ประวัติท่านนาคารชุน


ศูนยตา หรือ ศูนยวาท

 

ประวัติความเป็นมา

     ท่านนาคารชุน  ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ที่เมืองวิทารภะ  แคว้นโกศล  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่  ๘  (คริสต์ศตวรรษที่สอง  ประมาณ ๑๕๐ – ๒๕๐   ปีหลังคริสตกาล)  

 

     หลักฐานฝ่ายจีนกล่าวว่าท่านมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกับ พระเจ้ากนิษกะ และ พระอัศวโฆษ โดยท่านมีอายุน้อยกว่าพระอัศวโฆษ   พระอัศวโฆษเป็นพระสหายใกล้ชิดกับพระเจ้ากนิษกะ  และพระวสุมิตร  ซึ่งเป็นอาจารย์คนสำคัญของนิกายสรวาสติวาท 

 

     ในวัยเด็กนาคารชุนได้ศึกษาคัมภีร์พระเวทจนแม่นยำ  อีกทั้งเชี่ยวชาญการใช้เวทมนตร์คาถา  เลยนำคาถาที่ตนรู้ไปใช้ในทางที่ไม่ดี   เหตุนี้จึงทำให้นาคารชุนเห็นโทษของตนจึงตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้นมา  

 

      เมื่อออกบวชแล้วท่านได้ศึกษาพระไตรปิฏกและศาสตร์แขนงต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญ  โดยในเวลาเพียง  ๙๐  วัน  ก็สามารถแตกฉานได้  ปัญญาของท่านเลิศล้ำจนหาคนเปรียบไม่ได้  เป็นนักโต้วาทีที่หาตัวจับยากเพราะมีฝีปากคมคายมาก    พราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันกลัวเกรงวาทะของท่านมาก

 

      คำว่า “นาคารชุน”  มาจากคำว่า  “นาคะ”  ที่หมายถึงปัญญาญาณ  บ่งถึงบุคคลที่สามารถทำลายกิเลสอาสวะลงได้    กับ  “อรชุนะ”  ที่หมายถึงชื่อต้นไม้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่กำเนิดของท่าน  ในแง่นี้นาคารชุนจึงอาจเป็นชื่อเดิมหรือฉายาที่บุคคลตั้งให้ในภายหลัง   ตรงนี้เป็นสมมติฐานที่ยังไม่สามารถหาหลักฐานใด ๆ  มายืนยันความชัดเจนได้

 

       และที่มาของชื่อท่านอีกอันหนึ่งมาจากการที่มีพญานาคเชิญท่านไปเทศนาธรรมที่บาดาลนคร  ที่นั่นท่านได้ค้นพบพระสูตรมหายานชิ้นสำคัญยิ่งคือ  มหาปรัชญาปารมิตาสูตร  ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในที่ลับเพื่อรอคอยการเปิดเผยเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมเชื่อกันว่านาคารชุนนี้ได้ร่วมกับอัศวโฆษสร้างมหายานขึ้นมา     นาคารชุนเป็นผู้รู้รอบในหลักพุทธปรัชญา  ไสยศาสตร์  ดาราศาสตร์  แพทยศาสตร์  รวมทั้งพระเวททั้งหลายด้วย

 

งานประพันธ์

       นาคารชุน  ได้รจนานิพนธ์เป็นจำนวนมาก   ที่เหลืออยู่ในขณะนี้ก็มักจะเป็นงานเขียนที่ถ่ายทอดไว้เป็นภาษาธิเบตและภาษาจีน   ท่านได้รจนาหนังสือ  มาธฺยมิกสูตร  หรือ  มาธฺยมิกการิก   ( เกี่ยวกับหลักมหายาน พร้อมทั้งอรรถกถาชื่อว่า อกุโตภยา)  วิคฺรหวฺยาวรฺตนี  (เกี่ยวกับตรรกศาสตร์)  ศุนฺยตาสปฺตติรตฺนาวลี  เป็นต้น

         

แนวคิด

     เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะอันแท้จริงแห่งสัจธรรมขั้นสูงสุด   ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมาย  และผู้ปฏิบัติก็จะบรรลุสันติภาพถาวรขั้นสุดท้าย  ซึ่งเป็นความหลุดพ้นจากทุกข์  หยุดการเกิดและการเวียนว่ายในวัฏสงสาร    ทั้งนี้นาคารชุนยังแสดงให้เห็นว่า   บรรดาสังขตธรรมทั้งหลายล้วนเป็นศูนยตา   คือ ไม่จริงแท้   และอสังขตธรรมก็เป็นศูนยตา  คือ  ไม่อาจพรรณนาด้วยภาษามนุษย์ให้ถูกต้องครบถ้วนได้ 

 

     ด้วยเหตุนี้  ท่านจึงคัดค้านทฤษฎีทางปรัชญาของสำนักทั้งหลายว่าเป็นศูนยตาทั้งสิ้น  หมายความว่า  หาได้ถูกต้องครบถ้วนอย่างที่เจ้าของทฤษฎีเข้าใจไม่  วิธีการที่ท่านใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิเสธทฤษฎีอื่น ๆ และในการอธิบายทฤษฎีของท่านนั้น  เรียกว่า  วิภาษวิธี

 

       ความจริงของนาคารชุนนั้น  คือสภาพที่สามารถรู้แจ้งได้โดยตรง  มีลักษณะสงบและเป็นสุข  อยู่เหนือความต่างทั้งหลาย  ทนต่อการพิสูจน์ด้วยปัญญาขั้นเหตุผล  เป็นภาวะสัมบูรณ์อย่างเอกไม่เป็นสอง  โดยแบ่งออกเป็น ๒   ชนิด  คือ  ความจริงสมมุติ  (ภาวะที่ปกปิดความจริงทำให้เห็นลักษณะไม่แท้เป็นลักษณะแท้)จะเป็นภาวะจริง   ย่อมไม่เห็นว่าเป็นภาวะหลอกลวง  เพราะเขาใช้ปัญญาทางเหตุผลอันสามัญพิจารณา  เหมือนคนกำลังฝันย่อมเห็นว่า  เรื่องราวในฝันเป็นความจริงทุกอย่าง  เพราะเขาใช้ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นมาพิจารณาตัดสิน  แต่พอตื่นขึ้น  เขาใช้ปัญญาอีกขั้นหนึ่งพิจารณาจึงรู้ว่าเรื่องในฝันไม่จริง  ข้อนี้ฉันใด  เรื่องราวในชีวิตของปุถุชนเราก็ฉันนั้น  จะตัดสินด้วยปัญญาชั้นสูง  จึงจะรู้ว่าเป็นเรื่องมายาทั้งนั้น

       นาคารชุนถือหลักปฏิจจสุปบาทที่เรียกว่า  มัชฌิมาปฏิปทา   หรือทางสายกลางเป็นหลักในการดำเนิน  จึงได้ชื่อว่า  มาธฺยมิกะ  และเพราะเหตุที่กล่าวถึงศูนยตาเป็นเรื่องสำคัญ  จึงชื่อว่า  ศูนยวาท

 

      สารัตถะสำคัญของสิ่งทั้งหลาย  คือ  ศูนยตา  มีความหมาย   ๒  ประการ  คือ  วัตถุที่เราประสบในบัดนี้เป็นศูนยตาในอดีตและเป็นศูนยตาในอนาคต  สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นศูนยตา  อวิทยานั่นเองทำให้เราเห็นสิ่งที่เป็นศูนยตาเหมือนสิ่งที่มีอยู่จริงเหมือนสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร  การรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายเป็นศูนยตานั้น  เรียกว่า  มหาวิทยา (ความรู้ขั้นประจักษ์ชนิดพิเศษ  ที่สามารถเข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงสุด  คือศูนยตาได้) ซึ่งตรงข้ามกับอวิทยา 

 

       และศูนยตาก็ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีอะไร   แต่ความจริงศูนยตานั้นปฏิเสธทฤษฎีทั้งหมด  และ  ศูนยตาเองก็ไม่เป็นทฤษฎีหนึ่งต่างหาก   ท่านก็กล่าวตามแบบวิภาษวิธีของท่านว่า  “ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอศูนยตา  มันก็เป็นอิสระแก่กันและกัน เมื่อเป็นอิสระแก่กันและกัน  ก็ต้องเป็นภาวะสัมบูรณ์  เมื่อเป็นภาวะสัมบูรณ์  ก็ต้องไม่มีการทำลาย   เมื่อไม่ทำลาย  ก็ย่อมไม่มีสงสาร  ไม่มีนิพพาน  ไม่มีอริยสัจ  ไม่มีสงฆ์  ไม่มีศาสนา  ไม่มีพระพุทธเจ้า  ถ้าทุกอย่างเป็นจริง  จะเป็นสิ่งถาวรคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง  และถ้าเป็นเช่นนี้โลกคงไม่มี”

หมายเลขบันทึก: 500136เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2012 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณดอกไม้ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท