กระบวนการการให้การปรึกษา ตอนที่ 2


กระบวนการการให้การปรึกษา (ต่อ)

 

ขั้นที่ 3  ขั้นจัดการ (ดำเนินการ) กับปัญหา

                การเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นผลจากการหยั่งรู้ หรือเกิดความเข้าใจใหม่ ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “Working Through” ซึ่งผู้เขียนจะใช้คำว่า “จัดการ” หรือ “ดำเนินการ” ฟรอยด์เป็นผู้ริเริ่มใช้คำนี้ ในความหมายของฟรอยด์คือการสลายเครือข่ายการต่อต้านในผู้รับการปรึกษา และดำเนินการสำเร็จกับการสลายการเกิดภาวการณ์ถ่ายโอน (Transference) ปัจจุบันคำนี้มีความหมายกว้างขึ้น หมายถึง การเริ่มตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ในอดีตว่ามีผลอย่างไรกับอารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบัน ผู้รับการปรึกษาพัฒนาการมีสติรู้เข้าใจความรู้สึกภายในมากพอ ๆ กับเข้าใจเหตุการณ์ภายนอก แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหา การมีความเข้าใจถึงปัญหา ความรู้สึก และพฤติกรรม จะชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อไปมากขึ้น

                เป้าหมาย

                เป้าหมายในขั้นนี้คือ

  1. การมีความกระจ่างชัดในความรู้สึกของผู้รับการปรึกษา ยอมรับความรู้สึกปัจจุบันและกลไกที่ใช้ป้องกันตน
  2. การมีความเข้าใจในอิทธิพลของอดีต
  3. การขจัดอิทธิพลที่มีผลกับสถานการณ์ปัจจุบันผ่านสัมพันธภาพที่มีกับผู้ให้การปรึกษาโดยแสดงพฤติกรรมอย่างสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของตน

                ในขั้นนี้ผู้ให้การปรึกษาจะใช้ทักษะการฟัง การสะท้อน การเผชิญหน้า และการแปลความ เมย์ (May, 1967 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) แสดงทัศนะว่า การปรับปรุงบุคลิกภาพของผู้รับการปรึกษาเป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการให้การปรึกษาและเป็นเป้าหมายของกระบวนการทั้งหมด การปรับปรุงบุคลิกภาพของผู้รับการปรึกษาในทัศนะของเมย์ มีความหมายใกล้เคียงกับกระบวนการ “Working Through” ด้วยกระบวนการระบายเปิดเผยตนหรือสารภาพ และการแปลความ ผู้รับการปรึกษาจะเริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างทัศนะที่ไม่ถูกต้องกับพฤติกรรมของตน

                จุดวิกฤต

                ในขั้นนี้เมื่อผู้รับการปรึกษาเริ่มเข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์ของอดีตกับพฤติกรรมปัจจุบันของตน ผู้รับการปรึกษาอาจคิดว่าตนมีความพร้อมที่จะยุติการปรึกษา ผู้รับการปรึกษาอาจเกิดการหยั่งรู้ แต่ยังไม่ได้มีการตกลงใจที่จะแสดงพฤติกรรมใหม่ การหยั่งรู้ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าบุคคลจะเปลี่ยนรูปแบบที่เขาเคยสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้รับการปรึกษาอาจยังคงมีความยากลำบากต่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้รับการปรึกษาอาจยุติการปรึกษาในเวลาที่เร็วเกินไป และอาจมีประสบการณ์ถดถอยหรือย้อนกลับมามีปัญหาเดิมอีก ดังนั้น ในขั้นนี้ควรระมัดระวังไม่ให้ผู้รับการปรึกษายุติสัมพันธภาพเร็วเกินไปหลังเกิดการหยั่งรู้อดีต

                กระบวนการ

                กระบวนการจัดการหรือดำเนินการ ประกอบด้วยการนำความเข้าใจไปปฏิบัติหรือแสดงเป็นพฤติกรรม อาจเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับส่วนของผู้รับการปรึกษาที่มีศักยภาพมากกว่าส่วน อื่น ๆ การนำความเข้าใจไปปฏิบัติอาจแยกกระทำเป็นเรื่อง ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจตนเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ผู้ให้การปรึกษาร่วมกับผู้รับการปรึกษานำความเข้าใจไปปฏิบัติใหม่ที่โรงเรียนจนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาจึงเริ่มนำความเข้าใจที่มีต่อบิดามารดาไปลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ที่สามารถลบล้างพฤติกรรมเก่าลงได้

                การนำไปปฏิบัติ

                ผู้ให้การปรึกษาควรให้ความสำคัญกับการแสดงพฤติกรรมใหม่ ในเรื่องที่ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจมากที่สุด หรือเกิดการหยั่งรู้ได้ดีที่สุด เพื่อเอื้อให้พฤติกรรมใหม่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการเรียนรู้ได้สำเร็จ  คาร์คฮัฟฟ์ (Carkhuff, 1983 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549 ) เสนอให้ผู้ให้การปรึกษาเป็นผู้เริ่มนำกิจกรรมที่เกิดจากประสบการณ์ของตนมาริเริ่มให้ผู้รับการปรึกษากระทำ เพื่อเป็นตัวแบบให้ผู้รับการปรึกษากระทำเหมือนกัน ผู้ให้การปรึกษาควรมั่นใจว่าสิ่งที่เรียนรู้ในห้องปรึกษาถูกนำไปปฏิบัตินอกห้อง หรือถูกนำไปใช้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ให้การปรึกษา เพื่อการประเมินอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษาควรร่วมกันกำหนดเป้าหมายของพฤติกรรมใหม่อย่างเฉพาะเจาะจง เป้าหมายเชิงพฤติกรรมที่กำหนดขึ้นนี้ ควรระบุความถี่ของพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น สถานการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้อาจเริ่มจากพฤติกรรมที่ง่ายที่สุด เพื่อที่ผู้รับการปรึกษาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด หลังจากนั้นจึงขยับสู่พฤติกรรมที่มีระดับความยากเพิ่มขึ้น หากขั้นตอนการแสดงพฤติกรรมมีกระบวนการที่ครบถ้วน ผู้รับการปรึกษามีโอกาสสูงที่จะเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ทั้งนี้รายละเอียดของการกำหนดเป้าหมายเชิงพฤติกรรมเพื่อนำไปปฏิบัติ พิจารณาได้จากวิธีการของการให้การปรึกษาแบบพิจารณาความจริง และแบบพฤติกรรมนิยม

                ตัวแปรที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนำไปปฏิบัติ เมย์ (May, 1967 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549 ) เสนอว่า ผู้ให้การปรึกษาควรชี้ให้ผู้รับการปรึกษาเห็นว่าปัญหาของเขาเกิดจากการมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสม และการคงพฤติกรรมอย่างเดิม ๆ ที่เคยได้ผลในเวลาที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นใหม่ ผู้ให้การปรึกษาไม่ควรเป็นผู้ทำให้ความทุกข์จากปัญหาลดลง แต่ควรทำหน้าที่กำกับความทุกข์ไปสู่ช่องทางที่สร้างสรรค์ หรือเรียกว่าใช้ความทุกข์สร้างพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือใช้ประโยชน์จากความทุกข์ อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากที่ยินดีตกอยู่ในสภาพที่เสมือนทุกข์มากกว่าเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะไม่แน่ใจหรือมีความวิตกกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น ผู้ให้การปรึกษามีหน้าที่ท้าทายผู้รับการปรึกษาให้เกิดความเข้าใจและหยั่งรู้ในตน ซึ่งก็อาจจะค้นพบความเจ็บปวดที่กระทบตนมากขึ้นไปอีก แต่ผู้ให้การปรึกษาควรแสดงความเข้าใจและทำให้ความเจ็บปวดนี้แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานในทางบวก โดยการมีพฤติกรรมใหม่

 

                การประเมินความก้าวหน้า

                ผู้ให้การปรึกษาจะต้องประเมินความสำเร็จของการหยั่งรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีพื้นฐานจากการประเมินพฤติกรรมที่กำหนดชัดเจน ทำให้ทราบอย่างแน่ชัดถึงความก้าวหน้าของผู้รับการปรึกษา การประเมินพฤติกรรมอย่างเป็นปรวิสัย ช่วยทำให้ทราบว่าเทคนิคที่ใช้มีประสิทธิภาพเพียงใด ควรปรับหรือเปลี่ยนแปลงประการใด กระบวนการเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง ดังนั้น ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องมีการตั้งเป้าพฤติกรรมใหม่ และทบทวนเทคนิคที่ใช้เพื่อปรับพฤติกรรมด้วย ผู้ให้การปรึกษาควรสนับสนุนผู้รับการปรึกษาให้ดำรงชีวิตกับการหยั่งรู้ใหม่ โดยพยายามแสดงพฤติกรรมใหม่ด้วย ความสำเร็จของพฤติกรรมใหม่จะช่วยเสริมแรงการดำเนินชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

                สรุป สำหรับขั้นจัดการ ผู้ให้การปรึกษาควรตั้งเป้าหมายให้ผู้รับการปรึกษา (1) มีความกระจ่างชัดในความรู้สึกของตน (2) เกิดความเข้าใจอิทธิพลของอดีต (3) นำการหยั่งรู้อดีตไปปฏิบัติให้เกิดการเรียนรู้และมีพฤติกรรมใหม่ โดยเริ่มในห้องให้การปรึกษาและขยายสู่สัมพันธภาพกับบุคคลอื่น นอกจากนี้ยังให้การปรึกษาควรใช้ทักษะการฟัง การสะท้อน การเผชิญหน้า การแปลความ และร่วมกับผู้รับการปรึกษานำการหยั่งรู้ไปปฏิบัติโดยกำหนดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงเชิงพฤติกรรม ผู้ให้การปรึกษาต้องมีการประเมินความก้าวหน้าของการหยั่งรู้ด้วย และควรระมัดระวังไม่ให้ผู้รับการปรึกษายุติการปรึกษาหลังเกิดการหยั่งรู้ใหม่ ๆ โดยยังมิได้นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง

                ขั้นที่ 4  การยุติการปรึกษา

                การยุติการปรึกษาแสดงถึงความเป็นอิสระของผู้รับการปรึกษาที่สามารถจัดการกับปัญหาของตนได้สำเร็จ และก้าวต่อไปในชีวิตโดยปราศจากความช่วยเหลือจากผู้ให้การปรึกษา ในขั้นนี้ผู้รับการปรึกษาอาจรู้สึกทั้งเป็นอิสระและมีความวิตกกังวล  ที่ต่อไปต้องจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนโดยลำพังเพื่อลดความรู้สึกขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการยุติการปรึกษาก่อนเวลาอันควร ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาควรร่วมกันตกลงวันเวลาที่จะพบกันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนัดหมายเพื่อติดตามความก้าวหน้า

                วอร์ด (Ward, 1984 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) กล่าวถึงเป้าหมายของขั้นยุติการปรึกษาไว้ 3 ประการ คือ (1) เพื่อประเมินความพร้อมของผู้รับการปรึกษาที่จะยุติกระบวนการปรึกษาและประเมินการเรียนรู้ที่ตกผลึก (2) เพื่อจัดการกับประเด็นความรู้สึกที่ยังหลงเหลืออยู่ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษาถึงจุดจากกันด้วยดี (3) เพื่อเพิ่มการพึ่งพิงตนเองและความมั่นใจในความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

                มาฮอลิคและเทอร์เนอร์ (Maholick & Turner, 1979 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549 ) แสดงความเห็นว่า การยุติสัมพันธภาพเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ที่มีพลัง ที่สื่อแสดงว่าบุคคลสามารถจัดการกับการจากกันในสัมพันธภาพได้อย่างไร การยุติสัมพันธภาพเป็นเรื่องธรรมดา ที่บุคคลต้องจากกัน ต้องล่ำลาต่อกัน ซึ่งจะล่ำลากันเมื่อไรหรืออย่างไรเป็นประเด็นที่ต้องจัดการ สำหรับสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาที่ต้องยุติลง ก็ไม่ต่างจากสัมพันธภาพก่อนหน้านั้น ที่ผู้รับการปรึกษาต้องจากกันกับบุคคลอื่น การยุติที่ดีเป็นการเตรียมผู้รับการปรึกษาให้รู้จักจัดการกับการจากกันในสัมพันธภาพอื่น ๆ อีกในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น พลังจึงอยู่ตรงการสิ้นสุดของทุกสัมพันธภาพ เพราะบางคนอาจรวบรวมความกล้าหาญที่จะก้าวต่อไปในประสบการณ์ใหม่ โดยทิ้งสัมพันธภาพเก่าไว้เบื้องหลังไว้เป็นบทเรียน หรือในทางตรงกันข้ามบางคนอาจหลีกเลี่ยงหรือไม่ยอมรับการสิ้นสุดของสัมพันธภาพ พกพาอดีตไปกับตน และดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิมที่ปัจจุบันยังคงมีซากของอดีตติดตามไปทุกหนแห่ง

                ควินทานาและเบอร์เนิล (Quintana & Bernal, 1995 อ้างใน ดวงมณี  จงรักษ์, 2549) ได้ระบุปัจจัยของการยุติการปรึกษาที่มีความสัมพันธ์ต่อผลทางบวกของกระบวนการปรึกษาไว้ 4 ประการ (1) การทบทวนการปรึกษาที่ผ่านมา (2) การยุติสัมพันธภาพระหว่างผู้รับการปรึกษาและผู้ให้การปรึกษา (3) การพูดถึงอนาคตของผู้รับการปรึกษา (4) การวางแผนหลังยุติการปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาควรจัดการกับประเด็นทั้ง 4 เพื่อเตรียมผู้รับการปรึกษาอย่างเหมาะสมกับการยุติกระบวนการปรึกษา กล่าวคือ ผู้ให้การปรึกษาต้อง (1) ทบทวนว่าผู้รับการปรึกษาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการปรึกษา และได้นำการเรียนรู้ไปประยุกต์หรือปฏิบัติในชีวิตปัจจุบันได้อย่างไร (2) เปิดเผยร่วมกันถึงความรู้สึกที่มีต่อสัมพันธภาพและจัดการกับความรู้สึกที่อาจติดค้างอยู่ในใจ (3) ขอให้ผู้รับการปรึกษาพูดถึงแผนการในอนาคตหลังจากยุติสัมพันธภาพ (4) ตกลงร่วมกันที่จะนัดพบอีกครั้งเพื่อติดตามผล อาจเป็น 1 เดือนถัดไป และอาจเริ่มสัมพันธภาพอีกครั้งถ้ามีความจำเป็น

                สรุป ในขั้นนี้ผู้ให้การปรึกษาผู้รับการปรึกษาได้ประเมินร่วมกัน หากพบว่าผู้รับการปรึกษามีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการปรึกษาตนเอง สามารถพึ่งพิงตนเองและจัดการกับปัญหาได้ ผู้ให้การปรึกษาควรเตรียมยุติการปรึกษาโดย (1) ให้ผู้รับการปรึกษาสรุปการเรียนรู้จากการปรึกษา (2) ทั้งคู่เปิดเผยความรู้สึกที่มีต่อสัมพันธภาพ (3) ทบทวนแผนการในอนาคตของผู้รับการปรึกษา (4) กำหนดนัดวันเวลาเพื่อติดตามผล

 

 

บรรณานุกรม

ดวงมณี  จงรักษ์, 2549. ทฤษฎีการให้การปรึกษาและจิตบำบัดเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.

นิรันดร์ จุลทรัพย์. 2539. เอกสารคำสอนวิชาการแนะแนวเบื้องต้น. โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้. 

วัชรี  ทรัพย์มี.  2531.  การแนะแนวในโรงเรียน.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วัชรี  ทรัพย์มี. 2549. ทฤษฎีให้บริการปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

หมายเลขบันทึก: 500059เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท