สวภาวะของอาตมัน (อัตตา) ในกฐะอุปนิษัท


เรื่อนรู้อาตมัน เพื่อเข้าอนัตตา

สวภาวะของอาตมันที่ปรากฏในกฐะอุปนิษัท

           ในกฐะอุปนิษัท  ได้แสดงถึงสวภาวะของอาตมันว่าเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ  แม้ในตอนเวลาที่คนทั้งหลายหลับฝันแล้ว  อาตมันก็ยังตื่นอยู่  และอาตมันก็จะทำการเนรมิตสิ่งต่าง ๆ  ที่ทุกคนอยากได้   สิ่งเหล่านั้นคือความบริสุทธิ์    ที่จะทำให้โลกทั้งปวงสงบนิ่งอยู่ในสิ่งนั้น   และไม่มีใครที่จะสามารถล่วงพ้นอาตมันไปได้เลย   

            แต่การที่เราจะรู้อาตมันได้นั้น  ต้องอาศัยความรู้ (วิทยา)  ในการช่วยทำให้เรารับรู้สิ่งที่ถูกต้องได้  เหมือนกับน้ำที่สะอาด  ไหลไปสู่น้ำที่สะอาด     ก็ย่อมเป็นน้ำที่สะอาด  และถ้าบุคคลผู้รู้แจ้งอาศัยความรู้  คือวิทยา   ก็ย่อมทำตนเองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาตมันนั้น    

             และเราก็พึงรู้เถิดว่า   อาตมันนั้น  คือเจ้าของรถ  ซึ่งนั่งอยู่ภายใน   กายของเรานี้คือรถ   สติปัญญา (พุทธิ)  คือสารถี    จิตคือบังเหียน   อินทรีย์ทั้งหลายคือม้า  รูปวัตถุทั้งหลายภายนอกคือถนน  

            อาตมันสิงสถิตอยู่ในสิ่งดังกล่าว  และเป็นผู้ปกครองแต่ผู้เดียว  ทำให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างมีความหมาย  แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า  สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับอาตมัน  เพราะว่าอาตมันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นไปของสิ่งทั้งหมด   ดังข้อความที่กล่าวในกฐะอุปนิษัทว่า

           เราพึงรู้เถิดว่า   อาตมันนั้น   คือเจ้าของรถ   ซึ่งนั่งอยู่ภายใน    กายของเรานี้  คือรถ    สติปัญญา (พุทธิ)  คือสารถี    จิตคือเครื่องบังคับ

           อินทรีย์ทั้งหลายคือม้า    รูปวัตถุทั้งหลายภายนอกคือถนน    วิญญาณเป็นผู้เสวยอารมณ์  และอาตมันสิ่งสถิตอยู่ในสิ่งเหล่านั้น

            และยังกล่าวอีกว่าสิ่งต่าง ๆ ที่สูงสุดนั้น  ไม่มีสิ่งใดเทียบเท่ากับบุรุษได้  เพราะว่าสูงกว่าวัตถุ (ประสาทรับสัมผัสเป็นสิ่งที่สูงกว่าสิ่งที่มันรับรู้) คือประสาท    สูงกว่าประสาทคือจิต    สูงกว่าจิตคือปัญญา  สูงกว่าพุทธิคือเหตุผลอันประณีตละเอียดอ่อน  สูงกว่าเหตุผลคือปฐมธาตุ   สูงกว่าปฐมธาตุคือบุรุษ    และไม่มีอะไรสูงกว่าบุรุษซึ่งเป็นที่สิ้นสุดและเป็นความแท้จริงอันติมะดังข้อความที่กล่าวในกฐะอุปนิษัทความว่า

             สูงกว่าวัตถุ (ประสาทรับสัมผัสเป็นสิ่งที่สูงกว่าสิ่งที่มันรับรู้)คือประสาท    สูงกว่าประสาทคือจิต   สูงกว่าจิตคือพุทธิ (ปัญญา)  สูงกว่าพุทธิคือเหตุผลอันประณีตละเอียดอ่อน  (มหัต)

            สูงกว่าเหตุผลคือปฐมธาตุ (อวยักตะ) สูงกว่าปฐมธาตุคือบุรุษ    และไม่มีอะไรสูงกว่าบุรุษซึ่งเป็นที่สิ้นสุดและเป็นความแท้จริงอันติมะ

             อาตมันมีอำนาจสูงกว่าสิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทุกสิ่ง  ประสาทสัมผัส   ความรู้  และปัญญา   อาตมันก็เป็นหนึ่งและอยู่สูงกว่าสิ่งเหล่านั้น  ดังนั้นสวภาวะอาตมันของ กฐะอุปนิษัทนั้น  สามารถอธิบายได้เป็น  ๒  แบบ  คือ  

             แบบแรกอาตมันใช้แทนความจริงสูงสุด  หรืออันติมสัจจะ   เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ด้วยคำพูด  เป็นสิ่งที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวไม่มีสอง  อาตมันแบบนี้สามารถอธิบายได้ในลักษณะปฏิเสธเท่านั้น  เช่น  มันไม่ใช่สิ่งนี้  มันไม่ใช่สิ่งนั้น 

             ส่วนอาตมันแบบที่  ๒  นั้นใช้แสดงแทนพระเจ้าสูงสุด  ผู้เป็นผู้สร้าง  ผู้ดำรงรักษา  และผู้ทำลายโลก    และสิ่งเหล่านี้อันเป็นสิ่งที่เราไม่รู้    เราจึงต้องเวียนว่ายเวียนตายเกิดอยู่ในสงสารสาครนี้อยู่เป็นนิจ    และเราก็ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้อย่างมากเช่นกัน   ว่าร่างกายของเรานี้ไม่ใช่ของจริง    เป็นเพียงภาพประกอบที่ปรากฏอันไม่จิรัง  ไม่เที่ยงแท้ถาวร   เพราะอาตมันนี้เอง  ร่างกายจึงเคลื่อนไหว  ร่างกายจึงมีกิริยาต่าง ๆ  และร่างกายจึงทรงตัวอยู่ได้   หากเราไม่มีอาตมัน   กายของเราก็ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ธรรมดา  ๆ   นี้เอง และเพราะอาตมันเป็นสิ่งจริงแท้ (สัต)  ความรู้ (จิต) และความสุข (อานันทะ)  อาตมันจึงไม่รู้จักทุกข์  หรือตายและไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

             จะเห็นได้ในกฐะอุปนิษัทนั้น  ได้กล่าวถึงสวภาวะของอาตมันไว้ว่า   อาตมันเป็นสิ่งที่แท้จริงอันสูงสุด   เป็นสิ่งสากลที่ยิ่งใหญ่  และสูงสุด   เอกภพทั้งสิ้นดำรงอยู่และเคลื่อนไหวอยู่ในอาตมัน   และอาตมันก็คือพรหมันนั่นเอง    อาตมันกระจายตัวไปทั่วสิ่งทั้งปวง  เหมือนกับไฟที่ปรากฏเข้ามาในโลกแล้ว  ย่อมเปลี่ยนรูปไปเป็นนานาต่าง ๆ   ตามแต่สิ่งที่มันเข้าไปอยู่นั้น          จะมีรูปร่างเป็นอย่างไร  และมันก็อยู่พ้นจากสิ่งเหล่านั้นด้วย     

              แม้อาตมันจะซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งทั้งปวงเหล่านั้น  โดยปราศจากเสียง  ปราศจากรูป  ปราศจากรสและกลิ่น   มีอยู่เป็นนิตย์   ล่วงพ้นเหตุผล  ไม่เปลี่ยนแปลง   มันก็หาได้เผยให้คนเหล่านั้นประจักษ์แจ้งแก่ตัวมันไม่   แต่บุคคลผู้มีปรกติเห็นสิ่งที่สุขุม  ด้วยปัญญาอันละเอียดแหลมคม  ย่อมเห็นอาตมันและผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่รอดพ้นจากปากมฤตยูได้ 

 

 

 บรรณานุกรม

S. Śaravānanda, Kathopanisad  (10th ed. Madras : Bharati Vijayam Press, 1960)

                                  

                 

หมายเลขบันทึก: 500749เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท