว

แวะมาทักทายและชื่นชมกับทุกท่านที่ได้พบกันที่บ้านแม่ตาดค่ะ

คิดถึงพี่เหมือนเดิมค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท