กระบวนการการให้คำปรึกษา ตอนที่ 1


       กระบวนการการให้การปรึกษา

       (The Counseling Process )

        กระบวนการและทักษะการให้การปรึกษา (ดวงมณี  จงรักษ์, 2549 : 31-51) ดังนี้

1)       ขั้นเริ่มต้นการปรึกษาและสร้างสัมพันธภาพ

2)       ขั้นสำรวจตน (เพื่อทำความเข้าใจปัญหา)

3)       ขั้นจัดการ (ดำเนินการ) กับปัญหา (Working Through)

4)       ขั้นยุติการให้การปรึกษา

                ขั้นที่ 1  เริ่มต้นการปรึกษาและสร้างสัมพันธภาพ

                ขั้นแรกของสัมพันธภาพ ผู้รับการปรึกษาต้องการตระหนักรู้ว่าตนมีปัญหาและมีแรงจูงใจที่จะร่วมมือกับผู้ให้การปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหานั้น การเริ่มต้นที่ดีคือ ผู้รับการปรึกษาเต็มใจขอเข้ารับการปรึกษาเอง กรณีที่ผู้รับการปรึกษาถูกขอให้มา ผู้ให้การปรึกษาต้องแน่ใจว่าผู้รับการปรึกษาต้องการที่จะแก้ไขปัญหานั้นจริง ๆ ด้วย ผู้รับการปรึกษาที่ไม่รู้ตัวว่าตนมีปัญหา หรือไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงย่อมมีแรงจูงใจไม่พอเพียงที่จะร่วมมือในกระบวนการปรึกษา ผู้รับการปรึกษาบางคนมาพบผู้ให้การปรึกษาด้วยความรู้สึกไม่ชัดเจนต่อบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถระบุได้ถึงปัญหา ในทัศนะของโรเจอรส์เรียกว่า ผู้รับการปรึกษาเกิดการสกัดกั้นภายใน ทำให้ไม่สามารถบรรยายความรู้สึกหรือปัญหาของตนได้อย่างถูกต้อง บ่อยครั้งที่ผู้รับการปรึกษาไม่มีความตระหนักรู้ในอารมณ์ของตน และไม่ตระหนักรู้ถึงคุณลักษณะหลายอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติที่ผู้รับการปรึกษาจะไม่เต็มใจสื่อสารเกี่ยวกับตนเอง เมื่อตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว ผู้รับการปรึกษาจะบรรยายถึงสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้น แทนที่จะพูดเกี่ยวกับตนเอง ผู้รับการปรึกษาต้องการให้ปัญหาได้รับการแก้ไข แต่ยังไม่มีความต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเอง

                เป้าหมาย

                เป้าหมายของขั้นนี้คือ สร้างพันธมิตรเพื่อร่วมทำงานด้วยกัน ผู้ให้การปรึกษาควรสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับการปรึกษาให้ได้เร็วที่สุด โดยทำให้ผู้รับการปรึกษามีการตกลงที่ตรงกันเกี่ยวกับเป้าหมายของการปรึกษา เข้าใจร่วมกันถึงบทบาทของผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา และสร้างความผูกพันของความรู้สึกไว้วางใจ อาทรห่วงใย เป้าหมายถัดมาก็คือ การกำหนดปัญหาของผู้รับการปรึกษาในลักษณะที่เจาะจงมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้รับการปรึกษาบอกว่าปัญหาคือการเรียนที่โรงเรียนไม่มีความหมาย ผู้รับการปรึกษาอาจบรรยายเป็นพฤติกรรมที่แสดงทัศนะดังกล่าว วิธีการประเมินปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์คือ การกำหนดปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะที่เรียกว่า “Baseline” (เส้นฐานของพฤติกรรม) เพื่อเป็นข้อมูลของพฤติกรรมก่อนการปรึกษาจะเริ่มขึ้น จากตัวอย่างที่กล่าวมา ผู้ให้การปรึกษาควรบอกให้ผู้รับการปรึกษานับจำนวนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่แสดงที่โรงเรียน ทั้งนี้ผู้รับการปรึกษาและผู้ให้การปรึกษาต้องตกลงร่วมกันถึงความหมายของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

                ในการกำหนดปัญหานั้น ผู้ให้การปรึกษาควรสำรวจเหตุการณ์ที่เกิดก่อน (Antecedent) ของปัญหาหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จากตัวอย่าง ให้สำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องเรียน ครูและเพื่อนในชั้นเรียนมีพฤติกรรมอะไร และผู้รับการปรึกษามีความคิดอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น การรู้ถึงเหตุที่มาของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จะช่วยให้ทั้งผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาเข้าใจถึงสาเหตุในขณะนั้น หลังจากสำรวจสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมแล้ว ผู้ให้การปรึกษาควรสำรวจถึงปัจจัยที่เป็นตัวเสริมแรงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น โดยอาจขอให้ผู้รับการปรึกษาบรรยายว่าอะไรเกิดขึ้นทันทีที่ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ครอบคลุมถึงท่าทีของคนอื่นที่มีต่อผู้รับการปรึกษาและความรู้สึกที่ผู้รับการปรึกษามีต่อตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสำรวจการเสริมแรงทั้งภายนอกและภายใน

                การกำหนดปัญหาในรูปแบบของพฤติกรรม สามารถกระทำได้ไม่ว่าผู้ให้การปรึกษาจะนิยมหรือยึดถือทฤษฎีใดมากเป็นพิเศษ ผู้ให้การปรึกษาควรสำรวจสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องพะวงกับคำที่นักพฤติกรรมบำบัดใช้ เช่น เส้นฐานของพฤติกรรม (Baseline), เหตุที่เกิดก่อน (Antecedent) หรือการเสริมแรง หลังจากกำหนดปัญหาแล้ว ทั้งผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาร่วมกันพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น การตั้งเป้าหมายที่เป็นพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาสัมผัสกับสิ่งที่จะเริ่มต้นจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม

                ในขณะที่เล่าเรื่องเพื่อกำหนดปัญหา ผู้ให้การปรึกษาควรคำนึงถึงการแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกของผู้รับการปรึกษาที่มีต่อปัญหาเป้าหมายตรงจุดนี้คือ การให้ผู้รับการปรึกษาได้แสดงความรู้สึกเผชิญหน้ากับตนเองด้วยความรู้สึกและพฤติกรรมที่แสดงออก สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความกระจ่างในปัญหา และในระยะนี้ ผู้ให้การปรึกษาสามารถเริ่มตั้งข้อสมมติฐานเกี่ยวกับปัญหาและรูปแบบของพฤติกรรม

                เป้าหมายถัดมาในขั้นนี้คือ การสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับการปรึกษา เงื่อนไขที่ส่งเสริมสัมพันธภาพคือ การยอมรับทางบวก การมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการมีความจริงแท้ ผู้รับการปรึกษาจำเป็นต้องรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับ รู้สึกชอบและไว้วางใจผู้ให้การปรึกษา รู้สึกปลอดภัยที่จะสำรวจความรู้สึกส่วนตัวและพฤติกรรมของตนต่อผู้ให้การปรึกษา ฮอลแลนด์ (Holland, 1965 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) ได้เสนอว่า ในระยะแรกของการปรึกษามีสัมพันธภาพเกิดขึ้น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นสัมพันธภาพที่มีความเท่าเทียมระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา ซึ่งทั้งคู่จะร่วมกันปกป้องภาพลักษณ์ที่ไร้ความสามารถของผู้รับการปรึกษา ความเท่าเทียมแสดงโดยศักดิ์ศรีที่เท่ากันของความเป็นมนุษย์ สัมพันธภาพประเภทที่ 2 เป็นสัมพันธภาพที่ผู้รับการปรึกษารู้สึกอยู่ภายในว่าตนมีปัญหา และรู้สึกด้อยกว่าเพราะต้องขอความช่วยเหลือ หรือต้องพึ่งพิงผู้ให้การปรึกษา

 

                กระบวนการส่งเสริม

                ผู้ให้การปรึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้รับการปรึกษาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาโดยอนุญาตให้ผู้รับการปรึกษาควบคุมบทสนทนาและทำการสำรวจตนเอง ถ้าผู้ให้การปรึกษาเป็นผู้ครอบงำการสนทนา ผู้รับการปรึกษาอาจถอยร่นไปสู่ความรู้สึกไม่มีสมรรถนะในระดับลึกลงอีก ถ้าผู้ให้การปรึกษามีพฤติกรรมรอคอย ไม่กระฉับกระเฉง ผู้รับการปรึกษาอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาจะต้องร่วมกันแบ่งปันความรับผิดชอบตั้งแต่ระยะแรก นอกจากนี้ผู้ให้การปรึกษาควรตอบสนองผู้รับการปรึกษาโดยใช้ทักษะพื้นฐาน คือ การยอมรับ การสะท้อน และการทำให้กระจ่าง ซึ่งทักษะทั้ง 3 เป็นทักษะที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยให้เข้าใจผู้รับการปรึกษาและทำให้เกิดความชัดเจนในปัญหา

                ความสำเร็จของการปรึกษา ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของผู้รับการปรึกษา ในขั้นแรกนี้ผู้ให้การปรึกษาต้องทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้วินิจฉัยด้วย นั่นคือ นอกจากกำหนดว่าอะไรคือปัญหาแล้ว ยังจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของผู้รับการปรึกษาที่แตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งการวินิจฉัยเป็นเรื่องซับซ้อน Stupp (1978 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549)) แสดงความเห็นว่า การจำแนกบุคคลตามประเภทของปัญหาที่นำเสนอเป็นเรื่องเสี่ยง ผู้รับการปรึกษาส่วนมากรายงานว่า การทำแบบทดสอบเสมือนกับถูกประเมิน ดังนั้น ถ้าจะประเมินผู้รับการปรึกษาด้วยแบบทดสอบ ควรแน่ใจว่าผู้รับการปรึกษามีความเข้าใจจุดประสงค์ของการใช้แบบทดสอบ เช่น เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคล ผลที่ได้ไม่เป็นการประเมินตัดสินว่าดีหรือเลว เพราะหากผู้รับการปรึกษามีทัศนคติทางลบกับแบบทดสอบ ย่อมส่งผลต่อคะนนหรือผลลัพธ์ที่ได้ อีกทั้งการทำความเข้าใจผู้รับการปรึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรึกษา นอกจากนี้การเลือกแบบทดสอบควรเลือกแบบทดสอบที่มีความแม่นตรงสูงในเนื้อหา จนผู้รับการปรึกษารับรู้ได้ว่าแบบทดสอบที่ใช้นั้นกระทำเพื่อกระบวนการปรึกษา

                โรเซนฮานและเซลิกมัน (Rosenhan & Seligman, 1995 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) มีความเห็นตรงข้ามกับสทัปป์ โดยให้เหตุผล 4 ประการที่ควรวินิจฉัยผู้รับการปรึกษา คือ (1) เป็นการสื่อสารเกี่ยวกับผู้รับการปรึกษาในระยะสั้น (2) บ่งบอกกลวิธีรักษาที่เป็นไปได้ (3) สื่อให้ทราบถึงสาเหตุ (4) ช่วยในการสำรวจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

                คอตต์เลอร์และบราวน์ (Kottler & Brown, 2000 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) แบ่งการวินิจฉัยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือการประเมินแบบมาตรฐาน หมายถึง การใช้แบบทดสอบที่มีกลุ่มบรรทัดฐานเพื่อเปรียบเทียบ มีมาตรการวัด เช่น ความแม่นตรง ความเชื่อมั่น ตัวอย่างได้แก่ แบบทดสอบ WISC-III (Wechsler Intelligence Scale for Children-Third Edition) 16 PF (16 Personality Factors Questionnaire) กลุ่มที่สองคือการประเมินที่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีกลุ่มบรรทัดฐานเพื่อเปรียบเทียบ เช่น การสัมภาษณ์ทางคลินิก หรือการประเมินชีวประวัติ

                นิสทูล (Nystul, 2003 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) สนับสนุนให้มีการวินิจฉัย โดยเสนอให้การวินิจฉัยเป็นขั้นตอนที่ถัดจากการสร้างสัมพันธภาพ การวินิจฉัยช่วยทำความเข้าใจผู้รับการปรึกษาในระดับลึก และบ่งบอกถึงความผิดปกติทางจิตใจที่ต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายและเสนอวิธีจัดการที่เหมาะสมได้

                สรุป ในขั้นเริ่มต้นการปรึกษาและสร้างสัมพันธภาพ ผู้ให้การปรึกษาต้องสร้างสัมพันธภาพกับผู้รับการปรึกษาโดยเร็วที่สุด กำหนดปัญหาของผู้รับการปรึกษาอย่างเจาะจง และทำความเข้าใจผู้รับการปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ หรือโดยการใช้แบบทดสอบ

                ขั้นที่ 2 สำรวจตน (เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหา)

                ขั้นนี้เริ่มต้นเมื่อผู้รับการปรึกษารู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง หลังจากที่ผู้รับการปรึกษารู้สึกมั่นคงในสัมพันธภาพ มีความไว้วางใจผู้ให้การปรึกษา ผู้รับการปรึกษาจะเล่าเรื่องได้คล่องมากขึ้น ช่วงเริ่มต้นของการเล่า เรื่องราวอาจไหลเลื่อนไปในหัวข้อที่ไม่ตรงกับตน (Nonself อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) หมายถึง พรรณนาเสมือนปัญหาอยู่นอกตัวตน เหมือนจะไม่ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ ความรู้สึกมักสื่อแสดงในลักษณะที่พูดถึงมากกว่าแสดงประสบการณ์ที่รู้สึกจริงในขณะเล่า

                เป้าหมาย

                ในขั้นนี้มีจุดประสงค์กระตุ้นเร้าให้ผู้รับการปรึกษาเกิดการประเมินตนเอง เพื่อตระหนักรู้ถึงความรู้สึกต่าง ๆ ของตน รวมทั้งทัศนคติ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป้าหมายหลักของขั้นนี้คือการได้ภาพรวมที่ชัดเจนถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของผู้รับการปรึกษาและสถานการณ์ ฮอนแลนด์ (Holland, 1965 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) เสนอว่า ภาพลักษณ์ของตนจะเปิดเผยหรือแสดงออกมาใน 3 ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นตนที่ถูกลดคุณค่า (Self-depreciation) ผู้รับการปรึกษาจะระบุลักษณะที่ไม่ดีหรือจุดอ่อนของตน ลักษณะที่ 2 คือภาพลักษณ์ของตนในจินตนาการ เพื่อชดเชยตนในลักษณะแรก และลักษณะที่ 3 คือ ภาพลักษณ์ของตนที่เกิดจากสภาวะที่ประสบ เป็นตนที่ค่อนข้างตรงกับความจริง

                การสำรวจตน

                ผู้รับการปรึกษาจะเริ่มสำรวจตนจากระดับน้อยไปสู่ระดับมากที่สุด ทั้งนี้ คาร์คฮัฟฟ์ (Carkhuff, 1983 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) ได้เสนอสเกลการสำรวจตนของผู้รับการปรึกษาไว้ 5 ระดับ ดังนี้

                ระดับแรกมีการสำรวจน้อยที่สุด คือ ผู้รับการปรึกษาหลีกเลี่ยงการเปิดเผยความรู้สึกส่วนตัวที่แท้จริงต่อผู้ให้การปรึกษา ในระดับนี้ผู้รับการปรึกษาอาจไม่รู้สึกไว้วางใจความรู้สึกของตนเอง หรืออาจจะไม่ชอบตนเองมากพอที่จะกล้าเสนอความรู้สึกภายในแก่บุคคลที่เพิ่งทำความรู้จัก คุณลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับการเริ่มต้นการปรึกษา

                ระดับที่ 2  ผู้รับการปรึกษาตอบสนองพูดคุยเรื่องของตนตามความไม่สบายใจที่ถูกซักถาม การตอบคำถามทำไปตามหน้าที่แต่ยังไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง กรณีนี้ผู้ให้การปรึกษาสามารถเรียนรู้และเข้าใจภาพลักษณ์ปัจจุบันของผู้รับการปรึกษาได้ในระดับหนึ่ง

                ระดับที่ 3  ผู้รับการปรึกษาเริ่มเปิดเผยเรื่องของตนที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องสนทนาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้ถูกถาม แต่ยังมีท่าทีเป็นทางการ ไม่แสดงความรู้สึกมากนัก เรื่องที่เล่ามักเป็นเนื้อหาที่เคยพูดคุยกับคนอื่นมาแล้ว

                ระดับที่ 4  ผู้รับการปรึกษาเริ่มเปิดเผยเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวพันกับหัวเรื่องที่หยิบยกมาสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ กล้าที่จะเผชิญกับความรู้สึกในปัจจุบัน

                ระดับที่ 5  ผู้รับการปรึกษากล้าที่จะสำรวจความรู้สึกที่อยู่ภายใต้ความรู้สึกปัจจุบัน เริ่มค้นพบความรู้สึกใหม่เกี่ยวกับตนและสถานการณ์

 

                เพื่อช่วยในการสำรวจตนของผู้รับการปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาควรปฏิบัติอย่างไรบ้างนั้น คาร์คฮัฟฟ์ (Carkhuff, 1983 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) ได้เสนอแนะไว้เป็นแนวทางดังต่อไปนี้

  1. กำหนดให้การสำรวจตนของผู้รับการปรึกษาเป็นเป้าหมายทันทีในขณะนั้น (Immediate Goal) เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความหยั่งรู้ใหม่ในตนเอง เกิดความเข้าใจใหม่ และสามารถเรียนรู้การมีพฤติกรรมใหม่
  2. ต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นว่าผู้รับการปรึกษาในขณะนั้นอยู่ในระดับใดของการสำรวจตน ผู้รับการปรึกษามีแนวโน้มมากที่สุดที่จะสำรวจเรื่องส่วนตัว เมื่อผู้ให้การปรึกษามีความเข้าใจเขาและยับยั้งทัศนคติตัดสินประเมินสภาพที่เขาดำรงอยู่ในขณะนั้น ผู้รับการปรึกษาจะค่อย ๆ เพิ่มระดับการสำรวจตนและแสดงอารมณ์ตามธรรมชาติ ถ้าผู้ให้การปรึกษารู้จักที่จะยอมรับเขาตามช่วงจังหวะการเปิดเผยตน
  3. ควรเพิ่มน้ำหนักสภาพการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเปิดเผยตน โดยแสดงความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เคารพ และมีความจริงแท้ ผู้รับการปรึกษาที่มีภาพลักษณ์ของตนสูง ปกติจะมีความมั่นใจในตนเองมากพอที่จะสำรวจตน แม้ว่าผู้ให้การปรึกษาไม่ได้ส่งเสริมสภาพการณ์ดังกล่าวมาก อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้รับการปรึกษาที่มีภาพลักษณ์ตนเองต่ำ เงื่อนไขการเปิดเผยตัว (ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เคารพ ความจริงแท้) จะมีอิทธิพลต่อการสำรวจตนของผู้รับการปรึกษา
  4. ควรอาศัยข้อมูลที่ได้จากการเปิดเผยตัวในระดับหนึ่งของผู้รับการปรึกษา เป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่ขั้นต่อไปของการปรึกษา เพื่อช่วยให้ผู้รับการปรึกษาจัดการกับปัญหาของตนได้สำเร็จ
  5. ควรตระหนักรู้ว่าเมื่อผู้รับการปรึกษาเปิดเผยตนที่เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว ผู้รับการปรึกษาจะตั้งต้นใหม่เปิดเผยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ดังนั้น การเปิดเผยตนจะกระทำซ้ำ เพราะมีบุคคลเกี่ยวข้องหลายคน เช่น บิดา มารดา เพื่อน ครู แฟน เป็นต้น

 

                เมย์ (May, 1967 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) เรียกขั้นสำรวจตนว่า ขั้นสารภาพเปิดเผย (Confession) ดังนั้น 2 ใน 3 ครั้งของการพบกันควรถูกใช้เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาได้พูดระบาย ในทัศนะของเมย์ ถ้าผู้รับการปรึกษาไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทพูดมากที่สุด แสดงว่าต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาต้องใช้ทักษะการฟังและการสะท้อน ที่เฉพาะเจาะจงกับเนื้อหาหรือความรู้สึกของผู้รับการปรึกษาในขณะนั้น เพื่อสื่อถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยที่การสะท้อนต้องกระทำกับเนื้อหาที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือ หรือมีลักษณะเป็นนามธรรม เพื่อดึงให้ผู้รับการปรึกษาลดการหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสกับความรู้สึกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยให้ผู้รับการปรึกษารู้จักที่จะแสดงออกในลักษณะที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม การที่ผู้ให้การปรึกษาแสดงแบบอย่างของการสื่อสารแบบชัดเจน เจาะจง จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเรียนรู้การเกาะติดกับเรื่องราวของตนที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ แทนที่จะพูดถึงข้อมูลที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ถูกแตะต้อง ผู้ให้การปรึกษาต้องรู้จักตั้งคำถามแบบเปิดโดยใช้คำประเภท ใคร อะไร เมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร เพื่อทราบถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง

                ผู้ให้การปรึกษาพึงระมัดระวังไม่แสดงท่าทีฉงน ตกใจ ไม่สบอารมณ์ ต่อเรื่องใด ๆ ที่ผู้รับการปรึกษาเปิดเผยอย่างคาดไม่ถึง หลังจากเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง ผู้ให้การปรึกษาควรมีอารมณ์ที่สงบนิ่ง และแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือแสดงความเข้าใจ ซึ่งแตกต่างจากความสงสาร การแสดงความสงสารจะยิ่งเพิ่มความรู้สึกลบที่ผู้รับการปรึกษามีต่อตนเอง

                แบรมเมอร์ และ ชอสทรอม (Brammer & Shostrom, 1982 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) เรียกขั้นสำรวจตนว่า ขั้นระบายความรู้สึก (Catharsis) การระบายความรู้สึกมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด สำหรับข้อดีคือลดความตึงเครียดของสรีระ ในทำนองเดียวกันกับความรู้สึกผ่อนคลายหลังจากร้องไห้ เนื่องจากพลังงานของจิตที่ถูกใช้เพื่อปกป้องตนเองได้คลายตัวลง ผู้รับการปรึกษาจึงรู้สึกสบายใจขึ้น นอกจากนี้ขณะที่เปิดเผย ผู้รับการปรึกษาต้องควบคุมเนื้อหาที่จะพูดออกมา สิ่งนี้จึงเป็นความพึงพอใจที่สามารถควงคุมตนต่อผู้ให้การปรึกษาได้ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการระบายความรู้สึกคือ การเข้าใจผิดของผู้รับการปรึกษาว่าปัญหาของตนได้รับการจัดการแล้ว ความจริงเขาได้จัดการกับบางเรื่องเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่เขาจะป้องกันตนเองอย่างไม่รู้ตัว ไม่เปิดเผยออกมา ปกติเรื่องที่เปิดเผยเป็นสิ่งที่เขาเองก็สามารถใช้เหตุผลเข้าใจได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ อีกที่เขาควรเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ตระหนักรู้ ฮอลแลนด์ (Holland, 1965) เชื่อว่าผู้รับการปรึกษาจะปกป้องตนเองถ้าเขาจะต้องเปิดเผยเรื่องราวทุกอย่างออกมา การปกป้องตนเองของผู้รับการปรึกษาจะแสดงออกโดย (1) หลีกเลี่ยงที่จะพูดเกี่ยวกับตนเอง แต่จะพูดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่นอกตัว เช่นบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง (2) ปฏิเสธข้อเสียหรือความบกพร่องของตน และ (3) ยอมพูดเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนและประเมินปัญหา

                จุดสำคัญหรือวิกฤต

                เมื่อผู้รับการปรึกษาก้าวมาถึงจุดที่เริ่มเปิดเผยตนในระดับหนึ่ง ผู้รับการปรึกษาจะมีประสบการณ์ทั้งผ่อนคลายและไม่ค่อยสบายใจในขณะเดียวกัน ณ จุดนี้ถ้าผู้รับการปรึกษารู้สึกว่าตนไม่เป็นที่เข้าใจ ก็อาจจะล้มเลิกการปรึกษากลางคัน หลังจากที่เปิดเผยตนเอง ผู้รับการปรึกษาจะรู้สึกปลอดภัยและสบายใจน้อยลง และเริ่มไม่แน่ใจว่าความรู้สึกปวดร้าวที่ต้องเผชิญต่อไปเป็นสิ่งที่ปรารถนาจะรู้หรือจะยอมรับได้หรือไม่ นอกจากนี้ผู้รับการปรึกษาอาจเริ่มตระหนักรู้ถึงสาเหตุของปัญหา เพราะกลไกป้องกันตนเองเริ่มผ่อนคลาย ทำให้สามารถเข้าใจและมองเห็นสิ่งที่ตนเคยปฏิเสธมาก่อน ผู้รับการปรึกษาอาจรับรู้ว่าสถานการณ์ต่อไปจะยิ่งเลวร้ายลงก่อนที่จะจัดการกับปัญหาได้ ดังนั้น ณ จุดนี้ ผู้ให้การปรึกษาต้องให้กำลังใจและสนับสนุนให้อดทน อาจอธิบายให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจว่า หลายคนจะรู้สึกวิตกกังวลเมื่อกระบวนให้การปรึกษาดำเนินมาถึงขั้นนี้

 

                ช่วงชะลอ

                หลังจากที่เปิดเผยตนในระดับหนึ่งผู้รับการปรึกษาอาจต่อต้านที่จะพูดเกี่ยวกับความรู้สึกของตน หลีกเลี่ยงการพูดถึงส่วนของตนที่ไม่มีคุณค่า ทั้งนี้เพราะตนที่เป็นจริงไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะสำรวจส่วนของตนที่ไม่มีคุณค่า ผู้รับการปรึกษาอาจต้องการให้ผู้ให้การปรึกษาทำหน้าที่นี้แทน ดังนั้น ผู้ให้การปรึกษาควรแสดงให้ผู้รับการปรึกษาทราบว่า ผู้ให้การปรึกษามีความเข้าใจและเชื่อมั่นว่าเขาสามารถสำรวจตนได้ และจะรอจนกว่าเขามีความพร้อม เพื่อที่จะได้ก้าวไปในจังหวะเดียวกัน หรือบอกให้ทราบว่าการปรึกษามีความคืบหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว และผู้รับการปรึกษาเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมากต่อความก้าวหน้านี้

                ในขั้นนี้ ผู้รับการปรึกษาอาจแสดงความไม่สอดคล้องระหว่างตนและตนในอุดมคติ รวมถึงการเข้าใจกับพฤติกรรมของตนและประสบการณ์ ผู้ให้การปรึกษาควรให้ผู้รับการปรึกษาตระหนักถึงความไม่สอดคล้องโดยอาศัยเทคนิคการถาม สอบซัก แทนการถามโดยตรง ผู้ให้การปรึกษาควรกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งรีบเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับการปรึกษาที่ตั้งตัวไม่ทัน เนื่องจากขณะที่สำรวจคุณลักษณะต่าง ๆ ของภาพลักษณ์ของตนที่ไม่ปรารถนา ผู้รับการปรึกษาต้องการการยอมรับ การเห็นด้วย และกำลังใจ ดังนั้น จึงต้องท้าทายด้วยความอ่อนโยน

                นอกจากการสะท้อนและการเผชิญหน้าแล้ว ผู้ให้การปรึกษาอาจให้ข้อมูลหรือความเห็นบางอย่างแก่ผู้รับการปรึกษา หรือที่เรียกว่า การแปลผล การแปลผลไม่ควรกระทำในลักษณะบังคับให้ยอมรับหรือรับรู้ แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลเพื่อนำไปใช้ ซึ่งผู้ให้การปรึกษาเสนอสมมติฐานบางอย่างเกี่ยวกับผู้รับการปรึกษา ทั้งนี้มิใช่การวินิจฉัยที่เกิดจากผู้ให้การปรึกษาตามลำพัง แล้วแจ้งแก่ผู้รับการปรึกษาอย่างเป็นข้อสรุปที่แน่นอน การแปลผลเกิดจากการทำงานร่วมกัน โดยผู้ให้การปรึกษาจะเสนอการวิเคราะห์ที่อาจเป็นไปได้ แล้วนำเสนอให้ผู้รับการปรึกษาพิจารณา ขณะที่เสนอการแปลผล ผู้ให้การปรึกษาควรสังเกตปฏิกิริยาของผู้รับการปรึกษา ถ้าผู้รับการปรึกษาแสดงความรู้สึกเฉย ๆ หรือดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจแสดงว่าเนื้อหาที่บอกไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าผู้รับการปรึกษาปฏิเสธข้อมูล หรือมีท่าทีไม่พอใจและคัดค้านอย่างรุนแรง อาจแสดงว่าข้อมูลนั้นมีความใกล้เคียงกับความจริงสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ให้การปรึกษาต้องไม่สรุปอย่างเชื่อมั่นว่าใช่ เพราะการปฏิเสธของผู้รับการปรึกษาอาจถูกต้องก็ได้ หากผู้รับคำปรึกษายอมรับข้อเสนอและเห็นด้วย หรือทั้งคู่ตกลงเห็นตรงกัน กรณีนี้การยอมรับจะมีความหมายหรือไม่ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อผู้รับการปรึกษาดำเนินการต่อไปเพื่อที่จะจัดการกับปัญหา ผู้รับการปรึกษาหลายคนจะก้าวต่อไปเพื่อจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และพัฒนาการหยั่งรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในขณะที่ผู้รับการปรึกษาหลายคนเช่นกัน ที่จะก้าวสู่การสำรวจตนในระดับลึกลงไปอีก

                สรุป ในขั้นสำรวจตน ผู้ให้การปรึกษาตั้งเป้าหมายให้ผู้รับการปรึกษาสำรวจภาพลักษณ์ของตน โดยมีความเข้าใจในระดับการสำรวจตนตั้งแต่น้อยสู่มาก 5 ระดับ สร้างบรรยากาศให้ผู้รับการปรึกษาได้ระบายเปิดเผย สารภาพโดยแสดงการยอมรับ มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แสดงความจริงแท้ ใช้ทักษะการฟัง การสะท้อนที่เฉพาะเจาะจง ระมัดระวังท่าทีเมื่อรับฟังเรื่องที่คาดไม่ถึง หลังการเปิดเผยตนในระดับหนึ่ง ผู้รับการปรึกษาอาจมีท่าทีกังวลใจ ผู้ให้การปรึกษาควรแสดงความเข้าใจ ให้กำลังใจ และรอคอยความพร้อมที่จะก้าวต่อไป การเปิดเผยตนจะครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งแสดงความไม่สอดคล้องระหว่างตนกับตนในอุดมคติ การเข้าใจหยั่งรู้กับพฤติกรรมตนและประสบการณ์ ผู้ให้การปรึกษาควรใช้ทักษะการเผชิญหน้าอย่างอ่อนโยน โดยการใช้คำถามนำหรือสอบซัก ข้อมูลที่ได้รับจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนเกี่ยวกับผู้รับการปรึกษา นอกจากนี้ยังอาจใช้ทักษะการแปลความ โดยเสนอแนะข้อมูลที่มีความเป็นไปได้

       (ต่อ) กระบวนการการให้การปรึกษา (The Counseling Process) ตอนที่ 2

             

บรรณานุกรม

 

 

ดวงมณี  จงรักษ์, 2549. ทฤษฎีการให้การปรึกษาและจิตบำบัดเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.

นิรันดร์ จุลทรัพย์. 2539. เอกสารคำสอนวิชาการแนะแนวเบื้องต้น. โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้. 

วัชรี  ทรัพย์มี.  2531.  การแนะแนวในโรงเรียน.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วัชรี  ทรัพย์มี. 2549. ทฤษฎีให้บริการปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

หมายเลขบันทึก: 500058เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท