ทักษะการปรึกษา


ทักษะการให้การปรึกษา

 

 ทักษะการปรึกษาสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเบื้องต้นและกลุ่มเบื้องลึก

 กลุ่มเบื้องต้น มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้รับการปรึกษาทักษะย่อยที่ใช้ ได้แก่ การฟัง การตั้งคำถามเปิด-ปิด การทบทวนคำพูด การสะท้อนความรู้ การทำให้กระจ่าง และการสรุป

                กลุ่มเบื้องลึก มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมกระบวนการให้การปรึกษาบรรลุเป้าประสงค์ ซึ่งประกอบด้วยการทำให้ผู้รับการปรึกษามีความเข้าใจปัญหาและตนเองมากขึ้น ทักษะที่ใช้คือการท้าทายและการแปลความ รายละเอียดของทักษะดังกล่าวมีดังนี้ (Kotler & Brew, 2003 ; Nystul, 2003 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549)

 

                1)  ทักษะการฟัง

                      ทักษะการฟังมีบทบาทที่สำคัญในทุกขั้นตอนของการให้การปรึกษา การฟังเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น รู้สึกว่าถูกเข้าใจโดยผู้ฟัง การฟังเป็นกระบวนการซับซ้อนที่ประกอบด้วยทักษะย่อย ๆ ได้แก่ การเอาใจใส่ต่อภาษาพูดและอวัจนภาษา การส่งเสริมให้ผู้พูดรู้สึกมีความอิสระที่จะเปิดเผย การพัฒนาความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พูด และการตอบสนองด้วยท่าทีที่เหมาะสม

 

                การเอาใจใส่ต่อภาษาพูดและอวัจนภาษา

                หมายถึง ผู้ให้การปรึกษาต้องฟังสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาสื่อด้วยวาจาและสื่อด้วยภาษากาย การฟังภาษาพูดหรือเรื่องที่เล่า ต้องฟังให้ได้ครบทั้ง 3 มิติของพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึก กล่าวคือ ฟังเมื่อให้เกิดความเข้าใจว่าผู้รับการปรึกษามีพฤติกรรมอะไร อย่างไร เขามีความคิดหรือทัศนคติต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร และมีความรู้สึกเช่นไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น การฟังให้ได้ครบทั้ง 3 มิตินั้นต้องครอบคลุมทั้งตัวผู้รับการปรึกษาและสิ่งที่เขาสัมพันธ์ด้วย

                สำหรับภาษากายหรืออวัจนภาษา ผู้ให้การปรึกษาต้องสังเกตภาษากายที่สื่อออกมา ซึ่งได้แก่

1)       การแสดงออกบนใบหน้า (Facial Expression) หรือสิ่งที่สังเกตเห็นบนใบหน้าของผู้รับการปรึกษา ว่าแสดงสีหน้ายิ้ม คิ้วขมวด ริมฝีปากสั่น แววตาเศร้าหมอง ขุ่นมัว หวาดระแวง ซึ่งกิริยาเหล่านี้สะท้อนอารมณ์ภายใน

2)       อากัปกิริยา (Gestures) ได้แก่ การเคลื่อนไหวของมือขณะเล่าเรื่อง มือและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมีความสอดคล้องกับเนื้อหาที่เล่าหรือขัดแย้ง

3)       การเคลื่อนไหวของร่างกาย (Body Movement) ได้แก่ ท่าทางต่าง ๆ ขณะที่นั่ง เช่น มือและเท้ากระดิก ขยับไม่อยู่นิ่ง

4)       การวางตัว (Posture) หมายถึง การมีท่าทีที่ผ่อนคลาย เกร็ง หรือห่อเหี่ยว

5)       ทิศทางของการสบตา (Visual Orientation) ได้แก่ การสบสายตาและการเคลื่อนไหวของลูกนัยน์ตาขณะเล่าเรื่อง

6)       ระยะห่างของพฤติกรรม (Spatial Behavior) ผู้รับการปรึกษามีการวางตนอย่างไรในการนั่งและยืนห่างจากผู้ให้การปรึกษา

7)       ลักษณะที่ปรากฏ (Appearance) หมายถึง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ความสะอาด

8)       การออกเสียงที่ไม่เป็นภาษาพูด (Nonverbal Vocalizations) ได้แก่ การถอนหายใจ การอุทาน การรับคำ

                2)  ทักษะการตั้งคำถาม

                      สิ่งที่พบอยู่เสมอคือผู้ให้การปรึกษามือใหม่มักจะถามมากเกินไป สิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์เพื่อพิจารณาว่าเมื่อใดควรตั้งคำถามมีดังนี้

1)       เมื่อเริ่มต้นการปรึกษา : “ดิฉันจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง” “คุณอยากจะพูดเกี่ยวกับเรื่องอะไร” “วันนี้เราจะเริ่มต้นกันเรื่องอะไรดี” “มีอะไรที่ไม่สบายใจ”

2)       เมื่อต้องการความกระจ่าง : “คุณหมายความว่าอะไร” “ช่วยยกตัวอย่างเพิ่มเติมหน่อย”

3)       เมื่อต้องการดึงให้เข้าสู่ประเด็น : “ก่อนหน้านั้นคุณได้พูดถึงความสบายใจที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ ช่วยเล่ารายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับเรื่องอื่นขอเว้นไปก่อน”

4)       เมื่อต้องการทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร : “หลังจากที่พูดคุยกัน และคุณบอกว่าเข้าใจตนเองเพิ่มขึ้น มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างในที่ทำงาน”

5)       เมื่อต้องการข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง : “คุณเคยแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีการอย่างไร”

6)       เมื่อต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง : “คุณคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับทัศนคติของคุณอย่างไร”

7)       เมื่อต้องการเน้นให้ความสำคัญกับความคิด : “คุณคิดอะไรและนึกอะไรอยู่ในใจ ก่อนที่ตัดสินใจเช่นนั้น”

8)       เมื่อต้องการทำให้เกิดการกระจ่างชัดในเป้าหมาย : “จากสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้คุณไม่สบายใจ เรื่องอะไรที่คุณให้ความสำคัญมากที่สุด”

9)       เมื่อต้องการให้ลงมือแสดงพฤติกรรม : “คุณมีการเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุเป้าประสงค์”

                      การตั้งคำถามตามเกณฑ์เหล่านี้ นอกจากจะเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการปรึกษาแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการสำรวจและเข้าใจตนเอง รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย สำหรับข้อที่พึงระมัดระวังในการตั้งคำถามเปิด คือ หลีกเลี่ยงการถามว่า “ทำไม” เนื่องจากคำถามเช่นนี้จะทำให้ผู้ตอบหาเหตุผลมาสนับสนุนตนเอง แทนที่จะสำรวจการกระทำของตน

 

                คำถามเปิดและคำถามปิด

                สำหรับประเภทของคำถามอาจแบ่งได้เป็นคำถามเปิดและคำถามปิด คำถามปิดหมายถึง คำถามที่ผู้ตอบไม่ต้องบรรยายรายละเอียด เช่น คำถามที่มักลงท้ายด้วยการให้ตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” คำถามปิดมีแนวโน้มทำให้การสื่อสารหยุดชะงัก และสร้างกรอบให้ผู้รับการปรึกษากลายเป็นผู้ตอบสนองที่เฉื่อยชา (A passive respondent)

                ตัวอย่างการสนทนาระหว่างผู้ปกครองกับบุตรที่เพิ่งกลับจากโรงเรียนด้วยคำถามปิด

                ผู้ปกครอง :     วันนี้ที่โรงเรียนเหตุการณ์เป็นไปด้วยดีใช่ไหมลูก

                เด็ก                   :     ครับ

                ผู้ปกครอง :     ครูพาไปนอกสถานที่ใช่ไหม

                เด็ก                   :     ใช่ครับ

                ผู้ปกครอง :     แล้วลูกได้นั่งใกล้กับใหญ่บนรถตามที่ลูกต้องการหรือเปล่า

                เด็ก                   :     ได้ครับ

                ผู้ปกครอง :     แล้วลูกกล้าที่จะชวนเขามาเที่ยวบ้านเราไหม

                เด็ก                   :     ไม่แน่ใจครับ

                ผู้ปกครอง :     ลูกยังไม่แน่ใจในตัวเองที่จะมีความกล้าพอ?

                เด็ก                   :     คงงั้นครับ

                ผู้ปกครอง       :     หิวข้าวหรือยัง แม่มีขนมอยู่ในตู้เย็น

                สำหรับคำถามเปิด มักเป็นคำถามที่ไม่สามารถตอบด้วยคำคำเดียว และส่งเสริมให้คู่สนทนามีโอกาสพัฒนาการสื่อสาร ตัวอย่างต่อไปนี้เปรียบเทียบระหว่างคำถามเปิดและปิด

 

คำถามปิด

-      วันนี้เหตุการณ์ที่โรงเรียนเป็นไปด้วยดีใช่ไหมลูก

-      ครูพาไปนอกสถานที่ใช่ไหม

-      ลูกได้นั่งกับใหญ่บนรถตามที่ลูกต้องการหรือเปล่า

-      ลูกกล้าที่จะชวนเขามาเที่ยวบ้านเราไหม

 

-      ลูกยังไม่แน่ใจในตัวเองว่ามีความกล้าพอใช่ไหม

-      หิวแล้วหรือยัง

คำถามเปิด

-         เหตุการณ์ที่โรงเรียนวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

-         ลูกทำอะไรบ้างที่คิดว่าน่าสนใจที่สุด

-         ลูกทำอะไรบ้างบนรถ

-         แม่จำได้ว่าลูกอยากเป็นเพื่อนกับใหญ่      เรื่องนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

-         ลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง

-         ตอนนี้ลูกอยากทำอะไรบ้าง

 

                อย่างไรก็ตาม การใช้คำถามปิดมีความเหมาะสมเมื่อผู้ถามต้องการข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง เช่น เมื่อผู้สื่อข้อความแสดงความไม่ชัดเจนในสิ่งที่เล่า ดังนั้น เพื่อยืนยันความเข้าใจของผู้ให้การปรึกษา อาจใช้คำถามปิดเพื่อสอบถาม ตัวอย่างเช่น “จากที่เล่ามาแสดงว่า คุณหลับยากหรือคุณนอนไม่ค่อยหลับ” นอกจากนี้คำถามปิดมีความเหมาะสมเมื่อผู้ถามต้องการข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงในยามวิกฤต ตัวอย่างเช่น “ก่อนหน้านี้เคยพยายามฆ่าตัวตายไหม” ในครอบครัวพี่ชายเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายใช่ไหม” เป็นต้น

 

                3)  ทักษะการสะท้อน

                      ทักษะการสะท้อนแบ่งเป็น 2 ทักษะย่อย คือ การสะท้อนข้อความ (Reflecting Content) และการสะท้อนความรู้สึก (Reflecting Feeling)

                      3.1) การสะท้อนข้อความ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการเรียบเรียงถ้อยคำใหม่ (Paraphrasing) มีประโยชน์เมื่อผู้รับการปรึกษาได้เล่าเรื่องราวมาในระยะเวลาที่พอสมควร ผู้ให้การปรึกษาตอบสนองด้วยการเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อแสดงว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่เล่า การเรียบเรียงควรใช้คำพูดที่แสดงความใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาเล่ามา และเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาปฏิเสธเพื่อแก้ไขความเข้าใจได้ การเรียบเรียงที่ดีคือทำให้สั้น กระชับ โดยใช้คำหลักที่ผู้รับการปรึกษาได้พูดมา และหาคำอื่นที่มีความหมายตรงกัน ตัวอย่างเช่น

 

ถ้อยคำเดิม

-      ผมสนุกเวลาที่ได้วิ่งกับสุนัขหลังเลิกงาน

-      ผมชอบที่จะวิ่งหลังจากวันที่เครียด               เพราะว่าช่วยให้ผมคลายเครียดได้

ถ้อยคำใหม่

-         คุณชอบที่จะวิ่งกับสุนัข

-         การวิ่งเป็นการลดความเครียดที่ดีสำหรับคุณ

 

                      3.2) การสะท้อนความรู้สึก หมายถึง การสะท้อนให้ทราบว่าผู้ให้การปรึกษามีความเข้าใจต่อความรู้สึกของผู้รับการปรึกษาอย่างไร การสะท้อนความรู้สึกยังแสดงออกซึ่งความเข้าใจในตัวผู้รับการปรึกษาอย่างลึกซึ้ง ขั้นตอนการสะท้อนความรู้สึกมีดังนี้

  1. ฟังเพื่อจับความรู้สึกให้ได้ ผู้ให้การปรึกษาจะต้องมีความไวต่อความรู้สึกภายในของผู้รับการปรึกษาต่อเรื่องที่เล่า โดยอาจจับความรู้สึกจากอวัจนภาษาด้วย เช่น น้ำเสียง อากัปกิริยา
  2. เลือกคำที่มีความเหมาะสมมากที่สุดกับความรู้สึก ดังนั้น ผู้ให้การปรึกษาจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำคุณศัพท์ต่าง ๆ ที่สื่อแสดงอารมณ์
  3. ค้นหาความหมายของความรู้สึกนั้นหลังจากที่จับความรู้สึกของผู้รับการปรึกษาได้ ว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงของความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น ๆ
  4. ค้นหาแหล่งที่เป็นต้นตอของความรู้สึกหรือสาเหตุ การสะท้อนให้ผู้รับการปรึกษาทราบว่าเขามีความรู้สึกอย่างไรยังไม่พอเพียง ผู้ให้การปรึกษาควรสื่อถึงแหล่งที่เป็นสาเหตุของความรู้สึกด้วย ดังนั้น แทนที่จะสะท้อนว่า “คุณรู้สึกโกรธมาก” ควรจะเป็น “คุณรู้สึกโกรธมากเพราะเพื่อนคุณไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของคุณ”

 

                      ตัวอย่างการสะท้อนความรู้สึก

                ผู้รับฯ     :     เมื่อคืนนี้ผมนอนไม่หลับ คิดแต่เรื่องการขอเลื่อนตำแหน่ง

                ผู้ให้ฯ     :     คุณรูสึกกระสับกระส่ายตอนนอนเพราะวิตกกังวลเรื่องการขอเลื่อนตำแหน่ง

                ผู้รับฯ     :     ผมได้พยายามจะพูดเรื่องนี้กับเพื่อน แต่พวกเขาก็มีท่าทีเหมือนไม่อยากเข้าไปพัวพันด้วย    

                ผู้ให้ฯ     :     คุณรู้สึกโดดเดี่ยว (หรือเสียใจ ผิดหวัง คับข้องใจ) เพราะคุณไม่สามารถพึ่งใครได้ (หรือ เพราะพวกเพื่อนไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ)

                ผู้รับฯ     :     ผมรู้ว่าอะไรที่รบกวนจิตใจ แต่ผมไม่รู้ว่าต้องการจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่า

                ผู้ให้ฯ     :     คุณรู้สึกสับสน (หรือไม่แน่ใจ อึดอัด ลังเล) เพราะคุณยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดเผย (หรือ เพราะคุณไม่แน่ใจว่าผมจะคิดกับคุณอย่างไร)

 

                4)  ทักษะการสรุป

                      การสรุปเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญของเรื่องราวที่ผู้รับการปรึกษาได้กล่าวถึง และดำเนินการสอดแทรกระหว่างการปรึกษาในโอกาสต่อไปนี้

-              เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดการปรึกษาในแต่ละครั้ง

-              เมื่อผู้ให้การปรึกษาต้องการเปลี่ยนประเด็นไปสู่เรื่องอื่น

-              เมื่อผู้รับการปรึกษาแสดงสีหน้าสับสนและรู้สึกท่วมท้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น

-              เมื่อผู้ให้การปรึกษาต้องการช่วงเวลาเพื่อรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

-              เมื่อถึงเวลาที่จะบอกให้ทราบถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว

                      ปกติการสรุปนี้ดูเสมือนจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้การปรึกษา แต่กลยุทธ์ที่เหมาะสมกว่าคือการขอให้ผู้รับการปรึกษาเป็นผู้สรุป ตัวอย่างเช่น

 

                      ผู้รับฯ     :     ผมได้เล่าให้อาจารย์ฟังว่าเหตุการณ์เริ่มจะควบคุมไม่ได้อย่างไร อ้อนึกขึ้นมาได้ ผมบังเอิญได้เจอเพื่อนคนที่เคยเล่าให้ฟัง คนที่นำเรื่องยุ่ง ๆ มาให้ผม

                      ผู้ให้ฯ     :     เดี๋ยวก่อนนะคะ ก่อนที่เราจะคุยกันในประเด็นเรื่องเพื่อน ดิฉันกำลังคิดว่าเราน่าจะมาสรุปถึงสิ่งที่ได้พูดคุยกันก่อนหน้านั้น

                      ผู้รับฯ     :     ก็ดีครับ

                      ผู้ให้ฯ     :     ไหนลองสรุปเรื่องราวที่เราได้พูดคุยกันหน่อยค่ะ

                      ผู้รับฯ     :     ผมมีปัญหาเรื่องการเรียน เพราะผมชอบรอจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้ายจึงจะทำงานหรืออ่านหนังสือ อาจารย์บอกว่าให้ผมสำรวจการชอบทำอะไรต่าง ๆ ในวินาทีสุดท้าย

                      ผู้ให้ฯ     :     แล้วมีอะไรอีก

                      ผู้รับฯ     :     อืม...พี่ชายผมก็เป็นแบบผม

                      ผู้ให้ฯ     :     นั่นก็ใช่ สรุปคือเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งเป็นวิธีหนึ่งของการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ

                      ผู้รับฯ     :     ครับ

                      ผู้ให้ฯ     :     เอาล่ะ เรามาคุยกันต่อเรื่องเพื่อนคนนั้น

                   จากตัวอย่าง ผู้รับการปรึกษายังไม่ค่อยมีความชัดเจนในเรื่องที่เกิดขึ้น การสรุปประเด็นจึงยังไม่ครบถ้วน และผู้ให้การปรึกษาได้ช่วยสรุปใหม่เพื่อเพิ่มสิ่งที่ผู้รับการปรึกษากล่าวตกหล่นไป

 

                5)  ทักษะการท้าทาย (Confrontation)

                      การท้าทายมักสื่อความหมายทางลบที่ให้ความรู้สึกไม่ดี ในบริบทของการให้การปรึกษา การใช้ทักษะนี้ได้ดีที่สุดคือการท้าทายอย่างอ่อนโยนและแฝงเร้น ซึ่งผู้รับการปรึกษาจะไม่รู้ว่าตนเองถูกท้าทาย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้และการเข้าใจตนเองมากขึ้นของผู้รับการปรึกษา

                      บางครั้งทักษะนี้ถูกเรียกว่า การสะท้อนความไม่สอดคล้องกันของผู้รับการปรึกษา ซึ่งผู้ให้การปรึกษาสังเกตเห็นได้ ดังนั้น ผู้ให้การปรึกษาจึงทำหน้าที่ชี้ให้ผู้รับการปรึกษาได้รับรู้ถึงการบิดเบือนของตนอย่างสุภาพ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ในการสะท้อนความไม่สอดคล้องนั้น ผู้ให้การปรึกษาไม่ควรจะกระทำกับตัวบุคคล แต่ท้าทายพฤติกรรมของบุคคลแทน นั่นคือ ระบุพฤติกรรมที่สังเกตเห็นและชี้ถึงความไม่สอดคล้องของสิ่งต่อไปนี้

1)       ระหว่างสิ่งที่พูดในขณะนี้กับสิ่งที่พูดก่อนหน้านั้น เช่น “ก่อนหน้านั้นคุณเคยบอกว่า สัมพันธภาพดำเนินไปดีทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้คุณกำลังบอกว่ามีปัญหาแล้ว”

2)       ระหว่างสิ่งที่กำลังพูดกับสิ่งที่แสดงออก เช่น “คุณบอกว่าไม่รู้สึกตื่นเต้นที่จะพบกับเขา แต่ดิฉันสังเกตว่าเมื่อพูดถึงเขา น้ำเสียงของคุณเปลี่ยนไปและเริ่มพูดเร็วมาก”

3)       ระหว่างสิ่งที่บอกว่าต้องการหรือปรารถนากับสิ่งที่กำลังกระทำ เช่น “ดิฉันค่อนข้างสับสน เพราะคุณบอกว่าต้องการให้เกรดเพิ่มขึ้นและเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุด แต่คุณก็สารภาพว่าสัปดาห์นี้อ่านหนังสือเพียงชั่วโมงเดียว”

 

                6)  ทักษะการแปลความ (Interpretation)

                      ทักษะนี้จะถูกนำมาใช้หลังจากที่ผู้ให้การปรึกษาได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้รับการปรึกษา การแปลความเป็นการเสนอข้อสังเกตต่อผู้รับการปรึกษา ด้วยจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าใจตนเองระดับลึก โดยเฉพาะความหมายของการแสดงออกซึ่งปัญหา

                      การแปลความกระทำได้หลายระดับ ดังนี้

1)       ระดับเปิดเผยแรงจูงใจใต้สำนึกและความปรารถนา เช่น “บางทีที่คุณลังเลที่จะบอกว่าคุณแคร์เธอมาก เพราะคุณกลัวว่าเธอจะไม่ปฏิเสธ และในส่วนลึกของจิตใจ คุณไม่รู้สึกว่าคุณสมควรจะได้รับความรัก”

2)       ระดับเชื่อมโยงพฤติกรรมปัจจุบันกับพฤติกรรมในอดีต เช่น “คุณต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อทำให้ตนเองเป็นคนที่มีความสามารถและมีความรอบรู้ สิ่งนี้ทำให้ดิฉันหวนนึกถึงสิ่งที่คุณจำในสมัยเด็กว่าคุณรู้สึกแย่ที่เล่นกีฬาได้ไม่ดีสักอย่าง”

3)       ระดับการเน้นเนื้อเรื่องหลักและสัญลักษณ์ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรม เช่น “บางทีที่คุณชอบทะเลาะกัน เรื่องใครเป็นคนซื้ออาหารเข้าบ้านในแต่ละวัน เป็นสัญลักษณ์เชิงการดิ้นรนเพื่อเป็นผู้ควบคุมสัมพันธภาพ คุณเองก็เพิ่งเล่าว่ายังทะเลาะกันเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ใครจะเป็นคนขับรถ เวลาที่ไปด้วยกัน 2 คน”

                      แม้ว่าภาระการแปลความจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้การปรึกษา แต่ผู้ให้การปรึกษาหลายคนนิยมขอความร่วมมือให้ผู้รับการปรึกษาช่วยแปลความ ตัวอย่างเช่น

                      “คุณคิดว่ามันหมายความว่าอย่างไร ที่คุณลังเลใจที่จะบอกเธอว่าคุณรู้สึกอย่างไร”

                      “ดิฉันกำลังคิดว่าสิ่งที่คุณดิ้นรนอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีมายาวนาน การดิ้นรนเช่นนี้ทำให้คุณนึกถึงอะไรในวัยเด็ก?”

                      “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะคุ้น ๆ กับเหตุการณ์เรื่องอื่น ๆ คุณคิดว่ามีประเด็นอะไรที่เป็นปัจจัย”

 

 

                7)  ทักษะการให้ข้อมูล

                      ในหลายโอกาสที่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะผู้รับการปรึกษาไม่มีความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ให้การปรึกษาต้องแสดงบทบาทเสมือนเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมกว้างในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1)       อธิบายให้ทราบว่าปฏิกิริยาทางอารมณ์เป็นผลจากรูปแบบของการคิดอย่างไร

2)       อธิบายให้ทราบถึงผลในระยะสั้นและระยะยาวของการใช้สารเสพติดบางอย่าง

3)       ให้ข้อมูลพื้นฐานเรื่องการสัมภาษณ์งาน

4)       ชี้แจงให้ทราบว่าความเครียดเป็นผลจากการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมอย่างไร

5)       ให้ตัวอย่างการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ

6)       แนะนำการวางแผนอย่างเป็นระบบในการลดน้ำหนัก

7)       อธิบายให้ทราบว่าสมาชิกในครอบครัวอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาในครอบครัวได้อย่างไร

8)       ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวแปรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์

9)       ให้ข้อมูลการตั้งครรภ์โดยไม่พึงปรารถนา

10)อธิบายให้ทราบว่าการรับรู้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม ครอบครัว และเพศอย่างไร

11)บอกให้ทราบถึงแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต

12)แนะนำหนังสือหรือเทปที่จะช่วยในการจัดการกับปัญหา

                      ข้อควรคำนึงในการใช้ทักษะนี้คือ จะต้องกระทำเสมือนไม่ใช่เป็นการสั่งสอน ข้อมูลบางเรื่อง ถ้าผู้รับการปรึกษาสามารถค้นหาได้เอง ผู้ให้การปรึกษาควรทำหน้าที่เพียงแจ้งแหล่งข้อมูล แทนที่จะนำเสนอแก่ผู้รับการปรึกษาโดยตรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกให้ผู้รับการปรึกษาเรียนรู้ที่จะค้นหาข้อมูลอื่น ๆ ในอนาคต

 

บรรณานุกรม

 

 

ดวงมณี  จงรักษ์, 2549. ทฤษฎีการให้การปรึกษาและจิตบำบัดเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.

นิรันดร์ จุลทรัพย์. 2539. เอกสารคำสอนวิชาการแนะแนวเบื้องต้น. โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้. 

วัชรี  ทรัพย์มี.  2531.  การแนะแนวในโรงเรียน.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วัชรี  ทรัพย์มี. 2549. ทฤษฎีให้บริการปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

หมายเลขบันทึก: 500061เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ มีประโยชน์สำหรับการทำหน้าที่ครูที่ปรึกษาของตนเองค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท