72 มาเขียนเรื่องเล่ากันเถอะ


การเขียนสอนกันไม่ได้ แต่...สามารถเรียนรู้ได้

มีหลายคนบอกว่า   การเขียนสอนกันไม่ได้  แต่...สามารถเรียนรู้ได้     การเขียนไม่ใช่พรสวรรค์แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน    เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์   เพราะการจะลงมือเขียนเรื่องราวใดๆก็ตามเราต้องสร้างมโนภาพเพื่อที่จะชักจูงให้คนอยากอ่าน   แล้วถ่ายทอดโดยการเขียนด้วยถ้อยคำที่สื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจและคล้อยตาม   การเขียนเรื่องเล่าก็เช่นกัน   เป็นการเขียนอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดเรื่องจริง  ประสบการณ์ตรงที่มีจุดเด่น   มีความสำคัญที่อยากจะนำเสนอ   แล้วนำมาร้อยเรียงให้น่าอ่าน  ด้วยภาษาและสไตล์การเขียนของแต่ละคน  

 

จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน     ก่อนที่จะมาลงมือเขียนเรื่องราวต่างๆใน G2K นี้   ก็ไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจหลักการเขียนมาก่อน   แต่เขียนโดยใช้ข้อมูลจริงที่เห็น  ดังบันทึก  เรื่องเดิม..บนเส้นทางสายเดิมๆ   ซึ่งเป็นบันทึกแรกที่ผู้เขียนเขียน  เขียนด้วยถ้อยคำง่ายๆ   เล่าสิ่งที่เห็น   ใส่ข้อคิดเล็กน้อย   แล้วสะท้อนความรู้สึกของเราออกมาเป็นตัวหนังสือ  

 

ต่อมาเมื่อเริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบเขียนบันทึก  ก็พยายามอ่านทำความเข้าใจเรื่องหลักการเขียน  พร้อมๆกับอ่านรูปแบบที่นักเขียนอื่นๆที่เราชื่นชอบให้มากขึ้น   เมื่อพอจะเข้าใจบ้างก็พยายามฝึกฝน    โดยการเขียนให้บ่อยๆซึ่งไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัว    โดยทั่วไปก่อนเขียนเรื่องเล่าใดๆ ผู้เขียนจะทำ mind map  ก่อน   โดยให้หัวใจของเรื่อง/ชื่อเรื่องเป็นจุดกลางของแผนที่   แล้วค่อยๆหาประเด็นที่เกี่ยวข้องมาร้อยเรียงตามลำดับก่อนหลัง   และเรื่องเล่าที่ดีที่ชวนให้น่าอ่านต้องมีความยาวไม่น้อยเกินครึ่งหน้า หรือมากเกิน 2 หน้ากระดาษ A4  ค่ะ

 

 ภาพแผนที่ความคิดของผู้เขียน 

 

 

 

จากภาพข้างบน    ลองอ่านดูความหมายประเด็นต่างๆที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้นนะคะ

         

 

อันดับที่ 1   ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนเรื่องเล่าใดๆ  จะต้องพยายามศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม  เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวที่จะเขียนให้มากที่สุด  แล้วจึงเรียบเรียงเขียนจากความเข้าใจของตนเอง  ค่อยๆเล่าตามลำดับขั้นตอนของเรื่องราว   เช่น 

e-learning กับการพัฒนาตนเอง 

 

อันดับที่ 2  บทเกริ่นนำ  หมายถึงข้อความที่จะโยงใยหรือปูพื้นเข้าหาเนื้อเรื่อง  เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่า เรื่องที่กำลังจะได้อ่านเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร   สำหรับผู้เขียนถือเป็นส่วนที่ยากที่สุด    แต่ถ้าสามารถเริ่มต้นได้ดีจะส่งผลให้สามารถเขียนเรื่องเล่าได้ลื่นไหลและสมบูรณ์ตามมาด้วย    เช่น

สร้างสรรงานศิลป์...ด้วยภาพนิ่ง

 

อับดับที่ 3  ชื่อเรื่อง  เปรียบเป็นหัวใจหลักของเรื่องที่กำลังจะเล่า  อาจจะตั้งชื่อออกมาในแนวแรงบันดาลใจ   การเปรียบเปรย   ความดีความชอบ  หรือแม้แต่ความผิดหวัง   และชื่อนั้นต้องส่งผลกระทบในวงกว้าง... เช่น
เด็ดดอกไม้เพียงหนึ่ง..สะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ

 

อับดับที่ 4  วัตถุประสงค์ของการเขียน   ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เขียนเพื่ออะไร   เพราะวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน  การเขียนก็จะเติมเต็มเนื้อหาที่ต่างกันออกไปด้วย  เช่น เขียนเพื่อบอกต่อหรือให้ผู้อ่านนำไปปฏิบัติตาม  ก็ต้องสอดแทรกเนื้อหาความรู้และวิธีการทำให้เข้าใจ  ถ้าต้องมีการอ้างอิงก็ต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน   แต่กรณีเขียนเพื่ออ่านสบายๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลในส่วนของความรู้มาก  เช่น

เด็ดดอกไม้เพียงหนึ่ง..สะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ

 

อับดับที่ 5  เขียนให้ใครอ่าน  อันนี้สำคัญ เพราะเกี่ยวกับภาษาที่ใช้  ถ้าเราไม่จำกัดกลุ่มผู้อ่านต้องใช้ภาษาที่อ่านและเข้าใจง่ายๆ   น่าติดตาม  เช่น

ฝึกให้คิด..จากการฝึกเย็บกระเป๋า

 

อับดับที่ 6     เนื้อเรื่อง    เขียนถึงผู้ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง  หรือผู้ที่ดำเนินเรื่องราว  เราต้องถ่ายทอดให้ชัดเจนว่า  เขาเป็นใคร   เขามีแนวคิดอย่างไรกับเรื่องเล่านั้นๆ  ลำดับเหตุการณ์ก่อน-หลังให้ดี   เขียนให้เห็นความก้าวหน้าของเรื่องเล่าของแต่ละย่อหน้า   เมื่อจะเริ่มประเด็นใหม่ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่   แต่ต้องเขียนให้เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละย่อหน้า  ว่าเขาคิดอย่างไร   ทำอย่างไร   และ เขาได้ผลลัพท์อย่างไรในเรื่องนั้นๆ  เช่น

เครื่องฉายแสงไร้สาย

              ในการเขียนอาจเพิ่มบทสนทนาในเนื้อเรื่องได้   เพื่อเน้นสถานการณ์  จุดสำคัญของเรื่อง   ใครพูดอะไร กับใคร   เพื่อให้เรื่องราวน่าอ่านยิ่งขึ้น   อาจสอดแทรกใส่ความเป็นตัวเราลงไปบ้าง  เกี่ยวกับแนวคิด  ความรู้สึก  เพื่อให้เรื่องราวดูแตกต่าง   ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมกับเรา  เช่น

รื้อฟื้นดนตรีล้านนาศูนย์อนามัยที่ 10

 

อับดับที่ 7   บทสรุป    ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ  เพราะบทเกริ่นนำในย่อหน้าแรกเขียนไว้อย่างไร  บทสรุปต้องล้อตามกัน   และเพื่อให้เรื่องเล่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ก่อนจบควรฝากข้อคิด  ฝากคำถามให้สอดคล้องกันกับเรื่องราว  จะทำให้ผู้อ่านเห็นประเด็นชัดเจนยิ่งขึ้น   เช่น บันทึกนี้ค่ะ

 

ส่วนหนึ่งของคนที่เคยมาเล่าเรื่องให้ผู้เขียนได้เขียนเรื่องเล่า

 

 

 

จะเห็นว่าการเขียนสอนกันไม่ได้ก็จริง  แต่ถ้าได้ฝึกฝนและหมั่นเขียนบ่อยๆ  ก็จะเกิดทักษะได้ค่ะ    ผู้อ่านท่านใดอยากเป็นนักเขียนเรื่องเล่าที่น่าติดตาม   ลองนำประสบการณ์นี้ไปต่อยอดฝึกฝนดูนะคะ   เรามาช่วยกันคิดช่วยกันเขียนให้เกิดสิ่งดีๆ เพื่อบอกต่อๆกับคนรุ่นหลังกันเถอะค่ะ

 

 

 

 

                                                           ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 500935เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เก่งมาก ครับ...เรื่องนี้ รู้สึกจะไม่ค่อยสอนกัน ในสถาบันผลิตครู..ทั้งที่มันเป็นเรื่องดี

หรือถ้ามีสอน ก็ใช้ทฤษฎี ที่เข้าใจยาก (เจอมาแล้ว)

อยากให้ผู้ที่ทำงานด้านพัฒนาการศึกษา งานการเรียนการสอน และนิเทศ

เข้ามาศึกษา และ นำไปใช้ จะได้เขียนเรื่องเล่า..เร้าพลัง ได้อย่างแท้จริงเสียที

ขอบคุณค่ะ.. ได้เรียนรู้มากมาย

 

  • ขอบคุณคนเขียนเรื่องเล่าคนเก่งคนนี้นะคะ
  • ขอแชร์ ให้เพื่อนๆ ด้วยนะคะ จะได้รู้เคล็ดไม่ลับนี้ กันให้ทั่วถึง

อ่านบันทึกนี้อีกครั้งเพื่อความต่อเนื่อง หลังจากอ่านบันทึกใหม่ นะคะ พี่เขี้ยว คิดถึงเสมอค่ะ

แม้บทความนี้จะเขียนไว้นานแล้ว...แต่ยังมีคุณค่า สดใหม่ เป็นอกาลิโก (ไม่ล้าสมัย) ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ทำให้เรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจได้เร็ว ที่สำคัญก็คือผู้แนะนำมีรางวัลสุดคณึงยืนยัน การันตีให้มั่นใจว่าของแท้...(ต้องมีน้ำลายไหล 2หยด....***๕๕๕๕) อยากขอร้อง ให้ท่านนำประสบการณ์หลังเษียณมาให้เราได้เรียนรู้ เพราะคงมีอิสระและมีเวลามากขึ้น จะได้เจอกันในG2Kได้สม่ำเสมอ นะครับ

ผมขอเสริมอีกนิดหนึ่งครับว่า จะขึ้นต้นที่ดีน่าสนใจน่าจะเป็นแบบ...1พาดหัวข่าว 2กล่าวเป็นคำถาม 3ทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย 4ปลุกใจให้ร่าเริง หรือ 5ใช้เชิงกวี เปิดประเด็น ก็จะทำให้งานที่เขียน มีสีสันเพิ่มขึ้นอีกนะครับ ซ๊าาาาาธุ


แถมให้อีกนิดครับ....ตอนท้ายผมอ่านถึงการสรุปที่ดี ขอเสริมว่านอกจากจะทำให้คล้องจองแล้วควรให้จับใจผู้อ่านด้วยคือ....1สรุปความ 2ตามคมปาก 3ฝากให้คิด และ4สะกิดชักชวน ก็จะทำให้คนอ่าน ม่วนอกม่วนใจ๋เนอเจ้าเน้อ......


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท