ตอนที่ ๑๒


ลูกชาย : แล้วในระยะเวลา ๑๑วันเกิดอะไรขึ้นครับ

พ่อดี : ท่ามกลางกระแสข่าวลือต่าง ๆ ของทิศทางค่าเงินบาท และนายอำนวย รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ นั้น อีกฟากหนึ่งนายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง และนายชัยวัฒน์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างและผู้จัดการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยืนยันว่าไม่ลดค่าเงินบาทแน่นอน และมีทุนสำรองระหว่างหมู่บ้านมากเพียงพอและขอให้นายกแถลงข่าวยืนยันด้วย และมีการตั้งนายทนง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลังคนใหม่ โดยการแนะนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  (ซึ่งก่อนหน้าเข้ารับตำแหน่งนายทนง ทำงานอยู่ในเครือชินวัตร) ต่อมาในวันเสาร์ที่ ๒๑มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทนง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลัง ซึ่งวันเดียวกันนั่นเองมีการประชุมเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง โดยที่ประชุมได้มีความเห็นว่าระบบที่ดำเนินอยู่นี้คงอยู่ไมได้เนื่องจากทุนสำรองระหว่างหมู่บ้านสุทธิเหลืออยู่น้อยมาก ที่ประชุมทั้งหมดจึงเห็นพ้องต้องกันเป็นอกฉันท์ในการที่จะต้องเปลี่ยนระบบค่าเงินเป็นแบบลอยตัว (ซึ่งก่อนหน้าก็มีการหารือกันกับนายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ ของกองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้านก็เห็นชอบแนวทางนี้) ซึ่งเจ้าหน้าที่ประชุมมี ๖ คน ประกอบไปด้วย                                       

            ๑. นายชัยวัฒน์       รองผู้ว่าการฯและผู้จัดการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน

            . นายศิริ               ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโสธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง

            ๓. นางธัญญา          ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง

            .  นายบัณฑิต        ผู้อำนวยการฝ่ายธนาคาร   

            ๕.  นายไพบูลย์        หัวหน้าส่วนวิเคราะห์และธุรกิจตลาดเงินฝ่ายการธนาคาร

            ๖.  นางเกลียวทอง    ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ

 

            ภายหลังจากประชุมกันเสร็จ นายชัยวัฒน์ ได้โทรศัพท์ไปเรียนนายเริงชัย ผู้ว่าการฯ ว่าที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบลอยตัวค่าเงินและได้มีการเตรียมการกันอยู่แล้ว

ลูกชาย : ที่พ่อบอกว่าทางธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างของเราก็มีการหารือกับตัวแทนกองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้านเรื่องการปล่อยระบบค่าเงินเป็นแบบลอยตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว นั่นก็แสดงว่ากองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้านก็ต้องทราบอยู่แล้วว่าหมู่บ้านช้างของเราต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแน่นอน แล้วอย่างนี้ก็เท่ากับว่าข้อมูลก็รั่วไหลออกนอกหมู่บ้าน เป็นเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่าครับที่ทำให้หมู่บ้านเราถูกโจมตีค่าเงินจากกลุ่มเฮดฟันด์จากต่างหมู่บ้านด้วย

พ่อดี : เรื่องนี้พูดยาก อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากว่าฝ่ายที่มองในแง่ดีหน่อยก็บอกว่าข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจทั้งทุนสำรองและหนี้ระยะสั้นของหมู่บ้านก่อนเกิดวิกฤตมันไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสมเนื่องจากมีหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก และที่สำคัญยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (คือ ผลรวมสุทธิของดุลการค้าและดุลบริการ รายได้ และเงินโอน) ต่อเนื่องกันหลายปี (ถ้าเปรียบเป็นบริษัทก็เหมือนมีหนี้สินที่มากกว่าทรัพย์สินอยู่มากและยังประสบกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย) ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิเคราะห์เห็นว่าก็คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน  ส่วนกลุ่มที่มองในแง่ร้ายหน่อยก็มองว่าไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรใดถ้าขาดซึ่งคุณธรรมแล้วก็จะถูกผลประโยชน์ (กิเลส) ครอบงำ ยิ่งถ้าเป็นในเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินแล้วถ้าหากรู้ข้อมูลภายใน (Insider) ก็สามารถทำกำไรอย่างมหาศาล 

ลูกชาย : แล้วทำไมต้องมีการปรึกษาหารือกับกองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้านด้วยครับ

พ่อดี : ถึงแม้ว่าหมู่บ้านช้างของเราเคยตัดสินใจประกาศลดค่าเงินมาแล้วในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม (โดยมีนายสมหมาย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนนายอำนวย ) ถึง ๓ ครั้งก่อนที่จะมีการประกาศลอยตัวค่าเงิน ในการตัดสินใจแต่ละครั้งสภาวการณ์ก็แตกต่างกันไปด้วย โดยการประกาศลดค่าเงินบาทครั้งแรก วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ (จากอัตรา ๒๐.๗๗๕ บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเป็น ๒๑ บาทต่อดอลลาร์ เป็นการอ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ ๑.๐๗) และประกาศลดค่าเงินครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๔ (จาก ๒๑ บาทต่อดอลลาร์ เป็น ๒๓ บาทต่อดอลลาร์ ลดค่าเงินบาทลงไปร้อยละ ๘.๗) เหตุผลของการลดค่าเงินบาทในครั้งนั้นคือ ค่าเงินบาทแข็งเกินไปเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อในปี ๒๔๑๒  สูงถึงร้อยละ๑๙.๙๗ และ ๑๒.๕ ทำให้การส่งออกลดลงครึ่งแรกของปีพ.ศ.  ๒๕๒๔ ขยายตัวเพียงร้อยละ๘.๑. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ ๖.๖ หนี้ต่างประเทศอยู่ที่ระดับร้อยละ ๑๕  ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในหมู่บ้าน  โดยครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ ทำให้ค่าเงินบาทจากเดิม๒๓ บาท ลดลงเป็น ๓๗ บาทต่อเหรียญ เป็นการลดค่าเงินบาทร้อยละ ๑๕ โดยนายสมหมาย รมว.การคลัง ให้เหตุผลในการปรับลดว่า แม้ระบอบอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์จะมีเสถียรภาพมั่นคง แต่เป็นระบบที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในตอนนั้น เพราะสกุลเงินของหมู่บ้านอื่น ๆ อาทิ หมู่บ้านสิงโต หมู่บ้านเบียร์ ล้วนลอยตัวค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงค่อนข้างมาก การที่เงินบาทอิงอยู่กับดอลลาร์มากเกินไปนี้ เมื่อเงินดอลลาร์อ่อนเงินบาทของเราก็อ่อน (เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น) และในทางตรงข้ามเมื่อเงินดอลลาร์แข็งเงินบาทเราก็จะแข็ง ดังนั้นไม่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของหมู่บ้านเรา  นั่นคือเหตุผลที่มีการลดค่าเงินในครั้งนั้น แต่เนื่องจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ แตกต่างจากอดีตและธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างของเราอ้างว่ากองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้าน (Moobaan Monatary Fund—MMF) เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเงินของหมู่บ้านชิลี (ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ และ พ.ศ. ๒๕๒๗) หมู่บ้านสวีเดนระหว่าง (ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และปี พ.ศ. ๒๕๓๕) และหมู่บ้านจังโก้ (ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และ พ.ศ. ๒๕๓๘) จึงจำเป็นต้องขอคำแนะนำและปรึกษา

ลูกชาย : แล้วทั้ง ๓ นั้นเกิดวิกฤตเหมือนกับของเราหรือเปล่าครับ

พ่อดี : เหตุการณ์ที่ปรากฏคล้ายกันคือ ประการแรก ธนาคารกลางของหมูบ้านปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าออกได้โดยเสรี และธนาคารกลางกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้คงที่ (เหมือนหมู่บ้านช้าง) ประการที่สอง ธนาคารกลางไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้ เพราะมีเงินกู้จากต่างหมู่บ้านไหลเข้ามามากมายเหมือนหมู่บ้านช้างของเรา และรัฐบาลไม่ได้ใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดพอ (หมู่บ้าชิลีและหมู่บ้านจังโก้รักษาดุลงบประมาณ ส่วนหมู่บ้านสวีเดนนั้นยังมีภาวะขาดดุลในระดับที่ค่อนข้างสูง) ประการที่สาม ทั้งสามหมู่บ้านนี้เริ่มผ่อนคลายมาตรการแทรกแซงในตลาดการเงินโดยไม่มีการกำกับสถาบันการเงินที่เข้มแข็งขึ้น และประการสุดท้าย ในช่วงที่เศรษฐกิจขาขึ้น มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยเงินกู้จากสถาบันการเงินเป็นจำนวนสูงมาก จนในที่สุดทำให้สถาบันการเงินอยู่ในฐานะที่เสี่ยงต่อการฟุบลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์

ลูกชาย : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับหมู่บ้านของเราเลยนะครับ เออพ่อครับเกือบลืมไป แล้วหลังจากที่ธนาคารแห่งหมู่บ้านของเราประชุมแล้วมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนระบบค่าเงินเป็นแบบลอยตัว เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๐ แล้วเกิดอะไรขึ้นในระหว่างนั้น ถึงมีการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

พ่อดี : เป็นเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าใช้ระยะเวลายาวนานที่สุดในการดำเนินการเลยก็ว่าได้ทั้งที่สถานการณ์แบบนั้นต้องใช้การตัดสินใจที่รวดเร็วเพราะถ้าช้าจะเกิดผลเสียหายอย่างมาก (โดยนายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งหมู่บ้าน เคยกล่าวไว้) โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง จำนวน ๖ คน ได้ประชุมและได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องเปลี่ยนระบบค่าเงินเป็นแบบลอยตัว และได้แจ้งให้นายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารฯ ทราบ รวมเป็น ๗ คน แต่ที่สำคัญก็ยังคงยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่าไม่ลดค่าเงินแน่นอน จนถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ นายเริงชัย ผู้ว่าการฯ และนายชัยวัฒน์ รองผู้ว่าการฯ จึงได้มีโอกาสประชุมร่วมกับนายทะนง รมว.คลัง

ลูกชาย : แล้วระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ทำอะไรอยู่ครับ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น

พ่อดี : เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างอ้างว่า ในช่วงที่นายทนง เข้ามารับตำแหน่งได้ใช้เวลา ๓-๔ วันแรก ทำหน้าที่ดูแลร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินผ่านสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีโอกาสพบกัน  และหลังจากที่พบกันระหว่างนายทะนง นายเริงชัย และนายชัยวัฒน์ ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ โดยฝ่ายธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างรายงานสถานะของทุนสำรองสุทธิให้ทราบแล้ว นายทนงก็ตัดสินใจในการประชุมครั้งนั้นเลยว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน  แต่นายเริงชัย ผู้ว่าการฯ กลับตอบนายทนง ว่าจะขอไปปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างก่อน โดยไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด (ทั้ง ๆ ที่มีมติตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๐) จนกระทั่งในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ นายทนง  ได้ตกลงกับนายเริงชัย และนายชัยวัฒน์ ว่าจะไปเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันดังกล่าวปรากฏว่ามีนายโภคิน ร่วมประชุมด้วย และที่สำคัญก็ยังให้นายกรัฐมนตรียืนยันกับประชาชนผ่านทางทีวีว่ายังรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยนเดิม

ลูกชาย : ทำไมถึงให้ทำอย่างนั้นหละครับ

 

********************************************************************************************************************

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 500228เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท