อุปสรรคเชิงบุคคลที่ไม่ไปใช้บริการที่รพ.สต ใกล้บ้าน


ดอกไม้แกร่งในแปลงชุมชน

เมื่อวันที่23-24 สิงหาคม กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวโรงพยาบาลพุทธชินราชได้จัดงาน 1 ทศวรรษเวชศาสตร์ครอบครัวในทรีมงานว่า ดอกไม้แกร่งในแปลงชุมชน  มีการนำเสนอผลงาน วิจัยด้วยวาจาและโปสเตอร์ นวัตกรรม เรื่องเล่า สำหรับส่วนตัวมีโอกาสได้ทำวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวาง(Cross sectional Survey Research)ในโครงการ(R2R)เรื่อง "อุปสรรคเชิงบุคคลที่ไม่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน"

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1 ศึกษาข้อมูลทางด้านปัจจัยส่วนบุคคลที่ไม่ไปใช้บริการที่ รพ.สต   ใกล้บ้าน

2.2 ศึกษาอุปสรรคเชิงบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ไปใช้บริการที่ รพ.สต ใกล้บ้าน

สมมุติฐานของการวิจัย

ผู้ใช้บริการที่มีข้อมูลพื้นฐาน ต่างกัน จะมีอุปสรรคเชิงบุคคล แตกต่างกัน

โดยกลุ่มตัวอย่างเลือกจากผู้ที่มาใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพเมืองโรงพยาบาลพุทธชินราชที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมืองและเป็น รพ.สต.เครือข่ายของโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลกเท่านั้นจำนวน 400 คน โดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบ Purposive Sampling และ Convenience Sampling

เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มี3ส่วนส่วนที่1ข้อมูลพื้นฐาน ส่วนที่2 ข้อคำถามเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงบุคคลเป็นแบบRating scale 5 ระดับ ส่วนที่3เป็นข้อคิดเห็นเรื่องอุปสรรคและข้อเสนอเป็นแบบปลายเปิด

การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิที่เก็บโดยผู้ช่วยผู้วิจัย

แบบสอบถามมีค่า Reliability =.9111 

ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลแบบสอบถาม ตรวจสอบความถูกต้อง สมบูรณ์ และนำมาวิเคราะห์ โดย 

   ข้อมูลพื้นฐาน วิเคราะห์โดยหาค่าความถี่และค่าร้อยละ

   ข้อมูลเกี่ยวกับระดับอุปสรรค วิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

   ข้อมูลปลายเปิดเกี่ยวกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำมาจัดหมวดหมู่ความถี่จากการตอบ วิเคราะห์ตามข้อเท็จจริง

    ข้อมูลสมมุติฐานทดสอบความแตกต่างโดยใช้สถิติ t-test and One Way Anova

   ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.ทำให้ทราบถึงอุปสรรคเชิงบุคคลที่ไม่ไปใช้บริการ

2.สามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อสืบค้นสำหรับผู้ที่สนใจ

3.เพื่อนำมาเป็นแนวทางให้กับผู้บริหารในการพัฒนาระบบการบริการใกล้บ้านใกล้ใจ บริการการส่งต่อและลดความแออัดที่มีประสิทธิภาพ

ผลการวิจัยพบว่า

ผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง(67.0 %)มีอายุอยู่ในช่วง46-55 ปี(24.5%)สถานภาพสมรสคู่(65.3%) มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา(46.8%)มีอาชีพรับจ้าง/ เป็นลูกจ้าง/พนักงาน(25.8%)ใช้บัตรประกันสุขภาพ(59.0%)ระยะทางที่ใช้ในการเดินทางอยู่ในช่วงมากกว่า5-10 กิโลเมตร(37.3%)ส่วนใหญ่เดินทางโดยใช้รถส่วนตัว(79.8%)มีรายได้พอใช้ไม่เหลือเก็บ(41.3%)และเคยไปใช้บริการที่รพ.สตใกล้บ้าน(81.3%)

ข้อมูลด้านอุปสรรคเชิงบุคคล มีระดับอุปสรรคในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง(mean=2.67,SD=0.65)

 

มีระดับอุปสรรคปานกลางที่ไม่ไปใช้บริการ ได้แก่

 การมีนัดตรวจรักษาประจำอยู่แล้ว(mean=3.43,SD=1.25) มีการส่งต่อให้ไปใช้บริการที่สถานบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า(mean=3.16,SD=1.21)

     จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง ถ้ามีอาการเป็นมากหรือหรือรุนแรงจะได้รับการส่งต่อที่ล่าช้า(mean=2.97,SD=1.97)

      ไม่มีแพทย์ตรวจรักษา เข้าถึงบริการยาก ยาบางชนิดไม่มี ได้รับยาน้อย นัดเร็ว (mean=2.84,SD=1.01)

       ไม่มีความทันสมัยของเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษา และไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ(mean=2.82,SD=0.99)

       ไม่ได้รับบริการตามที่คาดหวังไว้และลักษณะของการให้บริการไม่ตรงกับความต้องการ(mean=2.76,SD=0.99)

       ใช้สิทธิ์ประกันสังคม เบิกได้จ่ายตรงไม่ต้องชำระเงินก่อน (mean=2.73,SD=1.56)

       ไม่มีการประชาสัมพันธ์ในด้านการบริการตรวจรักษาโดยแพทย์ และวันที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจรักษา(mean=2.72,SD=1.03)

       เจ้าหน้าที่มีประสบการณ์ทางด้านความรู้เรื่องโรคน้อย(mean=2.71,SD=0.88)

มีระดับอุปสรรคน้อย ได้แก่

      ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รู้จัก ไม่มีความเป็นกันเอง(แปลว่ารู้จักและเป็นกันเอง mean=2.42,SD=.96)

       ระบบบริการยุ่งยากซับซ้อน (แปลว่าระบบริการไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนmean=2.44 , SD=.89)

       การจัดที่พัก เก้าอี้ นั่งรอคอยการเข้าใช้บริการไม่เพียงพอ(แปลว่าเพียงพอ mean=2.37,SD=.88)

      การเดินทางไปใช้บริการที่ รพ.สต.ใกล้บ้านยากลำบากและไม่สะดวก(แปลว่าไม่ลำบาก สะดวก mean=2.32,SD=1.01)

ผลการตรวจสอบสมมุติฐาน พบว่า ระดับการศึกษา อาชีพ ระยะทาง รายได้ และการใช้บริการ ต่างกัน มีอุปสรรคเชิงบุคคล แตกต่างกันอย่ามีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ0.05

ส่วนที่สามปลายเปิด พบประเด็นปัญหาเรื่อง ไม่มีแพทย์ในการตรวจรักษา การบริการและพฤติกรรมการบริการต้องปรับพัฒนา  ความไม่พร้อมใช้ของเครื่องมืออุปกรณ์ ยามีไม่ครบตามโรคที่เป็น ไม่มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางด้านสาธารณสุขให้ประชาชนและผู้ใช้บริการในชุมชนทราบ การบริการเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัวที่บ้านยังมีน้อย ไปใช้บริการแล้วไม่พบเจ้าหน้าที่ พบแต่ลูกจ้าง/อสม และบริการตรวจรักษาภาคบ่ายและนอกเวลาไม่มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ ไม่มีการตรวจร่างกายจัดยาตามคำบอกเล่า ทำให้ไม่ทราบว่าขณะที่ไปตรวจรักษานั้นมีอาการเป็นอย่างไร

สรุป: พบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีความรู้สึกเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงบุคคลอยู่ในระดับปานกลางซึ่งสามารถปรับพัฒนาได้ทุกๆเรื่อง การปรับพัฒนานั้นต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทั้งด้านผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการและผู้สนับสนุนการบริการและในด้านนโยบายจากระบบการบริหารตามหลักการหัวใจ4ดวง โดยเริ่มจากการพัฒนา ตนเอง พื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง ชุมชนของตนเอง และขยายเป็นเครือข่ายการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน โรงพยาบาลแม่ข่ายและกลุ่มงานที่รับผิดชอบต้องเป็นแรงผลักดัน สนันสนุนทรัพยากร ตามนโยบาย โดยรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะทั้งของทีมผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการ

   ข้อมูลที่เป็นระดับอุปสรรคมาก ควรเป็นการจัดการในเรื่องของนโยบายการบริหารในเรื่องระบบบริการ การส่งต่อและการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวที่บ้านที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่ระบบการส่งต่อ การลดความแออัด ในโรงพยาบาลต่อไป

   ข้อมูลที่เป็นระดับอุปสรรคน้อย ทีมผู้ให้บริการควรรีบใช้โอกาสที่จะพัฒนาโดยใช้ความรู้จัก ความเป็นกันเอง การเดินทางที่สะดวก สร้างสัมพัธภาพและประชาสัมพันธ์ถึงสิ่งดีๆที่ รพ.สต.ของเรามีอยู่และสามารถทำได้ กระตุ้นบ่อยๆทั้งการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ร่วมกับเสียงตามสายข้อมูลข่าวสารของ อบต.

ข้อเสนอแนะ

1.รพ.สต.ควรทำโครงการร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและโรงพยาบาลแม่ข่ายจัดเสริมองค์ความรู้ เรื่องโรคกับการรักษาเพื่อให้เกิดระบบการตรวจรักษา การดูแลผู้ป่วยและครอบครัวที่บ้านและการส่งต่อที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจจากประชาชน

2.ควรมีแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับศักยภาพในการตรวจรักษาโรค การบริการที่มีในรพ.สต.

3.ควรจัดเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ ทางการแพทย์ ให้พร้อมใช้และเพียงพอต่อการใช้ตลอดเวลา

4.รพ.สต. ควรมีแผนการปรับพัฒนาพฤติกรรมการบริการ ให้ไปสู่พฤติกรรมการบริการที่เป็นเลิศ โดยเชิญชวนประชาชน มาร่วมปรับพัฒนาด้วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่สอดคล้องตรงกันและเกิดการมีส่วนร่วมด้วยกัน....

หมายเลขบันทึก: 500746เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ คุณสวรินทร์ วราโพธิ์

เนื่องจากท่านได้รับรางวัลจากเว็บไซต์ GotoKnow.org   จากการเขียนบันทึกแบ่งปันความรู้ของท่านโดยใส่คำสำคัญว่า "GotoKnow" ผ่านทางเว็บไซต์ GotoKnow.org   ทาง GotoKnow จึงคัดเลือกให้ท่านได้รับรางวัล  ซึ่งของรางวัลที่ท่านได้รับนั้นคือ  "เสื้อโปโล"  ดังนั้นทางทีมงานจึงเรียนขอชื่อ  ไซต์เสื้อ  และที่อยู่ของท่านที่สะดวกในการรับของรางวัลจากทีมงาน   โดยท่านสามารถส่งข้อมูลมาที่ ([email protected])

                                  ขอบคุณครับ
                              ทีมงาน GotoKnow
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท