ตอนที่ ๑๔


ลูกชาย : ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรตระหนักถึงผลดีผลเสียของการดำเนินการตามกระแสทุนนิยม ถ้าไม่รู้และเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วเกิดผลเสียมหาศาลเลยนะครับ แล้วที่พ่อบอกว่ากลุ่มเทคโนแครต (ขุนนางนักวิชาการ) บูชาแนวความคิดตะวันตกแสดงว่ากลุ่มนี้เป็นพวกบูชาลัทธิทุนนิยมด้วยไหมครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก เนื่องจากภูมิปัญญาหรือปรัชญาทางตะวันตกที่สะท้อนออกมาเป็นแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์นั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในทิศทางเดียวกันคือ ส่งเสริมกลไกตลาดเสรี

ลูกชาย : รากเหง้าทางด้านแนวความคิดเชิงปรัชญาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจทางตะวันตกในยุคเริ่มแรกมีความเป็นมาอย่างไรบ้างครับ

พ่อดี : การที่มนุษย์เริ่มรู้จักที่จะอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นหลักแหล่งและเป็นกลุ่มก่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านสิ่งของต่าง ๆ   กอร์ปกับบริบททางด้านประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อความคิดในแต่ละยุคสมัย  ปรัชญาหรือแนวคิดทางตะวันตกที่สะท้อนออกมาเป็นศาสตร์แขนงต่าง ๆ รวมทั้งเศรษฐศาสตร์ด้วย เริ่มจากการล่มสลายของนครรัฐของกรีก ไปสู่จักรวรรดิโรมัน ซึ่งความล่มสลายของของจักรวรรดิโรมันมีผลทำให้เกิดยุคศักดินาในตะวันตก โดยที่ศาสนจักรมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ มีอำนาจเหนือเจ้าศักดินาทั้งหลายจนถือเป็นการเป็นการสืบทอดอำนาจจากอาณาจักรโรม ก่อให้เกิดวิวัฒนาการของการใช้เงินจากที่เคยทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้เปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็น ทุน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของของ ลัทธิทุนนิยม และก่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้าและเศรษฐกิจตามมา ซึ่งอาจจะมีชะงักเป็นช่วง ๆ บ้าง อันมีผลมาจากสภาวะของสงคราม ซึ่งตัวอย่างของการชะงักงันทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะสงครามก็คือ การรบพุ่งกันในบรรดาเจ้าศักดินาต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงอำนาจในคริสต์ศตวรรษที่ ๕-๘ หลังจากนั้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ก็มี สงครามครูเสด (ครูเสด คือ การใช้กำลังทางทหารของของชาวคริสเตียนในยุโรปตะวันตกต่อสู้กับอำนาจของมุสลิมในตะวันออกกลาง เพื่อเข้าไปครอบครองเยรูซาเรม นครศักดิ์สิทธิ์ และบริเวณสถานที่พระเยซูคริสต์เคยใช้ชีวิตทางโลกสมัยเมื่อยังมีพระชนม์อยู่  ระหว่างปี ค.ศ. ๑๐๙๕ ถึงปี ค.ศ. ๑๒๙๑ มีสงครามครูเสดระดับใหญ่ ๘ ครั้ง หลังจากนั้นเป็นสงครามครูเสดระดับเล็ก ๆ ) ยืดเยื้อต่อมาเป็นเวลา ๔ ศตวรรษ แต่สงครามครูเสดก็ไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงมากนัก ผลที่มีโดยตรงก็คือทำให้เจ้าศักดินาเข้มแข็งมากขึ้น

ลูกชาย : สงครามและการแย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาในยุคสมัยไหนก็ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเสมอเลยนะครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก สิ่งเหล่านั้นเป็นผลของสงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็มีบางกลุ่ม (ตะวันตก) มองว่าสงครามไม่ได้นำมาเฉพาะความหายนะอย่างเดียว แต่สงครามช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสงคราม และสามารถนำมาดัดแปลงใช้ในยามสงบ ดังนั้นภายหลังจากสงครามสงบลงจึงมักตามมาด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นและเทคโนโลยีที่สำคัญในสมัยนั้นก็คือ เทคโนโลยี เรือปืน ซึ่งมีผลในการช่วยขยายอาณานิคมและความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ

ลูกชาย : แต่ถึงอย่างไรถ้าหากว่าการพัฒนาเทคโนโลยีได้มาจากการทำลายชีวิตของผู้อื่นที่อ่อนแอกว่า ผมก็มองว่าขาดความชอบธรรมอยู่ดี แล้วภายหลังจากสงครามมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้างครับ

พ่อดี : การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตะวันตกภายหลังจากสงคราม ๑๐๐ ปี (สงครามระหว่างหมู่บ้านสิงโตกับหมู่บ้านไก่ ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕) ประกอบกับความเสื่อมโทรมภายในศาสนจักรโรมันคาทอลิกเอง ก่อให้เกิดบุคคลอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ ที่ต้องการปฏิรูปศาสนาให้กลับไปหาความเรียบง่ายที่เกิดจากการยึดมั่นในจริยศาสตร์ดั้งเดิมตั้งแต่ยุคเซนต์ปอลและเซนต์ออกุสติน เปิดโอกาสให้กษัตริย์ในรัฐที่เกิดใหม่ประกาศตัวเป็นโปรเตสแตนต์เพื่อลดอิทธิพลของพระสันตะปาปาลงไปพร้อมกันด้วย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการที่หมู่บ้านกระทิงมีโอกาสนำทองคำเข้ามาจากหมู่แถบหมู่บ้านอินทรีย์เป็นจำนวนมาก นำไปสู่ความรุ่งเรืองทางการค้าในตะวันตก (ยุโรป) ความคิดแบบลูเธอร์จึงประสบกับคู่แข่งในเวลาต่อมาคือ คาลวิน ที่มุ่งส่งเสริมการสะสมทุนและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพียงแต่เน้นจริยธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในชีวิตปัจจุบัน เพื่อความสุขนิ-รันดร์ในภพหน้า ทั้งคำสอนของของลูเธอร์และคาลวิน มีผลทำให้เกิดสงครามระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ยืดเยื้อไปจนถึงกลางศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งเปิดทางให้ระเบียบใหม่เกิดขึ้น อันนำไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตย การปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงความเข้มแข็งของลัทธิทุนนิยมในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ ซึ่งอาจกล่าวไดว่าวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์มีผลกระทบต่อแนวคิดและปรัชญาส่งผ่านมาแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ยังมีความคิดหลักอยู่สองกระแส ซึ่งเกือบจะไม่มีผลหรือขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์แต่อย่างไรเลย คือ แนวความคิดที่เกิดจากตรรกะที่แบ่งขั้วชัดเจน นั่นเอง

ลูกชาย :  อ๋อ ที่พ่อเคยบอกไว้ว่า เป็นแนวความคิดที่ไม่ยอมให้มีพื้นที่ตรงกลาง ซึ่งถ้าไม่ดำก็ขาว หรือ ถ้าไม่ซ้ายก็ขวา หรือเปล่าครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูกซึ่งแนวความคิดที่เกิดจากตรรกะที่ไม่ยอมให้มีพื้นที่ตรงกลางนี้ ค่อนข้างที่จะเป็นลักษณะเฉพาะตัวแบบตะวันตก ซึ่งตรรกะในลักษณะนี้นำไปสู่ความเชื่อที่ต่างกันสองขั้ว โดยไม่จำเป็นจะต้องนำเอาความคิดที่เกี่ยวกับพระเจ้าเข้ามาพิจารณาประกอบ เพราะเป็นความคิดที่มีมาตั้งแต่ยุคกรีกก่อนคริสต์ศาสนา ความเชื่อทั้งสองขั้วอาจจำแนกได้ง่าย ๆ ว่าเป็นความเชื่อแบบจารีตนิยม (traditional believe) และความเชื่อของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย (opposing view) โดยที่ฝ่ายจารีตนิยมหรือฝ่ายกระแสหลักมีความเชื่อว่า มนุษย์มีเหตุผลและสามารถใช้เหตุผลในการแสวงหาความรู้และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทั้งหมดเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผล และถ้าหากปล่อยให้เหตุผลของมนุษย์สามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างได้สังคมก็จะไม่มีความสงบสุข เพราะมนุษย์จะใช้เหตุผลตีความเข้าข้างตัวเองเสมอ ซึ่งจากความแตกต่างในความเชื่อหลักนี้เองทำให้เกิดกระแสความคิดแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายของความคิด จารีตนิยมหรือกระแสหลัก นำโดย อริสโตเติล และเซนต์อไควนัส และนักคิดของสำนักสกอลาสติก ซึ่งเป็นพระในนิกายโรมันคาทอลิกทั้งหมด ส่วน กระแสต่อต้านหรือที่ไม่เห็นด้วย นำโดย เพลโต เซนต์ออกุสติน ลูเธอร์และคาลวิน เป็นหลัก

ลูกชาย : แนวความคิดของทั้งสองขั้วครอบงำในด้านของศาสตร์ต่าง ๆ ทางตะวันตกโดยที่ไม่มีกระแสความคิดด้านอื่นสอดแทรกได้เลยหรือครับ

พ่อดี : ก็มีความพยายามจากหลายกลุ่มนักคิดเหมือนกัน แต่เนื่องจากตรรกะแบบสองขั้วนี้ถือได้ว่าเป็นรากฐานและครอบงำความคิดที่สำคัญของอารยธรรมตะวันตก ตกทอดสืบมาในศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา และที่สำคัญ แนวโน้มของความคิดแนวหลังทันสมัย (post-modernism) ที่ชี้ให้เห็นได้ว่า น่าจะเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนความคิดดังกล่าว แต่ก็คงยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ โดยที่นักคิดแนวหลังทันสมัย (post-modernism) เริ่มลดการให้ความสำคัญต่อความคิดแบบตายตัว แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถสลัดคราบหลุดออกมาจากแนวคิดแบบสุดขั้วได้อยู่ดี  ซึ่งทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการทางความคิดที่สะท้อนออกมาเป็นภูมิปัญญาทางตะวันตกส่งผ่านสู่ศาสตร์แขนงต่าง ๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคมศาสตร์ ในเวลาต่อมา

ลูกชาย : ที่พ่อกล่าวมาทั้งหมดเป็นรากเง้าทางความคิดของตะวันตกที่ก่อให้เกิดขบวนการพัฒนาไปสู่ศาสตร์แขนงต่าง ๆ  แล้วแนวความคิดทางด้านแขนงเศรษฐศาสตร์ที่โดดเด่นของทางตะวันตกเริ่มจากช่วงไหนครับ

พ่อดี : ในสมัยยุคล่าอาณานิคมนั้นการสร้างหมู่บ้านและการแสวงหาอาณานิคมกระทำควบคู่ไปกับ การทำการค้า และในการที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งจะสามารถปกครองอาณานิคมตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของอาณานิคมได้อย่างเต็มที่นั้น หมู่บ้านนั้น ๆ จะต้องมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ในยุโรปตะวันตกต่างก็เจริญเติบโตขึ้นและก็ต้องการแสวงหาอำนาจเพื่อสร้างหมู่บ้านให้เข้มแข็ง และในช่วงดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เงิน ตลอดจนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการให้กู้ยืมต่าง ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับให้การค้าทั้งในและนอกหมู่บ้านดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งการขยายการค้าและการพาณิชย์ของแต่ละหมู่บ้านออกไปทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างหมู่บ้านมากขึ้นและในบางครั้งก็นำไปสู่การสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจและครอบครองทรัพยากรระหว่างกัน ซึ่งนโยบายของแต่ละหมู่บ้านมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้าและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งทำให้เกิดแนวความคิดของลัทธิหนึ่งขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างความมั่งคั่งและเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านคือ ลัทธิพาณิชย์นิยม

ลูกชาย : แนวคิดหลักของลัทธิพาณิชย์นิยมเป็นอย่างไรบ้างครับ

 

********************************************************************************************************************

 ***แนวความคิดของเพลโตและอริสโตเติลดูเพิ่มเติมได้ที่ : มนุษย์ วิวาทะว่าด้วยความสมเหตุสมผล 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 501260เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เผอแป๊บเดียง .... ตอนที่ 14 แล้วนะคะ....เป็นรากเง้าทางความคิดของตะวันตกที่ก่อให้เกิดขบวนการพัฒนาไปสู่ศาสตร์แขนงต่าง ๆ  แล้วแนวความคิดทางด้านแขนงเศรษฐศาสตร์ที่โดดเด่นของทางตะวันตก .... แนวคิดหลักของลัทธิพาณิชย์นิยม....OKจริงๆ ค่ะ

เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาอ่าน บอกได้คําเดียวสุดยอด

ขอบพระคุณ อาจารย์ P'Ple มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ

ขอบพระคุณ คุณกานดาน้ำมันมะพร้าว ท่าน prathan คุณtuknarak คุณภูสุภา อาจารย์ขจิต คุณธวัชชัย  อ.นุ และ คุณปริม มากครับที่แวะมาให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท